xs
xsm
sm
md
lg

“กษิต”จับมือกัมพูชา แก้ข้อพิพาทพระวิหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – “กษิต” ยึดแนวทางแก้ไขข้อพิพาทปราสาทพระวิหารโดยให้ปฏิบัติตามสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1904, ค.ศ. 1907 รวมถึงการตัดสินของศาลโลก และบันทึกความเข้าใจ ปี 2543 เรื่องปักปันเขตแดน พร้อมให้ความร่วมมือกัมพูชา-ยูเนสโกส่งผู้แทนฝ่ายไทยเข้าร่วมคณะกรรมการบริหารจัดการปราสาทพระวิหารและพื้นที่โดยรอบ

วานนี้ (25 ธ.ค.) นายกษิต ภิรมย์ รมว.กระทรวงการต่างประเทศ พร้อมกับนายวีรศักดิ์ ฟูตระกูล ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้พบปะและร่วมรับประทานอาหารกลางวันกับผู้สื่อข่าวประจำกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมกับตอบคำถามในประเด็นต่างๆ ที่อยู่ในความสนใจของสังคม

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยบางคน มีจุดยืนให้ทวงคืนตัวปราสาทพระวิหารกลับคืนมาทั้งหมด นายกษิต กล่าวว่า จุดยืนของแต่ละคนแตกต่างกัน แต่ตนมีแนวทางในการแก้ไขข้อพิพาทโดยให้ปฏิบัติตามสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1904 และ ค.ศ. 1907 รวมถึงการตัดสินของศาลโลก และบันทึกความเข้าใจ ปี 2543 เรื่องปักปันเขตแดน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชาหรือเจบีซี

ผู้สื่อข่าวถามว่าในส่วนคณะกรรมการบริหารจัดการปราสาทพระวิหารและพื้นที่โดยรอบ ตามมติคณะกรรมการมรดกโลก ไทยจะส่งผู้แทนเข้าร่วมหรือไม่ นายกษิต ตอบว่า เราก็ควรจะมีผู้แทนฝ่ายไทยเข้าไปอยู่ในคณะกรรมการชุดดังกล่าว

เมื่อถามว่า มีนักวิชาการบางส่วนมีความความเห็นว่าไม่ควรเข้าไปนั่งในคณะกรรมการชุดนี้เพราะจะเป็นการยอมรับสถานะของกัมพูชา นายกษิต กล่าวว่า ในภาพรวมเรามีเจตนาที่จะร่วมมือกับกัมพูชาและยูเนสโกเป็นพื้นฐานในการแสวงหาความร่วมมือกัน

นายวีรศักดิ์ กล่าวเสริมในประเด็นข้างต้นว่า เรื่องนี้มองได้สองแง่ คือ ส่วนหนึ่งมีผู้เสนอว่าควรเข้าไปมีส่วนร่วมซึ่งก็ต้องมาพิจารณาข้อดี ข้อเสีย บางคนไม่เห็นด้วยเพราะเราอาจถูกมติในที่ประชุมตีตกไปเพราะไทยเป็นเพียง 1 ใน 7 เสียง แต่ส่วนหนึ่งเห็นว่าควรเข้าไปมีส่วนร่วมเพื่อสะท้อนปัญหา รู้เขา รู้เรา ว่าควรทำอะไร เราต้องมาชั่งน้ำหนักว่าข้างไหนจะดีกว่า อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจขึ้นอยู่กับคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยมรดกโลกประเทศไทย

ผู้สื่อข่าวถามนายกษิตว่า นับแต่ดำรงตำแหน่งรมว.ต่างประเทศแล้ว ได้โทรคุยกับนายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศกัมพูชาหรือไม่

นายกษิต กล่าวว่า ยังไม่ได้โทรหานายฮอร์นัมฮง แต่ได้ส่งสารตอบกลับไปยังสมเด็จฮุน เซ็น นายกรัฐมนตรีกัมพูชาและนายฮอร์ นัมฮง ภายหลังจากกัมพูชาเป็นประเทศแรกที่ส่งสารแสดงความยินดีมายังนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในโอกาสได้รับตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าตนจะสามารถทำงานร่วมกับกัมพูชาได้โดยไม่มีแรงกดดัน เพราะตนและสมเด็จฮุนเซ็น เคยเห็นหน้าเห็นตาร่วมงานกันมาก่อนตั้งแต่เมื่อครั้งเจรจาสันติภาพกัมพูชาที่ปารีสในปี ค.ศ.1989

