xs
xsm
sm
md
lg

ซัดยุคแม้วปล่อยเขมรรุกแดนสุขุมพันธ์ยืนยันเอ็มโอยูไทยได้ประโยชน์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ และรมว.ต่างประเทศ(เงา) ในฐานะอดีตรมช.ต่างประเทศ แถลงว่า หลายวันที่ผ่านมาได้เกิดความสับสนเกี่ยวกับบันทึกความเข้าใจ(เอ็มโอยู)ระหว่างรัฐบาลไทยและกัมพูชา ว่าด้วยการสำรวจและการจัดทำหลักเขตแดนทางบก ซึ่งลงนามที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.2543 สมัยที่ตนดำรงตำแหน่ง รมช.ต่างประเทศ ซึ่งมีการอ้างว่าเอ็มโอยูฉบับนี้ยึดถือแผนที่ฉบับที่ไทยเสียเปรียบนั้น ตนขอชี้แจงว่าการยอมรับแผนที่ทั้งหลายซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจาก การปักปันเขตแดนโดยคณะกรรมาธิการปักปันเขตแดนร่วมสยาม-อินโดจีน เป็นเพียงองค์ประกอบของการดำเนินการสำรวจและจัดทำหลักเขตเท่านั้น หรือถ้าทั้ง 2 ฝ่ายไม่สามารถหาข้อยุติได้ ก็สามารถชะลอการพิจารณาไปก่อนได้ เพราะไม่มีอำนาจใด สามารถบังคับให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องยอมรับในสิ่งที่ต้นไม่ต้องการยอมรับ
ม.ร.ว.สุขัมพันธ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ มาตรา 5 ของเอ็มโอยูที่ระบุว่า หน่วยงานของรัฐบาลกับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานเหล่านั้นจะต้องงดเว้นการดำเนินการ ใดๆ ที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของพื้นที่ชายแดนนั้น ก็เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายไทย เพราะทำให้ไทยมีเครื่องประกันเป็นลายลักษณ์อักษรว่ากัมพูชาจะไม่ทำถนนเข้าไปในพื้นที่ และจะดูแลไม่ให้มีสิ่งปลูกสร้างเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี 2544 ยุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ฝ่ายกัมพูชา ไม่ได้ทำตามคำสัญญา โดยปล่อยให้ชาวกัมพูชาเข้ามาสร้างสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ ซึ่งมีการอ้างสิทธิอธิปไตยทับซ้อน แต่รัฐบาลไทยในขณะนั้นไม่ได้ทักท้วง และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา การสำรวจและการจัดทำหลักเขตแดนระหว่างไทยกัมพูชายังไม่คืบหน้ามากนัก จึงยังไม่ควรสรุปว่าเอ็มโอยูนี้ไม่เป็นประโยชน์ในทางใดทั้งสิ้น อีกทั้ง กระทรวงการต่างประเทศยังใช้เอ็มโอยูฉบับนี้อ้างอิงในการทักท้วงทุกครั้ง รวมถึงในการเจรจาระหว่างรมว.ต่างประเทศไทย-กัมพูชาเมื่อวันที่ 28 ก.ค.ที่ผ่านมา ทั้ง 2 ฝ่ายได้ตกลงที่จะใช้เอ็มโอยูนี้เป็นกรอบการเจรจาเพื่อแก้ปัญหาระหว่างกัน
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า ผลของการดำเนินการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดน ตามเอ็มโอยูฉบับนี้ จะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเห็นพ้องกันในทุกประเด็น ดังนั้น ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่สามารถยอมรับในประเด็นใดก็ตาม สามารถชะลอการพิจารณาไปก่อนได้ เพราะไม่มีอำนาจใดบังคับให้เกิดการยอมรับในสิ่งที่ไม่ต้องการได้
อีกทั้ง ในอนาคต ถ้าฝ่ายไทยต้องการยื่นขอจดทะเบียนประสาทพระวิหารและพื้นที่ประสาทโดยรอบเป็นมรดกโลกร่วมกับกัมพูชา เอ็มโอยูดังกล่าวและคณะกรรมการชายแดนร่วม(เจบีซี)ไทย-กัมพูชาจะเป็นกลไกสำคัญในการดำเนินการด้วย ทั้งนี้ ตนยืนยันว่าปัญหาของเอ็มโอยูฉบับนี้ไม่ได้อยู่ที่เนื้อหา แต่อยู่ที่การไม่นำข้อตกลง ไปปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาสิ่งปลูกสร้างของชาวกัมพูชาในพื้นที่ที่มีการ อ้างสิทธิ์ทับซ้อน ซึ่งฝ่ายกัมพูชาไม่ได้รักษาคำมั่น และรัฐบาลไทยหลังปี 2544 ไม่ได้ทำการทักท้วง
