(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)
Taliban take over Afghan province
By Syed Saleem Shahzad
28/10/2009
ภายหลังกองทหารสหรัฐฯถอนตัวออกจากที่มั่นสำคัญๆ หลายแห่ง กลุ่มตอลิบานก็สามารถเข้าควบคุมจังหวัดนูริสถานของอัฟกานิสถาน เวลานี้จังหวัดแห่งนี้อยู่ภายใต้ กอรี เซียอูร์ เราะห์มาน หัวหน้านักรบตอลิบานผู้มีความผูกพันแน่นเหนียวกับอุซามะห์ บิน ลาดิน และ อัลกออิดะห์ จากการได้ครอบครองแหล่งพักพิงแห่งนี้ เป้าหมายแรกสุดของพวกตอลิบานก็คือ การก่อกวนการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบตัดสินในเดือนหน้า จากกนั้นก็เข้าช่วยเหลือพวกหัวรุนแรงที่อยู่ในปากีสถาน
อิสลามาบัด - สหรัฐฯเพิ่งถอนทหารของตนออกจากที่มั่นสำคัญ 4 แห่งในจังหวัดนูริสถาน (Nuristan) ซึ่งตั้งอยู่ติดพรมแดนปากีสถาน และปล่อยให้จังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอัฟกานิสถานแห่งนี้ กลายเป็นแหล่งพำนักพักพิงอันปลอดภัย สำหรับให้พวกผู้ก่อความไม่สงบที่นำโดยกลุ่มตอลิบาน ใช้เป็นที่มั่นในการวางแผนประสานงานทำศึกตามแนวรบด้านต่างๆ ของภูมิภาคแถบนี้
สหรัฐฯยังคงทหารบางส่วนเอาไว้ในเมืองปารุน (Parun) ซึ่งเป็นเมืองเอกของนูริสถาน เพื่อคอยรักษาความปลอดภัยให้แก่ตัวผู้ว่าการจังหวัดและอาคารสถานที่ต่างๆ ของรัฐบาล จุดยืนของอเมริกันในเรื่องการถอนทหารคราวนี้มีอยู่ว่า เนื่องจากกำลังย่างเข้าสู่ฤดูหนาว ซึ่งเส้นทางลำเลียงขนส่งต่างๆ จะอึดอัดขัดข้อง ทำให้เป็นเรื่องลำบากที่จะพยายามคงทหารเอาไว้ในพื้นที่ห่างไกล สหรัฐฯนั้นได้เคยถอนตัวออกจากพื้นที่บางแห่งมาก่อนแล้วในอดีต ทว่าไม่เคยทิ้งค่ายสำคัญรวดเดียว 4 แห่งเช่นคราวนี้
การเดินหมากตานี้ของ พล.อ.สแตนลีย์ แมคคริสตัล (Stanley McChystal) ผู้บัญชาการทหารสหรัฐฯในอัฟกานิสถาน บังเกิดขึ้นภายหลังพวกหัวรุนแรงกว่า 300 คนบุกเข้าโจมตีที่มั่นในเขตคัมเดช (Kamdesh) เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ทำให้ทหารอเมริกันตายไป 8 คน เช่นเดียวกับทหารของกองทัพแห่งชาติอัฟกานิสถานอีกจำนวนหนึ่ง ก่อนหน้านั้นกว่า 1 ปี คือเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2008 ก็มีทหารสหรัฐฯเสียชีวิต 9 คนหลังจากที่มั่นของพวกเขาในเขตวานัต (Wanat) ถูกโจมตีด้วยอาวุธปืนเล็กและเครื่องยิงลูกจรวด
