xs
xsm
sm
md
lg

ฮิวแมน ไรต์ วอตช์...หวังดีหรือก้าวก่าย?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
     คำแถลงจาก แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการแผนกเอเชียของ Human Rights Watch องค์กรเอกชนที่ตรวจสอบสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งออกมาวิพากษ์การทำงานของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่า รัฐบาลชุดนี้ได้บั่นทอนการเคารพสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรมในประเทศอย่างต่อเนื่องนั้น ก่อให้เกิดผลสะเทือนในสังคมไทยไม่น้อย

     ทั้งฉุดดึงให้รัฐบาลออกมาตอบโต้ต่อรายงานของฮิวแมน ไรต์ วอตช์ ที่ว่ารัฐบาลละเมิดสิทธิมนุษยชนในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อช่วงสงกรานต์ของปีที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 123 คน และมีผู้เสียชีวิต 2 คน ซึ่งรัฐบาลมองว่าถ้อยความดังกล่าวอาจทำให้เกิดการเข้าใจผิดว่าประชาชนเสียชีวิตจากการสลายการชุมนุม ขณะที่ผู้ประสานงานของฮิวแมน ไรต์ วอตช์ ประเทศไทย ก็ออกมาชี้แจงว่าถ้อยความดังกล่าวเป็นเพียงบทสรุปย่อ รัฐบาลตระหนกไปเองทั้งที่ยังไม่ได้อ่านบันทึกการรายงานสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนโดยละเอียด

     อย่างไรก็ดี ในห้วงสถานการณ์ที่ทั้งฮิวแมน ไรต์ วอตช์ และรัฐบาลไทยต่างโต้ตอบซึ่งกันและกัน ประเด็นสำคัญที่ไม่อาจปล่อยให้ผ่านเลยไปได้ก็คือ การสำรวจบทบาท หน้าที่ มาตรฐานการทำงานของฮิวแมน ไรต์ วอตช์ จากสายตาของคนหลากสถานะ

     ทั้งตั้งคำถามถึงนิยามความหมายของคำว่า 'สิทธิมนุษยชน' ที่นับวัน คำคำนี้มักจะถูกหยิบฉวยมาใช้อย่างแพร่หลาย สวนทางกับสถานการณ์ความรุนแรงที่มนุษย์กระทำต่อมนุษย์ด้วยกันในหลายพื้นที่ทั่วโลก

บางคำถามถึง ‘ฮิวแมน ไรต์ วอตช์’

     “กรณีที่มีการประหารชีวิต ฮิวแมน ไรต์ วอตช์ ก็ออกมาบอกว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องเป็นการละเมิดสิทธิ แล้วคนไทยที่อยู่ในชุมชนออนไลน์ก็จะบอกว่า
แล้วฮิวแมน ไรต์ วอตช์ ไม่เห็นสิทธิของเหยื่อบ้างหรือ? ซึ่งฮิวแมน ไรต์ วอตช์ตอบเราไม่ได้ ไม่มีอะไรที่เป็นมาตรฐาน ดิฉันมองว่าความเห็นของคนในชุมชนออนไลน์น่ารับฟัง เพราะฮิวแมน ไรต์ วอตช์ จะออกมาปกป้องนักโทษประหารทุกครั้ง แต่ไม่ได้ออกมาปกป้องสิทธิของคนที่ตกเป็นเหยื่อ เพราะฉะนั้นจึงมีคำถามตัวโตๆ ว่า องค์กรนี้ปกป้องชีวิตของใคร

     “อย่างกรณีล่าสุด ที่นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์โดน ยิ่งหนัก ดิฉันซึ่งเป็นคนที่สนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนยังรู้สึกว่าอะไรกัน ก็เห็นกันอยู่แล้ว ถึงแม้ฮิวแมน ไรต์ วอตช์ จะออกมาแก้แล้วว่าอ่านไม่ครบทั้งรายงาน ไม่ได้มีการเขียนให้ร้าย ต้องอ่านให้ครบ แต่เข้าใจหรือเปล่าว่าคนไทยเสียความรู้สึกไปแล้ว ทั้งเรื่องการที่ออกมาปกป้องสิทธิพวกที่ปล้น ฆ่า ฆาตกรข่มขืน หรือเรื่องการล้มอาเซียนที่พัทยา และเมษาเลือด”

