xs
xsm
sm
md
lg

‘สหรัฐฯ’หวังพึ่ง‘กองทัพปากีสถาน’ช่วยต่อรอง‘ตอลิบาน’

เผยแพร่:   โดย: ไซเอด ซาลีม ชาห์ซาด

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

US puts its faith in Pakistan’s military
By Syed Saleem Shahzad
05/11/2009

การหารือแบบหันหน้าเข้าหากันระหว่างฝ่ายทหารปากีสถานกับรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ฮิลลารี คลินตัน ทำให้เกิดข้อตกลงฉบับหนึ่ง ซึ่งเป็นการแผ้วถางทางให้ ฮามิด คาร์ไซ ได้รับการประกาศให้เป็นผู้ชนะการเลือกตั้งและดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอัฟกานิสถานเป็นสมัยที่สอง ขณะที่ อับดุลเลาะห์ อับดุลเลาะห์ ผู้ท้าชิงคนสำคัญของคาร์ไซ บัดนี้ก็หลุดออกจากวงโคจรไป ต่อจากนี้ฝ่ายทหารของปากีสถานจะทำหน้าที่อย่างกระตือรือร้นในการเป็นตัวกลางรอมชอมระหว่างวอชิงตันกับพวกตอลิบาน นอกเหนือจากอับดุลเลาะห์แล้ว คนที่พ่ายแพ้ย่อยยับอีกผู้หนึ่งจากข้อตกลงคราวนี้ ได้แก่ ประธานาธิบดี อาซิฟ อาลี ซาร์ดารี ของปากีสถาน

อิสลามาบัด – อับดุลเลาะห์ อับดุลเลาะห์ (Abdullah Abdullah) ประกาศในสัปดาห์นี้ ขอถอนตัวจากการแข่งขันเลือกตั้งประธานาธิบดีอัฟกานิสถานรอบที่สอง จึงเท่ากับส่งมอบชัยชนะให้แก่ ฮามิด คาร์ไซ ผู้ครองตำแหน่งในปัจจุบัน แต่จากที่เอเชียไทมส์ออนไลน์ทราบมานั้น อับดุลเลาะห์ต้องทำเช่นนี้ เนื่องจากถูกบีบคั้นจากสหรัฐฯ

เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่วอชิงตันทำให้อับดุลเลาะห์ ซึ่งมิใช่คนชนชาติปัชตุน (Pashtun) ที่เป็นคนส่วนใหญ่ในอัฟกานิสถาน ต้องยอมถอนตัวไป ฝ่ายทหารปากีสถานก็ได้ตกลงยินยอมที่จะทำหน้าที่อย่างกระตือรือร้น ในการเป็นตัวกลางระหว่างสหรัฐฯกับพวกตอลิบาน เพื่อให้บรรลุแผนการรอมชอมซึ่งจะเปิดทางให้สหรัฐฯสามารถถอยออกมาจากอัฟกานิสถานอย่างชนิดที่มองจากเปลือกนอกเหมือนกับว่าประสบความสำเร็จ ในทำนองเดียวกับการถอนตัวจากอิรัก

นักการทูตอาวุโสชาวปากีสถานผู้หนึ่ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเจรจาหลังฉากต่างๆ ในเรื่องความสัมพันธ์ปากีสถาน, อัฟกานิสถาน, และสหรัฐฯ บอกกับเอเชียไทมส์ออนไลน์โดยขอไม่ให้เปิดเผยชื่อว่า ข้อตกลงเรื่องอับดุลเลาะห์ ซึ่งเป็นบุคคลที่ถูกปากีสถานมองว่าเป็นพวกฝักใฝ่นิยมอินเดียนั้น ได้กระทำกันในระหว่างเวลา 3 วันที่รัฐมนตรีต่างประเทศอเมริกัน ฮิลลารี คลินตัน มาเยือนปากีสถานเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ในการเยือนดังกล่าว นอกเหนือจากหารือกับพวกเจ้าหน้าที่อาวุโสคนอื่นๆ แล้ว คลินตันยังได้พบปะกับผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.อัชฟัค ปาร์เวซ คิอานี (Ashfaq Parvez Kiani) และเจ้ากรมประมวลข่าวกรองกลาง (Inter-Services Intelligence) พล.ท.อาหมัด ชูจา ปาชา (Ahmad Shuja Pasha) ทั้งนี้มีการตกลงกันว่า การเจรจาที่นำโดยสหรัฐฯทั้งหลายทั้งปวง ซึ่งกระทำกับอับดุลเลาะห์ รวมทั้งที่เสนอให้เขารับตำแหน่งเป็นประธานผู้บริหาร (chief executive officer) ของอัฟกานิสถานนั้น จะต้องยุติลง และคาร์ไซจะได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อดำรงตำแหน่งต่ออีก 1 สมัย 5 ปีเป็นสมัยที่สอง

