xs
xsm
sm
md
lg

คำสารภาพของนักรบญิฮัด‘มุมไบ’ส่งผลสะเทือนทั้งอินเดีย-ปากีสถาน

เผยแพร่:   โดย: นีตา ลัล

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Jihadi confession rocks India, Pakistan
By Neeta Lal
21/07/2009

การตัดสินใจสารภาพผิดของนักโทษหัวรุนแรงชาวปากีสถานผู้หนึ่ง ในเรื่องบทบาทของเขาในเหตุการณ์โจมตีแบบก่อการร้ายอย่างสยดสยองยิ่ง ที่นครมุมไบของอินเดียเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่แล้ว ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้เคยยืนกรานมาตลอด 65 วันของการพิจารณาคดีในศาลว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ กำลังทำให้เกิดผลต่อเนื่องตามมาอันน่าตื่นตะลึง โมฮัมหมัด อัจมัล อามีร์ “คาซับ” ไม่เพียงแต่เปิดเผยรายละเอียดอันชุ่มเลือดของการอาละวาดที่กระทำโดยมือปืน 10 คนเท่านั้น แต่ยังเท่ากับเขาสร้างโอกาสให้แก่กรุงนิวเดลีและกรุงอิสลามาบัด ในการกลับคืนสู่การเจรจาสันติภาพที่ต้องหยุดชะงักไปอย่างหมดรูปจากเหตุการณ์สยองครั้งนั้นนั่นเอง

นิวเดลี – เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ฮิลลารี คลินตัน ผู้กำลังเยือนอินเดีย ได้กล่าวแสดงความชื่นชมต่อ “ความจริงใจ” ในนโยบายด้านต่อต้านการก่อการร้ายของกรุงอิสลามาบัด ชาวปากีสถานผู้หนึ่งก็ได้ให้การรับสารภาพผิดอันชวนให้ตื่นตระหนก เรื่องที่เขาได้เข้าร่วมการโจมตีแบบก่อการร้ายครั้งที่สยดสยองเลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งซึ่งเคยเกิดขึ้นในอินเดีย นั่นคือเหตุการณ์ในเมืองมุมไบ(บอมเบย์)เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว

โมฮัมหมัด อาจิมัล อามีร์ “คาซับ” (Mohammad Ajimal Amir “Kasab”) เป็นมือปืนที่รอดชีวิตอยู่เพียงคนเดียวในกลุ่ม 10 มือปืนซึ่งสังหารผู้คนไป 166 คนระหว่างการอาละวาดไปทั่วเมืองมุมไบเป็นเวลา 3 วัน ก่อนหน้านี้เขาให้การยืนยันว่าไม่ได้กระทำความผิดอะไร ตลอดเวลา 65 วันแห่งการพิจารณาคดีซึ่งเขาถูกตั้งข้อหาอุกฉกรรจ์ต่างๆ เป็นต้นว่า ฆาตกรรม และทำสงครามต่อต้านอินเดีย แต่เมื่อวันจันทร์(20) เขาก็กลับคำให้การด้วยการเปล่งคำพูดว่า “มุจเฮ กุนฮา คาบูล ไฮ” (Mujhe gunha kabool hai) ซึ่งแปลว่า “ผมยอมรับว่ากระทำความผิด” จำเลยวัย 21 ปีผู้นี้กล่าวในห้องพิจารณาคดีที่ทุกคนต่างตะลึงงันว่า “ผมต้องการสารภาพ”

เหตุการณ์โจมตีที่มุมไบ ซึ่งตั้งแต่ตอนแรกๆ แล้วอินเดียได้ประณามว่าเป็นฝีมือของชาวปากีสถานนั้น ได้สร้างความตึงเครียดอย่างร้ายแรงให้แก่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงต้นๆ เมื่อกรุงอิสลามาบัดปฏิเสธไม่ยอมรับเลยว่าปากีสถานมีความเกี่ยวข้องใดๆ ด้วย กรุงนิวเดลีจึงประกาศระงับการเจรจาสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนั้น การเจรจาสันติภาพระหว่างอินเดีย-ปากีสถาน 2 ประเทศเพื่อนบ้านนี้ที่ต่างฝ่ายต่างมีอาวุธนิวเคลียร์ และก็มีความไม่พอใจกันและกันมากมาย

อย่างไรก็ดี เมื่อสัปดาห์ที่แล้วรัฐบาลปากีสถานได้ส่งมอบเอกสารจำนวนหนึ่งให้แก่อินเดีย ที่เป็นการประมวลหลักฐานเกี่ยวกับบทบาทในการโจมตีคราวนั้นของกลุ่ม ลัชคาร์-อี-ไตบา (Lashkar-e-Taiba) อันเป็นกลุ่มหัวรุนแรงที่ถูกสั่งยุบเลิกไปแล้ว โดยที่ในเอกสารเหล่านี้มีการระบุชื่อว่า คาซับ คือผู้มีส่วนร่วมด้วยคนหนึ่ง

