xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมคนปากีสถานจึงมอง“สหรัฐฯ”เป็นภัยคุกคามใหญ่กว่า“ตอลิบาน”

เผยแพร่:   โดย: มูฮัมหมัด อิดรีส อาหมัด

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Why Pakistanis see US as the bigger threat
By Muhammad Idrees Ahmad
02/11/2009

ชาวปากีสถานส่วนใหญ่แล้วมีความรู้สึกต่อต้านตอลิบาน ทว่าพวกเขาก็ต่อต้านสหรัฐอเมริกามากกว่าเสียอีก ดังที่รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ฮิลลารี คลินตัน ได้เรียนรู้ระหว่างการเยือนประเทศนี้ของเธอเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ชาวปากีสถานยังคงมีความคิดเห็นอย่างไม่แปรเปลี่ยน ว่า ปากีสถานกำลังสู้รบอยู่ในสงครามของอเมริกัน, ก่อนหน้าปี 2002 ที่สหรัฐฯจะเข้ามาทำ “สงครามต่อสู้เอาชนะการก่อการร้าย” ในภูมิภาคแถบนี้ ปากีสถานไม่ได้มีภัยคุกคามจากผู้ก่อการร้าย, และ ภัยคุกคามดังกล่าวนี้จะหายสูญไปทันทีที่กองทหารสหรัฐฯถอนออกไปจากภูมิภาคแถบนี้

เปชวาร์.ปากีสถาน – จากเมืองเปชวาร์ออกไปทางตะวันตก ตามถนนจัมรุด (Jamrud) ซึ่งเป็นเส้นทางมุ่งสู่ช่องเขาไคเบอร์ (Khyber Pass) อันเลื่องชื่อในประวัติศาสตร์ เราจะผ่านตลาดคาร์โคโน (Karkhono Market) ย่านที่เป็นลานขายสินค้าหลายๆ แห่งต่อเนื่องกัน บรรดาสินค้าที่วางขายกันที่นี่ปกติแล้วคือของเถื่อน โดยที่ในเวลานี้สินค้าซึ่งถือเป็นมาตรฐานต้องมีให้เลือกซื้อก็ได้แก่ ยุทโธปกรณ์ต่างๆ ของสหรัฐฯ เป็นต้นว่า เครื่องแบบสนามของทหารเวลาออกรบ, แว่นตาที่ทำให้มองเห็นได้ในตอนกลางคืน, เสื้อเกราะกันกระสุน, และมีดทหาร

ถัดจากตลาดไปคือจุดตรวจ ที่เป็นเส้นแบ่งพื้นที่เมืองเปชวาร์ออกจากเขตไคเบอร์ อันเป็นดินแดนชาวชนเผ่าที่จะมีอำนาจกึ่งปกครองตนเอง ในอดีตที่ผ่านมา หากใครอ้อยอิ่งอยู่ใกล้ๆ แถวเส้นแบ่งนี้นานสักหน่อย ก็มักจะมีใครบางคนจากฟากที่อยู่ห่างไกล เข้ามาติดต่อทาบทามขายกัญชา, สุรา, ปืน, หรือกระทั่งเครื่องยิงลูกจรวด สำหรับระยะหลังๆ มานี้ เซลส์แมนพวกนี้ยังอาจจะเสนอขายปืนเอ็ม 16, ปืนยาวติดกล้องสำหรับทหารซุ่มยิง, และปืนพก ทั้งหมดเป็นผลิตภัณฑ์ของสหรัฐฯ สำหรับพวกที่ตกลงซื้อหาสินค้าเหล่านี้ไปนั้น ไม่ค่อยคำนึงถึงเรื่องคุณวิเศษของอาวุธเหล่านี้เท่าไรนักหรอก เพราะพื้นที่แถบนี้ยังคงนิยมชมชอบปืนอาก้า (เอเค47) กันมากกว่า แต่พวกเขาอยากได้ข้าวของที่จะเป็นเครื่องระลึกถึงจักรวรรดิที่กำลังจะตายต่างหาก

