xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯประกาศล้างความอยุติธรรมจังหวัดชายแดนใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
“อภิสิทธิ์” กล่าวเปิดงานโครงการความเข้าใจแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาชายแดนใต้ ประกาศล้างความอยุติธรรมจังหวัดชายแดนใต้ ยึดหลักนิติธรรม นิติรัฐเป็นแนวทางสร้างความสงบสุข บนความแตกต่างทางวัฒนธรรม ศาสนา ผ่านยุทธศาสตร์พัฒนากระบวนการยุติธรรม จังหวัดชายแดนใต้ ลั่นต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน

วันนี้(1 ก.ค.) ที่ห้องฟีนิกซ์ ฮอล์ล 8 อิมแพ็คเมืองทองธานี เมื่อเวลา 09.00 น.นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเปิดงานโครงการสร้างความเข้าใจต่อแผนยุทธศาสตร์การพัฒนากระบวนการยุติธรรม ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศักราช 2553-2557 ว่า การแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ถือเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล เนื่องจากเป็นปัญหาที่ไม่เปลี่ยนแปลงส่งผลกระทบในแง่ภาพรวมความมั่นคงของประเทศ และเป็นปัญหาที่ส่งผลที่รุนแรงต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ ทั้งในเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ไปจนถึงความรุนแรง หรือความขัดแย้งก็ย่อมส่งผลกระทบโดยรวมทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า หัวใจการแก้ไขปัญหานี้มีการถกเถียงกันมาเป็นเวลายาวนาน และแน่นอนการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นต้องครอบคลุมทุกมิติ ทั้งในเรื่องของความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา วัฒนธรรม แต่สิ่งหนึ่งซึ่งหลายฝ่ายน่าจะมองรวมกันก็คือว่า การที่จะทำให้สังคมที่ใดก็ตามมีความสงบสุข สันติได้ หัวใจคือการมีความยุติธรรม เพราะเรื่องของความยุติธรรมคือหัวใจของการแก้ไขปัญหาในเรื่องของความไม่สงบ ในเรื่องของความไม่ยุติธรรม ความขัดแย้ง ความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหาที่เกี่ยวข้องความยุติธรรมต้องเข้าใจความรู้สึกของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเราต้องยอมรับว่า ยังมีช่องว่าง ยังมีความไม่เข้าใจ ถึงความคาดเคลื่อนในบางส่วน หรืออาจจะมีปัญหาที่อาจจะยังไม่ได้รับกาสะสางแก้ไข ซึ่งส่งผลทำให้เกิดความไม่ไว้เนื้อเชื้อใจ และทำให้การแก้ไขปัญหาในทุกๆ เรื่องมีปัญหา มีอุปสรรค มีความยากลำบาก

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เพราะฉะนั้นการแก้ไขปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ เราจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องผลักดันมาตรการต่างๆ ในการสร้างความมั่นใจ และความเชื่อใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นตามหลักนิติธรรม นิติรัฐ ที่สำคัญสภาวะหรือสภาพของพื้นที่ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ก็มีความเฉพาะเจาะจงในวิถีชีวิต วัฒนธรรม ซึ่งหมายความว่า การอำนวยความยุติธรรม และการสร้างความไว้เนื้อเชื้อใจได้นั้น ก็ต้องมีการเคารพความแตกต่าง สิทธิเสรีภาพ ของความพยายามทำความเข้าใจความหลากหลาย ซึ่งหลายเรื่องก็เป็นเรื่องที่มรีความละเอียดอ่อน รัฐบาลจึงได้ทุ่มเทแก้ไขปัญหานี้โดยการเมืองนำการทหาร เอาเรื่องการพัฒนามาเป็นหัวใจและเดินหน้าอำนวยความยุติธรรมให้กับพี่น้องประชาชนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้

นายกฯ กล่าวต่อว่า กลไกที่มีอยู่รัฐบาลได้ ก็มีทั้งที่รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการรัฐมนตรีพัฒนาพื้นที่พิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งดูภาพรวมในเรื่องของนโยบาย โดยเฉพาะนโยบายทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม การศึกษา พร้อมๆ กันไป ซึ่งในส่วนของกอ.รมน. และ ศอบต. ก็มีบทบาทในการแก้ไขทั้งในเรื่องของความมั่นคง และการพัฒนา ซึ่งการที่จะบูรณาหน่วยงานต่างๆ ให้มีเอกภาพมากขึ้นก็เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐบาลได้ดำเนินการต่อไป แต่ว่าอย่างไรก็ตามในการที่จะสร้างความเป็นธรรมให้กับทุกฝ่ายที่รัฐบาลยืนยันนั้น เราก็ต้องเน้นการบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาคเป็นธรรม มีการใช้กระบวนการยุติธรรมกับผู้ที่กระทำความผิดอย่างเคร่งครัด และเป็นธรรม ซึ่งหมายถึงว่า เหตุการณ์ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ว่าใครจะเป็นผู้กระทำความผิดก็ตาม ก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน ต้องได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกัน และจะต้องถูกลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมเช่นเดียวกัน

“การกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์กระบวนการยุติธรรม นอกเหนือจากหลักทั่วไปตรงนี้แล้ว ก็จำเป็นต้องทำความเข้าใจความละเอียดอ่อน และมีคนความชัดเจนสอดคล้องกับวิถีชีวิตในพื้นที่ จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ ครม.ได้มีมติเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์พัฒนากระบวนการยุติธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553-2557 ตามที่คณะกรรมการบริหารกระบวนการยุติธรรมได้เสนอแผนดังกล่าว ถือเป็นแผนที่ครอบคลุม การอำนวยความยุติธรรม บนพื้นฐานความยุติธรรม การเสริมสร้างความยุติธรรมให้เข้มแข็ง ยังจะต้องมีการปรับปรุงจำนวนมาก ตั้งแต่เรื่องของการเข้าไปสะสางคดีความต่างๆ ซึ่งปัจจุบันยังผิดพลาดในหลายจุด และที่สำคัญเราจำเป็นที่จะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับพี่น้องประชาชนได้รับการสะสางดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา มีหลักวิทยาศาสตร์อ้างอิงได้ ไม่อย่างนั้นเราไม่สามารถสร้างความไว้วางใจ ซึ่งจะนำความสงบสุขไปสู่พื้นทีได้”

นายกฯ กล่าวว่า การสร้างกระบวนการยุติธรรมชุมชน ยุติธรรมทางเลือกไม่จำเป็นเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เราก็ทราบดีว่า งานทางด้านนี้ดำเนินการได้ไปเพียงบางส่วน ยังขาดความเข้าใจของประชาชน ดังนั้นการดำเนินการตรงนี้ให้เห็นผลจำเป็นอย่างมากในช่วง 4-5 ปีข้างหน้า และแน่นอนสุดเราต้องดูแลว่า ไม่ว่าจะเป็นส่วนผู้กระทำความผิดหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ต้องมีแนวทางวิธีปฏิบัติให้เป็นที่ยอมรับ เพราะเป็นส่วนสำคัญต่อการเยียวยา และการแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี และพร้อมๆ กัน ดังนั้นแผนยุทธศาสตร์การพัฒนากระบวนการยุติธรรม ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็จะเป็นกลไกที่มีความสำคัญต่อการบริหารจัดการกระบวนการยุติธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แนวทางการดำเนินงานหลายเรื่องส่งผลโดยตรงต่อการแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งสถาบันพัฒนากฎหมายและกระบวนการยุติธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเป็นกลไกในการพัฒนากฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่สอดคล้องศาสนา และวัฒนธรรมท้องถิ่น และสภาพสังคมโดยรวม
“แนวทางที่สำคัญที่สุดคือการปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมายอิสลามสอดคล้องกับความเป็นจริงภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะแผนการพิจารณาการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายอิสลามว่าด้วยกฎหมายครอบครัวและมรดก การเสริมสร้างให้แนวทางประชาชนมีส่วนรวมในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ การเสริมสร้างเครือข่ายภาครัฐและประชาชนในพื้นที่ การสร้างความเข้าใจในการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี และขบวนการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องทั่วประเทศ เกี่ยวกับแนวทางแก้ไขปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ขอย้ำว่า การดำเนินการที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในพื้นที่นั้นจำเป็นจะต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับประชาชนนอกพื้นที่ มิฉะนั้นจะมีปัญหาเหมือนที่ผ่านมา ที่สังคมภายนอกมองไปในพื้นที่และขาดความเข้าใจ ความละเอียดอ่อนของปัญหาที่เกิดขึ้น จึงทำให้มีการคัดค้านต่อต้านแนวทางการแก้ไขปัญหาที่จำเป็น สอดคล้องพื้นที่เป็นการเฉพาะ เพื่อชีวิตของคนในพื้นที่อยู่อย่างสงบสุข เกิดความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม และสร้างความไว้วางใจระหว่างกันในท้ายที่สุด การอยู่ร่วมกันในสังคมปกติต่อไป” นายกฯ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น