xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องวุ่นๆ จากร่างกม.สหรัฐฯให้เงินช่วยเหลือปากีสถาน

เผยแพร่:   โดย: จิมโล้บ

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Pakistan aid bill has explosive impact
By Jim Lobe
16/10/2009

ในวันเดียวกับที่ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ของสหรัฐฯ ลงนามในร่างกฎหมาย ซึ่งทำให้วอชิงตันสามารถให้ความช่วยเหลือประเภทที่ไม่ใช่ด้านการทหารแก่ปากีสถาน เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 3 เท่าตัวจากระดับปัจจุบัน พวกตอลิบานส่วนที่เป็นคนปากีสถาน ก็ได้ลงมือปฏิบัติการครั้งล่าสุดของการโจมตีอย่างร้ายแรงเป็นชุดใหญ่ต่อสถานที่สำคัญของฝ่ายทหารและตำรวจ ที่ได้ดำเนินมา 10 วันแล้ว การปฏิบัติการที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากเช่นนี้เอง ทำให้สหรัฐฯยิ่งรู้สึกกังวลต่อภัยคุกคามจากพวกหัวรุนแรงเหล่านี้

วอชิงตัน– ภายหลังช่วงเวลา 10 วันแห่งการถกเถียงขัดแย้งกันอย่างรุนแรง โดยศูนย์รวมอยู่ที่กรุงอิสลามาบัด เมืองหลวงของปากีสถาน ในวันพฤหัสบดี(15) ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ ก็ได้ลงนามในร่างกฎหมายให้ความช่วยเหลือก้อนใหญ่แก่ปากีสถาน สาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นการให้อำนาจแก่ทางการอเมริกัน ในการส่งความช่วยเหลือประเภทที่ไม่ใช่ด้านการทหาร เป็นมูลค่ารวมประมาณ 7,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในระยะเวลา 5 ปีต่อจากนี้ ไปให้แก่ประเทศในเอเชียใต้ซึ่งกำลังเผชิญความยากลำบากทวีขึ้นเรื่อยๆ แห่งนี้

ความช่วยเหลือจำนวนดังกล่าว คิดเป็นกว่า 3 เท่าตัวของเงินช่วยเหลือประเภทนี้ซึ่งวอชิงตันให้แก่อิสลามาบัดอยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้ร่างกฎหมายฉบับนี้ถูกผลักดันกันออกมา ก็ด้วยมุ่งหมายให้เป็นการแสดงถึงความสนับสนุนที่สหรัฐฯให้แก่ปากีสถาน –ประเทศซึ่งสหรัฐฯจำเป็นจะต้องได้รับความร่วมมืออย่างเต็มที่ ถ้าต้องการสร้างความปราชัยให้แก่พวกตอลิบานในประเทศเพื่อนบ้านอัฟกานิสถาน และทำลายล้างพวกอัลกออิดะห์ ทั้งนี้เชื่อกันด้วยว่า พวกผู้นำของอัลกออิดะห์นั้นกำลังหลบซ่อนกันอยู่ในพื้นที่ชายแดนอันทุรกันดารของปากีสถานติดต่อกับอัฟกานิสถานนั่นเอง

“กฎหมายฉบับนี้เป็นคำประกาศในแบบจับต้องได้ ของความสนับสนุนต่อปากีสถานซึ่งมีอยู่อย่างกว้างขวางในสหรัฐฯ ดังจะเห็นได้ว่ากฎหมายฉบับนี้สามารถผ่านสภาทั้งสองได้อย่างเป็นเอกฉันท์ ทุกๆ พรรคฝ่ายต่างให้การเห็นชอบ” ทำเนียบขาวออกคำแถลงเช่นนี้ พร้อมกับพูดต่อไปว่า วอชิงตันนั้นหวังที่จะสถาปนา “ความเป็นหุ้นส่วนในระดับยุทธศาสตร์” กับอิสลามาบัด “บนพื้นฐานของการให้ความสนับสนุนต่อบรรดาสถาบันทางประชาธิปไตยของปากีสถาน และต่อประชาชนชาวปากีสถาน”