ความตระหนักถึงความเป็นจริงในเรื่องนี้ อาจจะกำลังบังเกิดขึ้นอย่างช้าๆ ในหมู่พันธมิตรบางรายของสหรัฐฯ ทว่าสำหรับที่นี่แล้วทุกๆ คนต่างแน่ใจว่ากองทหารฝ่ายตะวันตกกำลังพ่ายแพ้ในสงครามคราวนี้แล้ว ทั้งนี้ ขณะที่ในอัฟกานิสถานนั้น ประสิทธิภาพของกองทหารฝ่ายตะวันตกในการเป็นเครื่องมือเพื่อต่อสู้ปราบปรามการก่อความไม่สงบ กำลังถูกตั้งคำถามเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทางด้านปากีสถานที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านอยู่ติดต่อกันนั้น ก็มีการสำรวจพบข้อเท็จจริงที่เกี่ยวโยงสัมพันธ์กันด้วย

เมื่อเดือนกรกฎาคม 2009 สถาบันชาวรีพับลิกันระหว่างประเทศ (International Republican Institute หรือ IRI) ที่ได้เงินทุนสนับสนุนจากสหรัฐฯ ได้จัดการสำรวจทัศนคติของชาวปากีสถาน แต่ไม่ได้ครอบคลุมถึงผู้คนในแคว้น “พื้นที่ชาวชนเผ่าที่บริหารโดยรัฐบาลกลาง” ( Federally Administered Tribal Areas หรือFATA) ตลอดจนหลายๆ ส่วนของแคว้นพรมแดนตะวันตกเฉียงเหนือ ( North-West Frontier Province หรือNWFP) อันต่างก็เป็นดินแดนที่ถูกกระทบกระเทือนจากสงครามโดยตรง และพบว่า 69% ของผู้ตอบคำถามแสดงความสนับสนุนต่อการที่กองทัพปากีสถานเข้าปฏิบัติการปราบปรามพวกหัวรุนแรงในเขตหุบเขาสวัต (ซึ่งอยู่ในแคว้น NWFP) ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

การสำรวจอีกครั้งหนึ่งที่กระทำโดย “แกลลัป” บริษัททำโพลสัญชาติอเมริกัน ในช่วงเวลาใกล้ๆ กันนั้น แต่หยั่งเสียงผู้คนทั่วทั้งประเทศปากีสถาน พบว่ามีเพียง 41% ที่สนับสนุนการปฏิบัติการดังกล่าว นอกจากนั้นโพลของแกลลัปยังพบว่า ผู้คนจำนวนมากกว่าคือ 43% อยากให้ใช้วิธีแก้ปัญหากันทางการเมืองโดยผ่านการเจรจากัน

ผลการหยั่งเสียงทั้ง 2 สำนักนี้ยังให้ภาพอันน่าสนใจมากในเรื่องเกี่ยวกับความรับรู้เข้าใจของชาวปากีสถานต่อภัยคุกคามจากการก่อการร้าย นั่นคือ ถ้าหากผู้คนในประเทศนี้มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าจำเป็นที่จะต้องประจันหน้าคัดค้านพวกหัวรุนแรงแล้ว พวกเขาก็มีความเป็นเอกภาพเช่นกันในเรื่องความรู้สึกชิงชังสหรัฐฯ ทว่าพวกเขายังคงให้น้ำหนักแก่ภัยคุกคามทั้ง 2 ประการนี้ไม่เท่ากัน การสำรวจของแกลลัปพบว่า 59% ของชาวปากีสถานมองเห็นว่าสหรัฐฯคือภัยคุกคามที่ใหญ่โตกว่า เปรียบเทียบกับที่มีเพียง 11% คิดว่าตอลิบานเป็นอันตรายกว่า ส่วนผลโพลของไออาร์เอสก็ชี้ว่า คนที่เห็นว่าตอลิบานเป็นภัยคุกคามใหญ่มีเพียง 13% ขณะที่อันตรายร้ายแรงที่สุดกลับเป็นเรื่องภาวะเงินเฟ้อที่กำลังเบ่งบานสร้างความหายนะให้แก่เศรษฐกิจ โดยได้คะแนนไปถึง 40%

