(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)
Indonesia wakes up to terror
By Gary LaMoshi
17/07/2009
เหตุระเบิดฆ่าตัวตายที่โรงแรมระดับเลิศหรู 2 แห่งในกรุงจาการ์ตาเมื่อเช้าวันศุกร์(17) ได้ทำลายบรรยากาศช่วงเวลาแห่งชัยชนะครั้งสำคัญของอินโดนีเซียไปเสียสิ้น หลังจากโซซัดโซเซฟันฝ่าภาวะปั่นป่วนผันผวนตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศหมู่เกาะแห่งนี้ก็ได้เป็นประจักษ์พยานระยะเวลา 4 ปีอันเงียบสงบปลอดจากการโจมตีของผู้ก่อการร้าย บนเส้นทางมุ่งสู่การผงาดขึ้นเป็นชาติประชาธิปไตยใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก การโจมตีครั้งใหม่ที่บังเกิดขึ้นคราวนี้ จึงกลับกลายเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงจุดอ่อนข้อบกพร่องของประธานาธิบดีซูซิโล บัมบัง ยุโธโยโน ในการต่อสู้กับการก่อการร้ายที่บ่มเพาะขึ้นมาจากภายในประเทศ
เดนปาซาร์, เกาะบาหลี – พวกผู้เชี่ยวชาญหลายคนถึงขั้นฟันธงว่า การก่อความรุนแรงของพวกสุดโต่งในอินโดนีเซียนั้นได้จบสิ้นลงไปแล้ว ทว่าพวกสุดโต่งหัวรุนแรงตัวจริงก็พิสูจน์ให้เห็นว่าความคิดเห็นเหล่านี้ผิดพลาดใช้การไม่ได้ เหตุระเบิดรุนแรง 2 จุดซ้อนๆ เมื่อเช้าวันศุกร์(17) ที่ 2 โรงแรมแบรนด์ดังตะวันตกที่อยู่ใกล้เคียงกันในกรุงจาการ์ตา คือเครื่องพิสูจน์ว่าอินโดนีเซียยังไม่สามารถนิ่งนอนใจในเรื่องการต่อสู้ต่อต้านการก่อการร้ายได้เลย
บริเวณส่วนห้องอาหารของโรงแรม เจดับเบิลยู แมร์ริออต ซึ่งเคยตกเป็นเป้าหมายของเหตุระเบิดรถยนต์ในปี 2003 มาแล้วครั้งหนึ่ง และโรงแรมริตซ์ คาร์ลตัน ต่างก็ถูกโจมตีโดยพวกมือระเบิดฆ่าตัวตายในช่วงเวลาอาหารเช้าของวันศุกร์ ทั้งนี้ตามรายงานของตำรวจอินโดนีเซีย โดยที่ยอดผู้เสียชีวิตพุ่งไปเป็น 9 คนในชั่วโมงแรกๆ ภายหลังเกิดเหตุ ผู้คนอีกหลายสิบคนได้รับบาดเจ็บ และแขกผู้เข้าพักจำนวนหลายร้อยคนต้องอพยพไปอยู่ที่อื่น
เหตุระเบิดคราวนี้เป็นการทำลายบรรยากาศของช่วงเวลาที่ทำท่าจะเป็นช่วงแห่งชัยชนะครั้งสำคัญของอินโดนีเซียไปเสียสิ้น หลังจากโซซัดโซเซฟันฝ่าภาวะปั่นป่วนผันผวนตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศนี้ที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดยิ่งกว่าชาติใดในโลก ก็ได้กลายเป็นชาติประชาธิปไตยใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลกไปด้วย ไม่น่าแปลกใจที่ ดิโน ปัตติ จาลัล (Dino Patti Djalal)
โฆษกประธานาธิบดี กล่าวในระหว่างการให้สัมภาษณ์ออกอากาศทางโทรทัศน์ว่า “นี่เป็นระเบิดที่ทำให้เราพังยับเยิน”
**บทเรียนจากอดีตที่ยังไม่ได้จดจำ**
การโจมตีครั้งนี้ยังเป็นการตอกย้ำถึงจุดอ่อนข้อบกพร่องของประธานาธิบดีซูซิโล บัมบัง ยุโธโยโน ในการไม่ให้ความใส่ใจเท่าที่ควรแก่การต่อสู้กับแนวความคิดสุดโต่งและการใช้ความรุนแรง