นอกจากนั้นยังมีการยอมรับด้วยว่า คณะผู้นำทางการเมืองของวอชิงตัน ซึ่งหมายรวมถึงกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ(เพนตากอน) เวลานี้เชื่อแล้วว่า การก่อความไม่สงบที่นำโดยตอลิบานในอัฟกานิสถานนั้น จะสามารถรับมือได้ดีที่สุดก็โดยอาศัยการติดต่อสื่อสารกันระหว่างกองทัพปากีสถานกับพวกตอลิบาน ไม่ใช่โดยรัฐบาลฝ่ายการเมืองใดๆ ในภูมิภาคแถบนี้

การเยือนของคลินตันคราวนี้บังเกิดขึ้นในช่วงระยะหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญยิ่ง ขณะที่ปากีสถานกำลังทำการสู้รบในยุทธการใหญ่มุ่งปราบปรามพวกตอลิบานส่วนที่เป็นคนปากีสถานตลอดจนพวกหัวรุนแรงอื่นๆ ถ้าหากยุทธการนี้ประสบความล้มเหลว ก็จะส่งผลกระทบกระเพื่อมต่อเนื่องไปในทั่วทั้งภูมิภาค และก็จะเป็นความปราชัยของผลประโยชน์อเมริกันในอัฟกานิสถานอย่างแน่นอน

ในบริบทเช่นนี้แหละ ทำให้คลินตินสนับสนุนวิสัยทัศน์เกี่ยวกับอัฟกานิสถานของทางฝ่ายปากีสถาน ซึ่งมองว่าการที่ดึงเอาอับดุลเลาะห์เข้ามาร่วมรัฐบาลอัฟกานิสถานในฐานะเป็นผู้เล่นคนสำคัญ จะเป็นอันตรายต่อการหาทางเปิดการพูดจากับพวกตอลิบาน นอกจากนั้นคลินตันยังแสดงบทบาทสำคัญในเรื่องที่อินเดียตัดสินใจถอนกำลังทหารของตนออกจากบริเวณชายแดนปากีสถาน-อินเดียใกล้ๆ แคว้นแคชเมียร์ ความเคลื่อนไหวเช่นนี้เปิดทางให้กองทัพบกปากีสถานสามารถที่จะรวมศูนย์ความสนใจไปที่การสู้รบปราบปรามพวกอัลกออิดะห์ในพื้นที่ชาวชนเผ่าของปากีสถานได้ ทั้งนี้ กองทัพบกปากีสถานยังให้คำมั่นแก่คลินตันว่า จะขยายการสู้รบนี้ให้กว้างขวางออกไปอีกในระยะไม่กี่เดือนต่อจากนี้

พัฒนาการต่างๆ เหล่านี้คลี่คลายออกมาให้เห็นอย่างน่าตื่นใจ ณ จุดวิกฤตที่กองทัพปากีสถานกับวอชิงตันกำลังเกิดความเป็นปรปักษ์กันอย่างชัดเจน สืบเนื่องจากเงื่อนไขต่างๆ ที่ติดมากับกฎหมายให้ความช่วยเหลือแก่ปากีสถานซึ่งเรียกกันว่ากฎหมาย “เคร์รี-ลูการ์” (Kerry-Lugar) ที่ได้รับการอนุมัติจากรัฐสภาอเมริกันเมื่อเดือนที่แล้ว

กฎหมายฉบับนี้ซึ่งผู้ร่างสำคัญคือ วุฒิสมาชิก จอห์น เคร์รี และวุฒิสมาชิกริชาร์ด ลูการ์ มีสาระสำคัญเป็นการให้ความช่วยเหลือประเภทที่มิใช่การทหารแก่ปากีสถาน เพิ่มขึ้นเป็นสามเท่าตัวสู่ระดับเท่ากับปีละ 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเป็นระยะเวลา 5 ปี ทว่ากองทัพปากีสถานแสดง “ความกังวลใจอย่างจริงจัง” เกี่ยวกับ “เงื่อนไขต่างๆ ที่ระบุเอาไว้ในกฎหมายฉบับนี้ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติ” ของปากีสถาน