ในปี 2001 เมื่อสหรัฐฯเริ่มเปิดฉาก “สงครามต่อสู้เอาชนะการก่อการร้าย” ของตน ผู้คนจำนวนมากในหมู่ชนชั้นนำและปัญญาชนของปากีสถานได้ให้ความสนับสนุนสงครามนี้ ซึ่งกลายเป็นการคาดคำนวณอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนในประเทศตนผิดพลาดไปมาก เพราะพวกเขาต่างรู้สึกเป็นปรปักษ์ต่อเรื่องนี้อย่างชัดเจนยิ่ง สภาพการณ์เช่นนี้ได้นำไปสู่การลงคะแนนเสียงเพื่อแสดงการประท้วง จนทำให้กลุ่มพันธมิตร มุตตอฮิดะ มัจลิส-อี-อะมัล ( Muttahida Majlis-e-Amal หรือ MMA) ที่มีแนวทางเคร่งครัดศาสนาอิสลาม ชนะการเลือกตั้งได้ครองอำนาจในแคว้นที่มีพรมแดนติดกับอัฟกานิสถาน 2 แคว้น ทั้งนี้พันธมิตรเอ็มเอ็มเอเป็นกลุ่มเดียวที่แสดงการคัดค้านอย่างเปิดเผยต่อการที่สหรัฐฯเข้าไปแทรกแซงรุกรานอัฟกานิสถาน

อย่างไรก็ดี เมื่ออัฟกานิสถานล้มคว่ำ พวกผู้ปกครองที่เป็นกลุ่มตอลิบานถูกขับไล่ไปจากเมืองหลวงและตัวเมืองใหญ่ๆ อะไรๆ ก็กลับสงบเงียบลงและอารมณ์ความรู้สึกต่อต้านที่เคยแรงกล้าก็บรรเทาเบาบางลง เปอร์เวซ มูชาร์รัฟ ผู้นำทหารที่ยึดอำนาจเข้าปกครองปากีสถานแบบเผด็จการ สามารถประกาศการตัดสินใจของเขาที่จะเข้าร่วมใน “สงครามต่อสู้เอาชนะการก่อการร้าย” แม้ต้องออกตัวว่ามันเป็นทางเลือกที่ยากแก่การยอมรับแต่ก็เป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ความเคลื่อนไหวคราวนี้ของเขาทำให้ภาวะโดดเดี่ยวในทางระหว่างประเทศของมูชาร์รัฟสิ้นสุดลง อีกทั้งเขาได้รับรางวัลตอบแทนด้วยการที่ฝ่ายตะวันตกยอมยกเลิกประดามาตรการลงโทษปากีสถาน ซึ่งประกาศออกมาใช้หลังจากปากีสถานทดลองอาวุธนิวเคลียร์ในปี 1998

