xs
xsm
sm
md
lg

สภาเส็งเคร็ง! สั่งงดประชุมยาว ปชป.จี้นโยบายโฆมะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชัย ชิดชอบ
ปธ.สภาฯ สั่งงดประชุมไม่มีกำหนด ปชป.ชำแหละถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ปัญหาฝ่ายบริหาร กระทบฝ่ายนิติบัญญัติ จี้ “สมชาย” ยุบสภา จบปัญหา เดินหน้าหาข้อมูลแถลงนโยบาย 7 ตุลาเป็นโฆมะ

วันนี้ (12 ต.ค.) นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงกรณีที่มีข้อความ sms แจ้งไปยัง ส.ส.ทุกคน ว่าประธานสภาผู้แทนราษฎรสั่งงดการประชุมสภาฯ ในวันที่ 15 และ 16 ต.ค.นี้ว่า การงดประชุมจะส่งผลกระทบต่อการประชุมร่วมรัฐสภา และการประชุมของสภาฯ โดยการประชุมร่วมรัฐสภาได้มีการบรรจุระเบียบวาระไว้ตั้งแต่ก่อนการแถลงนโยบายของรัฐบาล คือ เรื่องการตกลงร่วมกันในกำลังทหารของประเทศไทย และประเทศกัมพูชา บริเวณเขตชายแดนปราสาทพระวิหาร ตามมาตรา 190 ซึ่งจะพิจารณาเรื่องนี้หลังจากที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายแล้ว โดยเป็นเรื่องของข้อตกลงในการกำหนดกองกำลังทหารที่พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ อดีต ผบ.สส. ได้เคยไปตกลงไว้ ส่วนการประชุมของสภาฯ นั้นก็มีกฎหมายหลายฉบับค้างอยู่ โดยเฉพาะกฎหมายขององค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งต้องเป็นไปตามเงื่อนเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้ว่าจะต้องเสร็จภายในกี่วัน

อีกทั้งอาจจะส่งผลต่อการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรอิสระที่จะขาดเครื่องมือในการปฏิบัติงานได้ นอกจากนี้ อาจจะส่งผลกระทบต่อการประชุมของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ด้วย เพราะอาจจะมีความลังเลของ กมธ.แต่ละชุดว่าจะมีการประชุมดีหรือไม่

นายสาทิตย์ กล่าวว่า ในอดีตเมื่อเกิดปัญหาในฝ่ายบริหารมักจะไม่ส่งผลกระทบต่อการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ แต่วิกฤตครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ผลจากการกระทำของฝ่ายบริหารส่งผลกระทบต่อฝ่ายนิติบัญญัติโดยตรง เนื่องจากรัฐบาลดึงดันที่จะแถลงนโยบายให้ได้ ทั้งนี้ ตนยังข้องใจกับเหตุผลที่มีการสั่งงดประชุม จะอ้างปัญหาสถานการณ์บ้านเมืองก็ไม่คิดว่าจะสมเหตุสมผลหรือไม่ เพราะการประชุมของฝ่ายนิติบัญญัติเป็นเรื่องที่ต้องกระทำตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ จำเป็นต้องดำเนินการ จึงไม่รู้เหตุผลที่แท้จริงว่าสั่งงดประชุมเพราะอะไร อย่างไรก็ตาม ในมิติของการเมืองการที่ฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเป็นเสียงข้างมากคือ พรรคพลังประชาชนไม่สามารถจะริหารงานได้ รัฐบาลจึงต้องตัดสินใจด้วยการยุบสภา เป็นทางออกที่จะทำได้ ไม่อย่างนั้นฝ่ายนิติบัญญัติก็จะค้างคา ไม่สามารถทำงานได้ การที่รัฐบาลรีรอ ถูลู่ถูกังก็ไม่มีผลดีทั้งกับฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติเอง ดังนั้น ตนอยากให้รัฐบาลรีบตัดสินใจเรื่องจะได้จบๆ กันไป

นายสาทิตย์ กล่าวถึงกรณีที่พรรคได้ตรวจสอบองค์ประชุมร่วมรัฐสภา การแถลงนโยบายของรัฐบาล ในวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมาว่า ขณะนี้กำลังตรวจสอบใน 2 ประเด็น คือ ประเด็นแรกพรรคกำลังทำการเทียบเคียงการนับองค์ประชุมครั้งที่ 1 และ2 ว่ามีข้อมูลที่ตรงกันหรือไม่ ประเด็นต่อมาคือ มีข้อมูลยืนยันว่าผู้ที่มาเซ็นต์ชื่อเข้าห้องประชุม เมื่อมาเซ็นต์แล้วก็เดินทางออกไป แต่เมื่อถึงเวลาในการกดบัตรแสดงตนกลับมีชื่อปรากฎอยู่ ได้มีการกดบัตรแทนกันหรือไม่ ซึ่งในเชิงกฎหมายตอนกดบัตรแสดงตนครั้งแรก เป็นการขออนุมัติจากที่ประชุมให้มีการแถลงนโยบายของรัฐบาล ซึ่งเสียงต้องเกินกึ่งหนึ่ง แต่ที่ออกมาครั้งแรกได้เสียงเพียงแค่ 307 เสียง ซึ่งเรากำลังตรวจสอบว่าจะถือว่าองค์ประชุมล่มไปแล้วหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น