ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา หน่วยแพทย์พระราชทานในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในฐานะตัวแทนประเทศไทย จำนวน 30 คน เป็นทีมแพทย์ต่างชาติชุดแรกที่ได้เข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากพายุไซโคลนนาร์กีสในพม่า ได้เดินทางกลับมาสู่มาตุภูมิอย่างปลอดภัย ท่ามกลางการต้อนรับอย่างอบอุ่นของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ
สำหรับการช่วยเหลือผู้ประสบภัยครั้งนี้ หน่วยแพทย์พระราชทานฯ ได้เข้าปฏิบัติงาน ที่เมืองเมียเมียะ (Myaungmya) และเมืองลาบุตตา (Labutta) ระหว่างวันที่ 17-30 พ.ค.2551 รวมเป็นเวลา 12 วัน โดยเดินทางเมื่อวันที่ 17 พ.ค.ด้วยเครื่อง ซี-130 ที่กองบิน บน.6 ดอนเมือง พร้อมยาและเวชภัณฑ์จำนวนมาก และกลับถึงประเทศไทยในวันที่ 30 พ.ค. ระยะเวลารวม 14 วันการปฏิบัติภารกิจเพื่อมนุษยธรรมในครั้งนี้นั้น ต้องบอกว่า ยิ่งใหญ่จริงๆ
** หน่วยแพทย์พระราชทานฯ ทูตมิตรภาพไทย-พม่า
เมื่อคณะแพทย์-พยาบาล เดินทางมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิ นพ.พิชิต ศิริวรรณ ศัลยแพทย์ตกแต่ง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ในฐานะหัวหน้าคณะแพทย์ไทย เปิดเผยว่า ในการช่วยเหลือชาวพม่าตามศูนย์พักพิงผู้ประสบภัยต่าง ๆ จำนวน 20 ศูนย์ ซึ่งหน่วยแพทย์ได้รับมอบหมายนั้น รวม 12 วัน ที่ปฏิบัติงานสามารถตรวจคนไข้ได้ 3,700 คน ในจำนวนนี้เป็นคนไข้เด็ก 900 คน ซึ่งส่วนใหญ่มีอาการป่วยไม่รุนแรง เช่น โรคทางเดินหายใจ อาการปวดกล้ามเนื้อ และโรคทางเดินอาหาร แต่ที่น่าเป็นห่วง คือ สภาพจิตใจของผู้ประสบภัย และการช่วยเหลือให้ผู้ประสบภัยสามารถกลับมาดำเนินชีวิตตามปกติได้
“ตลอดระยะเวลาในการปฏิบัติหน้าที่หน่วยแพทย์ไทยพบปัญหาอุปสรรคบ้างเล็กน้อย เนื่องจากเราไม่รู้ข้อมูลข่าวสารล่วงหน้า ว่า สถานการณ์จริงจะเป็นอย่างไร การจัดเตรียมทีมแพทย์จึงไม่ตรงตามความต้องการ เมื่อไปถึงจึงมีการปรับแผนการทำงานใหม่หมด มีอะไรก็ต้องช่วยกัน บางครั้งแพทย์ผ่าตัดก็ยังต้องไปช่วยตรวจดูอาการป่วยทั่วไป”
นพ.พิชิต บอกถึงความรู้สึกหลังจากได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยว่า ทีมแพทย์ไทยมีเจตนาดีในเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย ด้วยความมุ่งมั่นในภารกิจเพื่อมนุษยธรรม และไม่มีเรื่องการเมืองแอบแฝง จึงได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากชาวพม่า และสื่อของพม่าก็เผยแพร่ข่าวความช่วยเหลือจากทีมแพทย์ไทยและทางการไทยต่อเนื่องทุกวัน ทำให้ชาวพม่าประทับใจ รู้จักคนไทยและประเทศไทย มีความเข้าอกเข้าใจกันมากยิ่งขึ้น