คาซับกล่าวในวันจันทร์ว่า เขาตัดสินใจที่จะเปลี่ยนคำให้การ (ซึ่งแม้กระทั่งทีมทนายความของเขาก็ยังไม่ทราบมาก่อนว่าเขากำลังจะทำเช่นนั้น) สืบเนื่องจากการส่งมอบเอกสารดังกล่าวนี้ “โปรดรับคำสารภาพของผมด้วย ช่วยปิดคดีแล้วก็ตัดสินลงโทษผมเถิด” เขากล่าว ในอากัปกริยาอันแสดงอย่างชัดเจนว่าเขารู้สึกว่าเขาถูกประเทศของเขาเองทรยศ

แต่การหักมุมอันแปลกประหลาดของคดีนี้ แน่นอนทีเดียวว่าจะช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดระหว่างนิวเดลีกับอิสลามาบัด ฝ่ายแรกนั้นย่อมจะรู้สึกว่าตนเองเป็นฝ่ายถูกต้องในการชี้นิ้วกล่าวโทษคนปากีสถานตั้งแต่ตอนแรกๆ ขณะที่ฝ่ายหลังก็สามารถใช้การให้ความร่วมมือในครั้งนี้ของตนมาเป็นตัวอย่างแสดงถึงสิ่งที่คลินตันเรียกว่า “คำมั่นสัญญาที่จะต่อสู้กับการก่อการร้ายที่ซึมซ่านไปทั่วคณะรัฐบาลทั้งคณะ” ของปากีสถาน

ผู้พิพากษา เอ็ม แอล ตาฮิลยานี (M L Tahiyani) ต้องสั่งหยุดพักการพิจารณาคดี เพื่อให้เวลาฝ่ายอัยการในการศึกษาคำรับสารภาพของจำเลย ทั้งนี้ข้อกล่าวหาต่อ “คาซับ” หลายๆ ข้อหาทีเดียวมีระวางโทษถึงขั้นประหารชีวิต

ภายหลังการรับสารภาพ คาซับก็ได้เล่าเรื่องราวอันชวนขนลุก เกี่ยวกับบทบาทของเขาในการโจมตีครั้งนั้น ซึ่งเป้าหมายทั้งหมดมีทั้งโรงแรมระดับเลิศหรู 2 แห่ง, ศูนย์ของชาวยิวแห่งหนึ่ง, ภัตตาคารซึ่งเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวแห่งหนึ่ง, โรงพยาบาลอีกแห่งหนึ่ง, และสถานีรถไฟแห่งหลักของมุมไบ โดยคนร้ายเหล่านี้มีอาวุธทั้งปืนอัตโนมัติ, ลูกระเบิดมือ, และดินระเบิด

คาซับ และคู่หู (ชื่อ อาบู อิสมาอิล Abu Ismail) ได้รับมอบหมายให้สังหารผู้คนทั้งในและรอบๆ สถานีรถไฟ “ผมทำหน้าที่ใช้ปืนกราดยิง ส่วนอาบูก็คอยขว้างระเบิดมือ ... ผมยิงใส่ตำรวจคนหนึ่ง หลังจากนั้นก็ไม่มีการยิงโต้ตอบมาจากฝ่ายตำรวจเลย” คาซับเล่า

จากสถานีรถไฟ ซึ่งพวกเขาฆ่าคนไปมากกว่า 50 คน ทั้งสองได้ไปยังโรงพยาบาลคามา (Cama Hospital) สังหารคนเพิ่มขึ้นอีก แล้วพวกเขาก็ไปยังชายหาดเชาวปัตตี (Chowpatty) ที่ซึ่งอาบูถูกฆ่าและคาซับก็ถูกจับหลังจากยิงต่อสู้กับตำรวจ

คาซับยังระบุชื่อสมาชิก 4 คนของกลุ่มลัชคาร์-อี-ไตบา ซึ่งเขาบอกว่าได้มาคอยส่งมือปืนกลุ่มนี้เดินทางออกจากท่าเรือเมืองการาจีของปากีสถาน ในจำนวนนี้คนหนึ่งคือ ซากี อูร์-เราะห์มาน ลัควี ((Zaki ur-Rehman Lakhvi) หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการของลัชคาร์-อี-ไตบา ทั้งนี้ลัควีถูกฝ่ายอินเดียระบุมานานแล้วว่าเป็นหัวหน้าใหญ่ที่วางแผนการโจมตีคราวนี้

คาซับกล่าวว่าเป็นเพราะความต้องการของเขาที่จะเป็นเป็นโจรผู้ผ่านการฝึกฝนมาอย่างช่ำชองเพื่อจะได้หาเงินหาทองร่ำรวยเร็วๆ จึงได้ทำให้เขาเดินไปบนเส้นทางแห่งการก่อการร้าย เมื่อเขาถูกแนะนำตัวให้รู้จักกับกลุ่มนักรบญิฮัด ขณะกำลังเที่ยวเสาะหาการฝึกที่จะทำให้เขาได้กลายเป็น “ผู้ชำนาญพิเศษ”