เหตุระเบิดเมื่อเช้าวันศุกร์ได้ทำลายภาวะเงียบสงบปลอดไร้การโจมตีของผู้ก่อการร้ายในอินโดนีเซียที่ยืนยาวมาได้เกือบ 4 ปี มันบังเกิดขึ้นเพียงสัปดาห์เดียวหลังจากการเลือกตั้งที่ดำเนินไปอย่างสันติและประสบความสำเร็จ ซึ่งดูเหมือนจะทำให้ยุโธโยโน อดีตนายพลแนวทางสายกลางผู้ขึ้นชื่อในเรื่อง “พูดจานุ่มนวลและมือถือไม้ตะพด” ได้ดำรงตำแหน่งต่อไปเป็นวาระที่สองด้วยคะแนนเสียงนำลิ่วทิ้งขาด การโจมตีคราวนี้ยังมีขึ้นภายหลังรัฐบาลชาติตะวันตกจำนวนมากได้ยกเลิกคำเตือนให้จำกัดการเดินทางมาอินโดนีเซีย จนทำให้ธุรกิจการท่องเที่ยวเฟื่องฟูเรืองรุ่งสู่ระดับสูงสุดเป็นสถิติใหม่ๆ
อะไรๆ ก็ดูจะปลอดภัยไปเสียหมด จนกระทั่งทีมฟุตบอล แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด แชมเปียนพรีเมียร์ลีกของอังกฤษ ยังเตรียมตัวที่จะมาพักที่โรงแรมริตซ์ คาร์ลสัน ตั้งแต่วันเสาร์(18) ระหว่างการเยือนกรุงจาการ์ตาเป็นเวลา 4 วัน โดยที่จะลงแข่งขันกับทีมรวมดาราของอินโดนีเซียด้วยในวันจันทร์(20) ทว่าหลังเกิดการระเบิดไม่กี่ชั่วโมง แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดก็ประกาศยกเลิกการเดินทางมาอินโดนีเซียไปเลย
อินโดนีเซียนั้นตกเป็นเป้าหมายของการก่อการร้ายต่อเนื่องเรื่อยมา โดยสามารถย้อนหลังไปจนถึงวันก่อนหน้าวันคริสต์มาสของปี 2000 ซึ่งมีโบสถ์คริสต์ถูกโจมตีด้วยระเบิดตลอดทั่วทั้งประเทศหมู่เกาะแห่งนี้ การโจมตีเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการปะทะขัดแย้งกันระหว่างชาวคริสเตียนกับชาวมุสลิม โดยที่มีฝ่ายทหารแอบๆ หนุนหลัง ทั้งนี้ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะบ่อนทำลายประธานาธิบดีอับดูร์เราะห์มาน วาฮิด ผู้มีแนวทางปฏิรูป ประธานาธิบดีผู้นี้ต้องหลุดออกจากอำนาจไปจนได้ในเดือนกรกฎาคม 2001 ทว่าเจ้าอสูรแฟรงเกนสไตน์ที่สร้างขึ้นโดยฝ่ายทหารกลับยังคงมีชีวิตสืบต่อมาด้วยตัวของมันเอง โดยได้รับพละกำลังจากความรู้สึกต่อต้านฝ่ายตะวันตก สืบเนื่องจากสงครามที่นำโดยสหรัฐฯในอัฟกานิสถาน และต่อมาก็ในอิรัก
เดือนตุลาคม 2002 เกิดเหตุระเบิดสร้างความพินาศย่อยยับให้แก่บาร์ยอดนิยม 2 แห่งในเกาะบาหลี ในเวลาใกล้เคียงกันนั้นยังมีการระเบิดทักทายขนาดย่อมๆ ที่สถานกงสุลสหรัฐฯประจำเกาะรีสอร์ตยอดนิยมแห่งนั้นด้วย ต่อมาโรงแรมแมร์ริออตในกรุงจาการ์ตาก็ถูกโจมตีเมื่อเดือนสิงหาคม 2003 ปลดชีพผู้คนไป 12 คน ในเดือนกันยายน 2004 มีเหตุระเบิดรถยนต์ที่พุ่งเป้าเล่นงานสถานเอกอัครราชทูตออเสตรเลียในกรุงจาการ์ตา ทำให้ผู้คนเสียชีวิตไป 9 คน ปีรุ่งขึ้นในเดือนตุลาคม 2005 มือระเบิดฆ่าตัวตายหลายรายได้เข้าโจมตีห้องอาหารยอดนิยม 2 แห่งในเกาะบาหลี
**กลับคืนไปสู่อนาคต**
เหตุโจมตีทั้งบนเกาะบาหลีและที่อื่นๆ ถูกระบุว่าเป็นฝีมือของพวกญะมะอาห์ อิสลามิยะห์ (Jemaah Islamiyah หรือ JI) กลุ่มมุสลิมสุดโต่งที่มุ่งหมายจะสร้างรัฐที่ปกครองโดยผู้นำศาสนาอิสลาม (กาหลิบ) ซึ่งจะเชื่อมรวมดินแดนต่างๆ ของชาวมุสลิมทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าด้วยกัน กลุ่มเจไอยังถูกกล่าวหาว่ามีการโยงใยกับพวกอัลกออิดะห์ ถึงแม้จะปฏิบัตการแยกเป็นอิสระ
พวกผู้เชี่ยวชาญบอกว่า การโจมตีเมื่อวันศุกร์นั้นติดตราเครื่องหมายการค้าของพวกเจไออย่างชัดเจน เป็นต้นว่า การประสานงานกันเข้าโจมตีเป้าหมายหลายๆ จุดที่ต่างก็เป็นสถานที่ซึ่งชาวตะวันตกชอบมากัน ทว่าหลังจากที่คณะผู้นำของเจไอถูกจับกุมไปหลายต่อหลายคนแล้ว ก็มีรายงานว่ากลุ่มนี้แตกแยกออกเป็นฝักฝ่ายย่อยๆ โดยที่ไม่ใช่ทุกกลุ่มย่อยจะยังคงใช้ชื่อเจไออยู่ จวบจนถึงเวลานี้ยังไม่ใครออกมาประกาศความรับผิดชอบว่าเป็นตัวการก่อการโจมตีคราวนี้