นูริสถานตั้งอยู่ตรงจุดยุทธศาสตร์บนเทือกเขาฮินดูกูช (Hindu Kush) โดยเป็นพื้นที่ทุรกันดารกว้างขวางซึ่งเชื่อกันว่าเป็นที่ซ่อนตัวของ อุซามะห์ บินลาดิน ผู้นำอัลกออิดะห์ และพวกคนสนิทของเขา
บัดนี้จังหวัดแห่งนี้ตกอยู่ในความควบคุมของเครือข่ายกองกำลังที่เป็นของ กอรี เซียอูร์ เราะห์มาน (Qari Ziaur Rahman) หัวหน้านักรบตอลิบานผู้มีสายสัมพันธ์อันแนบแน่นกับบินลาดิน เช่นนี้จึงทำให้นูริสถานกลายเป็นจังหวัดแรกของอัฟกานิสถานซึ่งถูกควบคุมโดยเครือข่ายกองกำลังที่ได้รับแรงบันดาลใจจากอัลกออิดะห์
ในการพูดคุยสอบถามกันทางโทรศัพท์เมื่อวันพุธ(28) สมาชิกพวกหัวรุนแรงคนหนึ่งที่โยงใยกับ เซียอูร์ เราะห์มานบอกว่า เวลานี้พวกเขาสามารถควบคุมนูริสถานเอาไว้ได้ และกำลังพวกหัวรุนแรงก็ “กำลังเดินทางมุ่งหน้าสู่ โมห์มันด์ (Mohmand) และ บาจาอูร์ (Bajaur) เพื่อช่วยเหลือเพื่อนนักรบตอลิบานของพวกเขาในการสู้กับกับกองทหารปากีสถาน” ทั้งนี้ โมห์มันด์ และ บาจารอูร์ คือ เขตชนเผ่า (agency) 2 เขตที่อยู่ติดกับนูริสถานแต่อยู่ทางอีกข้างหนึ่งของเส้นพรมแดน
เซียอูร์ เราะห์มานนั้นไม่ได้เป็นบุตรชายของหัวหน้านักรบมุญะฮีดีนชื่อดังระดับตำนาน หากแต่บิดาของเขาเป็นนักการศาสนาที่มีชื่อว่า มาวลานา ดิลบาร์ (Maulana Dilbar) สายสัมพันธ์ของเขาไม่ได้โยงใยอยู่กับกลุ่มต่างๆ ในปากีสถาน หากเชื่อมตรงไปที่บินลาดิน โดยที่เขาเคยได้รับการสอนสั่งบทเรียนต่างๆ เกี่ยวกับชีวิตของศาสดามุฮัมมัด
เซียอูร์ที่บัดนี้อายุ 30 ต้นๆ เติบโตขึ้นมาในค่ายของพวกหัวรุนแรงชาวอาหรับ โดยได้รับการปลูกฝังให้มีความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะต่อสู้กับพวกอเมริกัน –ไม่เพียงในอัฟกานิสถานเท่านั้น แต่ตลอดทั่วทั้งโลกทีเดียว เขาไม่ได้ก้าวขึ้นเป็นหัวหน้านักรบสืบเนื่องจากสิทธิทางชาติกำเนิดใดๆ ก่อนอื่นเลยเขาต้องพิสูจน์ตนเองในสมรภูมิ ซึ่งเขาก็ทำเช่นนั้นในการต่อสู้กับทหารสหรัฐฯในจังหวัดคูนาร์ (Kunar) และนูริสถาน เขาเป็นคนแรกที่เปิดปฏิบัติการต่อสู้กับทหารอเมริกันในเขตคาร์กัล (Karghal ) ของจังหวัดคูนาร์ และเขาก็เป็นผู้วางแผนการสู้รบเผชิญหน้ากับฝ่ายอเมริกันในนูริสถานหลายต่อหลายครั้ง (ดูเรื่อง A fighter and a financier ใน Asia Times Online, May 23, 2008.)
