xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำ “ตอลิบาน”ปากีสถานตายจริงหรือเปล่า

เผยแพร่:   โดย: ไซเอด ซาลีม ชาห์ซาด

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Guessing games over Taliban leader
By Syed Saleem Shahzad
10/08/2009

ผู้นำของพวกตอลิบานในปากีสถาน ไบตุลเลาะห์ เมห์ซูด กำลังตกเป็นข่าวร่ำลือกันไปหลายอย่างหลายประการ มีทั้ง “เสียชีวิตและถูกฝังไปแล้ว”, “บาดเจ็บสาหัสใกล้จะตาย”, และ “ยังมีชีวิตอยู่และสบายดี” ทั้งนี้ภายหลังเกิดเหตุเครื่องบินแบบไร้นักบินของสหรัฐฯ ถูกส่งมายิงขีปนาวุธถล่มพื้นที่ของเขาในเขตเซาท์วาซิริสถานเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ทั้งหมดอาจจะเป็นเพียงการที่เขากำลังพยายามหลบหลีกซ่อนตัว เพื่อมุ่งบรรเทาลดทอนความระอุดุเดือดของทางการกรุงอิสลามาบัด ในการเข้าปราบปรามกวาดล้างพวกอิสลามิสต์หัวรุนแรงเท่านั้นก็ได้ โดยที่ทั้งอัลกออิดะห์และตอลิบานต่างก็เคยใช้ยุทธวิธีเช่นนี้กันมาก่อนแล้วทั้งนั้น

อิสลามาบัด – ไบตุลเลาะห์ เมห์ซูด (Baitullah Mehsud)หัวหน้ากลุ่ม เตห์ริก-ไอ-ตอลิบาน ปากีสถาน (Tehrik-i-Taliban Pakistan หรือ TTP) ถูกสังหารเสียชีวิตไปหรือเปล่า จากการที่เครื่องบินไร้นักบิน (drone) แบบเพรเดเตอร์ (Predator) ของสหรัฐฯเข้าถล่มโจมตีพื้นที่ของชาวชนเผ่าในเขตเซาท์วาซิริสถาน (South Waziristan) เมื่อวันพุธที่แล้ว(5) ความสับสนคลุมเครือของเรื่องนี้ที่ยังคงดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง มีความคล้ายคลึงเป็นอันมากกับหลายๆ เหตุการณ์ก่อนหน้านี้ ซึ่งพวกอัลกออิดะห์ และพวกตอลิบานได้สร้างเรื่องการเสียชีวิตหลอกๆ ของผู้นำของพวกตนขึ้นมา เพื่อซื้อเวลาให้ได้หยุดพักหรือบรรเทาแรงกดดันอันหนักหน่วงลงบ้าง

ไบตุลเลาะห์เป็นบุคคลที่ถูกตั้งค่าหัวเอาไว้ 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากการที่เขาเกี่ยวพันกับพฤติการณ์ก่อการร้ายเป็นจำนวนมาก เวลานี้มีข่าวร่ำลือเกี่ยวกับชะตากรรมของเขากันหลายหลาก มีทั้ง “เสียชีวิตและถูกฝังไปแล้ว”, “บาดเจ็บสาหัสใกล้จะตาย”, และ “ยังมีชีวิตอยู่และสบายดี” ภายหลังการโจมตีของเครื่องบินไร้คนขับเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ซึ่งเป็นที่ยืนยันกันว่าได้ทำให้ภรรยาคนที่สองของเขา และพวกหัวรุนแรงอีกสิบกว่าคนเสียชีวิต

ฮากิมุลเลาะห์ เมห์ซูด (Hakimullah Mehsud) ผู้ได้รับการจับตามองกันว่ามีโอกาสที่จะเป็นทายาทของไบตุลเลาะห์นั้น ก็ตกเป็นข่าวร่ำลือเหมือนกันว่าถูกฆ่าตายเสียแล้วในการยิงต่อสู้กับผู้นำอีกคนหนึ่ง และก็เช่นเดียวกัน เรื่องนี้ยังไม่ได้มีข้อพิสูจน์อันแจ่มแจ้งชัดเจน

