xs
xsm
sm
md
lg

ออกหัวหรือออกก้อย “โอบามา”ก็แพ้ทั้งนั้นในนโยบายอัฟกานิสถาน

เผยแพร่:   โดย: จิม โล้บ

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Heads or tails, Obama loses
By Jim Lobe
08/10/2009

พวกที่เสนอให้สหรัฐฯขยาย “การต่อสู้เอาชนะการก่อความไม่สงบ” (counter-insurgency เรียกย่อๆ ว่า COIN)) ในอัฟกานิสถาน กำลังต้องการให้เพิ่มทหารอเมริกันเข้าไปในสมรภูมิแห่งนั้น ขณะที่พวกซึ่งชมชอบให้มุ่งเน้นที่ “การต่อสู้เอาชนะการก่อการร้าย” (counter-terrorism เรียกย่อๆ ว่า CT) กลับต้องการให้คงทหารเอาไว้ในระดับปัจจุบันแล้วหันไปเพิ่มการปฏิบัติการของหน่วยรบพิเศษ ทั้งนี้ประธานาธิบดีบารัค โอบามา จะต้องถูกประณามโจมตีทั้งขึ้นทั้งล่อง ไม่ว่าเขาตัดสินใจเลือกเดินไปทางไหน

วอชิงตัน – ในวาระครบรอบปีที่ 8 ของการที่สหรัฐฯเปิดฉากปฏิบัติการทางทหารในอัฟกานิสถานเมื่อวันพุธ(7)ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ใช้เวลาจำนวนมากพอดูในวันนั้นไปกับการปรึกษาหารือกับพวกที่ปรึกษาระดับสูงของเขา ในเรื่องที่น่าจะกลายเป็นการตัดสินใจอันทรงความสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในวาระแห่งการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของเขา นั่นก็คือ หลังจากนี้ไป สหรัฐฯจะเข้าไปพัวพันเกี่ยวข้องในสงครามดังกล่าวนี้ในลักษณะไหน

พวกผู้บังคับบัญชาทหารของเขา นำโดย พล.อ.สแตนลีย์ แมคคริสตัล (Stanley McChrystal) ผู้บัญชาการทหารสหรัฐฯและนาโต้ในอัฟกานิสถาน, พล.อ.เดวิด เพเทรอัส (David Petraeus) ผู้บัญชาการกองบัญชาการทหารเขตกลางของสหรัฐฯ (US Central Command หรือ Centcom) นั้น มีรายงานว่ากำลังเรียกร้องโอบามาให้เพิ่มจำนวนทหารที่ประจำอยู่ในอัฟกานิสถาน จากระดับ 68,000 คนในเวลานี้ให้สูงขึ้นเป็นมากกว่า 100,000 คน โดยถือเป็นส่วนหนึ่งในยุทธศาสตร์อันรอบด้านที่เรียกขานกันว่า ยุทธศาสตร์ “การต่อสู้เอาชนะการก่อความไม่สงบ” (counter-insurgency เรียกย่อๆ ว่า COIN))

นายทหารใหญ่เหล่านี้ตลอดจนพวกผู้สนับสนุน ซึ่งมีทั้งที่อยู่ภายในและภายนอกคณะรัฐบาลชุดปัจจุบัน กำลังหยิบยกเหตุผลต่างๆ ขึ้นมาถกเถียงอภิปรายตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า การที่พวกตอลิบานกำลังออกฤทธิ์ออกเดชเพิ่มขึ้นมาอีกในระยะหลังๆ มานี้ จะสามารถปราบปรามให้ปราชัยได้มีแต่ต้องเพิ่มทหารหน่วยสู้รบของสหรัฐฯเข้าไปเป็นจำนวนมาก บวกกับการปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ใหม่ที่มุ่งเน้นเรื่องการรักษาความปลอดภัยของประชากร และการจัดหาบริการต่างๆ อันจำเป็นให้แก่ประชากร

ทว่าพวกที่ปรึกษาที่เป็นพลเรือนบางคนของโอบามา นำโดยรองประธานาธิบดีโจเซฟ ไบเดน กลับกำลังเรียกร้องให้ใช้ยุทธศาสตร์ที่มีเป้าหมายต่ำลงมากว่านั้น และเรียกกันว่า “การต่อสู้เอาชนะการก่อการร้าย” (counter-terrorism ใช้ตัวย่อว่า CT) ซึ่งจะรักษากำลังทหารของสหรัฐฯเอาไว้ในระดับปัจจุบัน ขณะที่เพิ่มการโจมตีด้วยเครื่องบินไร้นักบินรุ่นเพรเดเตอร์ และเพิ่มการปฏิบัติการของพวกทหารหน่วยรบพิเศษที่มุ่งหมายหัวผู้นำตอลิบานคนสำคัญๆ ตลอดจนพวกอัลกออิดะห์ที่เป็นพันธมิตรของพวกเขา ทั้งในอัฟกานิสถาน และในประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นแหล่งพักพิงอันปลอดภัยอย่างปากีสถาน