ทั้งนี้ทางกองทัพแสดงความวิตกเกี่ยวกับเงื่อนไขที่พาดพิงถึงเรื่องการห้ามไม่ให้กองทัพปากีสถานเข้าไปแทรกแซงกิจการทางการเมือง และการที่ปากีสถานต้องให้การค้ำประกันอย่างชัดเจนว่าจะไม่แพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ ตลอดจนต้องมีปฏิบัติการลงโทษต่อผู้แพร่กระจายอาวุธเหล่านี้

ในหนังสือลับที่เป็นหนังสือโต้ตอบระหว่างสำนักประธานคณะกรรมการผู้บัญชาการกองทัพร่วม (office of the chairman of the Joint Chiefs of Staff committee) กับสำนักประธานาธิบดี ทางฝ่ายกองทัพได้เรียกกฎหมายฉบับนี้ว่าเป็น “แผนการที่คบคิดกันขึ้นมาเพื่อมุ่งร้ายต่อความมั่นคงแห่งชาติของปากีสถาน”

ก่อนหน้าการมาเยือนของเธอ คลินตันได้ส่งเสียงแสดงความสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อรัฐบาลปากีสถานที่เป็นประชาธิปไตย และสนับสนุนอย่างแข็งขันต่อเงื่อนไขต่างๆ ที่กำหนดเอาไว้ในกฎหมายฉบับนี้ นอกจากนั้นยังกล่าววิจารณ์ตำหนิกลายๆ ต่อฝ่ายทหารปากีสถานอีกด้วย โดยบอกว่า ถ้าหากปากีสถานไม่ชอบเงื่อนไขเหล่านี้ ก็ยังมีทางเลือกนั่นคือการปฏิเสธไม่ขอรับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯเสียเลย

ไม่เหมือนกับฝ่ายทหารของอเมริกัน ซึ่งได้บ่มเพาะพัฒนาความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับฝ่ายทหารปากีสถานมาอย่างยาวนาน ทางคณะผู้นำทางการเมืองของสหรัฐฯนั้น มักมีความโน้มเอียงที่จะมองคณะผู้บริหารในฝ่ายการเมืองของปากีสถานว่าเป็นพลังที่แท้จริงของประเทศ ในช่วงระยะหลังจากการสิ้นสุดของระบอบปกครองโดยทหารของเปอร์เวซ มูชาร์รัฟ เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว

แหล่งข่าวด้านการทูตหลายรายบอกกับเอเชียไทมส์ออนไลน์ว่า ฝ่ายทหารปากีสถานตัดสินใจว่า การมาเยือนของคลินตันคือโอกาสอันดีที่จะสร้างความประทับใจให้เธอได้รับทราบถึงความสำคัญของบรรดาบุคคลในเครื่องแบบเหล่านี้ รวมทั้งได้รับทราบว่าถ้าหากปราศจากการสนับสนุนของกองทัพแล้ว คณะผู้บริหารในฝ่ายการเมืองก็อยู่ในสภาพเป็นเป็ดง่อย

“บทเรียน” ดังกล่าวนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อคลินตันเดินทางถึงกรุงอิสลามาบัด เมืองหลวงของปากีสถาน สำนักประธานาธิบดีนั้นได้แนะนำสำนักนายกรัฐมนตรีว่า ตัวนายกรัฐมนตรีพร้อมด้วยคณะรัฐมนตรีทั้งหลายควรไปคอยตอนรับเธอ ทว่านายกรัฐมนตรี ไซเอด ยูซุฟ ราซา กิลลานี (Syed Yousuf Raza Gillani) ผู้ได้รับการหนุนหลังจากฝ่ายทหารอย่างชัดเจน ปฏิเสธไม่กระทำตาม โดยให้เหตุผลว่าพิธีต้อนรับระดับนั้นควรสงวนไว้ให้แก่บุคคลระดับประมุขแห่งรัฐเท่านั้น