เมื่อปี 2005 อับดุลเลาะห์ เมห์ซูด (Abdullah Mehsud) หัวหน้านักรบตอลิบานของเขตเซาท์วาซิริสถาน ได้กระทำความผิดพลาดร้ายแรงอย่างไม่ได้ตั้งใจ จนเป็นชนวนเหตุให้ฝ่ายทหารปากีสถานเปิดยุทธการปราบปรามครั้งใหญ่ ซึ่งเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่ออัลกออิดะห์และตอลิบาน โดยที่เวลานั้นอัลกออิดะห์และตอลิบานก็อยู่ในช่วงระยะของการพยายามรวมกลุ่มกันใหม่ จึงยังอ่อนกำลังอยู่มาก

ทั้งนี้ อับดุลเลาะห์ เมห์ซูด ได้ลักพาตัวนายช่างชาวจีน 2 คนที่กำลังช่วยงานก่อสร้างเขื่อนโกมัล ซาม (Gomal Zam) ในแคว้นพรมแดนตะวันตกเฉียงเหนือ (North-West Frontier Province หรือ NWFP) ของปากีสถาน จากนั้นในระหว่างที่ทางการพยายามเข้าไปช่วยเหลือ ก็ปรากฏว่าตัวประกันคนหนึ่งถูกฆ่าตาย

พวกอัลกออิดะห์ที่เป็นผู้อุปถัมภ์อับดุลเลาะห์ เมห์ซูด ตลอดจนหัวหน้าระดับท็อปบางรายของกลุ่มหัวรุนแรงปากีสถาน ต่างตระหนักถึงอันตรายร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ดังกล่าว เพราะเมื่อพิจารณาถึงมิตรภาพอันแนบแน่นระหว่างปากีสถานกับจีนแล้ว พวกเขาต่างตระหนักดีว่าทางการกรุงอิสลามาบัดจะต้องส่งกองทัพเข้าสู่พื้นที่ชนเผ่าที่เกิดเรื่องนี้ขึ้นมา

พวกเขาจึงรีบตกลงกันว่า อับดุลเลาะห์ เมห์ซูด ซึ่งได้รับบาดเจ็บอยู่แล้วเมื่อตอนที่พวกกองกำลังทหารตำรวจพยายามเข้าไปช่วยนายช่างทั้งสอง จะต้องถูกป่าวประกาศต่อภายนอกว่าสิ้นชีวิตแล้ว โดยที่บรรดาสหายของเขาต่างออกคำแถลงแจ้งไปยังสื่อมวลชนว่า ศพของอับดุลเลาะห์ เมห์ซูดถูกฝังอยู่ในพื้นที่ชาวัล (Shawal) ในเขตนอร์ทวาซิริสถาน(North Waziristan)

เขาเก็บเนื้อเก็บตัวอยู่เป็นเวลาหลายเดือนทีเดียว และทางกองทัพก็ไม่ได้เคลื่อนกำลังเข้าไปในพื้นที่ชาวชนเผ่า หลังจากนั้น อับดุลเลาะห์ เมห์ซูดจึงออกมาเคลื่อนไหวดำเนินกิจกรรมของเขาต่อไป จวบจนกระทั่งเขาฆ่าตัวตายในปีที่แล้วภายหลังถูกกองกำลังทหารตำรวจล้อมเอาไว้ในแคว้นบาโลชิสถาน (Balochistan)

สำหรับในขณะนี้ กองทัพซึ่งได้ทำการสู้รบปราบปรามและฟื้นฟูความสงบในเขตสวัต (Swat) ของแคว้นพรมแดนตะวันตกเฉียงเหนืออยู่เป็นเวลา 10 สัปดาห์แล้ว ก็ตั้งท่าจะเคลื่อนกำลังเข้าไปในพื้นที่ชาวชนเผ่าในเซาท์วาซิริสถานของ ไบตุลเลาะห์ เมห์ซูด ตรงบริเวณพรมแดนติดต่อกับอัฟกานิสถาน ทั้งนี้นอกเหนือจากไบตุลเลาะห์มีความเคลื่อนไหวต่างๆ ที่เป็นการสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐปากีสถานแล้ว เขายังเป็นตัวหลักในการส่งพวกนักรบเข้าไปยังภาคตะวันตกเฉียงใต้ของอัฟกานิสถาน เพื่อสนับสนุนการก่อความไม่สงบที่นำโดยพวกตอลิบานในประเทศนั้น