พวกที่สนับสนุนยุทธศาสตร์ CT เสนอเหตุผลมาโต้แย้งว่า การเพิ่มจำนวนทหารสหรัฐฯน่าจะก่อให้เกิดผลกระทบด้านกลับขึ้นในมติมหาชนของอัฟกานิสถาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ชนชาติปาชตุน (Pashtun) ซึ่งเป็นชนชาติที่มีจำนวนมากที่สุดในประเทศนี้ และก็เป็นกลุ่มที่ตอลิบานระดมหาพลพรรคใหม่ๆ มาเป็นนักรบของพวกเขา ในทัศนะของพวกหนุนหลังแนวทาง CT แล้ว ภารกิจทางทหารของสหรัฐฯในอัฟกานิสถานจึงควรมุ่งทุ่มเทให้แก่เรื่องการฝึกอบรม และการสร้างกองทัพแห่งชาติตลอดจนกองกำลังตำรวจของประเทศนี้

พวกเขายังโต้แย้งอีกว่า เงินจำนวนนับพันนับหมื่นล้านดอลลาร์ที่จะต้องใช้จ่ายไปหากจะสร้างสมขยายกำลังทหารสหรัฐฯเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากนั้น สามารถที่จะนำมาใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพกว่ากันมาก ถ้าใช้ไปในการเกลี้ยกล่อมจูงใจปากีสถาน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทัพอันทรงอำนาจของประเทศนั้น ให้ร่วมไม้ร่วมมืออย่างใกล้ชิดมากขึ้นกับความพยายามด้าน CT ของวอชิงตัน ตลอดจนเข้าปราบปรามอย่างแข็งกร้าวมากขึ้นต่อพวกตอลิบานก่อความไม่สงบ ส่วนที่อยู่ในปากีสถานเอง ซึ่งเชื่อกันโดยทั่วไปว่าเป็นพวกที่คอยให้ที่พักพิงหลบซ่อนแก่บุคคลสำคัญระดับสูงของกลุ่มอัลกออิดะห์

ตัวโอบามาเองนั้น นอกเหนือจากการปฏิเสธว่าจะไม่มีการลดกำลังทหารสหรัฐฯในอัฟกานิสถานลงอย่างเป็นกอบเป็นกำอย่างแน่นอน (ซึ่งเขาพูดเรื่องนี้ระหว่างการประชุมหารือกับพวกสมาชิกรัฐสภาระดับอาวุโสทั้งจากพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันเมื่อวันอังคารที่ 6) ก็ยังไม่ได้แสดงท่าทีอะไรให้สามารถอ่านไพ่ที่ถืออยู่ในมือของเขา

แต่สำหรับพวกที่ปรึกษาที่เป็นพลเรือนคนสำคัญๆ อีกหลายคน เป็นต้นว่า ฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศ และ ริชาร์ด โฮลบรูก (Richard Holbrooke) ผู้แทนพิเศษดูแลเรื่องอัฟกานิสถานและปากีสถาน (เรียกขานย่อๆ ว่า AfPak) ของโอบามา เชื่อกันว่าค่อนข้างเอนเอียงไปในทางนิยมยุทธศาสตร์ COIN ขณะที่ รัฐมนตรีกลาโหม รอเบิร์ต เกตส์ ซึ่งนักวิเคราะห์จำนวนมากเชื่อว่าจะกลายเป็นเสียงที่ทรงอิทธิพลที่สุดในการอภิปรายถกเถียงเรื่องนี้นั้น เวลานี้ยังคงถือไพ่ของเขาเอาไว้ใกล้กับอกตัวเองมาก เรียกว่าไม่ยอมให้แพร่งพรายอ่านกันออกเลยว่าเขามีความเห็นอย่างไรกันแน่ๆ