เศรษฐกิจในช่วงเวลาต่อจากนั้นสามารถเติบโตขยายตัว ทำให้มูชาร์รัฟได้รับความนิยมชมชื่นจากประชาชนเพิ่มมากขึ้นด้วย ในปี 2004 หลังจากที่ถูกสหรัฐฯกดดันอย่างหนัก เมื่อเขาส่งกองทหารปากีสถานเข้าไปในพื้นที่แคว้น FATA ซึ่งเกิดความไม่สงบอยู่ไม่หยุดหย่อน ประชาชนก็ไม่ค่อยจะได้ส่งเสียงคัดค้านอะไร เขายังคงพยายามรักษาเสียงสนับสนุนของประชาชนที่มีต่อตัวเขาเอาไว้อย่างเต็มที่ ถึงแม้มีรายงานออกมาหลายชิ้นเกี่ยวกับการสังหารเข่นฆ่าผู้คนและการใช้ความรุนแรงแบบลุแก่อำนาจ โดยตามข้อมูลขององค์การฮิวแมน ไรต์ส วอตช์ (Human Rights Watch) นั้น มีทั้งการใช้กำลังรุนแรงอย่างไม่มีการจำแนกแยกแยะ, การรื้อถอนทำลายบ้านเรือน, การล่าสังหารแบบใช้อำนาจศาลเตี้ย, การทรมาน, และการทำให้บุคคลหายสาปสูญ ทั้งนี้ถ้าหากจะมีเสียงกล่าวโทษติเตียนมูชาร์รัฟอะไรในกรณีเหล่านี้ในเวลานั้นแล้ว ก็จะออกมาในทางที่ว่าเขาควรที่จะทำให้หนักข้อขึ้นไปอีก

แต่แล้วอะไรๆ ก็เปลี่ยนแปลงไปหมด เมื่อมูชาร์รัฟสั่งให้ทหารบุกเข้ากวาดล้างมัสยิดแห่งหนึ่งในเมืองหลวงอิสลามาบัด ที่ถูกพวกเห็นอกเห็นใจตอลิบานยึดเอาไว้ในเดือนสิงหาคม 2007 จนทำให้มีนักศึกษาด้านศาสนาเสียชีวิตไปหลายคน ต่อมาพวกตอลิบานได้ตอบโต้ล้างแค้นด้วยการก่อสงครามขึ้นในเขตตัวเมืองที่มีผู้คนหนาแน่น และเกิดการโจมตีแบบก่อการร้ายขึ้นในเมืองใหญ่ๆ หลายต่อหลายครั้ง

ปรากฎว่ามูชาร์รัฟถูกประณามกล่าวโทษ และยิ่งเมื่อเกิดมีการท้าทายขึ้นมาจากภาคประชาสังคม ในรูปแบบของขบวนการนักกฎหมาย และสื่อมวลชนต่อต้านรัฐบาล คะแนนนิยมของเขาก็เสื่อมทรุดลงถึงขีดสุด ขณะเดียวกัน เขตมาลากันด์ (Malakand), สวัต, และ ดีร์ (Dir) ก็โผล่ขึ้นมากลายเป็นจุดร้อนเดือนจุดใหม่ๆ ภัยคุกคามของพวกหัวรุนแรงตอลิบานกลายเป็นสิ่งที่ไม่อาจเพิกเฉยละเลยได้อีกแล้ว ทว่าผู้คนกลับมีความคิดเห็นแตกต่างกันมากเกี่ยวกับวิธีการที่จะรับมือกับภัยนี้ เสียงส่วนข้างมากนั้นดูจะสนับสนุนให้มีการเจรจารอมชอมกัน

จุดหักเหสำคัญบังเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม โดยหลังจากข้อตกลงสันติภาพระหว่างรัฐบาลกับพวกหัวรุนแรงมีอันถูกทำลายไปแล้ว กองทัพก็ได้เปิดการรุกใหญ่ในมาลาคันด์ ถึงแม้ข้อตกลงหยุดยิงที่ถูกฉีกทิ้งไป สามารถนำความสงบเข้ามาสู่พื้นที่แถบนี้ได้ชั่วคราว แต่แล้วทั้งสองฝ่ายก็ต่างล้มเหลวไม่ได้ทำตามคำมั่นสัญญาของฝ่ายตน