     เป็นข้อสังเกตจาก โจ-มนฑาณี ตันติสุข ผู้หญิงมากความสามารถที่เป็นทั้งนักจัดรายการวิทยุ นักเขียน นักแสดง สะท้อนมุมมองต่อฮิวแมน ไรท์ส วอทช์ อย่างตรงไปตรงมา

 
     ในฐานะคนติดตามข่าวเรื่องฮิวแมน ไรต์ วอต์ช เสมอมา โจมองว่า เมื่อก่อนคนไทยไม่รู้จักองค์กรนี้ มารู้จักก็เมื่อครั้งเกิดกรณีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ตากใบ ขณะที่ในทั่วโลก ผู้คนมักจะได้ยินชื่อฮิวแมน ไรต์ วอตช์ ทุกครั้งที่มีเรื่องของสงครามหรือการละเมิดสิทธิมนุษยชน ส่วนผลงานที่เป็นรูปธรรมของฮิวแมน ไรต์ วอตช์ ในสายตาของเธอ มองว่าจากที่ได้ติดตามข่าวเรื่อยมา องค์กรนี้ไม่ได้มีผลงานที่เป็นชิ้นเป็นอัน ผลงานที่เด่นชัดมีแต่การรายงาน

     “ดังนั้น ฮิวแมน ไรต์ วอตช์ ต้องมีคำอธิบายถึงการทำงานว่า งานของคุณคืออะไร ต้องบอกประชาชนให้ชัดเจนว่าคุณมีหน้าที่อะไรที่เข้ามา อธิบายถึงประสิทธิผลหรือผลงานที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ที่ทำให้เกิดความเท่าเทียมด้านสิทธิมนุษยชนของทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายที่เป็นเหยื่อและฝ่ายที่เป็นผู้กระทำให้ครบทุกด้าน

     “เพราะในช่วงการล้มอาเซียนกับเมษาเลือด ดิฉันรู้สึกว่าคนไทยเป็นเหยื่อ แล้วยังบอกว่ารัฐบาลล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ถามว่าคุณมีสิทธิหรือที่เอารถแก๊สไปปิดถนน”

     จริงอยู่ สำหรับคนที่ติดตามข่าวสาร ย่อมเห็นว่าฮิวแมน ไรต์ วอตช์ ออกมาชี้แจงถึงรายงานดังกล่าวว่า มิได้ระบุไว้อย่างที่เข้าใจผิด แต่กระนั้นเธอก็ยังมีคำถาม

     “ถามว่าประชาชนคนไทยทั่วไปจะรู้ไหมที่เขาออกมาแก้ข่าวว่ารายงานเขาไม่ได้เขียนแบบนั้น”

     ในความเห็นของเธอ การตัดตอนรายงานมาเพียงบางส่วน ย่อมทำให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศ ทำให้เกิดคำถามต่อไปว่า ฮิวแมน ไรต์ วอทช์ จะแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณนี้อย่างไร?

ในนามของ 'สิทธิมนุษยชน'

     “ฮิวแมน ไรต์ วอตช์ เป็นหนึ่งในองค์กรที่เป็นอิสระ ก่อตั้งขึ้นเพื่อจับตาดูสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษย์ชนในประเทศต่างๆ แต่ฮิวแมน ไรต์ วอตช์ ก็ไม่มีอำนาจใดๆ ที่จะลงโทษรัฐบาลที่ทำการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทำได้เพียงสืบสวน และนำเสนอรายงานเพื่อยืนยันถึงสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ฝ่ายค้านมักจะนำรายงานของฮิวแมน ไรต์ วอตช์ ไปเป็นประเด็นในการอภิปรายไม่ไว้วางใจในรัฐสภา ซึ่งในสมัยรัฐบาลทักษิณ ฮิวแมน ไรต์ วอตช์ ก็ได้มีการรายงานเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในกรณีตากใบและกรือเซะเช่นกัน”

     แม้ไม่ได้ทำงานกับองค์กรฮิวแมน ไรต์ วอตช์ แต่ด้วยบทบาทของการเป็นเจ้าหน้าที่สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย ทั้งศึกษาหลักสูตรด้านสิทธิมนุษยชนมาโดยตรง ทำให้ กัลพาราตา ปุตตา หรือ รัตตา สะท้อนบางมุมมองต่อกรณีฮิวแมน ไรต์ วอตช์ ด้วยสายตาของนักสิทธิมนุษยชนที่ยืนยันว่า การตรวจสอบเรื่องการละเมิดสิทธิและศักดิ์ศรีในการมีชีวิตของคนคนหนึ่ง เป็นหลักการที่นักสิทธิมนุษยชนล้วนยึดถือโดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแบ่งฝักฝ่ายทางการเมือง