ภายหลังเกิดเหตุระเบิดที่บาหลีระลอกสอง ซึ่งเป็นเหตุระเบิดฆ่าตัวตายที่ได้รับการยืนยันชัดเจนเป็นครั้งแรกในอินโดนีเซีย ยุโธโยโนได้ออกมาเรียกร้องขอความร่วมมือจากบรรดานักการศาสนามุสลิม ตลอดจนผู้นำทางศาสนาอื่นๆ ให้ช่วยกันประณามการก่อความรุนแรงและลัทธิสุดโต่ง ซึ่งมุ่งสร้างความแตกแยกทางศาสนา โดยประกาศว่าเป็นเรื่องชัดเจนที่อินโดนีเซียไม่ควรจะกลายเป็นสมรภูมิของสงครามญิฮัด คำประกาศอย่างครึกโครมคราวนั้น และความน่าขยะแขยงจากวิดีโอของพวกมือระเบิดฆ่าตัวตาย ได้ช่วยหันทวนกระแสมติมหาชนให้กลับมาคัดค้านการใช้ความรุนแรงของพวกสุดโต่ง โดยแนวโน้มดังกล่าวนี้ดูเหมือนจะประคับประคองกันไว้ได้เรื่อยมาจวบจนกระทั่งถึงเช้าวันศุกร์
ทว่าในระหว่างเวลาแห่งการต่อสู้กับการก่อการร้ายที่เกิดจากการบ่มเพาะภายในบ้านตัวเองเหล่านี้ คณะรัฐบาลของยุโธโยโนก็อยู่ในสภาพเหมือนเดินเลี้ยงตัวอยู่บนเส้นด้าย โดยต้องสร้างสายสัมพันธ์อันสมดุลกับฝ่ายตะวันตก เพื่อต่อต้านคะคานพวกหัวรุนแรงภายในประเทศ คณะรัฐบาลยุโธโยโนยอมรับความสนับสนุนจากรัฐบาลออสเตรเลียและรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ที่มาช่วยเหลือตำรวจอินโดนีเซียในการกำราบปราบปรามผู้ก่อการร้าย ปรากฏว่าคณะผู้นำของเจไอจำนวนมากได้ถูกจับกุม และตัวการใหญ่เรื่องระเบิดของขบวนการที่ชื่อ อาซาฮารี ฮูชิน (Azahari Husin) ชาวมาเลเซียผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากอังกฤษ ก็ถูกสังหารระหว่างการกวาดล้างเมื่อปี 2006 “เรายังประสบความสำเร็จในการป้องกันก่อนเกิดเหตุอยู่หลายๆ กรณีทีเดียว ทั้งในสุมาตรา, ในชาว, และที่อื่นๆ อีก” จาลัล โฆษกประธานาธิบดีแถลง “แต่เราก็ทราบเรื่อยมาว่ายังมีหน่วยของผู้ก่อการร้ายฝังตัวอยู่อีก คุณไม่มีทางกำจัดพวกนี้ให้หมดสิ้นไปได้หรอก”
ยุโธโยโนกระทั่งจัดการต้อนรับ จอร์จ ดับเบิลยู บุช ในการเยือนซึ่งช่างไม่เป็นที่พอใจของประชาชนอย่างยิ่งเมื่อปี 2006 โดยที่มีการจัดกำหนดการให้หลีกเลี่ยงเมืองหลวงจาการ์ตา และถึงขั้นต้องเหมือนกับห้ามการสัญจรใดๆ (รวมทั้งตัดคลื่นสัญญาณโทรศัพท์มือถือ) บริเวณรอบๆ ทำเนียบประธานาธิบดี ณ ชานเมืองโบกอร์ อย่างไรก็ตาม การสาบานตัวเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯของ บารัค โอบามา ผู้เคยใช้ชีวิตหลายปีในวัยเด็กพำนักในกรุงจาการ์ตา รวมทั้งต่อต้านการทำสงครามในอิรัก ทำให้เกิดความหวังกันว่าสายสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯกับรัฐบาลอินโดนีเซียจะกระชับแนบแน่นยิ่งขึ้นอีก ตลอดจนทำให้ประชาชนอินโดนีเซียระดับรากหญ้าเกิดความรู้สึกต่อสหรัฐฯในทางดีขึ้นเป็นอย่างมาก
