xs
xsm
sm
md
lg

วิปรัฐบาลล้มกม.องค์กรอิสระ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ประธานวิปฝ่ายค้าน แถลงภายหลังการประชุมว่า วิปฝ่ายค้านเห็นด้วยกับการขยายเวลาการศึกษาของคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2550 ที่มีนายกระมล ทองธรรมชาติ เป็นประธาน ออกไปอีก30 วัน อีกทั้งวิปฝ่ายค้านมีจุดยืนในเรื่องรัฐธรรมนูญว่ายังไม่มีประเด็นใดในการแก้ไข ตอนนี้มีเพียงความคิดเห็นที่แตกต่างกันเท่านั้น ดังนั้นควรรอผลสรุปการศึกษาของคณะกรรมาธิการฯ จนกว่าจะศึกษาเสร็จ แล้วนำเรื่องย้อนหลังเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร
นายสาทิตย์ กล่าวว่าขณะนี้วิปรัฐบาลกำลังมีแนวความคิดให้กฎหมายที่เสนอ โดยองค์กรอิสสระ อาทิ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง กำลังจะถูกตีความให้เป็นกฎหมายการเงิน โดยให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้เซ็นรับรอง ซึ่งตรงนี้นายกรัฐมนตรีสามารถดองเค็มกฎหมายขององค์กรอิสระได้เหมือนกับที่ดอง ร่างพ.ร.บ.สำนักงานบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สบ.ชต.) ของพรรคประชาธิปัตย์ มากกว่า6 เดือน
วันนี้เรายังมี กฎหมายป.ป.ช. ที่ค้างมาจากการประชุมสภาสมัยวิสามัญ ซึ่ง ป.ป.ช. นั้นถ่ายโอนการทำงานมาจาก คตส. ซึ่งจะทำให้นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจต่อรอง ป.ป.ช.หากต้องการให้กฎหมายผ่าน ซึ่งจะเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และเรื่องนี้ประธานสภาผู้แทนราษฎรก็ไม่สามารถใช้อำนาจประธานในการวินิจฉัย ให้เป็น กฎหมายการเงินได้เช่นเดียวเพราะจะขัดรัฐธรรมนูญและนำไปสู่การถอดถอนได้
นายสาทิตย์ กล่าวถึงกรณีที่มาของวิปรัฐบาลอาจขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 265 และ 266 ซึ่งอาจทำให้ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 56 คน ต้องพ้นจากตำแหน่งส.ส.ทันที ว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นความเห็นทางกฎหมายที่ขัดแย้งกัน ดังนั้น รัฐบาลควรเปิดเผย ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่เคยหารือกับสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ซึ่งระบุว่า ส.ส.สามารถเป็นวิปรัฐบาลได้ เพราะเป็นหน้าที่ช่วยเหลือให้การปฏิบัติงานระหว่าง ครม. กับสภาผู้แทนราษฎรราบรื่นให้สังคมได้รับทราบ
นอกจากนี้ พรรคขอดูท่าทีของวิปรัฐบาลและนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีว่า จะชี้แจงต่อกรณีนี้อย่างไร โดยเฉพาะประเด็นเรื่องผลประโยชน์ตอบแทน หรือค่าเบี้ยประชุมต่างๆ ซึ่งต้องชัดเจนว่าวิปรัฐบาลได้รับหรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้ อาจมีผลต่อการตีความว่าวิปรัฐบาลขัดต่อหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติด้วย และต้องรอดูความเห็นจากหลายฝ่ายต่อกรณีดังกล่าว เพื่อดูว่ามีช่องทางให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีดังกล่าวได้หรือไม่
ส่วนที่มีการมองว่าฝ่ายค้านไม่กล้า ยื่นถอดถอนส.ส.ทั้ง 56 คน เพราะกลัวว่าจะมีผลต่อการยุบสภานั้น ขอยืนยันว่า ฝ่ายค้านไม่จำเป็นต้องกลัวการยุบสภา เพราะแม้ว่าจะเป็นความเห็นทางกฎหมาย แต่ถ้าพบว่ากรณีนี้ส่งผลกระทบต่อการบริหารงาน ของรัฐบาล ก็จำเป็นต้องถอดถอนบุคคลเหล่านี้ออกจากตำแหน่ง ไม่เช่นนั้นจะเป็นการทรยศประชาชน
นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวภายหลังการประชุมส.ส.พรรคว่า ที่ประชุมได้วิเคราะห์กรณีที่พรรคพลังประชาชนจะมีการพิจารณา กฎหมายประกอบรัฐธรมนูญ โดยอ้างว่าเป็นกฎหมายการเงินที่ต้องได้รับการเห็นชอบ ด้วยการลงนามจากนายกรัฐมนตรี ซึ่งพรรคเป็นห่วงอย่างยิ่งว่า การกระทำเช่นนี้จะเป็นการดึงอำนาจจากฝ่ายนิติบัญญัติ กลับไปอยู่ที่ฝ่ายบริหาร ซึ่งสวนทางกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนนูญ อย่างชัดเจนที่ระบุชัดว่ากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญถือเป็นกฎหมายที่ต้องดำเนินการโดยฝ่ายนิติบัญญัติเป็นสำคัญ โดยเฉพาะอาจจะมีความพยายามจะแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมก่อนเข้าชั้นศาลคือ การทำงานขององค์กรอิสระ โดยเฉพาะ ป.ป.ช.ที่ได้รับการถ่ายโอนอำนาจจาก คตส. ซึ่งทำให้สังคมไม่มั่นใจว่ากระบวนการยุติธรรมในคดีต่างๆ จะได้รับการปกป้องคุ้มครองตามที่รัฐบาลและกระทรวงการต่างประเทศได้ประกาศไว้
ขณะที่ นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ส.ส.นครราชสีมา ในฐานะรองโฆษกพรรคพลังประชาชน ให้สัมภาษณ์ว่า นายวิทยา บุรณศิริ ส.ส.อยุทธยา ในฐานะประธานวิปรัฐบาล ได้รายงานผลการประชุมของวิปรัฐบาลถึงร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่เป็นร่างของ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเสนอเข้ามา และพิจารณาในชั้นคณะกรรมาธิการเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผ่านที่ประชุมวิปรัฐบาล เตรียมนำเข้าสู่ที่ประชุมสภาในวาระ 2-3 และร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่า ด้วยการพิจารณาความของศาลรัฐธรรมนูญ ที่เสนอโดยศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งร่างนี้จะเข้าสู่ที่ประชุมสภาพิจารณาวาระที่ 1ในวันที่ 20 ส.ค.