     ในมุมมองของรัตตา การที่ฮิวแมน ไรต์ วอตช์ จะตัดสินว่ารัฐบาลของประเทศใดละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ จำเป็นต้องมีการทำงานร่วมกับคนในพื้นที่ และลงปฏิบัติงานในพื้นที่จริง นอกจากนั้น รัตตายังเพิ่มเติมถึงหลักเกณฑ์ขององค์กรนี้ว่า

     “ฮิวแมน ไรต์ วอตช์ น่าจะใช้หลักเกณฑ์พื้นฐานที่ว่า หากมีการทำอันตรายจนถึงแก่ชีวิต โดยผู้ที่มีอำนาจสิทธิ์ขาดและกำลังที่มากกว่าทำร้ายผู้ที่ด้อยกว่านั้น ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน”

     หลักเกณฑ์ดังกล่าวสอดคล้องกับทัศนะของ ธนู เอกโชติ ทนายความและอนุคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ด้านชนชาติผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่นของสภาทนายความ ที่สะท้อนถึงการทำงานของนักสิทธิมนุษยชนจากต่างชาติกับบทบาทของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ว่า

     “การทำงานของฮิวแมน ไรต์ วอตช์ กับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีลักษณะการทำงานที่ค่อนข้างสอดคล้องกัน ในเรื่องของการสื่อสารเรื่องสิทธิมนุษยชนออกไปสู่สายตาภายนอก เพียงแต่ว่า ฮิวแมน ไรต์ วอตช์ เป็นองค์กรที่เปรียบเสมือนกระจกมากกว่าคณะกรรมการสิทธิฯ

     “ส่วนความมีอิสระในการตรวจสอบนั้น ฮิวแมน ไรต์ วอตช์ ก็เป็นองค์กรเอกชนที่ทำอะไรต่างๆได้ แต่คณะกรรมการสิทธิฯ จะถูกตีกรอบด้วยบทบาทหน้าที่ทางกฎหมาย”

จาก 'คนใน' ถึง 'คนนอก'

     แน่ล่ะ การเคารพในชีวิตและศักดิ์ศรีของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เป็นสิ่งที่พึงกระทำอย่างยิ่ง แต่กระนั้นก็อดตั้งข้อสังเกตไม่ได้ว่า ณ วันนี้ คำว่า 'สิทธิมนุษยชน' หรือการเชื่อมั่นใน 'สิทธิของความเป็นมนุษย์' เชื่อมั่นในศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นคนอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าคนคนนั้นจะอยู่ภายในอาณาเขตของรัฐใด นับถือศาสนาใด หรือเชื้อชาติใดก็ตาม คล้ายจะถูกทำให้กลายเป็นหลักการสำคัญที่แต่ละประเทศทั่วโลกต้องยึดถือ

     เป็นหลักการที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการก่อกำเนิดขององค์การสหประชาชาติ โดยความมุ่งหวังดังกล่าวได้ถูกบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในกฎบัตรสหประชาชาติ ที่เรียกร้องให้ชาติสมาชิก ยืนยันและรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ คำนึงถึงศักดิ์ศรีและคุณค่าของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมในฐานะเพื่อนมนุษย์และในนามของมวลมนุษยชาติ

     แต่ถึงจะถูกบัญญัติไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติ คำว่า 'สิทธิมนุษยชน' ก็คล้ายจะเป็นเพียงอุดมคติที่สวนทางกับสถานการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ สงครามกลางเมือง และความรุนแรงนานารูปแบบที่มนุษย์กระทำต่อมนุษย์ด้วยกันและกำลังคุกรุ่นบานปลายอยู่ในหลายประเทศทั่วโลกโดยไม่มีทีท่าว่าจะยุติ

     นั่นอาจสะท้อนได้ว่า แต่ละประเทศ แต่ละรัฐ แต่ละมณฑลที่ย่อมมีบริบท รายละเอียด และความซับซ้อนของวัฒนธรรมที่หลากหลายนั้น คำว่า หลักสิทธิมนุษยชน อาจไม่สามารถแก้ไขเยียวยาสถานการณ์ความรุนแรงให้ทุเลาเบาบางลงได้ ถ้าผู้ที่ก้าวเข้ามาตรวจสอบ ไม่ทำความเข้าใจกับวิถีชีวิต ทัศนคติของผู้คนและสภาพสังคมนั้นๆ ให้ละเอียดลึกซึ้งพอ