พื้นที่ที่เป็นเขตเขาของนูริสถาน (รวมไปถึงจังหวัดคูนาร์ที่อยู่ติดกัน ตลอดจนพื้นที่ชนเผ่าเขตโมห์มันด์ และเขตบาจาอูร์ในปากีสถาน) คือดินแดนเขาวงกตตามธรรมชาติโดยแท้ จึงเป็นพื้นที่อุดมคติสำหรับพวกผู้ก่อความไม่สงบที่จะใช้เป็นที่พักพิงหลบภัย นอกจากนั้น ประชาชนส่วนข้างมากในนูริสถานยังยึดมั่นอยู่กับสำนักคิดซาลาฟี (Salafi) อันเข้มงวดของศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่ ผลก็คือ พวกนักรบอาหรับซึ่งแทบทั้งหมดต่างก็นับถือแนวคิดซาลาฟีเช่นกัน จึงมักถูกดึงดูดให้เข้าสู่ดินแดนแถบนี้ ระหว่างสงครามญิฮัดต่อต้านพวกโซเวียตในทศวรรษ 1980 ได้มีการก่อตั้ง “ราชอาณาจักร” ปกครองตนเองตามแบบสำนักคิดซาลาฟีในทางเป็นจริงขึ้นที่นี่ด้วยซ้ำ ด้วยความช่วยเหลือสนับสนุนจากคูเวตและซาอุดีอาระเบีย ทว่าในเวลาต่อมา “ราชอาณาจักร”แห่งนี้ได้ถูกพวกตอลิบานกำจัดไป
ระยะไม่กี่ปีหลังมานี้ มีผู้พบเห็นพวกผู้นำระดับสูงของอัลกออิดะห์หลายต่อหลายคนในบริเวณแถบนี้ เป็นต้นว่า นายแพทย์ อัยมาน อัล-ซอวาฮิรี (Dr Ayman al-Zawahiri) รองหัวหน้าอัลกออิดะห์ ผู้ซึ่งสามารถหลบหนีจากการเข้าโจมตีด้วยขีปนาวุธของเครื่องบินไร้นักบิน (drone) รุ่นเพรเดเตอร์ (Predator) ของสหรัฐฯหลายต่อหลายครั้ง ย้อนไปในอดีตไกลกว่านั้น ระหว่างการรุกรานของโซเวียต นูริสถานเป็นหนึ่งในพื้นที่ไม่กี่แห่งของอัฟกานิสถานที่ยังไม่เคยตกอยู่ใต้การยึดครองของผู้รุกรานต่างชาติรายนี้เลย ครั้นมาถึงการรุกรานที่นำโดยสหรัฐฯในปี 2001 จังหวัดแห่งนี้พร้อมด้วยจังหวัดคูร์นา ก็มีฐานะเป็นจุดเดือดพล่านเต็มไปด้วยกิจกรรมก่อความไม่สงบมาโดยตลอด
การที่ตอลิบานสามารถเข้าควบคุมนูริสถานได้เช่นนี้ บังเกิดขึ้นในขณะที่กองทัพปากีสถานเปิดยุทธการใหญ่ในเขตเซาท์ วาซิริสถาน (South Waziristan) อันเป็นพื้นที่ชาวชนเผ่าที่อยู่ติดพรมแดนอัฟกานิสถาน (แต่อยู่ทางใต้ลงมาอีกไกลทีเดียวจากแถบนูริสถาน-คูร์นา-โมห์มันด์-บาจาอูร์ ผู้แปล) เพื่อปราบปรามกลุ่มตอลิบานส่วนที่เป็นชาวปากีสถาน (เตห์ริก-อี-ตอลิบาน ปากีสถาน Tehrik-e-Taliban Pakistan) ที่หนุนหลังโดยอัลกออิดะห์ ยุทธการดังกล่าวนี้ดำเนินมาได้ 2 สัปดาห์แล้ว และสมาชิกพวกหัวรุนแรงที่พูดคุยกับเอเชียไทมส์ออนไลน์ทางโทรศัพท์ระบุว่า ช่วงเวลานี้นับเป็นโอกาสที่จะสามารถเปิดแนวรบใหม่อีกแนวหนึ่ง โดยที่กองกำลังของเราะห์มานจะสู้รบอยู่ทางฝั่งอัฟกัน ส่วนกำลังของ โมลวี ฟากีร์ โมฮัมหมัด (Moulvi Faqir Mohammad) ก็ต่อสู้อยู่ทางฝั่งบาจาอูร์ และโมห์มันด์