ในทำนองเดียวกัน ในงานเลี้ยงต้อนรับซึ่งจัดขึ้นที่ทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงอิสลามาบัด ประธานาธิบดีอาซิฟ อาลี ซาร์ดารี (Asif Ali Zardari) ต้องการให้คณะรัฐมนตรีเข้าแถวรอต้อนรับคลินตันเช่นกัน ซึ่งปรากฏว่าพวกรัฐมนตรีต่างยินยอม ยกเว้นนายกรัฐมนตรีกิลลานี โดยเขากล่าวว่า ถ้าทำเช่นนี้ก็จะเป็นการ “ฝืนมารยาททางการทูตที่ตัวเขายึดถือ”

และทันทีที่คลินตันนั่งลงหารือกับพวกบิ๊กทหาร มันก็เป็นที่ชัดเจนว่าเธอกำลังพูดจาอยู่กับพวกผู้เล่นตัวจริง แล้วการพบปะจึงกลายเป็นการที่เธอพูดหารืออยู่กับ พล.อ.คิอานีหลายชั่วโมง การพบกันคราวนี้เองได้รับรองบทบาทที่กองทัพปากีสถานจะเล่น ตั้งแต่อิสลามาบัดไปจนถึงคาบูล ในช่วงหลายๆ เดือนต่อจากนี้ไป

**ความปราชัยของซาร์ดารี**

ในตอนแรกๆ ภายหลังขึ้นเป็นประธานาธิบดีเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ซาร์ดารีทำท่าจะกลายเป็นความหวังของใครต่อใครได้อย่างเต็มภาคภูมิ ทว่ารัศมีแพรวพราวของเขากลับซีดจางไปเสียแล้ว ทั้งในเมืองราวัลปินดี ศูนย์อำนาจของฝ่ายทหารปากีสถานที่ตั้งประชิดเมืองหลวงอิสลามาบัด และทั้งในกรุงวอชิงตันด้วย

เมื่อปี 2007 จากการที่วอชิงตันทำหน้าที่เป็นตัวกลางให้เกิดการประนีประนอม จึงมีการทำความตกลงกันระหว่างอดีตนายกรัฐมนตรี เบนาซีร์ บุตโต กับมูชาร์รัฟที่เป็นประธานาธิบดีในเวลานั้น ส่งผลให้มูชาร์รัฟลงนามประกาศใช้พระราชกำหนดว่าด้วยการความปรองดองแห่งชาติ (National Reconciliation Ordinance หรือ NRO) ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการอภัยโทษแก่ผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดในคดีเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่น เฉกเช่นซาร์ดารีและบุตโต (ผู้เป็นภรรยาของซาร์ดารี) ความเคลื่อนไหวคราวนี้จึงเป็นการถางทางให้ซาร์ดารีและบุตโตหวนกลับคืนสู่วงการเมืองนั่นเอง พระราชกำหนดฉบับนี้ซึ่งได้ถูกฝ่ายต่างๆในปากีสถานวิพากษ์โจมตีอย่างหนักหน่วง หากจะทำให้กลายเป็นพระราชบัญญัติใช้บังคับตามปกติแล้ว ก็จะต้องยื่นเสนอให้รัฐสภาพิจารณาอนุมัติรับรองภายในเดือนนี้

ทว่าสถานการณ์ทางการเมืองในเวลานี้ดูไม่เป็นใจเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อขบวนการมุตเตฮิดะ กออามิ (Muttehida Quami Movement) พรรคการเมืองพรรคเดียวในปากีสถานที่ต่อต้านตอลิบานอย่างแท้จริงอีกทั้งนิยมฝักใฝ่อเมริกัน และที่สำคัญคือเป็นพันธมิตรหลักของพรรคประชาชนปากีสถาน (Pakistan People's Party) ของซาร์ดารีด้วย กลับกำลังแสดงจุดยืนไม่เห็นชอบกับพระราชกำหนดฉบับนี้ พรรคนี้ถึงกับแนะนำให้ซาร์ดารีสละตำแหน่งประธานาธิบดี และต่อสู้คดีที่ถูกกล่าวหาในศาลยุติธรรม

