xs
xsm
sm
md
lg

จีนหวั่นพม่าแปรพักตร์เล่นเกมเสี้ยมเขาควาย

เผยแพร่:   โดย: สุรัตน์ ปรีชาธรรม

หญิงโกก้างกำลังอุ้มลูกน้อยในค่ายอพยพหนันส่าน เมืองชายแดนในมณฑลหยุนหนันเมื่อเดือนส.ค.ปีที่แล้ว (2552) ทั้งนี้ชนกลุ่มน้อยโกก้างที่ส่วนใหญ่เป็นเชื้อสายจีนหลายหมื่นได้อพยพหนีสงครามจากปฏิบัติการโจมตีฐานที่มั่นชนกลุ่มน้อยโกก้างของกองทัพพม่าในเดือนส.ค. สร้างความไม่พอใจแก่ผู้นำจีน -ภาพเอเอฟพี
ขณะนี้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและพม่า ดูจะสมประโยคที่ว่า “ไม่มีมิตรแท้ หรือศัตรูถาวร” พญามังกรกำลังมองการเคลื่อนไหวของผู้นำรัฐบาลทหารพม่าอย่างหวาดวิตก ด้วยความรู้สึกถึงคลื่นใต้น้ำที่กำลังปั่นป่วนในความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ และเหตุการณ์ล่าสุดที่สะท้อนชัดว่าผู้นำพม่าไม่ได้แคร์จีนเท่าไหร่นักอีกต่อไป คือเหตุการณ์กองกำลังพม่าโจมตีปลดอาวุธกลุ่มชนกลุ่มน้อยโกก้างบริเวณชายแดนพม่า-จีนเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา จนผู้อพยพโกก้างกว่า 37,000 คน ไหลทะลักเข้าไปยังจีน ซึ่งสร้างความขุ่นเคืองแก่รัฐบาลในกรุงปักกิ่ง

เหตุการณ์นี้ ยิ่งทำให้กลุ่มผู้เชี่ยวชาญจับตามองสัมพันธภาพระหว่างจีนกับชาติเพื่อนบ้านที่ยากไร้ และมีชะนักติดหลังอย่างฉกาจจากกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชน จนนาย Ian Storey ผู้เชี่ยวชาญสถาบันการศึกษาด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งสิงคโปร์ ออกมาชี้ว่า “สัมพันธภาพจีน-พม่า ไม่อาจเรียกเป็น “เพื่อน” กันได้อีกแล้ว ในระยะหลังมานี้การคบหาระหว่างสองฝ่ายมักเป็นไปอย่างตึงเครียด ความร่วมมือระหว่างสองฝ่าย อยู่บนพื้นฐานที่เรียกว่า “การแต่งงานตามวาระสะดวก” แม้จนถึงขณะนี้พม่าก็ยังพึ่งพิงเงินและอาวุธจากจีน ขณะที่จีนก็ใช้สถานภาพในการเป็นสมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ปกป้องพม่าอยู่ในบางกรณี เพื่อแลกเปลี่ยนกับการเข้าถึงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติอันอุดม

ขณะที่พม่า หรือชื่อเรียกอย่างเป็นทางการชื่อใหม่คือ เมียนมาร์ ถูกนานาชาติแห่บอยคอตด้านเศรษฐกิจการค้า เพื่อลงโทษกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะช่วงหลังจากที่รัฐบาลทหารพม่าปฏิบัติการท็อปบู๊ธทมิฬ กวาดล้างกลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยในกรุงย่างกุ้ง ปี 2531 ก็มีเพียงจีนที่คอยขายอาวุธให้รัฐบาลพม่า ที่เปิดศึกกับชนกลุ่มน้อยแทบทุกวัน

จนในปี 2540 พม่าก็ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียนตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน แม้มีเสียงต่อต้านจากสหรัฐอเมริกา และยูโรป ก็ตาม

แม้จีนดูเป็น “มิตรยามยาก” ของรัฐบาลทหารพม่าเช่นนี้ แต่ความรู้สึกระแวงจีนของรัฐบาลพม่าที่ฝังใจมาตั้งแต่ครั้งที่พม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 2491 ก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลง

สืบเนื่องจากหลายปีที่ผ่านมา จีนได้หนุนหลังโดยช่วยติดอาวุธแก่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ต่อสู้กับรัฐบาลพม่า ผู้เชี่ยวชาญด้านพม่า Maung Zarni แห่งLondon School of Economic's Center for the Study of Global Governance บอกว่า “ทหารชาวจีนแต่งชุดเครื่องแบบของทหารทหารคอมมิวนิสต์พม่า เข้าร่วมการสู้รบกับกองกำลังของรัฐบาลพม่า และปัจจุบันกลุ่มการนำของพม่าก็ประกอบด้วยสมาชิกที่เคยเข้าร่วมปฏิบัติการกวาดล้างคอมมิวนิสต์ หรือปฏิบัติการต่อต้านปักกิ่งในช่วงทศวรรษที่ 1950-1960 ดังนั้น จึงเป็นเรื่องยากที่จะเปลี่ยนแปลงความรู้สึกนึกคิดในใจต่อจีนของกลุ่มนายพลเหล่านี้”

