xs
xsm
sm
md
lg

‘กัมพูชา’ถ่วงดุลระหว่าง‘ตะวันออก’กับ‘ตะวันตก’

เผยแพร่:   โดย: เซบาสเตียน สตรันจิโอ

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Cambodia balances East and West
By Sebastian Strangio
19/10/2009

ขณะที่จีนกำลังเพิ่มการผูกสัมพันธ์กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น กัมพูชาก็กลายเป็นหนึ่งในผู้ได้รับประโยชน์รายใหญ่ จากเงินกู้, ความช่วยเหลือ, และการลงทุนของแดนมังกร มีบางคนวิตกว่า การที่ข้อตกลงระหว่างจีนกับกัมพูชาเหล่านี้ ไม่ได้มีเงื่อนไขผูกมัดทางด้านสิทธิมนุษยชนและธรรมาภิบาล อาจจะส่งผลร้ายต่อสังคมกัมพูชา ขณะที่คนอื่นๆ มองว่าปักกิ่งกำลังเป็นผู้เสนอสายชูชีพทางการเงินให้แก่พนมเปญ

พนมเปญ – ในพิธีวางศิลาฤกษ์โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพ กัมพูชา-จีน แปร็ก กะดัม (Cambodia-China Prek Kdam Friendship Bridge) ในจังหวัดกันดาล ที่มีมูลค่า 128 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี ฮุนเซน ของกัมพูชา กล่าวว่า ความช่วยเหลือและการลงทุนจากจีนที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ กำลังส่งเสริมเพิ่มพูนการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่ “ความเป็นอิสระทางการเมือง” ของประเทศของเขา

“จีนเคารพการตัดสินทางการเมืองเรื่องต่างๆ ของกัมพูชา” เขากล่าวกับผู้เข้าร่วมพิธี “พวกเขามากันเงียบๆ แต่เวลาเดียวกันพวกเขาก็สร้างสะพาน สร้างถนน และไม่มีการตั้งเงื่อนไขที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนใดๆ ด้วย” มันเป็นคำพูดที่อ่านกันออกได้ง่ายๆ ว่ามุ่งโจมตีประดาข้อกำหนดเงื่อนไข ที่ติดมากับความช่วยเหลือของฝ่ายตะวันตก เป็นต้นว่า การเรียกร้องให้ต้องมีความคืบหน้าในการปฏิรูปพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น และขณะเดียวกันก็เป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงบทบาทที่ทวีขึ้นขึ้นของจีนในเศรษฐกิจที่กำลังพัฒนาของกัมพูชา

ด้วยเศรษฐกิจที่ยังคงเจริญรุ่งเรืองในยามที่เศรษฐกิจทั่วโลกทรุดต่ำ จีนสามารถประคองรักษาแรงกระตุ้นเบื้องหลังการเดินแต้มการทูตเชิงพาณิชย์อย่างแข็งขัน ต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เอาไว้ต่อไป และกัมพูชาแม้เป็นมุมเล็กๆ แต่ก็ทรงความสำคัญอยู่ในเขตอิทธิพลทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคของปักกิ่ง เขตอิทธิพลดังกล่าวกำลังเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นทุกขณะ ดังนั้นกัมพูชาจึงกลายเป็นหนึ่งในผู้ได้ประโยชน์หลักจากเงินกู้, ความช่วยเหลือ, และการลงทุนของจีน

การส่งคณะผู้แทน “มิตรภาพ” อย่างเป็นทางการ ไปมาหาสู่กันในระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์จีน กับ พรรคประชาชนกัมพูชา (Cambodian People's Party) ของฮุนเซน ดำเนินไปด้วยความคึกคักและรวดเร็วตลอดช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลกคราวนี้ ฮุนเซนเองได้นำคณะไปเยือนมณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ของจีนเป็นเวลา 3 วัน ซึ่งสุดสิ้นลงเมื่อกลางเดือนตุลาคม โดยที่นายกรัฐมนตรีกัมพูชากับเจ้าหน้าที่ฝ่ายจีนประกาศว่า จีนจะให้เงินกู้และเงินให้เปล่าก้อนใหม่มูลค่า 853 ล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ หลายหลากในกัมพูชา