**สวมกอดพวกสุดโต่ง**
ในอีกด้านหนึ่ง พันธมิตรทางการเมืองในเวลานี้ของยุโธโยโน ประกอบไปด้วยพรรคอิสลามสุดโต่งขนาดเล็กๆ หลายๆ พรรค ซึ่งกลายเป็นแหล่งกลางของอารมณ์ความรู้สึกที่สามารถบ่มเพาะลัทธิใช้ความรุนแรงให้เติบใหญ่ เท่าที่ผ่านมา ส่วนใหญ่แล้วยุโธโยโนใช้วิธีเพิกเฉยไม่สนใจรัฐบาลท้องถิ่นต่างๆ ที่บังคับใช้ระเบียบกฎเกณฑ์ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากพวกหัวรุนแรง เป็นต้นว่า ระเบียบในการแต่งกาย และการห้ามสตรีเดินทางตามลำพังหลังฟ้ามืดแล้ว ซึ่งล้วนแต่ขัดกับกฎหมายระดับชาติ
ยุโธโยโนยังกระทำสิ่งที่ชาวตะวันตกผู้นิยมอิสราเอลทั้งหลายเห็นว่าเป็นการเติมเชื้อไฟ ด้วยการประกาศถือการต่อสู้ของชาวปาเลสไตน์เป็นเหมือนกับการต่อสู้ของอินโดนีเซียเอง ทั้งนี้ในนามของความสมานฉันท์ของชาวมุสลิม ยุโธโยโนให้ความชอบธรรมแก่พรรคการเมืองต่างๆ ที่จะสนับสนุนเรียกร้องให้บังคับใช้กฎหมายอิสลามตลอดทั่วทั้งประเทศ รวมทั้งสมาชิกของพรรคเหล่านี้ยังอบรมสั่งสอนและตีพิมพ์ข้อเขียนของพวกอิสลามิสต์ที่ต่อต้านตะวันตกอย่างรุนแรง
ความรุนแรงในอินโดนีเซียนั้น ไม่ใช่ว่าสืบเนื่องจากพวกแนวทางอิสลามหัวรุนแรงไปเสียทั้งหมด ถึงแม้จะประดับประดาด้วยเครื่องแต่งกายประชาธิปไตย แต่ประชาชนทั่วไปก็ยังคงมีความรู้สึกกันอย่างกว้างขวางว่าตนเองไร้อำนาจ เนื่องจากส่วนใหญ่แล้วรัฐบาลยังคงไม่ได้สนองตอบและแก้ไขความลำบากเดือดร้อนของผู้คนระดับรากหญ้า ขณะที่พวกชนชั้นนำและพวกมีเส้นมีสายกลับสามารถทำอะไรได้โดยไม่ถูกลงโทษ ผู้คนจำนวนมากรู้สึกว่าระบอบปกครองของยุโธโยโนไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรๆ ให้มากพอเลยเมื่อพิจารณาในแง่นี้แล้ว ตัวอย่างเช่น รัฐบาลนี้ยังคงล้มเหลวไม่สามารถเอาผิดกับพวกที่บงการให้สังหารนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน มูนีร์ ซาอิด ตอลิบ (Munir Said Thalib) ซึ่งถูกวางยาพิษขณะอยู่บนเครื่องบินโดยสารของสายการบินแห่งชาติ “การูดา” เมื่อเดือนกันยายน 2004
ในคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันของยุโธโยโน มีบุคคลอย่างเช่น อาบูริซัล บาครี (Aburizal Bakrie) รัฐมนตรีประสานงานที่ดูแลรับผิดชอบสวัสภาพของประชาชน แต่ธุรกิจของครอบครัวของเขากลับทำให้เกิดเหตุโคลนถล่มอย่างไร้ความรับผิดชอบที่เมือง สิโดอาร์โจ (Sidoarjo) จังหวัดชวาตะวันออก ในปี 2006 แล้วยังไม่ยอมให้เงินชดเชยอย่างเหมาะควรแก่เหยื่อนับพันนับหมื่นที่ต้องกลายเป็นคนไร้ที่อยู่ แถมกลุ่มบริษัทแห่งนี้ยังได้รับอนุญาตให้ขายบริษัทลูกที่สร้างปัญหานี้ไปให้แก่บริษัทจดทะเบียนนอกประเทศแห่งหนึ่ง เพื่อหลบเลี่ยงไม่ต้องรับผิดชอบจ่ายค่าเสียหายที่เกิดขึ้น
การที่ยุโธโยโนวางตนเหมือนกับมี 2 ใบหน้าเช่นนี้ ก็ดูจะสอดคล้องกับบุคลิกภาพแห่งชาติที่นิยมการปรองดองรอมชอมมากกว่าการประจันหน้า วิธีการของเขาเท่าที่ผ่านมาดูเหมือนกับสามารถลดอุณหภูมิทางการเมืองและทางสังคมในอินโดนีเซียลงได้ แต่แล้วเหตุระเบิดเมื่อวันศุกร์ก็แสดงให้เห็นว่า วิธีการดังกล่าวล้มเหลวไม่สามารถดับถ่านคุกรุ่นแห่งความรุนแรงของพวกนิยมแนวทางรุนแรงได้เลย
แกรี ลาโมชี เป็นบรรณาธิการของ eRaider.com ที่เป็นปากเสียงเรียกร้องสิทธิของนักลงทุน เขาเคยเขียนเรื่องให้แก่ Slate และ Salon.com และทำงานเป็นที่ปรึกษากฎหมายให้แก่ Writing Camp (www.writingcamp.net) เขาไปเยือนอินโดนีเซียครั้งแรกในปี 1994 จากนั้นก็ติดตามเรื่องราวของประเทศนี้เรื่อยมา