ขณะนี้ ผู้นำจีนหวั่นอยู่ว่า เหตุการณ์ทำนองเดียวกับกรณีกวาดล้างโกก้างในเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว จะเกิดขึ้นอีก โดยจะเกิดขึ้นกับกลุ่มกบฏชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ส่งผลให้คลื่นผู้อพยพไหลทะลักเข้าไปในดินแดนจีนอีก และภัยคุกคามที่จีนกลัวอยู่นี้ ดูมีความเป็นไปได้มากขึ้นในช่วงก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในพม่าปีนี้ โดยขณะนี้กลุ่มรณรงค์สิทธิต่างๆได้เผยว่ารัฐบาลทหารพยายามที่จะใช้อุบายต่างๆเพื่อฉุดชนกลุ่มน้อยตามชายแดนเข้ามาให้ความร่วมมือ และต้องใช้กำลังแน่นอนเมื่อจำเป็น

ปัญหาของจีนนั้น อยู่ในมณฑลหยุนหนัน ซึ่งมีพรมแดนติดต่อกับพม่าเป็นระยะทางยาว อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ป่ารกเหมาะเป็นช่องของการหลบซ่อน และชนกลุ่มน้อยต่างๆที่อาศัยบนสองดินแดนนี้ก็มีสายเลือดที่ใกล้ชิดกัน

กลุ่มเคลื่อนไหวเผยว่าขณะนี้กองทัพพม่ากำลังเตรียมจู่โจมกลุ่มกบฏเหล่านี้อีกระลอก โดยเฉพาะขณะนี้กองทัพสหรัฐว้า (United Wa State Army -UWSA) ซึ่งเป็นกองกำลังของชนกลุ่มน้อยเชื้อสายจีน ที่แข็งแกร่งมีกำลังทหารติดอาวุธสามหมื่นนาย ก็กำลังเตรียมพร้อมรับศึกจากกองทัพพม่า และขณะนี้ชาวบ้านในพื้นที่ควบคุมของกองทัพว้าจำนวนหนึ่งได้อพยพไปยังประเทศจีนและตอนใต้ของรัฐฉาน สำหรับกองทัพว้านี้ สหรัฐอเมริกาได้ระบุเป็นกลุ่มค้ายาเสพติดข้ามชาติ
เต็นท์ในค่ายผู้อพยพในเมืองหนันส่านของมณฑลหยุนหนัน จีนจำต้องจัดหาเครื่องยังชีพเหล่านี้มารองรับกลุ่มผู้อพยพโกก้างหลายหมื่นคน ที่หนีร้อนจากปฏิบัติการโจมตีฐานที่มั่นชนกลุ่มน้อยโกก้างในพม่าเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2552 ขณะนี้ จีนยังหวั่นเรื่องทำนองนี้ เกิดขึ้นอีกในเร็วๆนี้ เนื่องจากมีเค้าลางว่ากองทัพพม่าเตรียมบดขยี้ชนกลุ่มน้อยที่ไม่ยอมให้ความร่วมมือในการเลือกตั้งทั่วไปในปีนี้ -ภาพเอเอฟพี
สถานการณ์ดังกล่าวสร้างความวิตกแก่จีนมาก ไม่เพียงปัญหาผู้อพยพที่จะทะลักเข้ามาเพิ่ม ยังส่งผลกระทบเสียหายแก่ธุรกิจชายแดน มิต้องพูดถึงปัญหายาเสพติดจากพม่าที่หลั่งไหลเข้ามายังจีนอย่างง่ายดาย และยิ่งโหมกระพือการแพร่ระบาดโรคเอดส์ในมณฑลหยุนหนัน ที่เกิดจากการใช้เข็มฉีดยาสกปรกร่วมกัน รวมทั้งปัญหาโสเภณี

รัฐบาลทหารพม่าก็มีฝีมือใช่เล่นในเกมพนันในการพลิกบทบาทเพื่อนและศัตรูตามกรรมวาระต่างๆเพื่อความอยู่รอดของระบอบการปกครอง