พื้นที่แถบนี้ยังเป็นที่พักพิงของพวกหัวรุนแรงพลัดถิ่นจากหุบเขาสวัต (Swat Valley) ของปากีสถาน ซึ่งต้องถอนตัวจากหุบเขาดังกล่าวเมื่อไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ ภายหลังกองทัพเปิดการรุกใหญ่ เชื่อกันว่าพวกหัวรุนแรงพลัดถิ่นเหล่านี้กำลังรวมตัวจัดกำลังกันใหม่ และเตรียมตัวกลับไปเปิดปฏิบัติการในสวัตอีก ทันทีที่หิมะฤดูหนาวตกลงมาปิดกั้นเส้นทาง จนทำให้การลำเลียงยุทธสัมภาระของฝ่ายทหารเป็นไปด้วยความยากลำบาก
พัฒนาการล่าสุดที่เกิดขึ้นในนูริสถานต้องถือว่าเป็นสถานการณ์ที่เกิดการพลิกกลับอย่างน่าตื่นใจ เมื่อปลายปี 2008 กองกำลังพันธมิตรในอัฟกานิสถาน ซึ่งมีกองทหารปากีสถานคอยร่วมมือประสานงาน ได้เปิด “ยุทธการหัวใจสิงห์” (Operation Lion Heart) แนวความคิดก็คือทำให้พวกหัวรุนแรงถูกบีบเค้นอย่างหนัก โดยที่กองกำลังพันธมิตรในคูนาร์และนูริสถานเปิดฉากรุกจากทางด้านหนึ่ง และกองทหารปากีสถานในโมห์มันด์ และ บาจาอูร์ ก็กดดันเข้ามาจากอีกด้านหนึ่ง หลังจากนั้นอีกหลายเดือน กองทัพของทั้งสองฝ่ายก็ประกาศว่า พวกเขาประสบความสำเร็จในการกวาดล้างที่มั่นต่างๆ ของพวกผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ดังกล่าว มาถึงเวลานี้ย่อมเห็นกันได้ชัดเจนทีเดียวว่า นั่นเป็นการประกาศโอ้อวดเกินควาเมป็นจริง
ยุทธการหัวใจสิงห์ถูกจัดวางออกมา ภายหลังมีรายงานข่าวกรองทั้งจากฝ่ายสหรัฐฯและฝ่ายปากีสถานว่า พวกตอลิบานที่ตั้งฐานอยู่ในโมห์มันด์ และบาจาอูร์ และในนูริสถาน และคูนาร์ คือพวกที่ป้อนกองกำลังให้แก่เครือข่ายที่ปฏิบัติการคืบหน้าเข้าสู่หุบเขาตอกับ (Taghab Valley) ในจังหวัดคาปิซา (Kapisa) ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากเมืองหลวงคาบูลไปทางเหนือแค่นิดเดียว จากที่นี่ พวกตอลิบานจึงสามารถที่จะส่งหน่วยฆ่าตัวตายเข้าโจมตีในเขตกรุงคาบูลหลายต่อหลายครั้ง
การถอนตัวออกจากนูริสถานของสหรัฐฯ ถ้าหากกลายเป็นเรื่องถาวรแล้ว ก็จะเป็นการหนุนส่งพวกตอลิบานในทั่วทั้งภูมิภาคแถบนี้อย่างชนิดไม่เคยปรากฏมาก่อน ในระยะเฉพาะหน้าเลย พวกเขาจะมีที่มั่นซึ่งดีขึ้นมากในการดำเนินการก่อกวนการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบสองในเดือนหน้า ที่จะเป็นการแข่งขันกันระหว่าง ฮามิด คาร์ไซ ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน กับผู้ท้าชิง อับดุลเลาะห์ อับดุลเลาะห์ พวกตอลิบานนั้นได้ออกคำเรียกร้องให้ประชาชนคว่ำบาตรการเลือกตั้งคราวนี้ไปแล้ว