กลุ่มทีทีพีของไบตุลเลาะห์ ซึ่งตั้งแต่ช่วงสิ้นเดือนธันวาคม 2007 สามารถรวบรวมกลุ่มตอลิบานต่างๆ เข้ามาร่วมมือกันได้จำนวนหนึ่ง เวลานี้ประมาณกันว่ามีกำลังนักรบ 5,000 คน กองกำลังนี้นับว่าน่าเกรงขามทีเดียว ทว่ายังไม่เคยออกมาสู้รบแบบประจันหน้าตรงๆ กับกองทัพปากีสถาน

พวกหัวรุนแรงเหล่านี้ยังคงต่อสู้กับฝ่ายทหารด้วยยุทธวิธีเข้าโจมตีแล้วล่าถอย ในการสู้รบที่เสมือนกับการเล่นซ่อนหาอันละเอียดอ่อน ตรงบริเวณพื้นที่จุดบรรจบระหว่างเซาท์วาซิริสถานและนอร์ทวาซิริสถาน ซึ่งถือเป็นบริเวณที่มีสภาพภูมิประเทศยากลำบากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และก็เป็นบริเวณซึ่งพวกผู้นำอัลกออิดะห์และกลุ่มหัวรุนแรงปากีสถานพำนักอาศัยกันอยู่

ในเวลาเดียวกัน พวกเขาก็คอยเข้าโจมตีส่วนที่เป็นจุดอ่อนเปราะของรัฐปากีสถาน ซึ่งก็คือตามตัวเมืองใหญ่ๆ สภาพเช่นนี้เองทำให้มีการเจรจาทำข้อตกลงสันติภาพในบริเวณพื้นที่ชนเผ่าเหล่านี้กันหลายต่อหลายครั้ง แล้วก็มักจะถูกฉีกทิ้งไปเมื่อสหรัฐฯเพิ่มแรงกดดันต่อทางการอิสลามาบัดให้ต้องปราบปรามกวาดล้างพวกหัวรุนแรง วงจรเช่นนี้ดำเนินวนเวียนกันมาหลายๆ ปีทีเดียว

ครั้นแล้วสหรัฐฯก็นำเอาเครื่องบินแบบไร้นักบินเข้ามา เป็นเครื่องมืออุปกรณ์ที่มีสมรรถนะในการยิงขีปนาวุธสังหารจากจุดสูงบนท้องฟ้าเข้าใส่เป้าหมายได้อย่างแม่นยำเหมือนจับวาง เครื่องบินไร้นักบินสามารถสังหารพวกหัวรุนแรงไปได้หลายสิบคน รวมทั้งสมาชิกอัลกออิดะห์ระดับสูงจำนวนหนึ่งด้วย

อาวุธร้ายเช่นนี้บังคับให้ไบตุลเลาะห์และพวกผู้นำคนอื่นๆ ต้องยิ่งเก็บเนื้อเก็บตัวมากขึ้นอีก ในเวลาเดียวกันนั้นเอง พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของปากีสถานก็ได้พยายามที่จะหันไปเกลี้ยกล่อมพวกหัวหน้านักรบตอลิบานระดับล่างๆ ลงมาให้กลับมาต่อต้านไบตุลเลาะห์ และดูเหมือนจะประสบความสำเร็จอยู่บ้าง กระทั่งตัวไบตุลเลาะห์เองซึ่งมีรายงานว่ากำลังเจ็บป่วยด้วยโรคเบาหวาน ก็ได้พยายามที่จะทำข้อตกลงกับกองกำลังทหารตำรวจอยู่เหมือนกันในระยะไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