Indonesia wakes up to terror
By Gary LaMoshi
17/07/2009
เหตุระเบิดฆ่าตัวตายที่โรงแรมระดับเลิศหรู 2 แห่งในกรุงจาการ์ตาเมื่อเช้าวันศุกร์(17) ได้ทำลายบรรยากาศช่วงเวลาแห่งชัยชนะครั้งสำคัญของอินโดนีเซียไปเสียสิ้น หลังจากโซซัดโซเซฟันฝ่าภาวะปั่นป่วนผันผวนตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศหมู่เกาะแห่งนี้ก็ได้เป็นประจักษ์พยานระยะเวลา 4 ปีอันเงียบสงบปลอดจากการโจมตีของผู้ก่อการร้าย บนเส้นทางมุ่งสู่การผงาดขึ้นเป็นชาติประชาธิปไตยใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก การโจมตีครั้งใหม่ที่บังเกิดขึ้นคราวนี้ จึงกลับกลายเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงจุดอ่อนข้อบกพร่องของประธานาธิบดีซูซิโล บัมบัง ยุโธโยโน ในการต่อสู้กับการก่อการร้ายที่บ่มเพาะขึ้นมาจากภายในประเทศ
เดนปาซาร์, เกาะบาหลี – พวกผู้เชี่ยวชาญหลายคนถึงขั้นฟันธงว่า การก่อความรุนแรงของพวกสุดโต่งในอินโดนีเซียนั้นได้จบสิ้นลงไปแล้ว ทว่าพวกสุดโต่งหัวรุนแรงตัวจริงก็พิสูจน์ให้เห็นว่าความคิดเห็นเหล่านี้ผิดพลาดใช้การไม่ได้ เหตุระเบิดรุนแรง 2 จุดซ้อนๆ เมื่อเช้าวันศุกร์(17) ที่ 2 โรงแรมแบรนด์ดังตะวันตกที่อยู่ใกล้เคียงกันในกรุงจาการ์ตา คือเครื่องพิสูจน์ว่าอินโดนีเซียยังไม่สามารถนิ่งนอนใจในเรื่องการต่อสู้ต่อต้านการก่อการร้ายได้เลย
บริเวณส่วนห้องอาหารของโรงแรม เจดับเบิลยู แมร์ริออต ซึ่งเคยตกเป็นเป้าหมายของเหตุระเบิดรถยนต์ในปี 2003 มาแล้วครั้งหนึ่ง และโรงแรมริตซ์ คาร์ลตัน ต่างก็ถูกโจมตีโดยพวกมือระเบิดฆ่าตัวตายในช่วงเวลาอาหารเช้าของวันศุกร์ ทั้งนี้ตามรายงานของตำรวจอินโดนีเซีย โดยที่ยอดผู้เสียชีวิตพุ่งไปเป็น 9 คนในชั่วโมงแรกๆ ภายหลังเกิดเหตุ ผู้คนอีกหลายสิบคนได้รับบาดเจ็บ และแขกผู้เข้าพักจำนวนหลายร้อยคนต้องอพยพไปอยู่ที่อื่น
เหตุระเบิดคราวนี้เป็นการทำลายบรรยากาศของช่วงเวลาที่ทำท่าจะเป็นช่วงแห่งชัยชนะครั้งสำคัญของอินโดนีเซียไปเสียสิ้น หลังจากโซซัดโซเซฟันฝ่าภาวะปั่นป่วนผันผวนตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศนี้ที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดยิ่งกว่าชาติใดในโลก ก็ได้กลายเป็นชาติประชาธิปไตยใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลกไปด้วย ไม่น่าแปลกใจที่ ดิโน ปัตติ จาลัล (Dino Patti Djalal)
โฆษกประธานาธิบดี กล่าวในระหว่างการให้สัมภาษณ์ออกอากาศทางโทรทัศน์ว่า “นี่เป็นระเบิดที่ทำให้เราพังยับเยิน”
**บทเรียนจากอดีตที่ยังไม่ได้จดจำ**
การโจมตีครั้งนี้ยังเป็นการตอกย้ำถึงจุดอ่อนข้อบกพร่องของประธานาธิบดีซูซิโล บัมบัง ยุโธโยโน ในการไม่ให้ความใส่ใจเท่าที่ควรแก่การต่อสู้กับแนวความคิดสุดโต่งและการใช้ความรุนแรง
เหตุระเบิดเมื่อเช้าวันศุกร์ได้ทำลายภาวะเงียบสงบปลอดไร้การโจมตีของผู้ก่อการร้ายในอินโดนีเซียที่ยืนยาวมาได้เกือบ 4 ปี มันบังเกิดขึ้นเพียงสัปดาห์เดียวหลังจากการเลือกตั้งที่ดำเนินไปอย่างสันติและประสบความสำเร็จ ซึ่งดูเหมือนจะทำให้ยุโธโยโน อดีตนายพลแนวทางสายกลางผู้ขึ้นชื่อในเรื่อง “พูดจานุ่มนวลและมือถือไม้ตะพด” ได้ดำรงตำแหน่งต่อไปเป็นวาระที่สองด้วยคะแนนเสียงนำลิ่วทิ้งขาด การโจมตีคราวนี้ยังมีขึ้นภายหลังรัฐบาลชาติตะวันตกจำนวนมากได้ยกเลิกคำเตือนให้จำกัดการเดินทางมาอินโดนีเซีย จนทำให้ธุรกิจการท่องเที่ยวเฟื่องฟูเรืองรุ่งสู่ระดับสูงสุดเป็นสถิติใหม่ๆ