เหตุการณ์ต่อไปข้างหน้าจะเป็นอย่างไร น่าจะเห็นเป็นตัวอย่างได้จากการโจมตีของพวกตอลิบานในวันพุธ(28) ที่มุ่งเล่นงานอาคารที่พักแห่งหนึ่งในกรุงคาบูล ซึ่งได้สังหารผู้คนไปอย่างน้อย 12 คน ในจำนวนนี้เป็นลูกจ้างพนักงานขององค์การสหประชาชาติ 6 คน, เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย 2 คน, และพลเรือนอีกคนหนึ่ง ทั้งนี้ตามรายงานของตำรวจและพวกเจ้าหน้าที่ยูเอ็น ตำรวจคาบูลบอกว่า ผู้ก่อเหตุ 3 คนซึ่งสวมสายคาดแบบมือระเบิดฆ่าตัวตายกันทุกคนนั้น ก็เสียชีวิตทั้งหมดเช่นกัน
ไซเอด ซาลีม ชาห์ซาด เป็น หัวหน้าสำนักงานปากีสถานของเอเชียไทมส์ออนไลน์ สามารถติดต่อกับเขาได้ที่ saleem_shahzad2002@yahoo.com
Taliban take over Afghan province
By Syed Saleem Shahzad
28/10/2009
ภายหลังกองทหารสหรัฐฯถอนตัวออกจากที่มั่นสำคัญๆ หลายแห่ง กลุ่มตอลิบานก็สามารถเข้าควบคุมจังหวัดนูริสถานของอัฟกานิสถาน เวลานี้จังหวัดแห่งนี้อยู่ภายใต้ กอรี เซียอูร์ เราะห์มาน หัวหน้านักรบตอลิบานผู้มีความผูกพันแน่นเหนียวกับอุซามะห์ บิน ลาดิน และ อัลกออิดะห์ จากการได้ครอบครองแหล่งพักพิงแห่งนี้ เป้าหมายแรกสุดของพวกตอลิบานก็คือ การก่อกวนการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบตัดสินในเดือนหน้า จากกนั้นก็เข้าช่วยเหลือพวกหัวรุนแรงที่อยู่ในปากีสถาน
อิสลามาบัด - สหรัฐฯเพิ่งถอนทหารของตนออกจากที่มั่นสำคัญ 4 แห่งในจังหวัดนูริสถาน (Nuristan) ซึ่งตั้งอยู่ติดพรมแดนปากีสถาน และปล่อยให้จังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอัฟกานิสถานแห่งนี้ กลายเป็นแหล่งพำนักพักพิงอันปลอดภัย สำหรับให้พวกผู้ก่อความไม่สงบที่นำโดยกลุ่มตอลิบาน ใช้เป็นที่มั่นในการวางแผนประสานงานทำศึกตามแนวรบด้านต่างๆ ของภูมิภาคแถบนี้
สหรัฐฯยังคงทหารบางส่วนเอาไว้ในเมืองปารุน (Parun) ซึ่งเป็นเมืองเอกของนูริสถาน เพื่อคอยรักษาความปลอดภัยให้แก่ตัวผู้ว่าการจังหวัดและอาคารสถานที่ต่างๆ ของรัฐบาล จุดยืนของอเมริกันในเรื่องการถอนทหารคราวนี้มีอยู่ว่า เนื่องจากกำลังย่างเข้าสู่ฤดูหนาว ซึ่งเส้นทางลำเลียงขนส่งต่างๆ จะอึดอัดขัดข้อง ทำให้เป็นเรื่องลำบากที่จะพยายามคงทหารเอาไว้ในพื้นที่ห่างไกล สหรัฐฯนั้นได้เคยถอนตัวออกจากพื้นที่บางแห่งมาก่อนแล้วในอดีต ทว่าไม่เคยทิ้งค่ายสำคัญรวดเดียว 4 แห่งเช่นคราวนี้
การเดินหมากตานี้ของ พล.อ.สแตนลีย์ แมคคริสตัล (Stanley McChystal) ผู้บัญชาการทหารสหรัฐฯในอัฟกานิสถาน บังเกิดขึ้นภายหลังพวกหัวรุนแรงกว่า 300 คนบุกเข้าโจมตีที่มั่นในเขตคัมเดช (Kamdesh) เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ทำให้ทหารอเมริกันตายไป 8 คน เช่นเดียวกับทหารของกองทัพแห่งชาติอัฟกานิสถานอีกจำนวนหนึ่ง ก่อนหน้านั้นกว่า 1 ปี คือเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2008 ก็มีทหารสหรัฐฯเสียชีวิต 9 คนหลังจากที่มั่นของพวกเขาในเขตวานัต (Wanat) ถูกโจมตีด้วยอาวุธปืนเล็กและเครื่องยิงลูกจรวด