อย่างไรก็ดี ตรงกันข้ามกับความตั้งใจของฝ่ายอเมริกัน หลังจากที่รัฐสภาสหรัฐฯผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้เมื่อวันที่ 5 ตุลาคมแล้ว กลับก่อให้เกิดวิกฤตทางการเมืองครั้งใหญ่ในปากีสถานเอง โดยที่ฝ่ายค้านและฝ่ายทหารที่มีอำนาจยิ่งของประเทศนั้น ได้ปฏิเสธไม่ยอมรับเงื่อนไขมากมายหลายข้อที่เขียนเอาไว้ในร่างกฎหมายนี้ พวกเขาบอกว่าเงื่อนไขต่างๆ ดังกล่าวเป็นการละเมิดอธิปไตยและศักดิ์ศรีของปากีสถาน ความขัดแย้งปั่นป่วนเช่นนี้เองกำลังปลุกเร้าความรู้สึกต่อต้านอเมริกัน ซึ่งอันที่จริงก็เป็นอารมณ์ที่ดำรงอยู่อย่างกว้างขวางในประเทศนี้อยู่แล้ว

เพื่อที่จะบรรเทาความรู้สึกเช่นว่า ผู้สนับสนุนหลัก 2 คนของร่างกฎหมายฉบับนี้ อันได้แก่ จอห์น เคร์รี ประธานคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์ของวุฒิสภา และ โฮเวิร์ด เบอร์แมน ประธานคณะกรรมาธิการชุดที่ทำหน้าที่อย่างเดียวกันของสภาผู้แทนราษฎร ต้องร่วมกันออก “คำแถลงร่วมเพื่ออธิบายขยายความ” บรรจุเอาไว้เป็นภาคผนวกของร่างกฎหมายก่อนที่โอบามาจะลงนาม อันเป็นวิธีดำเนินการที่ถือว่าพิเศษผิดธรรมดา ในคำแถลงร่วมนี้ เคร์รีและเบอร์แมนยืนยันว่า “บทบัญญัติแห่งกฎหมายฉบับนี้ ไม่ได้มุ่งแสวงหาหนทางใดๆ ที่จะทำให้เกิดความเสียหายต่ออธิปไตยของปากีสถาน, หรือเข้าละเมิดแทรกแซงผลประโยชน์ด้านความมั่นคงแห่งชาติของปากีสถาน, หรือเข้าควบคุมบงการการปฏิบัติการทางทหารหรือทางพลเรือนของปากีสถานในด้านใดๆ ทั้งสิ้น”

“เรื่องทั้งหมดนี้ก่อให้เกิดผลตรงกันข้ามกับที่ตั้งใจเอาไว้อย่างชนิดเลวร้ายมากๆ” เจ้าหน้าที่คณะรัฐบาลสหรัฐฯผู้หนึ่งซึ่งขอให้สงวนนาม กล่าวอย่างรู้สึกเสียใจยิ่ง “มันทำให้ทุกๆ คนรู้สึกว่ามีรสชาติที่เปรี้ยวบูดติดค้างอยู่ในปาก ไม่ว่าในสหรัฐฯนี่หรือในปากีสถาน”

การลงนามในร่างกฎหมายฉบับนี้ ยังบังเกิดขึ้นในวันเดียวกับที่พวกตอลิบานส่วนที่เป็นคนปากีสถาน ได้ลงมือปฏิบัติการครั้งล่าสุดของการโจมตีอย่างร้ายแรงเป็นชุดใหญ่ต่อสถานที่สำคัญของฝ่ายทหารและตำรวจ ที่ได้ดำเนินมา 10 วันแล้ว การปฏิบัติการที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากเช่นนี้เอง ทำให้สหรัฐฯยิ่งรู้สึกกังวลต่อภัยคุกคามจากพวกหัวรุนแรงเหล่านี้ โดยที่พวกเขาถูกจับตามองว่ามีความใกล้ชิดกับอัลกออิดะห์ ยิ่งกว่าพวกตอลิบานส่วนที่อยู่ในอัฟกานิสถานเสียอีก