เงินดังกล่าวนี้จะนำไปใช้ในโครงการไฟฟ้าพลังน้ำหลายโครงการ, สร้างสะพาน 2 แห่ง, และใช้ซ่อมแซมบูรณะทางหลวงที่เชื่อมระหว่างจังหวัดกระแจะ กับจังหวัดมณฑลคีรี ของกัมพูชา การประกาศคราวนี้เป็นการเพิ่มเติมจากยอดเงินกู้และเงินให้เปล่าจำนวนรวม 880 ล้านดอลลาร์ ซึ่งพนมเปญได้รับจากปักกิ่งตั้งแต่ปี 2006 เป็นต้นมา โดยที่โครงการสำคัญๆ ได้แก่ การให้ความสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำกัมจาย (Kamchay) มูลค่า 280 ล้านดอลลาร์ ในจังหวัดกัมโปต และอาคารคณะรัฐมนตรีในเมืองหลวงพนมเปญซึ่งเพิ่งเสร็จเรียบร้อยเมื่อเร็วๆ นี้โดยสิ้นค่าก่อสร้าง 30 ล้านดอลลาร์ –ซึ่งทางคณะรัฐบาลในกรุงปักกิ่งมอบให้โดยถือเป็นของขวัญแก่กัมพูชา

โฆษกสถานเอกอัครราชทูตจีน เฉียนไห่ (Qian Hai) แถลงว่า เมื่อนับถึงปี 2009 การลงทุนของจีนในกัมพูชามีปริมาณรวมทั้งสิ้น 4,500 ล้านดอลลาร์ นับเป็นความสำเร็จเชิงพาณิชย์ซึ่งเขายกความดีความชอบส่วนหนึ่งให้แก่การใช้นโยบายเคารพอธิปไตยของกัมพูชา “เราไม่ได้เข้าไปแทรกแซงในกิจการภายในของกัมพูชา” เขากล่าว ทางด้านพนมเปญเองแต่ไหนแต่ไรมาก็ตอบแทนด้วยการรับรองนโยบายจีนเดียวของทางปักกิ่ง และเรียกร้องให้มี “การรวมชาติอย่างสันติ” ระหว่างไต้หวันกับจีนแผ่นดินใหญ่ เฉียนไห่กล่าวต่อ

การที่จีนเข้าแข่งขันเกี้ยวพาประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายในทั่วโลก ด้วยการขายนโยบายให้ความช่วยเหลือและทำการลงทุนก้อนโต โดยไม่มีพ่วงประเด็นเผ็ดร้อนจำพวกสิทธิมนุษยชนหรือการปฏิรูปทางประชาธิปไตยนั้น สามารถทำคะแนนทางการทูตได้มากทีเดียวในพนมเปญในระยะไม่กี่ปีมานี้ ทว่าก็คล้ายคลึงกับพวกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่ กัมพูชานั้นมีความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์กับจีนที่อยู่ในลักษณะสลับซับซ้อน โดยบางครั้งก็ถึงขั้นเป็นปรปักษ์กันรุนแรง

ช่วงทศวรรษ 1950 และทศวรรษ 1960 เป็นระยะของความสัมพันธ์อันใกล้ชิด ที่ผูกพันกันด้วยมิตรภาพส่วนตัวอันชิดเชื้อระหว่าง เจ้านโรดมสีหนุ ผู้เปลี่ยนแปลงเร็วอย่างกับปรอทของกัมพูชา กับพวกผู้นำจีนอย่าง เหมาเจ๋อตง และ โจวเอินไหล ผู้เสนอให้ที่พำนักลี้ภัยแก่เจ้าสีหนุ (รวมทั้งบ้านพักอาศัยและเงินค่าครองชีพอย่างเป็นทางการ) หลังจากพระองค์ถูกโค่นล้มโดยนายพลลอนนอล ผู้ได้รับการหนุนหลังจากสหรัฐฯ เมื่อปี 1970