นูริสถานตั้งอยู่ตรงจุดยุทธศาสตร์บนเทือกเขาฮินดูกูช (Hindu Kush) โดยเป็นพื้นที่ทุรกันดารกว้างขวางซึ่งเชื่อกันว่าเป็นที่ซ่อนตัวของ อุซามะห์ บินลาดิน ผู้นำอัลกออิดะห์ และพวกคนสนิทของเขา
บัดนี้จังหวัดแห่งนี้ตกอยู่ในความควบคุมของเครือข่ายกองกำลังที่เป็นของ กอรี เซียอูร์ เราะห์มาน (Qari Ziaur Rahman) หัวหน้านักรบตอลิบานผู้มีสายสัมพันธ์อันแนบแน่นกับบินลาดิน เช่นนี้จึงทำให้นูริสถานกลายเป็นจังหวัดแรกของอัฟกานิสถานซึ่งถูกควบคุมโดยเครือข่ายกองกำลังที่ได้รับแรงบันดาลใจจากอัลกออิดะห์
ในการพูดคุยสอบถามกันทางโทรศัพท์เมื่อวันพุธ(28) สมาชิกพวกหัวรุนแรงคนหนึ่งที่โยงใยกับ เซียอูร์ เราะห์มานบอกว่า เวลานี้พวกเขาสามารถควบคุมนูริสถานเอาไว้ได้ และกำลังพวกหัวรุนแรงก็ “กำลังเดินทางมุ่งหน้าสู่ โมห์มันด์ (Mohmand) และ บาจาอูร์ (Bajaur) เพื่อช่วยเหลือเพื่อนนักรบตอลิบานของพวกเขาในการสู้กับกับกองทหารปากีสถาน” ทั้งนี้ โมห์มันด์ และ บาจารอูร์ คือ เขตชนเผ่า (agency) 2 เขตที่อยู่ติดกับนูริสถานแต่อยู่ทางอีกข้างหนึ่งของเส้นพรมแดน
เซียอูร์ เราะห์มานนั้นไม่ได้เป็นบุตรชายของหัวหน้านักรบมุญะฮีดีนชื่อดังระดับตำนาน หากแต่บิดาของเขาเป็นนักการศาสนาที่มีชื่อว่า มาวลานา ดิลบาร์ (Maulana Dilbar) สายสัมพันธ์ของเขาไม่ได้โยงใยอยู่กับกลุ่มต่างๆ ในปากีสถาน หากเชื่อมตรงไปที่บินลาดิน โดยที่เขาเคยได้รับการสอนสั่งบทเรียนต่างๆ เกี่ยวกับชีวิตของศาสดามุฮัมมัด
เซียอูร์ที่บัดนี้อายุ 30 ต้นๆ เติบโตขึ้นมาในค่ายของพวกหัวรุนแรงชาวอาหรับ โดยได้รับการปลูกฝังให้มีความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะต่อสู้กับพวกอเมริกัน –ไม่เพียงในอัฟกานิสถานเท่านั้น แต่ตลอดทั่วทั้งโลกทีเดียว เขาไม่ได้ก้าวขึ้นเป็นหัวหน้านักรบสืบเนื่องจากสิทธิทางชาติกำเนิดใดๆ ก่อนอื่นเลยเขาต้องพิสูจน์ตนเองในสมรภูมิ ซึ่งเขาก็ทำเช่นนั้นในการต่อสู้กับทหารสหรัฐฯในจังหวัดคูนาร์ (Kunar) และนูริสถาน เขาเป็นคนแรกที่เปิดปฏิบัติการต่อสู้กับทหารอเมริกันในเขตคาร์กัล (Karghal ) ของจังหวัดคูนาร์ และเขาก็เป็นผู้วางแผนการสู้รบเผชิญหน้ากับฝ่ายอเมริกันในนูริสถานหลายต่อหลายครั้ง (ดูเรื่อง A fighter and a financier ใน Asia Times Online, May 23, 2008.)