“ทีมแพทย์มีความสุขใจเหมือนได้ทำบุญครั้งใหญ่ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการให้ความช่วยเหลือครั้งนี้ และเป็นเสมือนทูตมิตรภาพสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ นอกจากนี้ยังรู้สึกประทับใจชาวพม่าอย่างมาก เพราะถึงแม้ว่าประสบภาวะยากลำบาก แต่ทุกคนก็ทุ่มเทกำลังร่วมแรงร่วมใจช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เช่นตัวอย่าง มีชาวพม่าที่ทำงานกับบริษัทของไทย อาสามาเป็นล่ามให้กับทีมแพทย์มากถึง 10 คน โดยไม่ได้รับค่าตอบแทน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้นึกถึงเหตุการณ์สึนามิที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย เมื่อ 4 ปีก่อน”
** อยู่วัด-นอนมุ้ง-กินปลากระป๋องและไข่เจียว
ส่วนชีวิตความเป็นอยู่ของหน่วยแพทย์พระราชทานฯ ถึงแม้จะไม่สุขสบาย แต่ทุกคนบอกว่าก็ไม่ยากลำบากเท่าใดนัก เพราะแต่ละคนที่อาสาเข้ามาทำงานนั้น เต็มไปด้วยความมานะ อดทน ความมุ่งมั่นและมีหัวใจที่เสียสละเกินร้อย
น.ส.ลออ อริยกุลนิมิต พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลราชวิถี บอกเล่าถึงชีวิตความเป็นอยู่ขณะนั้นว่า อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าทางการพม่า ได้จัดที่พักในสถานปฏิบัติธรรม ดังนั้น ทุกคนต้องอาศัยนอนอยู่ในศาลาวัด ต้องนอนกางมุ้ง มีการจัดแบ่งพื้นที่ระหว่างแพทย์ชายและหญิงอยู่คนละฝั่ง เวลาอาบน้ำก็ต้องนุ่งผ้าถุง อาบน้ำร่วมกันแต่แบ่งแยกชายหญิง
ส่วนอาหารนั้นอาสาสมัครก็ทำอาหารพม่าให้กินบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะกินอาหารที่เตรียมมากันเช่น เครื่องกระป๋อง ปลากระป๋องทำนองนี้ หรือไม่ก็ขอให้อาสาสมัครไปจ่ายตลาดแล้วทำอาหารไทยง่ายๆ อาหาร โดยเฉพาะไข่เจียว เพราะทุกคนต้องปฏิบัติงานกัน ตอนเช้าเริ่มงานตั้งแต่ 7 โมง และกว่าจะเลิกและกลับที่พักก็เย็นมาก จึงต้องใช้เวลาในการรับประทาน และจัดการเรื่องส่วนตัวอย่างรวดเร็ว
“หากมีเวลาว่าง พักผ่อนก็มีโอกาสได้ไปเดินดูชีวิต และวัฒนธรรมของชาวพม่า ซึ่งพี่ได้ไปนั่งกินขนมจีนพม่าด้วย รสชาติก็แปลกๆ ดี ขณะที่ภาพโดยทั่วไปการความเป็นอยู่ไม่แตกต่างจากคนไทยในต่างจังหวัดมากนัก ถือว่าการทำงานครั้งนี้ ได้รับประสบการณ์ที่ประเมินค่าไม่ได้เลย ที่สำคัญการต้อนรับ และการดูแล คณะของเราเป็นไปอย่างอบอุ่น ดังนั้น หากถามว่ากลัวหรือเปล่า จึงตอบได้เลยว่าไม่กลัวอะไร เพราะเขาดูแลความปลอดภัยอย่างดี และก่อนที่จะไปเราคาดว่าสถานการณ์ในพม่าจะเลวร้ายกว่านี้มาก”
** เหมือนออกค่าย-แพทย์เคลื่อนที่
ขณะที่ นพ.ธัญญพงษ์ ณ นคร อายุรแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เล่าว่า ก่อนที่จะเดินทางมาช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่พม่า ได้มีโอกาสไปเที่ยวพม่าด้วย เมื่อเกิดเหตุการณ์พายุไซโคลนนาร์กีสถล่มจึงอยากมาดูให้เห็นกับตาว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร รุนแรงเหมือนข่าวที่ออกมาก่อนหน้านี้หรือไม่ ซึ่งปรากฏว่า เท่าที่ตนเองได้สัมผัสนั้น รัฐบาลพม่าถือว่าให้การดูแลช่วยเหลือประชาชนอย่างดี ตลอดเส้นทางไม่เห็นศพเกลื่อนกลาดเหมือนดังภาพข่าวที่สร้างความสยดสยองเลย
