รมว.ต่างประเทศ รายงานผลการเจรจาทวิภาคีระหว่างไทย และ กัมพูชา ยุติปัญหาประสาทพระวิหารยึดแนวทางเจรจา โดยใช้หลักการทูต ประกอบข้อกฎหมาย ด้านที่ประชุม ครม.มีมติให้กรมสนธิสัญญาเป็นเจ้าภาพ พิจารณาการลงนามในเอกสารระหว่างประเทศ แต่ยังพะวงเข้าข่ายมาตรา 190 หรือไม่
วันนี้ (29 ก.ค.) นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า นายเตช บุนนาค รมว.การต่างประเทศ ได้รายงานผลการเจรจาทวิภาคีระหว่างไทยและกัมพูชา ใจความว่า
1.รมว.ต่างประเทศ ทั้งสองประเทศ เห็นพ้องกันว่า ทั้งสองฝ่ายควรใช้ความอดทนอดกลั้นอย่างที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงโอกาสที่จะเกิดการเผชิญหน้าด้วยกำลังทหาร เพื่อให้ปัญหานี้ได้รับการแก้ไขโดยสันติวิธี โดยใช้กลไกทวิภาคีที่มีอยู่ ซึ่งรวมถึงการหารือระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศ และคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (Joint Boundary Commission : JBC) ที่จัดตั้งขึ้นตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกไทย-กัมพูชา ปี 2543
2.ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันที่จะเสนอรัฐบาลของตนให้ความเห็นชอบจัดประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม ครั้งต่อไปโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อหารือประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องภายใต้ข้อกำหนดอำนาจหน้าที่และแผนแม่บทของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (เขาสัตตะโสม-บีพี 1) ภายหลังจากการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศสองฝ่ายคราวหน้า
3.ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันที่จะเสนอรัฐบาลของตนดำเนินการมาตรการชั่วคราวในระหว่างที่รอการสำรวจ และจัดทำหลักเขตแดนโดนคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม โดยเป็นไปตามข้อกำหนดตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายภายในของแต่ละประเทศ ดังนี้
3.1 เก็บกู้ทุ่นระเบิดในพื้นที่ที่จะมีการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนโดยคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม โดยการดำเนินการของแต่ละฝ่ายให้เป็นไปอย่างประสานสอดคล้องกัน (Concerted manner)
3.2 จัดตั้งชุดประสานงานชั่วคราว ซึ่งประกอบด้วย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่าย เพื่อจัดการกับปัญหาที่เกี่ยวกับพื้นที่ รวมทั้งบริเวณวัด
3.3 ให้ปรับกำลังของฝ่ายตนออกจาก “วัดแก้วสิขาคีรีสะวารา” พื้นที่รอบวัด และปราสาทเขาวิหาร สำหรับประเทศไทยรัฐบาลจะตัดสินใจทางนโยบายว่าจะปรับกำลังหรือไม่ และฝ่ายทหารจะปฏิบัติตามการตัดสินใจดังกล่าว
4.มาตรการชั่วคราวข้างต้นจะไม่มีผลกระทบต่อสิทธิของทั้งสองฝ่ายเกี่ยวกับการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนภายใต้กรอบคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม และท่าทีทางกฎหมายของแต่ละฝ่าย
5.ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะหารือประเด็นอื่นๆ ที่ยังไม่สามารถตกลงกันได้ในการประชุมครั้งนี้ ในการประชุมรมว.ต่างประเทศครั้งต่อไป
นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายเตช บุนนาค รมว.ต่างประเทศ ได้รายงานผลการเจรจาทวิภาคีระหว่างไทยและกัมพูชา เมื่อวันที่ 28 ก.ค.ที่ผ่านมา เพื่อยุติข้อพิพาทกรณีปราสาทพระวิหารให้ ครม.รับทราบว่า เมื่อ 2 ฝ่ายเจรจาความกันจนจบ เมื่อถึงขั้นจะลงนามในข้อตกลงร่วมกัน คณะทำงานของกระทรวงการต่างประเทศก็เกิดความวิตก ว่า อาจเข้าข่ายสนธิสัญญาตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ดังนั้น ทั้ง 2 ฝ่ายจึงต้องบันทึกว่า สิ่งที่ลงนามเป็นเพียงข้อตกลงในหลักการร่วมระหว่างไทยและกัมพูชา ยังไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างกัน จนกว่าผู้มีอำนาจทั้ง 2 ประเทศจะพิจารณา ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงการต่างประเทศต้องเจรจาโดยใช้หลักการทูต ประกอบกับดูข้อกฎหมาย
นายชูศักดิ์ กล่าวต่อว่า เมื่อเกิดปัญหาเช่นนี้ขึ้น ครม.จึงมีมติให้กรมสนธิสัญญาระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เป็นเจ้าภาพ พิจารณา การลงนามในเอกสารระหว่างประเทศใดๆ จะเข้าข่ายมาตรา 190 หรือไม่ ซึ่งตนเป็นผู้ให้ความเห็นต่อ ครม.นอกจากนี้ ยังสามารถเชิญผู้แทนจากกระทรวงต่างๆ มาให้ความเห็นได้ อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวมองว่าการลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างรมว.ต่างประเทศไทยและกัมพูชา ที่เกิดขึ้น ถือว่าไม่เข้าข่ายมาตรา 190 แต่เมื่อกระทรวงเป็นห่วง จึงต้องเขียนเนื้อหาแบบเซฟตัวเองไว้ก่อน
พล.ท.สุรพล เผื่อนอัยกา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพอใจกับผลการเจรจาระหว่างกรกระทรวงการต่างประเทศของไทยและกัมพูชา โดยได้กล่าวชื่นชม นายเตช บุนนาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่เจรจาและสามารถแก้ปัญหาได้เปลาะหนึ่ง ซึ่งคงจะมีการเจรจากันอีกหลายครั้งในระดับท้องถิ่นและรัฐมนตรี แต่คงไม่ถึงขั้นนายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศมาคุยกัน ส่วนการเจรจาครั้งต่อไปยังไม่มีกำหนด อย่างไรก็ตามหลังจากนี้จะมีการตั้งคณะทำงานระยะยาวเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ต่อไป