ระยะตั้งแต่ปี 1975 – 79 ที่จีนให้การสนับสนุนระบอบปกครองเขมรแดงหัวรุนแรง (เพื่อเป็นการถ่วงดุลกับเวียดนามแห่งสังคมนิยมที่เพิ่งรวมชาติได้สำเร็จก่อนหน้านั้นไม่นาน และกำลังมีท่าทีกระทำการต่างๆ ตามอำเภอใจของตน) ทำให้ในบทความชิ้นหนึ่งเมื่อปี 1988 ของฮุนเซน เขาได้เรียกจีนว่า เป็น “รากเหง้าของทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นความชั่วร้าย” ในกัมพูชา แต่เมื่อความทรงจำเกี่ยวกับสงครามกลางเมืองอันยาวนานของกัมพูชาเลือนลางจางหายไป และฮุนเซนก็สามารถผนึกรวมอำนาจเอาไว้ที่ตัวเขาอย่างมั่นคง ความเจ็บช้ำน้ำใจในอดีตก็หลีกทางให้แก่ความสัมพันธ์ที่มุ่งผลในทางปฏิบัติกันมากขึ้น (ภายหลังที่ฮุนเซนโค่นล้มเจ้านโรดมรณฤทธิ์ ที่ในเวลานั้นมีตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่หนึ่งของกัมพูชาแล้ว น่าสังเกตว่าจีนเป็นประเทศแรกที่ให้การรับรองระบอบการปกครองของฮุนเซน)

แต่สายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของจีนกับกัมพูชาที่มีลักษณะเป็นเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นี้ เป็นเพียงด้านเดียวของการกลับเข้าไปพัวพันคบค้ากับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกครั้งของแดนมังกร โจชัว เคอร์ลันต์ซิก (Joshua Kurlantzick) นักวิจัยของ สภาว่าด้วยความสัมพันธ์ต่างประเทศ (Council on Foreign Relations) ในกรุงวอชิงตัน และเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง Charm Offensive: How China's Soft Power is Transforming the World (การรุกด้วยเสน่ห์จูงใจ: อำนาจอ่อนของจีนกำลังเปลี่ยนแปลงโลกไปอย่างไร) กล่าวว่า ประมาณเวลาเดียวกับตอนที่เกิดวิกฤตการเงินเอเชียปี 1997-98 จีนก็เริ่มพาตัวเองบุกเข้าสู่ภูมิภาคแถบนี้ โดยอาศัยการให้ความช่วยเหลือก้อนโต, การทำข้อตกลงด้านการค้าฉบับใหม่, การทูตเชิงวัฒนธรรม, และสายสัมพันธ์ทางทหาร

“จีน ... มองว่า ความสัมพันธ์ระหว่างจีน-อาเซียนที่ขยายตัวกว้างขวางยิ่งขึ้น คือหนทางที่จะสร้างความมั่นใจให้แก่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคแถบนี้ว่า จีนจะเป็นมหาอำนาจประเภทที่รักสันติและไม่แทรกแซงกิจการภายในคนอื่น –และจากการที่จีนสามารถทำได้ดีกับอาเซียน ก็จะเป็นการสาธิตให้เห็นว่า จีนสามารถที่จะเล่นเกมการทูตแบบนุ่มนวลและพหุภาคีได้” เขากล่าวกับเอเชียไทมส์ออนไลน์

**ความช่วยเหลือจากจีนเข้าถ่วงดุลตะวันตก**

ความช่วยเหลือจากจีนในบางแง่บางมุมก็กำลังทำให้กัมพูชาสามารถลดการพึ่งพาอาศัยฝ่ายตะวันตก ซึ่งยังคงเป็นผู้สมทบให้เงินงบประมาณประจำปีของประเทศนี้อยู่เกือบๆ ครึ่งหนึ่ง

ในวันที่ 16 ตุลาคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติของกัมพูชาได้เปิดการพิจารณาสนธิสัญญาการค้าฉบับใหม่ที่ทำกับจีน โดยที่พวกสมาชิกสภาจากพรรคสมรังสี (Sam Rainsy Party หรือ SRP) ซึ่งเป็นฝ่ายค้าน อภิปรายว่าโครงการที่ได้รับเงินทุนจากจีนทั้งหลาย สร้างผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนท้องถิ่น มู สุจัว (Mu Sochua) ส.ส.จากพรรคเอสอาร์พี ระบุเลยว่า การให้สัมปทานด้านการเกษตรแก่บริษัทจีนที่ชื่อ อู่จื้อซาน (Wuzhishan) ที่ใช้ที่ดินถึง 199,000 เฮกตาร์ (ประมาณ 1.24 ล้านไร่) ในจังหวัดมณฑลคีรี ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศนั้น มีการยึดที่จำนวนมากอย่างผิดกฎหมายจากชาวบ้านที่เป็นชนกลุ่มน้อยชนชาติพง (Phnong)