ในเวลาเดียวกัน ประธานเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาว ราห์ม เอมานูเอล (Rahm Emanuel) อดีตส.ส.ผู้มีความอ่อนไหวเป็นพิเศษต่อความวิตกกังวลของพวกสมาชิกรัฐสภาพรรคเดโมแครตที่ว่า อัฟกานิสถานอาจจะกลายเป็นบ่อโคลนดูดแบบเดียวกับเวียดนาม ก็มีรายงานว่าเขากำลังโอนเอนไปสนับสนุนทัศนะของไบเดน เช่นเดียวกับ ธอมัส โดนิลอน (Thomas Donilon) รองที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติ ผู้กำลังมีอิทธิพลต่อโอบามามากขึ้นเรื่อยๆ ส่วน พล.อ.จิม โจนส์ (Jim Jones) ผู้เป็นนายของโดนิลอนนั้น รายงานข่าวบอกว่าโดยส่วนใหญ่แล้วแสดงบทบาทเป็น “นายหน้าผู้รับฟังความเห็นของฝ่ายต่างๆ อย่างซื่อสัตย์”

สำหรับพวกพรรครีพับลิกัน นำโดยวุฒิสมาชิก จอห์น แมคเคน ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรคซึ่งพ่ายแพ้ให้แก่โอบามานั้น กำลังแสดงท่าทีหนุนหลังแมคคริสตัลอย่างแข็งขัน ทั้งนี้ แมคคริสตัลได้จัดทำรายงานวิเคราะห์สถานการณ์อัฟกานิสถานในปัจจุบัน พร้อมกับข้อเสนอแนะให้เพิ่มกำลังทหารจำนวนมากเข้าไปอีก และปรากฏว่ารายงานดังกล่าวนี้ได้รั่วไหลไปถึงหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์เมื่อเดือนที่แล้ว นับแต่นั้นมา แมคเคนและพวกที่มีแนวคิดสายเหยี่ยวคนอื่นๆ ก็ออกมากดดันโอบามาไม่หยุดหย่อน ให้เร่งรีบอนุมัติทุกสิ่งทุกอย่างที่ฝ่ายทหารร้องขอมาอย่างเป็นทางการ “เวลาไม่ได้อยู่ข้างเราเลย” มีรายงานว่าแมคเคนพูดเช่นนี้กับโอบามาระหว่างการพบปะหารือกันในวันอังคาร(6)

ในส่วนของคณะผู้นำพรรคเดโมแครตในรัฐสภา ยกเว้นบางผู้บางคนที่ถือเป็นข้างน้อยแล้ว พวกเขาส่วนใหญ่มีความวิตกระวังระแวงสถานการณ์มากกว่าฝ่ายรีพับลิกัน และกำลังส่งเสียงแสดงความสงสัยข้องใจต่อยุทธศาสตร์ COIN ดังขึ้นทุกทีนับตั้งแต่ที่รายงานของแมคคริสตัลรั่วไหลออกมา โดยที่สมาชิกรัฐสภาเดโมแครตจำนวนมากมองว่า นี่คือความพยายามของแมคคริสตัลและเพเทรอัสที่จะบังคับโอบามาให้ต้องยินยอมทำตามข้อเสนอแนะของพวกเขา

เสียงจากสาธารณชนที่คัดค้านยุทธศาสตร์ COIN ก็กำลังเพิ่มขึ้นเช่นกัน เมื่อปรากฏรายละเอียดมากขึ้นในเรื่องการทุจริตฉ้อโกงอย่างกว้างขวางที่กระทำไปเพื่อประธานาธิบดีฮามิด คาร์ไซ ของอัฟกานิสถาน ในการเลือกตั้งประธานิบดีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม คาร์ไซซึ่งรัฐบาลของเขาถูกมองว่ากำลังฉ้อฉลมากขึ้นทุกทีมาตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งแล้ว เวลานี้ยิ่งถูกจับตาว่าเป็นหุ้นส่วนที่เชื่อถือไม่ได้ หากจะต้องดำเนินยุทธศาสตร์อันรอบด้านชนิดที่พวกหนุนหลัง COIN เรียกร้องให้กระทำ

“ข้อสมมุติฐานประการหนึ่งของแผนการต่อสู้เอาชนะการก่อความไม่สงบตามที่เสนอกัน ก็คือกองทหารและเจ้าหน้าที่พลเรือนของเราจะต้องทำงานอย่างชนิดเป็นหุ้นส่วนกับรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายและเชื่อถือได้ในอัฟกานิสถาน” วุฒิสมาชิก จอห์น เคร์รี (John Kerry) ประธานคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์ของวุฒิสภาสหรัฐฯ เขียนเอาไว้ในหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัลเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

“หลังจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่เต็มไปด้วยข้อบกพร่องอย่างฉกาจฉกรรจ์ในเดือนที่แล้ว เราก็ต้องตั้งคำถามว่าเรายังจะสามารถประสบความสำเร็จได้หรือ ถ้าหากหุ้นส่วนของเรามีความอ่อนแอ และถูกมองด้วยความสงสัยข้องใจอย่างเหลือเกินจากประชาชนของเขาเอง” เขาชี้

แม้กระทั่งชาวพรรคเดโมแครตที่เป็นสายเหยี่ยวบางคน เช่น ไมเคิล โอแฮนลอน (Michael O'Hanlon) ผู้เชี่ยวชาญด้านกิจการทางทหารแห่งสถาบันบรูกกิ้งส์ (Brookings Institution) ซึ่งเคยทำงานในทำเนียบขาวในยุคของบิล คลินตัน แต่หลังจากนั้นก็ให้การสนับสนุนการตัดสินใจสำคัญๆ ของ จอร์จ ดับเบิลยู บุช ในระหว่างการดำเนินการที่เขาเรียกว่า “สงครามต่อสู้การก่อการร้ายทั่วโลก” ก็ยังยกเรื่องฐานะของรัฐบาลอัฟกันปัจจุบันภายใต้ประธานาธิบดีคาร์ไซ มาใช้เป็นเหตุผลของการที่เขาสมควรจะต้องเกิดความสงสัยข้องใจเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ COIN

“หากจะมีบทเรียนหนึ่งบทเรียนใดจากเวียดนามที่เราควรต้องจดจำให้ดีแล้ว มันก็คือเรื่องที่ว่าเราจำเป็นจะต้องมีหุ้นส่วนคนพื้นเมืองที่ใช้การได้” เขากล่าวเตือนในระหว่างการพูดจาหารือเมื่อเร็วๆ นี้กับกลุ่มอนุรักษนิยมใหม่ (neo-conservative) กลุ่มหนึ่ง ซึ่งสนับสนุนอย่างแข็งขันให้เพิ่มระดับการทำสงครามในอัฟกานิสถาน “เราสามารถที่จะทำทุกสิ่งทุกอย่างได้ถูกต้องหมดเลย แต่ถ้าหุ้นส่วนของเราไม่ได้ทำส่วนของพวกเขาแล้ว เราก็จะไม่ประสบความสำเร็จหรอก”

กระนั้นก็ตามที พวกที่หนุนหลัง COIN ก็ยืนกรานว่า วอชิงตันไม่มีทางเลือกอื่นอีก โดยที่พวกเขาหยิบยกคำพูดอันขรึมขลังของตัวโอบามาเองที่กล่าวว่า สงครามอัฟกานิสถานนั้นเป็น “สงครามที่จำเป็นต้องกระทำ” ไม่ใช่เป็นสงครามที่สามารถเลือกได้ว่าจะทำหรือไม่ทำ

พวกเขายังได้พัฒนา “ทฤษฎีโดมิโน” (domino theory) ในยุคสงครามเวียดนามให้ทันสมัยขึ้น โดยโต้แย้งว่า วอชิงตันไม่สามารถที่จะยินยอมให้พวกตอลิบาน ซึ่งพวกเขามองว่ามีสายสัมพันธ์ชนิดที่แยกไม่ออกจากพวกอัลกออิดะห์ มีโอกาสหวนกลับคืนสู่อำนาจ หรือแม้กระทั่งแค่มีอำนาจครอบงำพื้นที่บางส่วนในอัฟกานิสถาน เพราะพวกเขาจะสามารถให้ที่พักพิงอันปลอดภัยแก่อัลกออิดะห์ และที่สำคัญมากๆ ก็คือจะส่งผลสืบเนื่องยาวไกลในระดับภูมิภาค หรือกระทั่งในระดับโลกด้วยซ้ำ

“ชัยชนะของตอลิบานเหนืออัฟกานิสถาน อย่างย่ำแย่น้อยที่สุดก็จะเป็นอันตรายต่อระบอบปกครองของชาวปากีสถาน, ก่อให้เกิดวิกฤตในระดับภูมิภาคขึ้นมาอย่างแน่นอน, และอย่างเลวร้ายที่สุดก็คือนำไปสู่การที่พวกอัลกออิดะห์ได้ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์” เดวิด บรูกส์ (David Brooks) คอลัมนิสต์หัวอนุรักษนิยมใหม่ผู้ทรงอิทธิพล เขียนเอาไว้ในหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์เช่นนี้