     ดังที่ รศ. ดร. จรัล มะลูลีม อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ทัศนะกว้างๆ เกี่ยวกับหลักสิทธิมนุษยชนและการเข้ามาของฮิวแมน ไรต์ วอตช์ ไว้อย่างน่าขบคิด

     “สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องดีที่มีการตรวจสอบ ถ้าองค์กรที่เข้ามาทำ ทำอย่างรอบคอบ และเข้าใจพื้นฐานของประเทศต่างๆ อย่างถี่ถ้วน เพราะว่าที่ผ่านๆ มา มีหลายประเทศที่ถูกทำลายด้วยข้ออ้างของประชาธิปไตยหรือการค้าเสรี อย่างกรณีของสหรัฐฯ ที่เข้าไปในอิรัก ซึ่งมีเป้ามายในเรื่องของประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน แต่ภาพที่เห็นในทุกวันนี้ อาจจะมีคนถามว่าคืออะไรกันแน่ สงครามที่เรียกกันว่าสงครามต่อต้านการก่อการร้าย กลับกลายไปเป็นการเข้าไปก่อการร้ายเสียเอง ทำนองเดียวกัน ไม่ว่าประเทศไหนก็แล้วแต่ก็อาจจะประสบปัญหาเช่นเดียวกันได้”

 
     จริงอยู่ ไม่ว่าอย่างไร เรื่องของสิทธิมนุษยชนนั้นเป็นเรื่องที่คนทุกคนควรต้องได้รับการดูแลเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว แต่ทั้งนี้ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานความเข้าใจในวัฒนธรรมที่แตกต่างไปตามพื้นที่

     “ตามความหมายของฮิวแมน ไรต์ วอตช์ หรือวอตช์ต่างๆ นั้น มันดีในตัวมันเองอยู่แล้ว แต่ว่าวิธีมองหรือวิธีการทำความเข้าใจกับปัญหาของตะวันตกและตะวันออก บางเรื่องก็เป็นการด่วนสรุป ไม่ว่าจะเป็นที่ซูดานหรือที่อื่นๆ สิ่งที่เราได้รับรู้อาจจะไม่ใช่ความจริง แต่เป็นความคิดที่ทางตะวันตกมีพื้นฐานหรือวางธงไว้แล้ว บางครั้งมันก็อาจจะกลายเป็นไปทำลายสิทธิของผู้อื่นได้เหมือนกัน

     “ฮิวแมน ไรต์ วอตช์ หรือเอ็นจีโอบางแห่งของบ้านเราที่ได้รับทุนมาจากทางตะวันตก บางเรื่องที่ทำก็ดี บางเรื่องก็ทำเพื่อสนองผลประโยชน์จากภายนอก จากประสบการณ์ของผมทำให้ผมเห็นว่า ใครก็ตามที่เขียนถึงประเทศอื่นๆ โดยที่ตัวเองไม่เคยไป ก็จะเห็นได้ว่ามีความผิดพลาดอยู่ และไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่เราได้ไปเห็นจริงๆ ตราบใดที่เรายังไม่เข้าใจภูมิภาคนั้นๆ แล้วมีการตัดสินออกมาจะทำให้มันคลาดเคลื่อนได้ แต่ส่วนที่ถูกที่ควรก็อาจจะมีอยู่บ้างถ้าเราจะมองมันด้วยใจเป็นกลาง

     “ผมยกตัวอย่างการแต่งกายของคนมุสลิมที่มีการคลุมฮิญาบ ซึ่งตรงนี้กลุ่มสิทธิมนุษยชนอาจมองว่า ผู้หญิงเหล่านี้ถูกละเมิดสิทธิ์ แต่ถ้าลองไปถามเจ้าตัว ก็จะได้รับคำตอบว่า เขาขอแต่งเองด้วยซ้ำ ด้วยความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของเขา ดังนั้น จะไปว่าเขาถูกกดขี่ก็ไม่ได้ เพราะเขามีความสุข และการที่ใครสักคนมีความสุขกับการทำอะไรสักอย่าง เราจะไปหาว่าเขาโดนละเมิดได้หรือ ดังนั้น การเข้ามาวุ่นวายกับเราโดยที่เขาไม่เข้าใจพื้นฐาน ก็ไม่สามารถที่จะตัดสินอะไรได้ แต่ถ้าเป็นกรณีการเอารัดเอาเปรียบอย่างเป็นรูปธรรมและคนเหล่านี้เข้ามาต่อสู้ แบบนี้เป็นเรื่องที่น่าสนับสนุน”