เขาได้เขียนจดหมายหลายฉบับไปถึงผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.อัชฟัค เปอร์เวซ คิอานี (Ashfaq Pervez Kiani) ทว่าผู้นำสารของเขา ซึ่งได้แก่ ชาห์ อับดุล อาซิซ (Shah Abdul Aziz) อดีตสมาชิกรัฐสภาปากีสถาน กลับถูกจับกุมและข้อเสนอของไบตุลเลาะห์ก็ถูกบอกปัด อันที่จริง พวกหัวหน้านักรบที่มีความใกล้ชิดกันกับเขา อย่างเช่น อิลยาส กัศมีริ (Ilyas Kashmiri) และ อับดุล จับบาร์ (Abdul Jabbar) นักรบญิฮัดประสบการณ์สูงจากการต่อสู้ในแคว้นแคชเมียร์ ก็สามารถบอกเล่าสิ่งต่างๆ ให้ไบตุลเลาะห์ได้รับฟังอย่างมากมายทีเดียว

ความเป็นจริงที่สำคัญมากๆ ก็คือ ฝ่ายทางการประทับตราว่า ไบตุลเลาะห์ เป็นสปายสายลับให้แก่สหรัฐฯและแก่อังกฤษ แน่นอนทีเดียวเรื่องนี้เท่ากับถือว่าเขาเป็นศัตรูของรัฐปากีสถานนั่นเอง แต่นอกจากนั้น ไบตุลเลาะห์ยังถูกขนานนามว่าเป็นสายลับให้แก่ หน่วยบัญชาการวิจัยและวิเคราะห์ (Research and Analysis Wing) ของอินเดีย ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านข่าวกรองชั้นนำของแดนภารตะ

ดังนั้น ข้อความที่ถูกส่งออกมาจากทางการปากีสถานก็คือ ไบตุลเลาะห์จะไม่ได้รับการยกเว้นผ่อนปรนใดๆ ทั้งสิ้น และคำสั่งให้กำจัดเขาก็ออกมาแล้วด้วย

ในสถานการณ์เช่นนี้เอง บวกกับการที่เครื่องบินไร้นักบินกำลังบินหึ่งๆ อยู่รอบๆ และกองทัพก็เกือบจะเคลื่อนกำลังออกมาเล่นงานเขาอยู่แล้ว ไบตุลเลาะห์จึงอาจตัดสินใจหาทางลดทอนบรรเทาแรงกดดันร้อนแรงที่รุมเร้า ด้วยการทำตัวให้หายหน้าหายตาไป คล้ายๆ กับที่อับดุลเลาะห์ เมห์ซูด เคยกระทำมาก่อน

พวกอัลกออิดะห์ก็เคยใช้ยุทธวิธีเช่นนี้เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ให้แก่ อุซามะห์ บินลาดิน มาแล้วเหมือนกัน เมื่อตอนที่สหรัฐฯลงทุนทุ่มเทอย่างหนักจริงๆ ในพื้นที่รอบๆ ปากีสถานและอัฟกานิสถานเพื่อจับตัวเขาให้ได้ ภายหลังบินลาดินหลบหนีออกจากอัฟกานิสถานในปลายปี 2001 เมื่อถึงช่วงปี 2005 ทหารหน่วยรบพิเศษหลายกลุ่มทีเดียวออกปฏิบัติการเข้าเฉียดใกล้เส้นทางของเขาเป็นอย่างมาก ในจุดนี้เอง บินลาดินก็หายวับไปจากแผนที่ เหลือทิ้งเอาไว้เพียงร่องรอยและข่าวลือให้คาดเดากันว่าเขายังมีชีวิตอยู่หรือตายไปแล้ว