เพียงไม่นานหลังจากคาซับสารภาพผิด ทั้งสื่อมวลชนและผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายต่างก็ออกมาเสนอทฤษฎีต่างๆ มากมายเกี่ยวกับการตัดสินใจสารภาพอย่างฉับพลันของเขาคราวนี้ มีทฤษฎีหนึ่งระบุว่า การยอมรับผิดเช่นนี้เป็นผลมาจากการหารืออย่างลับๆ กับรัฐมนตรีอาวุโสผู้หนึ่งของรัฐมหาราษฎระ ซึ่งได้บอกกับคาซับว่าเป็นการเปล่าประโยชน์ที่จะสู้คดีต่อไป ในเมื่อปากีสถานได้ประกาศไม่ยอมรับทั้งเขาและครอบครัวของเขาเสียแล้ว คนที่เสนอทฤษฎีนี้บอกต่อไปว่า เมื่อรัฐมนตรีผู้นั้นถามคาซับว่าทำไมเขาจึงกลายมาเป็นผู้ก่อการร้าย เขาก็ตอบว่า “พวกผู้นำของเราในปากีสถานคอยบอกกับเราเรื่อยๆ ว่า ฝ่ายอินเดียคือผู้รับผิดชอบต่อการก่อเหตุระเบิดต่างๆ ในประเทศเรา ดังนั้นเราจึงต้องล้างแค้น”

ในอีกทฤษฎีหนึ่งบอกว่า คาซับต้องการที่จะตายในอินเดีย เนื่องจากเขารู้สึกตกใจจนช็อกจากการที่ปากีสถานตัดสินใจฟ้องร้องดำเนินคดีผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าสมคบกระทำความผิดนี้ด้วยจำนวน 5 คน

สำหรับอัยการแผ่นดิน อุจจวัล นิคาม (Ujjwal Nikam) แสดงปฏิกิริยาต่อเรื่องนี้โดยเรียกการรับสารภาพของคาซับว่าเป็น “กลอุบาย” เขาอธิบายว่า การที่เวลาผ่านมาเนิ่นนานถึงขนาดนี้ (นั่นคือ หลังการโจมตีผ่านมา 8 เดือน และการพิจารณาคดีก็ดำเนินไปแล้ว 65 วัน) มือปืนผู้นี้จึงหมดสิทธิที่จะรับสารภาพอะไรได้แล้ว

ยังมีคำถามข้อข้องใจด้วยเช่นกันว่ามีการบังคับกดดันใดๆ ต่อจำเลยผู้นี้หรือไม่ ทั้งนี้ไม่นานภายหลังถูกจับกุมตัว เขาได้ยอมรับว่าเป็นผู้หนึ่งที่ร่วมในการโจมตี แต่ต่อมาเขาก็เปลี่ยนคำให้การ โดยบอกว่าเขาถูกบีบคั้นให้พูดออกไปเช่นนั้น

ทางด้านรัฐมนตรีกลาโหมปากีสถาน เชาธรี เอ มุคตาร์ (Chaudhary A Mukhtar) บอกกับสถานีโทรทัศน์อินเดียช่องหนึ่งว่า “คำบอกเล่า(ของคาซับ) เป็นการพูดข้างเดียว และออกมาจากปากของบุคคลที่กำลังตกอยู่ในการควบคุมของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์อินเดีย ดังนั้น เมื่อเขาลุกขึ้นมาและบอกเล่าเรื่องนี้ ผมก็ไม่ทราบว่ามีอะไรบีบคั้นเขาหรือไม่”

แม้ยังมีการสงวนความเห็นเช่นนี้ แต่ความเกรี้ยวกราดใส่กันระหว่างปากีสถานกับอินเดียสืบเนื่องจากคดีนี้ ก็น่าที่จะลดทอนจางคลายลงไป และการพิจารณาคดีก็สามารถที่จะดำเนินไปสู่บทสรุปอย่างเร่งรีบ ปล่อยให้ประตูเปิดกว้างสำหรับประเทศทั้งสองที่จะเคลื่อนเข้าหากัน และกลับคืนสู่การเจรจาสันติภาพ ซึ่งได้ถูกรบกวนขัดขวางอย่างเต็มไปด้วยอารมณ์ เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว

นีตา ลัล เป็นนักเขียน/นักวิจารณ์ ที่มีผลงานแพร่หลายกว้างขวาง โดยเขียนเรื่องให้แก่สื่อสิ่งพิมพ์และสื่ออินเทอร์เน็ตทั้งระดับชาติและระดับระหว่างประเทศที่มีชื่อเสียงโด่งดังจำนวนมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น