สำหรับพวกที่สนับสนุนยุทธศาสตร์ CT พวกเขาไม่ได้มองว่าตอลิบานเป็นกลุ่มพลังอันใหญ่โตมหึมาที่เชื่อมโยงแน่นแฟ้นกับอัลกออิดะห์ พวกเขายังชี้ด้วยว่าความสำเร็จครั้งใหญ่ๆ เมื่อเร็วๆ นี้ในการใช้ขีปนาวุธถล่มโจมตีพวกผู้ปฏิบัติการคนสำคัญๆ ของพวกอัลกออิดะห์และของพวกตอลิบานที่เป็นชาวปากีสถาน ซึ่งกำลังพำนักกันอยู่ภายในดินแดนปากีสถาน คือหลักฐานอันหนักแน่นที่แสดงให้เห็นว่า วอชิงตันสามารถที่จะขัดขวางพวกอัลกออิดะห์ได้อย่างทรงประสิทธิภาพ และถึงที่สุดแล้วก็สามารถยังความพ่ายแพ้ให้แก่อัลกออิดะห์ด้วย โดยที่ไม่ต้องเพิ่มกำลังทหารอเมริกันภาคพื้นดินเข้าไปอีก

ในสภาพที่ทั้งรัฐสภาและพวกที่ปรึกษาของเขาเองมีความเห็นแตกแยกกันอย่างล้ำลึกถึงขนาดนี้ พวกนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่จึงเชื่อว่า โอบามาคงจะพยายามหาทางรอมชอมยุทธศาสตร์ทั้ง 2 อย่างนี้ ด้วยการยอมรับส่วนประกอบต่างๆ จากทั้งสองด้าน เป็นต้นว่า ยอมเพิ่มกำลังทหารทว่าไม่มากมายถึง 40,000 คนดังที่มีรายงานว่าแมคคริสตัลและเพเทรอัสต้องการ นั่นยังจะเป็นการสอดรับกับการตัดสินใจเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาของเขา ที่อนุมัติให้ส่งทหารหน่วยสู้รบเข้าไปประจำการในอัฟกานิสถานมากขึ้นอีก 17,000 คน จากที่พวกผู้บังคับบัญชาทหารร้องขอมา 30,000 คน

ทว่าทั้งพวกผู้สนับสนุน COIN และ CT กลับเห็นพ้องกันว่า วิธีการดังกล่าวจะนำไปสู่ปัญหาทางการเมืองอันร้ายแรง ไม่แตกต่างจากที่ประธานาธิบดีลินดอน จอห์นสัน เคยเผชิญระหว่างสงครามเวียดนาม

“มาตรการแบบครึ่งๆ กลางๆ คือสิ่งที่ผมรู้สึกวิตกกังวล” แมคเคนกล่าวภายหลังการประชุมหารือในวันอังคาร(6) “[มาตรการแบบครึ่งๆ กลางๆ ] จะนำไปสู่ความล้มเหลวเมื่อเวลาผ่านไป และก็เป็นการทำลายความสนับสนุนของสาธารณชนอเมริกันอีกด้วย”

“ในบรรดาทางเลือกที่แย่ๆ ทั้งหลาย (มาตรการแบบครึ่งๆ กลางๆ) คือทางเลือกที่เลวร้ายที่สุด” สตีเฟน วอลต์ (Stephen Walt) นักวิชาการคนสำคัญมากทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าวเอาไว้ในบล็อกของเขาในเว็บไซต์ foreignpolicy.com

“ถ้าในที่สุดแล้วสิ่งต่างๆ เป็นไปในทางเลวร้าย [ซึ่งผมก็เชื่อว่ามันจะเป็นเช่นนั้น] เขาก็จะถูกประณามในการที่ไม่ได้ให้อะไรๆ แก่พวกผู้บังคับบัญชาทหารมากเพียงพอที่จะทำงาน และในการที่ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมโดยไม่ได้มีจุดประสงค์ที่เข้าท่าเข้าทางอะไรเลย ในอีกด้านหนึ่ง การใช้วิธีการเช่นนี้ยังหมายความด้วยว่า เขาจะไม่ได้รับการยกย่องอะไรเลย เพราะเขาไม่กล้าทำการตัดสินใจอย่างห้าวหาญเพื่อตัดความสูญเสียของเราแล้วถอนตัวออกมา” วอลต์เขียนเอาไว้เช่นนี้

จิม โล้บ จัดทำบล็อกว่าด้วยนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ ซึ่งสามารถหาอ่านได้ที่ http://www.ips.org/blog/jimlobe/

(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น