พื้นที่ที่เป็นเขตเขาของนูริสถาน (รวมไปถึงจังหวัดคูนาร์ที่อยู่ติดกัน ตลอดจนพื้นที่ชนเผ่าเขตโมห์มันด์ และเขตบาจาอูร์ในปากีสถาน) คือดินแดนเขาวงกตตามธรรมชาติโดยแท้ จึงเป็นพื้นที่อุดมคติสำหรับพวกผู้ก่อความไม่สงบที่จะใช้เป็นที่พักพิงหลบภัย นอกจากนั้น ประชาชนส่วนข้างมากในนูริสถานยังยึดมั่นอยู่กับสำนักคิดซาลาฟี (Salafi) อันเข้มงวดของศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่ ผลก็คือ พวกนักรบอาหรับซึ่งแทบทั้งหมดต่างก็นับถือแนวคิดซาลาฟีเช่นกัน จึงมักถูกดึงดูดให้เข้าสู่ดินแดนแถบนี้ ระหว่างสงครามญิฮัดต่อต้านพวกโซเวียตในทศวรรษ 1980 ได้มีการก่อตั้ง “ราชอาณาจักร” ปกครองตนเองตามแบบสำนักคิดซาลาฟีในทางเป็นจริงขึ้นที่นี่ด้วยซ้ำ ด้วยความช่วยเหลือสนับสนุนจากคูเวตและซาอุดีอาระเบีย ทว่าในเวลาต่อมา “ราชอาณาจักร”แห่งนี้ได้ถูกพวกตอลิบานกำจัดไป
ระยะไม่กี่ปีหลังมานี้ มีผู้พบเห็นพวกผู้นำระดับสูงของอัลกออิดะห์หลายต่อหลายคนในบริเวณแถบนี้ เป็นต้นว่า นายแพทย์ อัยมาน อัล-ซอวาฮิรี (Dr Ayman al-Zawahiri) รองหัวหน้าอัลกออิดะห์ ผู้ซึ่งสามารถหลบหนีจากการเข้าโจมตีด้วยขีปนาวุธของเครื่องบินไร้นักบิน (drone) รุ่นเพรเดเตอร์ (Predator) ของสหรัฐฯหลายต่อหลายครั้ง ย้อนไปในอดีตไกลกว่านั้น ระหว่างการรุกรานของโซเวียต นูริสถานเป็นหนึ่งในพื้นที่ไม่กี่แห่งของอัฟกานิสถานที่ยังไม่เคยตกอยู่ใต้การยึดครองของผู้รุกรานต่างชาติรายนี้เลย ครั้นมาถึงการรุกรานที่นำโดยสหรัฐฯในปี 2001 จังหวัดแห่งนี้พร้อมด้วยจังหวัดคูร์นา ก็มีฐานะเป็นจุดเดือดพล่านเต็มไปด้วยกิจกรรมก่อความไม่สงบมาโดยตลอด
การที่ตอลิบานสามารถเข้าควบคุมนูริสถานได้เช่นนี้ บังเกิดขึ้นในขณะที่กองทัพปากีสถานเปิดยุทธการใหญ่ในเขตเซาท์ วาซิริสถาน (South Waziristan) อันเป็นพื้นที่ชาวชนเผ่าที่อยู่ติดพรมแดนอัฟกานิสถาน (แต่อยู่ทางใต้ลงมาอีกไกลทีเดียวจากแถบนูริสถาน-คูร์นา-โมห์มันด์-บาจาอูร์ ผู้แปล) เพื่อปราบปรามกลุ่มตอลิบานส่วนที่เป็นชาวปากีสถาน (เตห์ริก-อี-ตอลิบาน ปากีสถาน Tehrik-e-Taliban Pakistan) ที่หนุนหลังโดยอัลกออิดะห์ ยุทธการดังกล่าวนี้ดำเนินมาได้ 2 สัปดาห์แล้ว และสมาชิกพวกหัวรุนแรงที่พูดคุยกับเอเชียไทมส์ออนไลน์ทางโทรศัพท์ระบุว่า ช่วงเวลานี้นับเป็นโอกาสที่จะสามารถเปิดแนวรบใหม่อีกแนวหนึ่ง โดยที่กองกำลังของเราะห์มานจะสู้รบอยู่ทางฝั่งอัฟกัน ส่วนกำลังของ โมลวี ฟากีร์ โมฮัมหมัด (Moulvi Faqir Mohammad) ก็ต่อสู้อยู่ทางฝั่งบาจาอูร์ และโมห์มันด์
พื้นที่แถบนี้ยังเป็นที่พักพิงของพวกหัวรุนแรงพลัดถิ่นจากหุบเขาสวัต (Swat Valley) ของปากีสถาน ซึ่งต้องถอนตัวจากหุบเขาดังกล่าวเมื่อไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ ภายหลังกองทัพเปิดการรุกใหญ่ เชื่อกันว่าพวกหัวรุนแรงพลัดถิ่นเหล่านี้กำลังรวมตัวจัดกำลังกันใหม่ และเตรียมตัวกลับไปเปิดปฏิบัติการในสวัตอีก ทันทีที่หิมะฤดูหนาวตกลงมาปิดกั้นเส้นทาง จนทำให้การลำเลียงยุทธสัมภาระของฝ่ายทหารเป็นไปด้วยความยากลำบาก