กระนั้นก็ตามที หลังจากข้อตกลงถูกทำลายไป ปรากฏว่ามีแต่พวกตอลิบานฝ่ายเดียวที่ถูกประณามกล่าวโทษ และตามสื่อมวลชนต่างๆ ก็มีน้ำเสียงที่ค่อนข้างเป็นฉันทามติ คัดค้านไม่เห็นด้วยกับการที่จะเจรจาหาทางปรองดองกับพวกหัวรุนแรงเหล่านี้ต่อไปอีก การปฏิบัติการรุกใหญ่คราวนี้ได้รับการประโคมว่าประสบความสำเร็จ ถึงแม้มีการสูญเสียชีวิตผู้คนในจำนวนที่ไม่เปิดเผย และมีประชาชนที่อาจจะสูงถึง 3 ล้านคนต้องพลัดพรากจากที่อยู่อาศัย
อย่างไรก็ตาม สำหรับพื้นที่พรมแดนปากีสถานประชิดอัฟกานิสถานเองนั้น พวกนักวิเคราะห์ยังคงให้ความเห็นในทางที่ไม่สดใส รอฮิมุลลาห์ ยูซุฟไซ (Rahimullah Yusufzai) ผู้เป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นนักให้ความเห็น (commentator)ในเรื่องการเมืองในพื้นที่ชายแดน ซึ่งมีความรอบรู้มากที่สุด กล่าวว่า สงครามที่เกิดขึ้นมานี้ เป็นสงคราม “ที่สามารถหลีกเลี่ยงไม่ทำก็ได้” นักวิเคราะห์ชั้นนำอีกคนหนึ่ง รุสตัม ชาห์ โมห์มันด์ (Rustam Shah Mohmand) ตั้งข้อระแวงสงสัยว่า มันน่าจะเป็นสงครามที่มุ่งปราบปรามพวกปัชตุน (Pashtun) ซึ่งเป็นกลุ่มชนชาติที่มีจำนวนมากที่สุดในอัฟกานิสถานและในแคว้น NWFP เพราะไม่ได้มีการพิจารณาที่จะใช้ปฏิบัติการทำนองเดียวกันในพื้นที่ไร้ขื่อไร้แปที่อื่นๆ กันเลย

โรอีดัด ข่าน (Roedad Khan) อดีตข้าราชการระดับสูงระดับปลัดกระทรวง พูดถึงศึกคราวนี้ว่าเป็น “สงครามที่ไม่มีความจำเป็น” ซึ่ง “สามารถที่จะป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นมาได้อย่างง่ายดาย … แต่ยากลำบากที่จะอ้างเหตุผลความชอบธรรมในการทำสงคราม และยิ่งยากเข้าไปใหญ่ที่จะทำให้ได้ชัยชนะ” สำหรับแวดวงการเมืองกระแสหลัก พรรคการเมืองสำคัญๆ ทุกพรรคต่างรู้สึกว่ามีพันธะที่จะต้องสนับสนุนสงครามคราวนี้ เนื่องจากกลัวว่าจะถูกตราหน้าเป็นพวกไม่รักประเทศชาติ ทั้งนี้ฝ่ายค้านในปากีสถานเวลานี้ ส่วนใหญ่แล้วเป็นพวกพรรคแนวทางศาสนา ที่เหลือก็เป็นพรรคปากีสถาน เตห์รีก-อี-อินซาฟ (Pakistan Tehreek-e-Insaf หรือขบวนการเรียกร้องความยุติธรรม)
ของ อิมรอน ข่าน (Imran Khan) นักกีฬาคริกเกตชื่อก้องที่หันมาเป็นนักการเมือง

ความคิดเห็นในหมู่สาธารณชนได้กลับหันเหต้องการให้ใช้วิธีทางทหารเป็นหนทางแก้ไขปัญหากันอีก เมื่อพวกหัวรุนแรงเปิดฉากการโจมตีแบบก่อการร้ายเป็นระลอกใหญ่ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากคาดการณ์ว่ากองทัพปากีสถานจะเปิดยุทธการรุกหนักครั้งสำคัญในแคว้น FATA