อะไรๆ ก็ดูจะปลอดภัยไปเสียหมด จนกระทั่งทีมฟุตบอล แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด แชมเปียนพรีเมียร์ลีกของอังกฤษ ยังเตรียมตัวที่จะมาพักที่โรงแรมริตซ์ คาร์ลสัน ตั้งแต่วันเสาร์(18) ระหว่างการเยือนกรุงจาการ์ตาเป็นเวลา 4 วัน โดยที่จะลงแข่งขันกับทีมรวมดาราของอินโดนีเซียด้วยในวันจันทร์(20) ทว่าหลังเกิดการระเบิดไม่กี่ชั่วโมง แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดก็ประกาศยกเลิกการเดินทางมาอินโดนีเซียไปเลย
อินโดนีเซียนั้นตกเป็นเป้าหมายของการก่อการร้ายต่อเนื่องเรื่อยมา โดยสามารถย้อนหลังไปจนถึงวันก่อนหน้าวันคริสต์มาสของปี 2000 ซึ่งมีโบสถ์คริสต์ถูกโจมตีด้วยระเบิดตลอดทั่วทั้งประเทศหมู่เกาะแห่งนี้ การโจมตีเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการปะทะขัดแย้งกันระหว่างชาวคริสเตียนกับชาวมุสลิม โดยที่มีฝ่ายทหารแอบๆ หนุนหลัง ทั้งนี้ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะบ่อนทำลายประธานาธิบดีอับดูร์เราะห์มาน วาฮิด ผู้มีแนวทางปฏิรูป ประธานาธิบดีผู้นี้ต้องหลุดออกจากอำนาจไปจนได้ในเดือนกรกฎาคม 2001 ทว่าเจ้าอสูรแฟรงเกนสไตน์ที่สร้างขึ้นโดยฝ่ายทหารกลับยังคงมีชีวิตสืบต่อมาด้วยตัวของมันเอง โดยได้รับพละกำลังจากความรู้สึกต่อต้านฝ่ายตะวันตก สืบเนื่องจากสงครามที่นำโดยสหรัฐฯในอัฟกานิสถาน และต่อมาก็ในอิรัก
เดือนตุลาคม 2002 เกิดเหตุระเบิดสร้างความพินาศย่อยยับให้แก่บาร์ยอดนิยม 2 แห่งในเกาะบาหลี ในเวลาใกล้เคียงกันนั้นยังมีการระเบิดทักทายขนาดย่อมๆ ที่สถานกงสุลสหรัฐฯประจำเกาะรีสอร์ตยอดนิยมแห่งนั้นด้วย ต่อมาโรงแรมแมร์ริออตในกรุงจาการ์ตาก็ถูกโจมตีเมื่อเดือนสิงหาคม 2003 ปลดชีพผู้คนไป 12 คน ในเดือนกันยายน 2004 มีเหตุระเบิดรถยนต์ที่พุ่งเป้าเล่นงานสถานเอกอัครราชทูตออเสตรเลียในกรุงจาการ์ตา ทำให้ผู้คนเสียชีวิตไป 9 คน ปีรุ่งขึ้นในเดือนตุลาคม 2005 มือระเบิดฆ่าตัวตายหลายรายได้เข้าโจมตีห้องอาหารยอดนิยม 2 แห่งในเกาะบาหลี
**กลับคืนไปสู่อนาคต**
เหตุโจมตีทั้งบนเกาะบาหลีและที่อื่นๆ ถูกระบุว่าเป็นฝีมือของพวกญะมะอาห์ อิสลามิยะห์ (Jemaah Islamiyah หรือ JI) กลุ่มมุสลิมสุดโต่งที่มุ่งหมายจะสร้างรัฐที่ปกครองโดยผู้นำศาสนาอิสลาม (กาหลิบ) ซึ่งจะเชื่อมรวมดินแดนต่างๆ ของชาวมุสลิมทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าด้วยกัน กลุ่มเจไอยังถูกกล่าวหาว่ามีการโยงใยกับพวกอัลกออิดะห์ ถึงแม้จะปฏิบัตการแยกเป็นอิสระ
พวกผู้เชี่ยวชาญบอกว่า การโจมตีเมื่อวันศุกร์นั้นติดตราเครื่องหมายการค้าของพวกเจไออย่างชัดเจน เป็นต้นว่า การประสานงานกันเข้าโจมตีเป้าหมายหลายๆ จุดที่ต่างก็เป็นสถานที่ซึ่งชาวตะวันตกชอบมากัน ทว่าหลังจากที่คณะผู้นำของเจไอถูกจับกุมไปหลายต่อหลายคนแล้ว ก็มีรายงานว่ากลุ่มนี้แตกแยกออกเป็นฝักฝ่ายย่อยๆ โดยที่ไม่ใช่ทุกกลุ่มย่อยจะยังคงใช้ชื่อเจไออยู่ จวบจนถึงเวลานี้ยังไม่ใครออกมาประกาศความรับผิดชอบว่าเป็นตัวการก่อการโจมตีคราวนี้