นายบุญจง กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่รับร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2550 มีที่มาไม่ชอบ ถือว่าเป็นการหักมติวิปรัฐบาล ดังนั้นในวันที่ 20 ส.ค.ก่อนที่การประชุมสภาจะเริ่มขึ้น วิปรัฐบาลจะเรียกประชุม เพื่อแจ้งมติที่ประชุมพรรคพลังประชาชนให้ทราบ ทั้งนี้จะต้องดูต่อไปว่าเมื่อถึงเวลาที่ประชุมสภามีมติไม่เห็นชอบต่อกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้แล้วอะไรจะเกิดขึ้น ถ้าเป็นกฎหมายที่รัฐบาลเสนอแล้วตก รัฐบาลต้องรับผิดชอบ แต่กฎหมาย 2 ฉบับนี้เสนอโดยศาล ดังนั้นจะทำอย่างไรต่อไป เรื่องนี้เป็นการแสดงพลังอย่างหนึ่งของพรรค เพราะไม่ให้เราแก้ไขรัฐธรรมนูญ
นายสามารถ แก้วมีชัย รองประธานสภาคนที่ 2 ในฐานะอดีตประธานวิปรัฐบาล กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการของวิปรัฐบาลจำนวน 57 คนรวมถึงนายชัย ชิดชอบ ประธานสภา อดีตประธานวิปรัฐบาล อาจต้องพ้นจากการเป็นส.ส. เนื่องจากวิปรัฐบาล เป็นคณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งจากนายกรัฐมนตรี จึงอาจเข้าข่ายการกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 265 ที่ระบุห้ามส.ส.ดำรงตำแหน่ง หรือหน้าที่ใด ในหน่วยงานราชการของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ ว่า ตามรัฐธรรมนูญ ม.265 มีวรรคท้าย ที่ยกเว้นไว้ ซึ่งวิปรัฐบาลเป็นคณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นตามกฎหมาย บริหารราชการแผ่นดิน โดยทำหน้าที่ประสานงานระหว่างสภาและรัฐบาล ดังนั้น จึงไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะรัฐบาลได้ส่งให้กฤษฎีกาตีความตั้งแต่ต้นแล้ว
นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรกล่าวว่าที่อ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า ส.ส.ไม่สามารถเข้าไปเป็นกรรมการในสถาบันพระปกเกล้า และสถาบันอื่น รวมถึงหน่วยงานของรัฐ เว้นแต่เป็นการเข้าไป ทำหน้าที่ ในการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งหมายถึงการทำงานในฝ่ายนิติบัญญัติเท่านั้น ขณะที่วิปรัฐบาลถูกมองว่า อาจเข้าข่ายเป็นหน่วยงานของรัฐ ซึ่งอาจส่งผลให้ ส.ส.ทั้ง 54 คนที่เป็นวิปรัฐบาลสิ้นสภาพการเป็น ส.ส.ทันที แต่ตนอ่านวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ไม่วิตกกังวลอะไร เพราะก่อนตั้งวิปรัฐบาลได้มีการปรึกษากับคณะกรรมการกฤษฎีกา
นายชูศักดิ์ กล่าวว่าปัญหาที่เกิดขึ้น ต้องมองว่าเพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่แยกฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติออกจากกันอย่างชัดเจน ส.ส.สามารถเป็น นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีได้ นายกฯต้องสนองพระบรมราชโองการ และต้องเข้าประชุมสภา สาเหตุที่ตั้งวิปรัฐบาลขึ้นมา เพื่อให้เกิดการประสานงานในแง่กฎหมาย เป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงให้พรรคร่วมรัฐบาลแต่ละพรรคส่วนตัวแทนเข้ามาหารือ กันในวิปรัฐบาล ในต่างประเทศและที่ผ่านมาก็มีการดำเนินการเช่นนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้น น่าจะมาจากคนเขียนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปแก้ถ้อยคำในมาตรา 265 วรรคสอง (3) โดยตัดคำว่า เว้นแต่เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ออกและใส่คำว่า เว้นแต่เป็น กรรมการบริหารในส่วนของการบริหารราชการแผ่นดิน แทน ทั้งนี้ยืนยันว่าวิปรัฐบาลไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ แต่ทำงานภายใต้วงรอบของสภา
กำลังโหลดความคิดเห็น