ด้านกระทรวงการต่างประเทศของไทย ถึงกรณีที่ สมเด็จฯฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้ยืนยันให้ไทยและกัมพูชาแก้ปัญหากรณีปราสาทพระวิหารอย่างสันติวิธีและยึดตามกระบวนการที่มีอยู่ระหว่างสองประเทศให้มากที่สุด ทั้งนี้เพื่อรักษาความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาต่อไปนับหมื่นปี และยังได้แสดงความหวังว่าการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศไทย - กัมพูชา ครั้งที่ 2 จะประสบความสำเร็จด้วยดดังนี้
1.ไทยยินดีกับท่าทีของนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ซึ่งสอดคล้องกับจุดยืนของไทย โดยขอยืนยันอีกครั้งว่า ไทยประสงค์ที่จะหาทางออกกรณีปราสาทพระวิหารอย่างสันติวิธีในบรรยากาศฉันมิตร โดยเน้นการใช้กลไกต่าง ๆ ที่มีอยู่ระหว่างสองประเทศอย่างเต็มที่ ซึ่งรวมถึงการหารือในระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมหรือ JBC และคณะกรรมการชายแดนทั่วไปหรือ GBC เป็นต้น
2. ความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันในเรื่องเส้นเขตแดนนั้นเป็นเรื่องปกติที่สามารถ เกิดขึ้นได้สำหรับประเทศที่มีเขตแดนร่วมกัน ซึ่งกรณีของไทยและกัมพูชานั้น มีเขตแดนทางบกร่วมกันถึง 798 กิโลเมตร อย่างไรก็ตาม ฝ่ายไทยเห็นพ้องกับข้อคิดเห็นของนายกรัฐมนตรีกัมพูชาว่า ทั้งสองประเทศ ยังสามารถหาทางออกกันเองได้
3. ขอย้ำว่ากรณีปราสาทพระวิหารนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์ไทย - กัมพูชาเท่านั้น โดยทั้งสองประเทศยังมีผลประโยชน์และความร่วมมืออีกมากทั้งเชิงเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และมิติอื่น ๆ และประชาชนของทั้งสองประเทศยังมีความสัมพันธ์ที่ดี ต่อกัน ดังจะเห็นจากชุมชนไทยและกัมพูชาตลอดแนวชายแดน ซึ่งได้ไปมาหาสู่กันฉันมิตรและญาติสนิท รวมทั้งได้เฉลิมฉลองประเพณีและวัฒนธรรมต่าง ๆ ร่วมกันมายาวนาน
4. ฝ่ายไทยเห็นด้วยกับนายกรัฐมนตรีกัมพูชาว่า การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศครั้งที่ 2 เพื่อหารือกันเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานการณ์ในพื้นที่บริเวณปราสาทพระวิหารนั้น น่าจะสามารถมีความคืบหน้าที่ดี ต่อยอดจากผลสำเร็จเบื้องต้นที่เกิดขึ้น ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศสองฝ่ายครั้งแรกที่นครเสียมราฐได้และน่าจะเอื้ออำนวยต่อการแสวงหาทางออกร่วมกันได้ต่อไป ทั้งนี้กำหนดการประชุมจะเป็นช่วงสัปดาห์ที่สามของเดือนสิงหาคมนี้ที่ประเทศไทย และเมื่อมีการยืนยันในรายละเอียดแน่นอนแล้ว ทางการไทยก็จะแจ้งให้สื่อมวลชนทราบรายละเอียดของกำหนดการทันที
ด้าน พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผบ.สูงสุด ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีรัฐบาลมีมติ ให้กองทัพทั้ง 2 ประเทศหารือการปรับลดกำลังทหารตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาว่า ถ้าจะให้ปรับทหารกองทัพทั้ง 2 ฝ่ายต้องคุยกันเป็นเรื่องธรรมดา ว่าควรจะปรับอย่างไร ปริมาณเท่าไร ไปที่ไหน เป็นเรื่องที่ต้องคุยกัน ซึ่งการคุยกันในวันที่ 18 ส.ค.นี้ คงมีความก้าวหน้าไปอีกขั้น ซึ่งเรามีความพอใจ แต่ขอให้มีความก้าวหน้า เมื่อถามว่า จะมีนำกำลังทหารออกจากวัดและตัวปราสาทพระวิหารหรือไม่ พล.อ.บุญสร้าง กล่าวว่า ต้องมีการหารือก่อนหน้านั้น เราจะทำอะไรได้แค่ไหนต้องดูกันอีกที ต้องคุยกันก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น