พัฒนาการล่าสุดที่เกิดขึ้นในนูริสถานต้องถือว่าเป็นสถานการณ์ที่เกิดการพลิกกลับอย่างน่าตื่นใจ เมื่อปลายปี 2008 กองกำลังพันธมิตรในอัฟกานิสถาน ซึ่งมีกองทหารปากีสถานคอยร่วมมือประสานงาน ได้เปิด “ยุทธการหัวใจสิงห์” (Operation Lion Heart) แนวความคิดก็คือทำให้พวกหัวรุนแรงถูกบีบเค้นอย่างหนัก โดยที่กองกำลังพันธมิตรในคูนาร์และนูริสถานเปิดฉากรุกจากทางด้านหนึ่ง และกองทหารปากีสถานในโมห์มันด์ และ บาจาอูร์ ก็กดดันเข้ามาจากอีกด้านหนึ่ง หลังจากนั้นอีกหลายเดือน กองทัพของทั้งสองฝ่ายก็ประกาศว่า พวกเขาประสบความสำเร็จในการกวาดล้างที่มั่นต่างๆ ของพวกผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ดังกล่าว มาถึงเวลานี้ย่อมเห็นกันได้ชัดเจนทีเดียวว่า นั่นเป็นการประกาศโอ้อวดเกินควาเมป็นจริง
ยุทธการหัวใจสิงห์ถูกจัดวางออกมา ภายหลังมีรายงานข่าวกรองทั้งจากฝ่ายสหรัฐฯและฝ่ายปากีสถานว่า พวกตอลิบานที่ตั้งฐานอยู่ในโมห์มันด์ และบาจาอูร์ และในนูริสถาน และคูนาร์ คือพวกที่ป้อนกองกำลังให้แก่เครือข่ายที่ปฏิบัติการคืบหน้าเข้าสู่หุบเขาตอกับ (Taghab Valley) ในจังหวัดคาปิซา (Kapisa) ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากเมืองหลวงคาบูลไปทางเหนือแค่นิดเดียว จากที่นี่ พวกตอลิบานจึงสามารถที่จะส่งหน่วยฆ่าตัวตายเข้าโจมตีในเขตกรุงคาบูลหลายต่อหลายครั้ง
การถอนตัวออกจากนูริสถานของสหรัฐฯ ถ้าหากกลายเป็นเรื่องถาวรแล้ว ก็จะเป็นการหนุนส่งพวกตอลิบานในทั่วทั้งภูมิภาคแถบนี้อย่างชนิดไม่เคยปรากฏมาก่อน ในระยะเฉพาะหน้าเลย พวกเขาจะมีที่มั่นซึ่งดีขึ้นมากในการดำเนินการก่อกวนการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบสองในเดือนหน้า ที่จะเป็นการแข่งขันกันระหว่าง ฮามิด คาร์ไซ ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน กับผู้ท้าชิง อับดุลเลาะห์ อับดุลเลาะห์ พวกตอลิบานนั้นได้ออกคำเรียกร้องให้ประชาชนคว่ำบาตรการเลือกตั้งคราวนี้ไปแล้ว
เหตุการณ์ต่อไปข้างหน้าจะเป็นอย่างไร น่าจะเห็นเป็นตัวอย่างได้จากการโจมตีของพวกตอลิบานในวันพุธ(28) ที่มุ่งเล่นงานอาคารที่พักแห่งหนึ่งในกรุงคาบูล ซึ่งได้สังหารผู้คนไปอย่างน้อย 12 คน ในจำนวนนี้เป็นลูกจ้างพนักงานขององค์การสหประชาชาติ 6 คน, เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย 2 คน, และพลเรือนอีกคนหนึ่ง ทั้งนี้ตามรายงานของตำรวจและพวกเจ้าหน้าที่ยูเอ็น ตำรวจคาบูลบอกว่า ผู้ก่อเหตุ 3 คนซึ่งสวมสายคาดแบบมือระเบิดฆ่าตัวตายกันทุกคนนั้น ก็เสียชีวิตทั้งหมดเช่นกัน
ไซเอด ซาลีม ชาห์ซาด เป็น หัวหน้าสำนักงานปากีสถานของเอเชียไทมส์ออนไลน์ สามารถติดต่อกับเขาได้ที่ saleem_shahzad2002@yahoo.com