ยังมีอีกตัวอย่างหนึ่ง คราวนี้เป็น ราชิด ราอุฟ (Rashid Rauf) ผู้มี 2 สัญชาติทั้งอังกฤษและปากีสถาน เขาถูกจับกุมในปากีสถานด้วยข้อหาพัวพันกับแผนโจมเครื่องบินระหว่างบินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกในเดือนสิงหาคม 2006 เขาหลบหนีได้และไปอยู่ที่เขตนอร์ทวาซิริสถาน ทางการลอนดอนโกรธกริ้วมากและจัดแจงบีบคั้นอิสลามาบัด ซึ่งก็ได้สนองตอบด้วยการกวาดจับสมาชิกในครอบครัวของราอุฟ ตลอดจนเพื่อนนักรบญิฮัดของเขารวมเป็นจำนวนหลายสิบคน ในเดือนพฤศจิกายน 2008 มีข่าวรั่วไหลออกมาว่าเขาถูกสังหารจากการโจมตีของเครื่องบินแบบไร้นักบิน จากนั้นแรงกดดันต่างๆ ก็บรรเทาลงไป ถึงแม้เอเชียไทมส์ออนไลน์ทราบมาว่า ราอุฟยังคงมีชีวิตอยู่เป็นอันดีในเขตนอร์ทวาซิริสถาน

ไบตุลเลาะห์ก็เช่นกัน อาจจะยังมีชีวิตอยู่เป็นอันดี แต่ตัดสินใจเก็บเนื้อเก็บตัวไปสักพักหนึ่ง ถ้าหากว่าความจริงเป็นเช่นนี้แล้ว (ในขั้นนี้ยังไม่มีหลักฐานใดๆ ยืนยันว่าเรื่องราวเป็นเช่นนี้จริงๆ) ก็เท่ากับเขากำลังเล่นพนันด้วยเดิมพันที่สูงพอใช้ได้ทีเดียว

เขาเป็นคนที่มีบารมีสูงและโหดเหี้ยม จากแรงขับดันและความมุ่งมั่นของเขานั่นเองที่ทำให้กลุ่มทีทีพี กลายเป็นหนามแหลมคมอันใหญ่เบิ้มที่คอยทิ่มตำอยู่ตรงด้านข้างของรัฐปากีสถาน ขณะเดียวกับที่คอยให้ความสนับสนุนอันประเมินค่ามิได้แก่การต่อสู้ของพวกตอลิบานในอัฟกานิสถาน

เครือข่ายอันสำคัญยิ่งนี้ของเขาอาจจะเริ่มเกิดการแยกตัว ทั้งนี้มีรายงานว่าในพื้นที่แถบ แทงก์ (Tank) และ เดรา อิสมาอิล ข่าน (Dera Ismail Khan) พวกเผ่าภิตินี (Bhitini) ที่เป็นศัตรูคู่แข่งกับพวกเมห์ซูด ก็กำลังพุ่งเป้าเล่นงานชาวเผ่าเมห์ซูดกันแล้ว โดยได้สังหารพวกเขาไปสิบกว่าคนในระยะเวลาไม่กี่วันที่ผ่านมา

แต่ในอีกด้านหนึ่ง การหายตัวไปของเขาก็จะกลายเป็นการลดทอนความมุ่งมั่นของทางการอิสลามาบัดในการปราบปรามกวาดล้างพวกหัวรุนแรงไปด้วย ดังที่กระทรวงมหาดไทยปากีสถานได้ออกมาประกาศแล้วด้วยซ้ำว่า การต่อสู้คราวนี้ “จบ”ลงแล้ว ทางฝ่ายทหารก็จะมีเหตุผลดีๆ ที่จะชะลอการเข้าโจมตีทางภาคพื้นดินในเซาท์วาซิริสถานออกไปอีก โดยที่กองทัพไม่ค่อยเต็มใจที่จะดำเนินการเรื่องนี้อยู่แล้ว เนื่องจากมันจะเป็นยุทธการที่ยากลำบากสุดๆ และไม่เป็นที่นิยมชมชื่นอย่างยิ่งของผู้คนภายในปากีสถานเอง

ไบตุลเลาะห์อาจจะตายไปแล้วจริงๆ ก็ได้ อย่างไรก็ตาม กระทั่งว่าเขาเพียงแค่เก็บเนื้อเก็บตัว มันก็อาจก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงกันทีเดียว

ไซเอด ซาลีม ชาห์ซาด เป็นหัวหน้าสำนักงานปากีสถานของเอเชียไทมส์ออนไลน์ สามารถที่จะติดต่อกับเขาได้ทางอีเมล์ saleem_sharzad2002@yahoo.com
กำลังโหลดความคิดเห็น