หลัว เซิ่งหรง และ วาง อ้ายผิง นักวิชาการที่มหาวิทยาลัยหยุนหนัน ก็ได้จับมองสถานการณ์ในสัมพันธภาพจีนพม่า และได้เขียนบทความเผยแพร่ในวารสารความสัมพันธ์ระหว่างประเทศร่วมสมัยของจีน ชี้ว่าการโจมตีโกก้าง ยังเป็นการจงใจที่จะบอกผู้นำในกรุงปักกิ่งด้วยว่าอย่ามองความสัมพันธ์เป็นเรื่องดาษๆ นอกจากนี้ยังต้องการแสดงให้ตะวันตกเห็นอีกว่า รัฐบาลทหารพม่ากำลังปรับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากที่เคยมองแต่จีน ก็เริ่มหันมาติดต่อกับชาติอื่นๆบ่อยขึ้น ทั้งสหรัฐฯ อินเดีย และชาติอำนาจอื่นๆ เพื่อที่จะดุลนโยบายต่างประเทศ

นักวิเคราะห์จีนยังชี้ถึงปฏิบัติการโจมตีฐานที่มั่นของโกก้าง เป็นการแสดงว่ารัฐบาลพม่ากำลังลดการพึ่งพิงจีน และหันไปเอาใจสหรัฐฯ โดยแสดงให้วอชิงตันเห็นประโยชน์ของการสร้างพันธมิตรกับพม่า เพื่อต่อกรกับพญามังกร ประจวบเหมาะกับที่ผู้นำในแคปปิตัล ฮิลล์หลายคน ไม่เคยเชื่อใจจีนอยู่แล้ว

นักวิชาการหลายคนชี้ว่าวอชิงตันได้ให้ “รางวัล” สำหรับปฏิบัติการโจมตีโกก้าง โดยยกเลิกการห้ามวีซ่าเข้าประเทศแก่นายทหารพม่า และเปิดทางให้ นายกรัฐมนตรี เต็ม เส่ง(Thein Sein) มาแสดงสุนทรพจน์ที่สหประชาชาติ ในนิวยอร์ก

ความกลับกลอกดังกล่าวสร้างความกลัดกลุ้มแก่ผู้นำจีนมหาศาลเทียบเท่ากับผลโยชน์จีนในพม่า โดยสองชาติมีความผูกพันด้านธุรกิจการค้ากันอย่างสำคัญ การค้าระดับทวิภาคีก็ขยายมากกว่า 1ใน 4ในปี 2551 เท่ากับราว 2,630 ล้านเหรียญสหรัฐ

ยักษ์ใหญ่ขุดเจาะน้ำมันจีนคือ CNPC ก็เพิ่งเริ่มสร้างท่าเรือขนส่งน้ำมันดิบในพม่าเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการท่อขนส่งน้ำมัน ที่มีเป้าหมายลดการพึ่งพิงเส้นทางขนส่งน้ำมันผ่านช่องแคบมะละกา ซึ่งเป็นระยะทางทางไกลกว่า และเป็นช่องทางที่เสี่ยงต่ออันตรายทั้งจากความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติในอาณาบริเวณและโจรสลัด

สำหรับจีน ความผันแปรในพันธมิตรพม่ายังส่งผลกระทบอย่างมากต่อการพิจารณายุทธศาสตร์อื่นๆ คือ อินเดีย

จีนกับอินเดียนั้น เป็คู่อริกันมาหลายสิบปีตั้งแต่ยุคศึกชิงดินแดนบริเวณชายแดนกันปี 2505 แม้สัมพันธภาพกระเตื้องขึ้นอย่างมากในระยะหลัง แต่จีนก็ยังยืนหยัดสนับสนุนปากีสถาน ที่เป็นศัตรูที่อาจอยู่ร่วมโลกกับภารตะ

“จากมุมมองของจีน การเป็นเพื่อนซี้กับพม่า เป็นการเพิ่มแรงกดดันต่ออินเดีย เนื่องจากจีนมีสัมพันธภาพอันดีกับปากีสถาน เนปาล และบังคลาเทศ

นายทหารพม่าตระหนักถึงจุดนี้ดี และก็เห็นประโยชน์ในการผูกมิตรกับอินเดีย

“เมื่อมองรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเช่นนี้ มันเป็นเกมเสี้ยมเขาควายให้ชนกัน (เพื่อกินพุงปลามัน) ไม่เป็นคู่จีนกับสหรัฐฯ ก็เป็นคู่จีนกับอินเดีย มันเป็นเรื่องธรรมดาแต่ก็เป็นยุทธศาสตร์ที่ทรงประสิทธิภาพ เพื่อให้ใครต่อใครไล่ตามคุณ” David Mathieson นักวิจัยเรื่องพม่า ของ Human Rights Watch ในนิยอร์ก ว่า.
กำลังโหลดความคิดเห็น