ผลก็คือซาร์ดารีตัดสินใจไม่เสนอ NRO ต่อรัฐสภา และยอมปล่อยให้ศาลซึ่งกำลังพิจารณาความถูกต้องชอบธรรมของการออกพระราชกำหนดฉบับนี้อยู่แล้ว ได้เดินหน้าต่อไป โดยเป็นที่ทราบกันดีว่าฝ่ายตุลาการในปัจจุบันมีท่าทีเป็นปรปักษ์ต่อซาร์ดารี

ทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างซาร์ดารีกับกองทัพ ขณะนี้ก็กำลังเกิดเหตุการณ์หลายๆ อย่างที่ละม้ายคล้ายคลึงกับสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างมูชาร์รัฟกับกองทัพ ในช่วงท้ายๆ ก่อนที่เขาจำยอมต้องอำลาตำแหน่งในเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว

มูชาร์รัฟซึ่งต้องลาออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในเดือนพฤศจิกายน 2007 ได้คัดเลือกคิอานีขึ้นดำรงตำแหน่งแทนตัวเขา ทว่าภายหลังการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2008 ปรากฏผลออกมาว่าพวกพรรคการเมืองที่เป็นพันธมิตรของมูชาร์รัฟประสบความเพลี่ยงพล้ำ คิอานีก็วางตัวเองให้ถอยห่างจากมูชาร์รัฟ ทั้งนี้ มูชาร์รัฟซึ่งในฐานะที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ก็เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดด้วย ได้พยายามแต่ล้มเหลวถึง 2 ครั้ง 2 คราเพื่อเปลี่ยนตัวผู้บัญชาการทหารบกผู้นี้

กล่าวคือ เมื่อเดือนเมษายน 2008 จากนั้นก็เดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน เขาพยายามผลักดันให้ พล.อ.ตอริก มาจีด (Tariq Majeed) ประธานคณะกรรมการผู้บัญชาการกองทัพร่วม เข้าควบตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกเสียด้วย ทว่าตอริกปฏิเสธโดยบอกว่านั่นจะเป็นอันตรายต่อผลประโยชน์ของกองทัพบก จากนั้นคิอานีได้โยกย้ายพวกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยส่วนตัวของมูชาร์รัฟ แล้วจัดคนของเขาเข้าไปแทนที่ มูชาร์รัฟเข้าใจดีว่านั่นหมายถึงเขาสูญเสียฐานกำลังของเขาในกองทัพบกแล้ว และลาออกจากการเป็นประธานาธิบดีในเดือนสิงหาคม

หลังจากซาร์ดารีเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสืบแทนแล้ว เขาก็พยายามคบหาเป็นเพื่อนกับคิอานี มีรายงานว่าเขาได้ให้ความสนับสนุนด้านธุรกิจแก่พี่น้อง 2 คนของผู้บัญชาการทหารบก นั่นคือ คัมรัน คิอานี (Kamran Kiani) เจ้าของบริษัทก่อสร้างแห่งหนึ่ง และ อัมจัด คิอานี (Amjad Kiani) ผู้รับเหมางานจัดซื้อจัดจ้างด้านกลาโหม รวมทั้งคอยเชื้อเชิญเลี้ยงดูคิอานีทั้งอาหารกลางวันและอาหารค่ำ ทว่าพฤติการณ์เช่นนี้กลับไปสร้างความไม่พอใจให้แก่พวกผู้บังคับบัญชาหน่วยทหารต่างๆ ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์ว่าผู้บัญชาการทหารบกทำตัวใกล้ชิดกับประธานาธิบดีมากเกินไป

อย่างไรก็ตาม การสะบั้นสัมพันธ์จริงๆ บังเกิดขึ้นหลังจากฝ่ายทหารรู้สึกว่า ซาร์ดารีกำลังทำงานแบบ “ข้ามาคนเดียว” ในประเด็นทั้งหลายที่เป็นนโยบายระดับชาติ ทั้งนี้รวมถึงข้อเสนอของเขาที่จะดึงเอาหน่วยงานด้านข่าวกรองแห่งชาติมาอยู่ใต้นายใหญ่ที่เป็นพลเรือน ตลอดจนความพยายามที่จะแต่งตั้งให้อดีตผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.เจฮันกีร์ คารามัต (Jehangir Karamat) ซึ่งใกล้ชิดกับวอชิงตัน เป็นที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติ มาถึงจุดนี้ พวกเขาจึงตัดสินใจว่าถึงเวลาต้องตัดปีกตัดหางของซาร์ดารีกันแล้ว