ภายหลังเกิดเหตุระเบิดที่บาหลีระลอกสอง ซึ่งเป็นเหตุระเบิดฆ่าตัวตายที่ได้รับการยืนยันชัดเจนเป็นครั้งแรกในอินโดนีเซีย ยุโธโยโนได้ออกมาเรียกร้องขอความร่วมมือจากบรรดานักการศาสนามุสลิม ตลอดจนผู้นำทางศาสนาอื่นๆ ให้ช่วยกันประณามการก่อความรุนแรงและลัทธิสุดโต่ง ซึ่งมุ่งสร้างความแตกแยกทางศาสนา โดยประกาศว่าเป็นเรื่องชัดเจนที่อินโดนีเซียไม่ควรจะกลายเป็นสมรภูมิของสงครามญิฮัด คำประกาศอย่างครึกโครมคราวนั้น และความน่าขยะแขยงจากวิดีโอของพวกมือระเบิดฆ่าตัวตาย ได้ช่วยหันทวนกระแสมติมหาชนให้กลับมาคัดค้านการใช้ความรุนแรงของพวกสุดโต่ง โดยแนวโน้มดังกล่าวนี้ดูเหมือนจะประคับประคองกันไว้ได้เรื่อยมาจวบจนกระทั่งถึงเช้าวันศุกร์
ทว่าในระหว่างเวลาแห่งการต่อสู้กับการก่อการร้ายที่เกิดจากการบ่มเพาะภายในบ้านตัวเองเหล่านี้ คณะรัฐบาลของยุโธโยโนก็อยู่ในสภาพเหมือนเดินเลี้ยงตัวอยู่บนเส้นด้าย โดยต้องสร้างสายสัมพันธ์อันสมดุลกับฝ่ายตะวันตก เพื่อต่อต้านคะคานพวกหัวรุนแรงภายในประเทศ คณะรัฐบาลยุโธโยโนยอมรับความสนับสนุนจากรัฐบาลออสเตรเลียและรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ที่มาช่วยเหลือตำรวจอินโดนีเซียในการกำราบปราบปรามผู้ก่อการร้าย ปรากฏว่าคณะผู้นำของเจไอจำนวนมากได้ถูกจับกุม และตัวการใหญ่เรื่องระเบิดของขบวนการที่ชื่อ อาซาฮารี ฮูชิน (Azahari Husin) ชาวมาเลเซียผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากอังกฤษ ก็ถูกสังหารระหว่างการกวาดล้างเมื่อปี 2006 “เรายังประสบความสำเร็จในการป้องกันก่อนเกิดเหตุอยู่หลายๆ กรณีทีเดียว ทั้งในสุมาตรา, ในชาว, และที่อื่นๆ อีก” จาลัล โฆษกประธานาธิบดีแถลง “แต่เราก็ทราบเรื่อยมาว่ายังมีหน่วยของผู้ก่อการร้ายฝังตัวอยู่อีก คุณไม่มีทางกำจัดพวกนี้ให้หมดสิ้นไปได้หรอก”
ยุโธโยโนกระทั่งจัดการต้อนรับ จอร์จ ดับเบิลยู บุช ในการเยือนซึ่งช่างไม่เป็นที่พอใจของประชาชนอย่างยิ่งเมื่อปี 2006 โดยที่มีการจัดกำหนดการให้หลีกเลี่ยงเมืองหลวงจาการ์ตา และถึงขั้นต้องเหมือนกับห้ามการสัญจรใดๆ (รวมทั้งตัดคลื่นสัญญาณโทรศัพท์มือถือ) บริเวณรอบๆ ทำเนียบประธานาธิบดี ณ ชานเมืองโบกอร์ อย่างไรก็ตาม การสาบานตัวเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯของ บารัค โอบามา ผู้เคยใช้ชีวิตหลายปีในวัยเด็กพำนักในกรุงจาการ์ตา รวมทั้งต่อต้านการทำสงครามในอิรัก ทำให้เกิดความหวังกันว่าสายสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯกับรัฐบาลอินโดนีเซียจะกระชับแนบแน่นยิ่งขึ้นอีก ตลอดจนทำให้ประชาชนอินโดนีเซียระดับรากหญ้าเกิดความรู้สึกต่อสหรัฐฯในทางดีขึ้นเป็นอย่างมาก
**สวมกอดพวกสุดโต่ง**
ในอีกด้านหนึ่ง พันธมิตรทางการเมืองในเวลานี้ของยุโธโยโน ประกอบไปด้วยพรรคอิสลามสุดโต่งขนาดเล็กๆ หลายๆ พรรค ซึ่งกลายเป็นแหล่งกลางของอารมณ์ความรู้สึกที่สามารถบ่มเพาะลัทธิใช้ความรุนแรงให้เติบใหญ่ เท่าที่ผ่านมา ส่วนใหญ่แล้วยุโธโยโนใช้วิธีเพิกเฉยไม่สนใจรัฐบาลท้องถิ่นต่างๆ ที่บังคับใช้ระเบียบกฎเกณฑ์ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากพวกหัวรุนแรง เป็นต้นว่า ระเบียบในการแต่งกาย และการห้ามสตรีเดินทางตามลำพังหลังฟ้ามืดแล้ว ซึ่งล้วนแต่ขัดกับกฎหมายระดับชาติ