คาร์ไลล์ เธเยอร์ (Carlyle Thayer) ศาสตราจารย์รัฐศาสตร์ ซึ่งประจำอยู่ที่สถาบันการป้องกันประเทศแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian Defense Forces Academy) ในนครซิดนีย์ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ของจีนในเรื่อง “การไม่แทรกแซง” ซึ่งก็เป็นหลักการที่บรรจุเอาไว้ในกฎบัตรของสมาคมอาเซียนด้วยนั้น กำลังกลายเป็นจุดขายสำคัญของปักกิ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยที่บางประเทศในภูมิภาคนี้กำลังมองว่าจีนคือโล่ที่สามารถใช้ต่อต้านแรงกดดันจากสหรัฐฯและประเทศตะวันตกอื่นๆ “ความช่วยเหลือของจีนคือการเสนอช่องทางหลบหนีให้แก่พวกประเทศที่กำลังถูกกดดันจากฝ่ายตะวันตกให้ต้องส่งเสริมสนับสนุนสิทธิมนุษยชนและการปฏิรูปทางประชาธิปไตย” เธเยอร์กล่าว

ขณะที่ เคอร์ลันต์ซิกเสริมว่า ความช่วยเหลือจากจีนกำลังเหมือนกับออกฤทธิ์ในทาง “กัดกร่อน” เรื่องธรรมาภิบาลและสิทธิมนุษยชนในเอเชีย “ฮุนเซนรู้ดีถึงวิธีที่จะนำเอาจีนมาเบิ้ลใส่กลุ่มผู้บริจาคความช่วยเหลือชาวตะวันตก และความช่วยเหลือจากจีน --แม้กระทั่งว่าไม่จำเป็นต้องเชื่อมโยงกับการลดระดับด้านสิทธิมนุษยชนโดยตรงใดๆ เลย ก็ยังสามารถให้ผลชนิดที่กลายเป็นการแข่งขันเพื่อการมีสิทธิมนุษยชนให้น้อยที่สุดอยู่ดี” เขาบอก

ทางด้าน โซฟี ริชาร์ดสัน (Sophie Richardson) ผู้อำนวยการดูแลด้านเอเชีย ขององค์การ ฮิวแมน ไรต์ส วอตช์ (Human Rights Watch) ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในสหรัฐฯ ก็เห็นด้วยว่า ความช่วยเหลือแบบไม่มีเงื่อนไขที่จีนให้แก่กัมพูชา สามารถแสดงบทบาทเป็น “สายชูชีพทางการเงิน” โดยที่หากไม่มีจีนเข้ามาเช่นนี้ กัมพูชาก็คงจะถูกเหล่าผู้บริจาคชาติตะวันตกตัดความช่วยเหลืออันสำคัญยิ่งยวดไปแล้ว อย่างไรก็ดี เธอชี้ด้วยว่าเนื่องจากพวกชาติตะวันตกก็ล้มเหลวไม่สามารถทำงานร่วมกันอย่างทรงประสิทธิภาพ เพื่อกำหนดและบังคับใช้เงื่อนไขให้ความช่วยเหลือต่างๆ ต่อกัมพูชา ดังนั้นการที่จีนกำลังปรากฏตัวเพิ่มมากขึ้นเช่นนี้ ลงท้ายแล้วก็แทบจะไม่ได้มีผลกระทบอะไรจริงจังต่อเรื่องสิทธิมนุษยชนหรอก

“จุดสำคัญที่สุด และก็เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดด้วย ได้แก่การที่รัฐบาลในกรุงพนมเปญ … ดูจะมีเจตนารมณ์ที่จะกระทำการอย่างมิชอบชนิดจริงจังยิ่ง โดยไม่สนใจว่าใครเป็นผู้ที่เสนอเงินช่วยเหลือเข้ามา” เธอกล่าว