มีรายงานว่าผู้คนมากกว่า 30 คน ในจำนวนนี้เป็นตำรวจอย่างน้อย 19 คน ได้ถูกสังหารจากการโจมตีหลายต่อหลายครั้งในวันนั้น โดยที่ครั้งหนึ่งเกิดขึ้นที่อาคารฝึกอบรมของหน่วยงานต่อต้านการก่อการร้ายชั้นนำ ในเมืองละฮอร์ เมืองเอกของแคว้นปัญจาบ มิหนำซ้ำการโจมตีเหล่านี้ยังบังเกิดขึ้นเพียง 5 วันหลังจากที่หน่วยจรยุทธ์ตอลิบานสามารถจู่โจมเจาะผ่านแนวรักษาความปลอดภัยของกองบัญชาการกองทัพปากีสถานในเมืองเมืองราวัลปินดี การจู่โจมดังกล่าวนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตไป 23 คน โดยระหว่างเกิดเหตุพวกคนร้ายได้จี้จับตัวประกันหลายสิบคนเอาไว้ระยะหนึ่งด้วย

เหตุการณ์โจมตีเหล่านี้ ในตอนแรกๆ ถูกประทับตราว่าเป็นการตอบโต้แก้แค้นกรณีการสังหารเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม โดยในกรณีนั้นน่าจะเป็นฝีมือเครื่องบินไร้นักบินรุ่น “เพรเดเตอร์” ของสหรัฐฯ เข้าถล่มปลิดชีพ ไบตุลเลาะห์ เมห์ซูด (Baitullah Mehsud) ผู้นำกลุ่มตอลิบานปากีสถาน อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา กลับมีการประเมินกันใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ ว่า การโจมตีของพวกหัวรุนแรงน่าจะมีความมุ่งหมายเพื่อยับยั้งการเปิดยุทธการรุกใหญ่ภาคพื้นดินซึ่งกองทัพให้สัญญาจะลงมือมานมนานแล้ว โดยที่เป้าหมายของยุทธการใหญ่จะอยู่ที่ฐานกำลังหลักของพวกตอลิบานและอัลกออิดะห์ ในเขตเซาท์วาซิริสถาน (South Waziristan) ซึ่งเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของ Federally Administered Tribal Areas (พื้นที่ชาวชนเผ่าที่บริหารปกครองโดยรัฐบาลส่วนกลางของปากีสถาน)

ฝ่ายทหารได้ทำการปิดล้อมบริเวณดังกล่าวมาเป็นเวลา 2 เดือนแล้ว และในระยะหลังๆ นี้ กองกำลังทางอากาศของกองทัพปากีสถานก็ได้เข้าโจมตีทิ้งระเบิดเป้าหมายต่างๆ ที่นั่นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การที่ยังเนิ่นช้าไม่เริ่มเปิดยุทธการเสียที ก็ได้สร้างความหงุดหงิดให้แก่พวกเจ้าหน้าที่ในกรุงวอชิงตัน โดยเจ้าหน้าที่เหล่านี้มองยุทธการนี้เป็นบททดสอบอันสำคัญว่า ฝ่ายทหารของปากีสถานมีเจตนารมณ์แน่แน่วแค่ไหนที่จะให้ความร่วมมือในการต่อต้านการก่อการร้าย ชนิดซึ่งวอชิงตันเรียกร้องต้องการมานานแล้ว

“ถ้าเซาท์วาซิริสถานกลายเป็นเป้าหมายต่อไปจริงๆ แล้ว นั่นก็จะถือเป็นพัฒนาการที่สำคัญมาก” บรูซ รีเดล (Bruce Riedel) ผู้ชำนาญการเรื่องเอเชียใต้ และอดีตนักวิเคราะห์อาวุโส ของสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (ซีไอเอ) กล่าวเอาไว้ที่สถาบันบรูกกิ้งส์ (Brookings Institution) เมื่อต้นเดือนนี้ รีเดลผู้นี้นั่งเป็นประธานในตอนที่ทำเนียบขาวดำเนินการทบทวนสถานการณ์อัฟกานิสถานและปากีสถาน ภายหลังโอบามาเข้ามารับตำแหน่ง

ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์วินาศกรรม 11 กันยายน 2001 สหรัฐฯได้ให้ความช่วยเหลือปากีสถานไปแล้วเป็นมูลค่าราว 11,000 ล้านดอลลาร์ ทว่ามีจำนวนเพียงส่วนเสี้ยวเท่านั้นที่เป็นความช่วยเหลือประเภทที่ไม่ใช่ด้านการทหาร ซึ่งหมายถึงพวกความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา , ความช่วยเหลือเพื่อสนับสนุนทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจ เป็นต้น