เมื่อถามว่าในช่วง 2-3 วันหลังจากที่รับตำแหน่งรมว.ต่างประเทศ รู้สึกกดดันหรือไม่เพราะหลายฝ่ายกำลังจับตา นายกษิตกล่าวว่า ไม่กดดัน เพราะมีภรรยาคอยเตือนสติ ส่วนที่มีการกล่าวหาว่าจะเป็นสายล่อฟ้า ก็ไม่เป็นไร เพราะเส้นทางที่เดินมาหรือบทบาทต่างๆ เป็นไปอย่างเปิดเผยบนเวทีสาธารณะ

นายกษิตกล่าวว่า มีหลายประเทศได้ส่งหนังสือมาแสดงความยินดีกับตน ซึ่งหลายคนก็โตมาในกระทรวงการต่างประเทศของแต่ละประเทศทั่วโลก ก็รู้จักกันอยู่ รู้ว่าตนเป็นคนอย่างไร ตอนนี้เครือข่ายส่วนตัวก็มีอยู่ จึงไม่ว่าจะส่งผลกระทบต่อการทำงานร่วมกับต่างประเทศ

***กฤษฎีกายังไม่ชี้เลิกพาสปอร์ต “แม้ว”

นายวีระศักดิ์ กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาตอบกลับกระทรวงการต่างประเทศว่าสามารถถอนหนังสือเดินทางธรรมดาของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ได้ว่า ทางกฤษฎีกาฯ ยังไม่ได้ตอบกลับมา ซึ่งเรื่องนี้เราได้ติดตามสอบถามมาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ สาเหตุที่สอบถามเรื่องนี้ไปยังกฤษฎีกาฯ เนื่องจากฝ่ายกฎหมายของกระทรวงฯ ได้ยกขึ้นมาว่าหากถอนหนังสือเดินทางทุกประเภทแล้วจะถือว่าขัดต่อสิทธิเสรีภาพในการเดินทางของบุคคลหรือไม่ ซึ่งได้หารือกับรองอัยการสูงสุดแล้ว ก็เห็นด้วยว่าควรส่งให้กฤษฎีกาตีความ อย่างไรก็ตามหากกฤษฎีกาตอบกลับมาแล้ว ผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจว่าจะถอนหนังสือเดินทางหรือไม่ อยู่ที่นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ เป็นผู้ตัดสินใจดำเนินการ โดยไม่ต้องส่งเรื่องไปยังนายกรัฐมนตรีอีก

เมื่อถามถึงลักษณะการดำเนินการของตำรวจ ในการส่งตัวพ.ต.ท.ทักษิณ นั้นจะเหมือนกับ นายปิ่น จักกะพาก นักธุรกิจที่หลบหนีคดีโกงบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ฟินวันหรือไม่

นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า จากการประสานภายในกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ระบุว่าไม่เหมือนกัน แต่ไม่ได้ให้เหตุผลว่าทำไมจึงไม่เหมือนกัน ส่วนความยากลำบากต่อการติดตามตัวนั้น นายวีระศักดิ์กล่าวว่า เนื่องจากพ.ต.ท.ทักษิณ ได้เปลี่ยนสถานที่พักไปเรื่อยๆ ทุก 3-4 วัน

ขณะที่นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ กล่าวย้ำว่า การนำตัวพ.ต.ท.ทักษิณ กลับมาดำเนินคดี ต้องเป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งขึ้นอยู่กับความร่วมมือของ 3 ส่วน คือ อัยการ การดำเนินการเรื่องหนังสือเดินทาง และความร่วมมือกับต่างประเทศ เมื่อถามว่าหากตอนนี้สามารถโทรศัพท์ถึงพ.ต.ท.ทักษิณ จะพูดว่าอะไร นายกษิต กล่าวว่า ก็จะบอกว่าคิดถึง เพราะมีความผูกพันธ์กันอยู่ ตนเคยเป็นที่ปรึกษาให้ และท่านก็เคยเป็นเจ้านาย จึงมีความผูกพันธ์ส่วนตัวกันอยู่และไม่ได้ทะเลาะ
กำลังโหลดความคิดเห็น