ยุโธโยโนยังกระทำสิ่งที่ชาวตะวันตกผู้นิยมอิสราเอลทั้งหลายเห็นว่าเป็นการเติมเชื้อไฟ ด้วยการประกาศถือการต่อสู้ของชาวปาเลสไตน์เป็นเหมือนกับการต่อสู้ของอินโดนีเซียเอง ทั้งนี้ในนามของความสมานฉันท์ของชาวมุสลิม ยุโธโยโนให้ความชอบธรรมแก่พรรคการเมืองต่างๆ ที่จะสนับสนุนเรียกร้องให้บังคับใช้กฎหมายอิสลามตลอดทั่วทั้งประเทศ รวมทั้งสมาชิกของพรรคเหล่านี้ยังอบรมสั่งสอนและตีพิมพ์ข้อเขียนของพวกอิสลามิสต์ที่ต่อต้านตะวันตกอย่างรุนแรง
ความรุนแรงในอินโดนีเซียนั้น ไม่ใช่ว่าสืบเนื่องจากพวกแนวทางอิสลามหัวรุนแรงไปเสียทั้งหมด ถึงแม้จะประดับประดาด้วยเครื่องแต่งกายประชาธิปไตย แต่ประชาชนทั่วไปก็ยังคงมีความรู้สึกกันอย่างกว้างขวางว่าตนเองไร้อำนาจ เนื่องจากส่วนใหญ่แล้วรัฐบาลยังคงไม่ได้สนองตอบและแก้ไขความลำบากเดือดร้อนของผู้คนระดับรากหญ้า ขณะที่พวกชนชั้นนำและพวกมีเส้นมีสายกลับสามารถทำอะไรได้โดยไม่ถูกลงโทษ ผู้คนจำนวนมากรู้สึกว่าระบอบปกครองของยุโธโยโนไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรๆ ให้มากพอเลยเมื่อพิจารณาในแง่นี้แล้ว ตัวอย่างเช่น รัฐบาลนี้ยังคงล้มเหลวไม่สามารถเอาผิดกับพวกที่บงการให้สังหารนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน มูนีร์ ซาอิด ตอลิบ (Munir Said Thalib) ซึ่งถูกวางยาพิษขณะอยู่บนเครื่องบินโดยสารของสายการบินแห่งชาติ “การูดา” เมื่อเดือนกันยายน 2004
ในคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันของยุโธโยโน มีบุคคลอย่างเช่น อาบูริซัล บาครี (Aburizal Bakrie) รัฐมนตรีประสานงานที่ดูแลรับผิดชอบสวัสภาพของประชาชน แต่ธุรกิจของครอบครัวของเขากลับทำให้เกิดเหตุโคลนถล่มอย่างไร้ความรับผิดชอบที่เมือง สิโดอาร์โจ (Sidoarjo) จังหวัดชวาตะวันออก ในปี 2006 แล้วยังไม่ยอมให้เงินชดเชยอย่างเหมาะควรแก่เหยื่อนับพันนับหมื่นที่ต้องกลายเป็นคนไร้ที่อยู่ แถมกลุ่มบริษัทแห่งนี้ยังได้รับอนุญาตให้ขายบริษัทลูกที่สร้างปัญหานี้ไปให้แก่บริษัทจดทะเบียนนอกประเทศแห่งหนึ่ง เพื่อหลบเลี่ยงไม่ต้องรับผิดชอบจ่ายค่าเสียหายที่เกิดขึ้น
การที่ยุโธโยโนวางตนเหมือนกับมี 2 ใบหน้าเช่นนี้ ก็ดูจะสอดคล้องกับบุคลิกภาพแห่งชาติที่นิยมการปรองดองรอมชอมมากกว่าการประจันหน้า วิธีการของเขาเท่าที่ผ่านมาดูเหมือนกับสามารถลดอุณหภูมิทางการเมืองและทางสังคมในอินโดนีเซียลงได้ แต่แล้วเหตุระเบิดเมื่อวันศุกร์ก็แสดงให้เห็นว่า วิธีการดังกล่าวล้มเหลวไม่สามารถดับถ่านคุกรุ่นแห่งความรุนแรงของพวกนิยมแนวทางรุนแรงได้เลย
แกรี ลาโมชี เป็นบรรณาธิการของ eRaider.com ที่เป็นปากเสียงเรียกร้องสิทธิของนักลงทุน เขาเคยเขียนเรื่องให้แก่ Slate และ Salon.com และทำงานเป็นที่ปรึกษากฎหมายให้แก่ Writing Camp (www.writingcamp.net) เขาไปเยือนอินโดนีเซียครั้งแรกในปี 1994 จากนั้นก็ติดตามเรื่องราวของประเทศนี้เรื่อยมา