ร่างกฎหมาย “ความเป็นหุ้นส่วนที่ปรับปรุงยกระดับให้ดียิ่งขึ้นกับปากีสถาน” (The Enhanced Partnership with Pakistan) จัดทำขึ้นมาโดยจุดมุ่งหมายที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ เพื่อทำให้เกิดความสมดุลกันมากยิ่งขึ้น ในระหว่างความช่วยเหลือด้านการทหารและด้านที่ไม่ใช่การทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังที่อิสลามาบัดหวนกลับคืนสู่การปกครองแบบพลเรือนในต้นปี 2008 โดยแผนการนี้มุ่งที่จะให้ความสนับสนุนเพิ่มขึ้นอย่างสำคัญต่อสถาบันต่างๆ ทางประชาธิปไตยและต่อภาคประชาชนของปากีสถาน แต่ทั้งนี้วอชิงตันก็ยังคงจัดหาความช่วยเหลือประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีให้แก่กองทัพของประเทศนี้

ขณะที่ร่างกฎหมายฉบับนี้ที่เป็นร่างของวุฒิสภา มีการเขียนเงื่อนไขกว้างๆ จำนวนหนึ่งเอาไว้เพื่อให้ปากีสถานปฏิบัติก่อนที่จะมีการจ่ายเงินช่วยเหลือ เป็นต้นว่า มีข้อหนึ่งกำหนดว่า ปากีสถานควรสามารถที่จะแสดงให้เห็นถึง “ความก้าวหน้าชนิดจับต้องได้ในเรื่องธรรมาภิบาล” ตัวอย่างเช่น ฝ่ายพลเรือนสามารถควบคุมฝ่ายทหารและพวกหน่วยงานข่าวกรองได้มากขึ้น แต่ร่างของสภาผู้แทนราษฎรนั้นมีทั้งเงื่อนไขที่ระบุเป็นรายละเอียดอย่างเจาะจงยิ่งกว่า และก็มีลักษณะเป็นข้อเรียกร้องเชิงบังคับมากกว่าด้วย

ตามเงื่อนไขต่างๆ ในร่างของสภาผู้แทนราษฎรนั้น ปากีสถานจะได้รับความช่วยเหลือทางทหาร ก็ต่อเมื่อรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯรับรองว่า รัฐบาลพลเรือนของปากีสถานสามารถดำเนินการให้ “ฝ่ายพลเรือนเข้าควบคุมฝ่ายทหารได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว” อีกทั้ง “แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นผูกพันอย่างยั่งยืน” ด้วย “การยุติการให้ความสนับสนุน” แก่กลุ่มก่อการร้ายต่างๆ และ “กำจัดที่มั่นต่างๆ ของพวกผู้ก่อการร้าย”

“ที่มั่นต่างๆ ของพวกผู้ก่อการร้าย” ดังกล่าวนี้มุ่งเน้นไปที่เมืองเกวตตา (Quetta) --ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นที่มั่นของคณะผู้นำตอลิบานอัฟกานิสถาน และที่เมืองมูริดเก (Muridke) ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นฐานปฏิบัติการของกลุ่มต่อต้านอินเดียจำนวนหนึ่ง เป็นต้นว่า กลุ่ม ลัชการ์-อี-ไตบา (Lashkar-e-Taiba) ซึ่งส่งคนมาปฏิบัติการโจมตีเมืองมุมไบเมื่อปีที่แล้ว บทบัญญัติในเรื่องต่างๆ เหล่านี้ยังคงถูกบรรจุเอาไว้ในร่างกฎหมายร่างสุดท้ายฉบับที่ผ่านสภาทั้งสองแล้ว ถึงแม้มีเงื่อนไขว่าประธานาธิบดีสามารถที่จะยกเลิกเงื่อนไขพวกนี้ได้หากเห็นว่าเป็นผลประโยชน์แห่งชาติ

อย่างไรก็ตาม บทบัญญัติเหล่านี้ได้ถูกพวกผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองทัพปากีสถานมองว่า เป็นการละเมิดอธิปไตยของปากีสถาน พวกเขาได้ออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการ โดยพุ่งเป้าไปที่ประธานาธิบดีอาซฺฟ อาลี ซาร์ดารี โดยตรง นอกจากนั้น ข้อกล่าวหาเช่นนี้ของฝ่ายทหารยังได้รับการขานรับในรัฐสภา ทั้งจาก นาวาซ ชาริฟ ผู้นำฝ่ายค้านซึ่งเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี และจากผู้นำของพรรคการเมืองอื่นๆ ตลอดจนสื่อมวลชน