     สุดท้าย รศ.ดร.จรัล ทิ้งมุมมองในสายตานักรัฐศาสตร์ ว่า

     “มันมีความคิดเรื่อง 'โลกเดียว' ความคิดเดียว ที่คนบางกลุ่มพยายามจะเอาเข้ามาใช้อยู่แล้ว คือที่ใดก็ตามที่มีการปกครองไม่เหมือนตัวเอง ถึงแม้จะไม่มีความรุนแรงอยู่ แต่ก็ไม่สามารถรับได้ แต่จริงๆ แล้วความคิดนี้มันเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะแท้แล้ว โลกเราควรจะมีเอกภาพท่ามกลางความหลากหลาย แต่ก็มีหลายหน่วยงานที่เข้ามาด้วยความบริสุทธิ์ใจ บางหน่วยงานก็เข้ามาด้วยวาระทางการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ในอดีตที่ผ่านมาหน่วยงานที่เข้ามาในไทยนั้นมีหน่วยงานใดบ้างที่ไม่มีเจตนาแอบแฝง มันมีทั้งการให้และการได้รับ”

                   ……….....

     อดสงสัยไม่ได้ว่า เป็นไปได้หรือไม่ ที่การต่อสู้ในนามสิทธิมนุษยชน อาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนของใครอื่นอีกเรื่อยไปไม่จบสิ้น
                   .............  
               ***ล้อมกรอบ***

กว่าจะเป็น ฮิวแมน ไรต์ วอทช์

     ‘ฮิวแมน ไรต์ วอตช์’ (Human Rights Watch) เริ่มก่อตั้งขึ้นในปี 2521 ด้วยการสร้างสรรค์ของ เฮลซิงกิ วอทช์ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนชาวโซเวียตกลุ่มหนึ่งที่ต้องการตรวจสอบการทำงานของของรัฐบาลสหภาพโซเวียต
     ต่อมา เฮลซิงกิ วอตช์ ได้เปลี่ยนวิธีการมาเป็นประจานและเปิดโปงรัฐบาลที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน แล้วตีแผ่เรื่องราวการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอดีตสหภาพโซเวียตและยุโรปตะวันออกผ่านสื่อต่างๆ จึงถือได้ว่า เฮลซิงกิ วอทช์ มีส่วนทำให้ประชาธิปไตยเริ่มก่อร่างสร้างตัวอย่างเป็นรูปธรรมในปี 2523

     จากนั้นในปี 2524 ได้มีการก่อตั้ง อเมริกาส์ วอตช์ ขึ้น หลังจากเกิดเหตุการณ์สงครามกลางเมืองในอเมริกากลาง โดยมีกระบวนการทำงานที่อาศัยการลงพื้นที่จริง เพื่อสืบค้นการกระทำของรัฐบาลที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และใช้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ เพื่อตีแผ่อาชญากรรมสงครามที่เกิดขึ้น
ซึ่ง อเมริกาส์ วอตช์ ไม่ใช่เพียงแค่ทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลต่างชาติเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงกลุ่มกบฏต่างๆ ด้วย

  
     นอกจากนั้น ยังตรวจสอบการกระทำของรัฐบาลสหรัฐเอมริกาว่า อาจมีการกระทำอันไม่เหมาะสมหรือการสนับสนุนที่ไม่เหมาะสมของรัฐบาลสหรัฐฯ ต่อสงครามในอเมริกากลางหรือไม่ ซึ่งต่อมาได้มีการก่อตั้ง เอเชีย วอตช์ ปี 2528, แอฟริกา วอตช์ ปี 2531, มิดเดิล อีสท์ วอตช์ ปี 2532
ต่อมาทั้งหมดได้พร้อมใจกันร่วมมือและกลายมาเป็น ‘ฮิวแมน ไรต์ วอตช์’ อย่างเช่นปัจจุบัน
                     
                    ............
           เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
กำลังโหลดความคิดเห็น