กองทัพบกได้เข้าขัดขวางไม่ให้กลุ่มพันธมิตรที่เป็นการจับมือกันระหว่าง พรรคประชาชนปากีสถานของซาร์ดารี กับ กลุ่มกออาอิด-ไอ-อาซาม (Quaid-i-Azam) ซึ่งเป็นส่วนที่แตกออกมาจากพรรคสันนิบาตมุสลิมปากีสถาน (Pakistan Muslim League) ไปโค่นล้มรัฐบาลท้องถิ่นในแคว้นปัญจาบที่นำโดยนาวัซ ชารีฟ (Nawaz Sharif) ทั้งนี้ชารีฟซึ่งเคยเป็นนายกรัฐมนตรีปากีสถาน 2 สมัย เวลานี้คือปรปักษ์ทางการเมืองคนสำคัญของซาร์ดารี

ในเดือนมีนาคม ตอนที่ฝ่ายค้านจัดการชุมนุมตามเมืองใหญ่ต่างๆ เริ่มตั้งแต่เมืองละฮอร์ และมีจุดหมายปลายทางที่จะเข้าล้อมกรุงอิสลามาบัด เพื่อเรียกร้องให้คืนตำแหน่งประธานศาลสูงสุดให้แก่ อิฟติการ์ โมฮัมหมัด เชาธรี (Iftikhar Mohammad Chaudhary) ผู้ถูกปลดออกในยุคของมูชาร์รัฟนั้น ซาร์ดารีได้ผลักดันให้คิอานีนำกองทัพบกออกมาควบคุมสถานการณ์ แต่เขาปฏิเสธและรบเร้าให้นายกรัฐมนตรีกิลลานี ออกคำสั่งคืนตำแหน่งแก่เชาธรี ขณะที่การชุมนุมเรียกร้องเคลื่อนมาได้เพียงครึ่งทางสู่กรุงอิสลามาบัด

เวลานี้เมื่อพิจารณาจากความร่วมมือกันล่าสุดระหว่างวอชิงตันกับกองบัญชาการใหญ่ราวัลปินดี ก้าวต่อไปจึงน่าจะเป็นการลดทอนอำนาจของซาร์ดารีลงอีก ด้วยการหาทางโยกอำนาจบางส่วนของเขาไปให้แก่รัฐสภา หรือแม้กระทั่งบังคับให้เขาต้องอำลาตำแหน่งไปเลย

คล้ายคลึงกันเหลือเกินกับตอนที่สหรัฐฯเฝ้ามองขณะที่มูชาร์รัฟอำลาจากไป วอชิงตันนั้นพร้อมแล้วที่จะเห็นซาร์ดารีออกนอกสนามไป ทั้งนี้นี่คือการตระหนักถึงความเป็นจริงที่ว่า กองทัพบกคือความหวังสุดท้ายที่จะได้เห็นปากีสถานทำเรื่องอะไรดีๆ ในศึกอัฟกานิสถาน

ไซเอด ซาลีม ชาห์ซาด เป็น หัวหน้าสำนักงานปากีสถานของเอเชียไทมส์ออนไลน์ สามารถติดต่อกับเขาได้ที่ saleem_shahzad2002@yahoo.com
เรื่องวุ่นๆ จากร่างกม.สหรัฐฯให้เงินช่วยเหลือปากีสถาน
ในวันเดียวกับที่ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ของสหรัฐฯ ลงนามในร่างกฎหมาย ซึ่งทำให้วอชิงตันสามารถให้ความช่วยเหลือประเภทที่ไม่ใช่ด้านการทหารแก่ปากีสถาน เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 3 เท่าตัวจากระดับปัจจุบัน พวกตอลิบานส่วนที่เป็นคนปากีสถาน ก็ได้ลงมือปฏิบัติการครั้งล่าสุดของการโจมตีอย่างร้ายแรงเป็นชุดใหญ่ต่อสถานที่สำคัญของฝ่ายทหารและตำรวจ ที่ได้ดำเนินมา 10 วันแล้ว การปฏิบัติการที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากเช่นนี้เอง ทำให้สหรัฐฯยิ่งรู้สึกกังวลต่อภัยคุกคามจากพวกหัวรุนแรงเหล่านี้
กำลังโหลดความคิดเห็น