xs
xsm
sm
md
lg

บทสรุปเจรจาทวิภาคีเวทีอาเซียนซัมมิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ระหว่างวันที่ 27 ก.พ.-1 มี.ค. ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 ณ โรงแรมดุสิตธานี จ.เพชรบุรี ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ ได้มีการประชุมเกี่ยวเนื่อง ทั้งระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ระดับรัฐมนตรีเศรษฐกิจ และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยการประชุมภายใต้กรอบต่างๆ ได้บทสรุปและปิดฉากกันไปแล้ว ท่ามกลางเสียงชื่นชมจากชาติสมาชิก และประเทศคู่เจรจา กับการเป็นเจ้าบ้านที่ดีของไทย
ในระหว่างการประชุม นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ทำหน้าที่เป็นรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนของไทย ได้มีการลงนามในข้อตกลงทางการค้าฉบับต่างๆ ได้แก่ 1.ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน 2.ความตกลงด้านการลงทุนของอาเซียน 3.พิธีสารอนุวัติข้อผูกพันชุดที่ 7 ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน 4.ข้อตกลงยอมรับร่วมด้านวิชาชีพ เป็นข้อตกลงที่จะยอมรับร่วมกันในเรื่องคุณสมบัติ เช่น การศึกษา และประสบการณ์การทำงาน สำหรับวิชาชีพ 5 สาขา ได้แก่ สาขาวิศวกรรม สถาปัตยกรรม แพทย์ ทันตแพทย์ และบัญชี 5.บันทึกความเข้าใจร่วมกับอินโดนีเซียเพื่อผูกพันอินโดนีเซียทางการเมืองให้มีแผนการลดภาษีสินค้าน้ำตาลที่ชัดเจน 6.ความตกลงว่าด้วยการลงทุนระหว่างอาเซียนและสาธารณรัฐประชาชนจีน 7.ความตกลงภายใต้กรอบอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี 8.ความตกลงภายใต้กรอบอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์
ขณะเดียวกัน ยังได้ใช้โอกาสที่ประเทศอาเซียนเดินทางมาร่วมประชุมเปิดการเจรจาทวิภาคีกับประเทศอาเซียนต่างๆ เพื่อเจรจาแก้ไขปัญหาทางการค้า รวมไปถึงการสร้างความร่วมมือทางด้านการค้าและการลงทุน
ไฮไลต์สำคัญที่เกิดขึ้นจากการเจรจาทวิภาคี น่าจะเป็นการบรรลุข้อตกลงความร่วมมือในเรื่องข้าวกับเวียดนาม ที่ทั้ง 2 ฝ่ายได้ตกลงที่จะให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วม มีรมช.พาณิชย์ 2 ฝ่ายเป็นประธาน เพื่อหาแนวทางการพัฒนาความร่วมมือใน 3 ระดับ คือ ชาวนาไทย-ชาวนาเวียดนาม ผู้ส่งออกข้าวไทย-ผู้ส่งออกอาหารเวียดนาม และรัฐมนตรี-รัฐมนตรี และจะขยายความร่วมมือไปยังสินค้าอื่นๆ ด้วย เช่น ผลไม้ และสินค้าอุปโภคบริโภค
พร้อมกันนี้ แม้จะตกลงสร้างความร่วมมือในเรื่องข้าวได้ แต่ก็ยังไม่ลืมที่จะขอให้เวียดนามถอนสินค้าปิโตรเลียและบุหรี่ออกจากบัญชียกเว้นทั่วไป
กับสปป.ลาว ในการหารือ ไทยชี้แจงว่าไม่เคยห้ามการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากสปป.ลาว เพียงแต่ว่าประกาศกระทรวงพาณิชย์เกี่ยวกับการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตาม ACMECS เสียภาษี 0% ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมพิเศษ ใช้ Form AISP ได้หมดอายุลงเมื่อวันที่ 31 ธ.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ด่านศุลกากรไม่ยอมปล่อยให้นำเข้า ซึ่งกระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างการดำเนินการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการออกประกาศ แต่สปป.ลาว ยังสามารถใช้สิทธิพิเศษภายใต้ CEPT เสียภาษี 5% ไม่เสียค่าธรรมเนียม
กับอินโดนีเซีย ได้ตกลงที่จะทำความตกลงทางการค้าร่วมกัน และได้ขอให้อินโดนีเซียทบทวนระเบียบการนำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้า ของเด็กเล่น รองเท้า อาหารและเครื่องดื่ม รวม 529 รายการ ที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ก.พ.2552-31 ธ.ค.2553 รวมไปถึงการหาทางเพิ่มความร่วมมือด้านประมง อาหารฮาลาล และสินค้ายานยนต์
กับมาเลเซีย เป็นการแก้ไขปัญหาการค้า โดยขอให้ดึงสินค้าสุราออกจากบัญชียกเว้นการลดภาษีเช่นเดียวกับอินโดนีเซีย เพราะทั้ง 2 ประเทศนี้ ได้ย้ำว่ามีความจำเป็นต้องคงภาษีนำเข้าไว้สูง เพราะเหตุผลทางศาสนา แต่ไทยเห็นว่าสามารถใช้มาตรการอื่นๆ เช่น ภาษีสรรพสามิต แทนการคงอัตราภาษีนำเข้าได้
กับสิงคโปร์ ได้หารือถึงความคืบหน้าในการที่สิงคโปร์จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Singapore-Thailand Enhanced Economic Relationship (STEER) ครั้งที่ 3 ในเดือนมิ.ย.2552 และการสร้างความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น
กับฟิลิปปินส์ ได้เร่งรัดให้ฟิลิปปินส์ทำแผนการลดภาษีสินค้าข้าวให้กับไทยโดยเร็ว หลังจากไม่สามารถลดภาษีข้าวตามกำหนดในปี 2553 ซึ่งภาษีควรจะลงมาอยู่ที่ 20% แต่ยังคงภาษีไว้ที่ 40% จนถึงปี 2555 ขอให้ลดภาษีน้ำตาลตามกำหนดในปี 2553 ซึ่งอัตราภาษีจะต้องลงมาอยู่ที่ 0% แต่ฟิลิปปินส์ต้องการชะลอออกไปจนถึงปี 2558 และกำหนดอัตราภาษีไว้ที่ 38% และลดลงในปี 2558 และจะขอให้มีการลดภาษีนำเข้าเม็ดพลาสติกเหลือ 5% ตามเดิม หลังจากที่ได้มีการปรับเพิ่มเป็น 10%
ส่วนกับอาเซียนที่เหลือ ได้แก่ กัมพูชา พม่า และบรูไน เป็นการพบปะเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน และหารือถึงการสร้างความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนในอนาคต
ถือเป็นความโดดเด่นของกระทรวงพาณิชย์ ที่อาศัยจังหวะการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้ ทั้งเจรจาแก้ไขปัญหาการค้า และหาทางเพิ่มความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนกับประเทศอาเซียนอื่นๆ ได้อย่างแนบเนียนและประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
กำลังโหลดความคิดเห็น