นพ.ธัญญพงษ์ ยังได้บอกเล่าถึงการทำงานในแต่ละวันว่า ในการทำงานครั้งนี้ ตนจะทำหน้าที่ในการบริหารจัดการ จัดหน่วยแพทย์ที่จะทำงานแต่ละวัน โดยแบ่งออกเป็น 3-4 ทีม ช่วงเช้าจะแบ่งเป็น 2 ทีม ส่วนภาคบ่ายอีก 1 ทีม มีการจัดยาและเวชภัณฑ์สำหรับการออกตรวจแต่ละครั้ง บ้างจัดหน่วยในโรงเรียน บ้างจัดตรวจในวัด ตนก็จะจัดสถานที่ให้ง่ายต่อการทำงาน ซึ่งจริงๆ แล้วเราทำงานไม่ต่างจากการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในชนบทบ้านเรา หรือหน่วยแพทย์อาสาสมัครเคลื่อนที่ พอ.สว. เลย แม้จะมีอุปสรรคในการสื่อสารบ้าง แต่ก็มีล่ามชาวพม่าในการช่วยเหลืออย่างดี
“การทำงานของหน่วยแพทย์ที่เดิม คาดว่า จะต้องมีการทำผ่าตัดใหญ่-เล็ก ก็มีเพียงการทำแผล ล้างแผล ตรวจอาการป่วยทั่วๆ ไป แต่ที่เน้นอย่างมากคือการให้ความรู้เรื่องสุขศึกษา การล้างมือก่อนรับประทานอาหาร การดื่มน้ำสะอาด เป็นต้น”นพ.ธัญญพงษ์ ให้ภาพ
** ไดอารี...14 วันในพม่า ภารกิจเติมเต็มความหวัง
ขณะที่ทีมแพทย์ต่างทุ่มเทกำลังดูแลรักษาสภาพบาดแผลทางกาย แต่ทางจิตใจผู้ประสบภัยก็ได้รับการบาดเจ็บไม่แพ้กัน พญ.เบญจพร ปัญญายง จิตแพทย์ กรมสุขภาพจิต ถือเป็นจิตแพทย์เพียงคนเดียวของหน่วยแพทย์ไทยฯ เล่าว่าว่า ตนมีประสบการณ์จากที่ได้ลงไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิ โดยอยู่ที่นั้นนาน 2 ปี ผนวกกับได้ช่วยลงพื้นที่ดูแลสภาพจิตใจ คนไทยใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ จึงคิดว่าน่าจะนำประสบการณ์ที่มี ไปช่วยเหลือชาวพม่าที่ประสบภัยพิบัติด้วย
“ก่อนหน้าที่จะเดินทาง ก็พยายามจัดเตรียมอุปกรณ์ทุกอย่างที่คิดว่าจำเป็น ทั้งกระเป๋าของเล่น กระดาษแผนใหญ่ สี จิกซอ ลูกปัด ทั้งที่เราไม่รู้เลยว่าที่นั้นสถานการณ์เป็นอย่างไรบ้าง แต่คิดว่า เด็กๆ ที่นั่นน่าจะได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก ซึ่งพอไปจริงๆ กิจกรรมที่ทำเพื่อผ่อนคลายความเครียดส่วนใหญ่เด็กจะชอบตัวต่อบล็อก จิกซอต่างๆ และการวาดรูปเป็นสื่อที่ช่วยบำบัดได้ง่ายมากที่สุด เนื่องจากเราสื่อสารกันไม่ได้ แต่การวาดภาพทำให้การสื่อสารกันง่ายขึ้น”
จิตแพทย์หญิง เล่าด้วยว่า สิ่งที่ประทับในมากที่สุด ในครั้งนี้คือ นอกเหนือจากการเยียวยาจิตใจแล้ว เรายังสามารถเติมเต็มความหวัง ความฝันของ เด็ก และผู้ปกครองได้ ด้วยสิ่งเล็กน้อยๆ เช่น มีผู้หญิงคนหนึ่งฝันว่าลูกที่เสียชีวิตมาเข้าฝันและไม่มีเสื้อผ้า จึงอยากทำบุญจีวรให้ลูกแต่ไม่มีเงิน แล้วเขามาปรึกษาเรา เราก็ช่วยเหลือเขา ซึ่งเป็นเรื่องง่ายๆ ที่ทำได้ แต่เป็นการเติมเต็มความฝันให้เขา
“ประสบการณ์ทั้งหมดนี้ได้เขียนบันทึกไว้ในไดอารี่ ตั้งแต่วันแรกของการเดินทาง จนถึงวันเดินทางกลับ ซึ่งเต็มไปด้วยประสบการณ์ที่ดี มีทั้งเรื่องเศร้า สนุกสนาน การทำงานร่วมกัน โดยตั้งใจจะนำมาเผยแพร่ ประสบการณ์สู่สาธารณชนได้รับรู้เรื่องราวต่างๆ ในเร็วๆ นี้ด้วย” พญ.เบญจพร ทิ้งท้าย