แต่ถึงแม้มีเงินทุนจากจีนไหลทะลักเข้ามาในระยะหลังๆ นี้ ก็ยังไม่มีสิ่งบ่งชี้ใดๆ ว่ารัฐบาลฮุนเซนตั้งใจที่จะละทิ้งสายสัมพันธ์ที่มีอยู่กับฝ่ายตะวันตก เจีย วรรณนาฏ (Chea Vannath) นักวิเคราะห์การเมืองอิสระที่ตั้งฐานอยู่ในพนมเปญ กล่าวว่า อิทธิพลจีนที่กำลังเพิ่มมากขึ้น ดูจะถูกใช้เพื่อเป็นการคานกับอิทธิพลของพวกประเทศตะวันตก อันเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญยิ่งยวดซึ่งใช้กันในประเทศที่มีขนาดเล็กอย่างกัมพูชา อีกทั้งชวนให้หวนย้อนไปถึงนโยบายพยายามสร้างความสมดุลของเจ้าสีหนุในยุคสงครามเย็น ซึ่งพระองค์สละราชบัลลังก์และเข้าปกครองประเทศในฐานะนายกรัฐมนตรีระหว่างปี 1955 ถึง 1970

“ดิฉันคิดว่าสิ่งที่รัฐบาลชุดนี้กำลังพยายามกระทำ ก็คือการกระจายรับความช่วยเหลือจากหลายๆ แหล่ง … เป็นความปรารถนาที่จะทำให้เกิดความสมดุลขึ้นมา” เธอบอก “ในฐานะที่เป็นรัฐบาลของชาติอธิปไตย กัมพูชาจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากทั้งสองข้าง”

เธเยอร์เห็นด้วยว่าข่าวลือหลายกระแสที่พูดว่าอิทธิพลของฝ่ายตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งของอเมริกัน กำลังลดฮวบลงนั้น เป็นการพูดขยายเกินความจริง ในปี 2007 ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับกัมพูชามีความอบอุ่นมากขึ้นด้วยซ้ำ ตอนที่วอชิงตันยกเลิกข้อจำกัดต่างๆ ที่ผูกติดกับความช่วยเหลือซึ่งให้แก่รัฐบาลส่วนกลางของกัมพูชา อันเป็นเงื่อนไขที่ประกาศใช้ภายหลังเหตุการณ์รัฐประหารในปี 1997 นอกจากนั้นสหรัฐฯก็มีฐานะเป็นตลาดส่งออกใหญ่ที่สุดสำหรับสินค้าเครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอที่ผลิตในกัมพูชา โดยที่สินค้าเหล่านี้เองเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกสำคัญที่สุดของประเทศนี้

เมื่อเดือนมิถุนายน ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ ได้ส่งสัญญาณว่าเขามีเจตนารมณ์ที่จะเพิ่มพูนการค้าระหว่างกันให้มากขึ้นอีก ด้วยการถอนชื่อของกัมพูชาและลาวออกจากบัญชีดำการค้าของสหรัฐฯที่ทำเอาไว้ตั้งแต่ยุคสงครามเย็น ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นการเปิดทางให้ธุรกิจของอเมริกันสามารถเข้าถึงเงินกู้และการค้ำประกันสินเชื่อที่หนุนหลังโดยรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อใช้ในการค้าและการลงทุนระหว่างสหรัฐฯกับประเทศทั้งสอง

“”ทุกๆ ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่างก็มีการปรับตัวเพื่อรับกับการผงาดขึ้นมาและอิทธิพลทางการเมืองของจีนกันมานานแล้วทั้งนั้น เพียงแต่จะปรับตัวกันมากน้อยอย่างไรเท่านั้น” เธเยอร์ชี้ “พวกเขาไม่ได้ต้องการถูกผลักดันเข้าไปอยู่ในจุดยืนที่จะต้องเลือกเอาระหว่างจีนและสหรัฐฯหรอก”

เซบาสเตียน สตรันจิโอ ทำงานเป็นผู้สื่อข่าวให้แก่หนังสือพิมพ์ พนมเปญโพสต์ ในกัมพูชา
กำลังโหลดความคิดเห็น