ยังจะต้องติดตามกันต่อไปว่าศึกสงครามครั้งใหม่จะทำให้เกิดการเข่นฆ่ากันมากน้อยแค่ไหน โดยที่การโจมตีถล่มทางอากาศตลอดจนการยิงปูพรมด้วยปืนใหญ่ที่กระทำกันเป็นแรมเดือนก่อนเริ่มยุทธการนี้ ก็ยิ่งเป็นที่รับรู้กันน้อยลงไปอีก

ในเขตเซาท์ วาซิริสถาน อันเป็นสถานที่ซึ่งรัฐบาลกำลังเปิดยุทธการรุกโจมตีปราบปรามพวกตอลิบานครั้งใหม่ล่าสุดขณะนี้ ผู้คนถึงหนึ่งในสามของประชากรทั้งหมดกำลังต้องอพยพพลัดพรากจากที่อยู่ของพวกตน โดยที่แทบไม่ได้รับความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์อะไรเลย เมื่อเจ้าหน้าที่คนหนึ่งในทีมทำข่าวของสำนักข่าวแอสโซซิเอเต็ด เพรส (เอพี) พบกับผู้ลี้ภัยเหล่านี้ พวกเขาก็ได้แสดงความโกรธแค้นต่อรัฐบาลปากีสถาน ด้วยการตะโกนว่า “ตอลิบานจงเจริญ”

แทนที่จะสามารถเอาชนะใจผู้คนในท้องถิ่นเหล่านี้ รัฐบาลปากีสถานกลับกำลังผลักใสพวกเขาไปให้ข้าศึกศัตรู

ถึงแม้หลายๆ ภาคส่วนของชนชั้นนำจะได้ดำเนินความพยายามอย่างดีที่สุดเพื่อทำให้สงครามคราวนี้เป็นสงครามของปากีสถาน ทว่าทัศนะโดยทั่วไปยังคงมีอยู่ว่าปากีสถานกำลังสู้รบในสงครามของอเมริกันต่างหาก การที่ปฏิบัติการทางทหารในเซาท์ วาซิริสถาน บังเกิดขึ้นหลังการออกกฎหมายโดยรัฐสภาอเมริกัน ซึ่งทำให้ปากีสถานได้รับความช่วยเหลือก้อนโตปีละ 1,500 ล้านดอลลาร์จากรัฐบาลสหรัฐฯ รวมทั้งการสู้รบที่นั่นยังได้รับความสนับสนุนจากการตรวจการณ์ของเครื่องบินไร้นักบินของสหรัฐฯอีกด้วย เหล่านี้จึงแทบไม่อาจสยบความคิดเห็นของพวกระแวงข้องใจลงไปได้

ภายหลังเหตุระเบิดที่มหาวิทยาลัยอิสลามระหว่างประเทศ (International Islamic University) ในกรุงอิสลามาบัดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผู้สื่อข่าวคนหนึ่งที่เป็นชาวสกอต ของโทรทัศน์อัลญะซีเราะห์ ก็ได้ถูกนักศึกษาผู้กราดเกรี้ยวด่าทอต่อว่า เนื่องจากเข้าใจผิดคิดว่าเขาเป็นคนอเมริกัน

ชาวปากีสถานตระหนักอย่างชัดเจนว่า ก่อนหน้าปี 2002 ยังไม่มีภัยคุกคามจากผู้ก่อการร้ายใดๆ และพวกเขาก็มีความแน่ใจพอๆ กันว่า ภัยคุกคามนี้จะสูญหายไปทันทีที่กองทหารสหรัฐฯถอนตัวออกจากภูมิภาคแถบนี้ ทว่าก่อนหน้าเรื่องเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้ มีบางคนหวั่นกลัวว่า ปากีสถานจะยินยอมอ่อนข้อในสิ่งที่เป็นอันตรายต่อการธำรงเสถียรภาพระยะยาวของตนเอง

มูฮัมหมัด อิดรีส อาหมัด เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Pulsemedia.org

(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น