ตอนแรกๆ ตัวประธานาธิบดีซาร์ดารี ได้ออกมากล่าวยกย่องชมเชยการที่รัฐสภาอเมริกันผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ พร้อมกับคุยว่านี่คือความสำเร็จอันสำคัญของคณะรัฐบาลของเขา แต่เมื่อเผชิญกับปฏิกิริยาต่อต้านอันรุนแรงอย่างไม่คาดคิดมาก่อน เขาก็รีบส่งรัฐมนตรีต่างประเทศไปกรุงวอชิงตัน ในความพยายามที่จะหาหนทางแก้ไขที่จะเป็นการรักษาหน้าของทุกๆ ฝ่ายเอาไว้ ซึ่งก็ออกมาในรูปของ “คำแถลงร่วมเพื่ออธิบายขยายความ” ความยาว 2 หน้าที่ออกโดย เคร์รี และเบอร์แมน

“การตีความใดๆ ก็ตามต่อรัฐบัญญัติฉบับนี้ ซึ่งบ่งชี้ไปในทางที่ว่าสหรัฐฯไม่ได้รับรองและให้ความเคารพอย่างเต็มที่ต่ออำนาจอธิปไตยของปากีสถานนั้น ถือเป็นการขัดแย้งโดยตรงต่อเจตนารมณ์ของรัฐสภา” คำแถลงร่วมยืนยันหนักแน่น

หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัลฉบับวันพฤหัสบดี(15) ได้ตีพิมพ์บทบรรณาธิการซึ่งมีเนื้อหากล่าวประณามว่า ร่างกฎหมายฉบับของสภาผู้แทนราษฎรซึ่งสร้างปัญหาอย่างมากนั้น ที่สำคัญแล้วเนื่องมาจากกลุ่มสมาชิกรัฐสภาที่ใช้ชื่อว่า “กลุ่มสมาชิกรัฐสภาว่าด้วยอินเดียและชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดีย” กลุ่มนี้มีสมาชิกทั้งสิ้น 152 คน โดยที่มีสมาชิกรัฐสภาทรงอิทธิพลทั้งของพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันรวมอยู่ด้วยหลายคน กลุ่มนี้แหละที่ยืนกรานให้คงภาษาที่ก่อให้เกิดความไม่พอใจเอาไว้ในร่างกฎหมายฉบับสุดท้าย ที่เป็นการนำเอาร่างของวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรมารวมเข้าด้วยกัน

ในเวลาเดียวกัน เดวิด อิกนาทิอุส (David Ignatius) คอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ ก็สวดยับต่อการที่คณะรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งก็เหมือนกับซาร์ดารี ไม่ได้เคยคาดคิดมาก่อนเลยว่าจะเผชิญปฏิกิริยาแบบระเบิดตูมตามจากร่างกฎหมายฉบับนี้

“ริชาร์ด โฮลบรูก (Richard Holbrooke) ผู้แทนพิเศษดูแลอัฟกานิสถานและปากีสถานของคณะรัฐบาล(สหรัฐฯ) ควรที่มองเห็นอยู่แล้วว่าสิ่งนี้กำลังจะบังเกิดขึ้น” เขาเขียนเอาไว้เช่นนี้ พร้อมกับชี้ด้วยว่ากองทัพปากีสถานยังถือโอกาสฉวยใช้วิกฤตคราวนี้มาสร้างฐานะความได้เปรียบของตน

“ประโยชน์เพียงอย่างเดียวที่ผมสามารถมองเห็นได้จากเรื่องนี้ก็ออกจะเป็นประโยชน์ที่พิลึกพิสดาร” เขากล่าว นั่นก็คือ “มันอาจจะทำให้เป็นเรื่องง่ายมากขึ้นสำหรับฝ่ายทหารปากีสถานที่จะเข้าสู้รบทำศึกกับพวกตอลิบานและอัลกออิดะห์ ถ้าหากสาธารณชนมองว่ากองทัพกล้าลุกขึ้นยืนท้าทายแรงกดดันของอเมริกัน”

จิม โล้บ มีบล็อกว่าด้วยนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ ซึ่งสามารถหาอ่านได้ที่ http://www.ips.org/blog/jimlobe/

(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น