xs
xsm
sm
md
lg

“ตอลิบาน”ยึดครองจังหวัดในอัฟกานิสถาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สหรัฐฯเพิ่งถอนทหารของตนออกจากที่มั่นสำคัญ 4 แห่งในจังหวัดนูริสถาน ซึ่งตั้งอยู่ติดพรมแดนปากีสถาน และปล่อยให้จังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอัฟกานิสถานแห่งนี้ กลายเป็นแหล่งพำนักพักพิงอันปลอดภัยสำหรับพวกผู้ก่อความไม่สงบที่นำโดยกลุ่มตอลิบาน โดยที่คนเหล่านี้ก็กำลังวางแผนประสานการทำสงครามในแนวรบด้านต่างๆ ของภูมิภาคแถบนี้

สหรัฐฯยังคงกองกำลังบางส่วนเอาไว้ในเมืองปารุน ซึ่งเป็นเมืองเอกของนูริสถาน เพื่อคอยรักษาความปลอดภัยให้แก่ตัวผู้ว่าการจังหวัดและสถานที่ต่างๆ ของรัฐบาล จุดยืนของอเมริกันในเรื่องการถอนทหารคราวนี้มีอยู่ว่า เนื่องจากกำลังย่างเข้าสู่ฤดูหนาว เส้นทางลำเลียงขนส่งต่างๆ จะอึดอัดขัดข้อง จึงทำให้เป็นเรื่องลำบากที่จะคงทหารเอาไว้ในพื้นที่ห่างไกล สหรัฐฯนั้นได้เคยถอนตัวออกจากพื้นที่บางแห่งมาก่อนแล้วในอดีต ทว่าไม่เคยทิ้งค่ายสำคัญรวดเดียว 4 แห่งเช่นนี้

นูริสถานตั้งอยู่ตรงจุดยุทธศาสตร์บนเทือกเขาฮินดูกูช โดยเป็นพื้นที่ทุรกันดารกว้างขวางซึ่งเชื่อกันว่าเป็นที่ซ่อนตัวของ อุซามะห์ บินลาดิน ผู้นำอัลกออิดะห์ และพวกคนสนิทของเขา

บัดนี้จังหวัดแห่งนี้ตกอยู่ในความควบคุมของเครือข่ายกองกำลังที่เป็นของ กอรี เซียอูร์ เราะห์มาน หัวหน้านักรบตอลิบานผู้มีสายสัมพันธ์อันแนบแน่นกับบินลาดิน เช่นนี้จึงทำให้นูริสถานกลายเป็นจังหวัดแรกของอัฟกานิสถานซึ่งถูกควบคุมโดยเครือข่ายกองกำลังที่ได้รับแรงบันดาลใจจากอัลกออิดะห์

ในการสนทนาสอบถามกันทางโทรศัพท์เมื่อวันพุธ(28) สมาชิกพวกหัวรุนแรงคนหนึ่งที่โยงใยกับเราะห์มานบอกว่า เวลานี้พวกเขาสามารถควบคุมนูริสถานเอาไว้ได้ และพวกหัวรุนแรงก็ “กำลังเดินทางมุ่งหน้าสู่ โมห์มันด์ และ บาจาอูร์ เพื่อช่วยเหลือเพื่อนนักรบตอลิบานของพวกเขาในการสู้กับกับกองทหารปากีสถาน” ทั้งนี้ โมห์มันด์ และ บาจารอูร์ คือ เขตชนเผ่า 2 เขตที่อยู่ถัดจากนูริสถานไปอีกฟากหนึ่งของชายแดน

กอรี เซียอูร์ เราะห์มานนั้น ไม่ได้เป็นบุตรชายของหัวหน้านักรบมุญะฮีดีนชื่อดังระดับตำนาน หากแต่บิดาของเขาเป็นนักการศาสนาที่มีชื่อว่า มาวลานา ดิลวาร์ สายสัมพันธ์ของเขาไม่ได้โยงใยอยู่กับกลุ่มต่างๆ ในปากีสถาน แต่เชื่อมไปถึงบินลาดิน โดยที่เขาได้รับการสอนสั่งบทเรียนต่างๆ เกี่ยวกับชีวิตของศาสดามุฮัมมัด

เซียอูร์ที่บัดนี้อายุ 30 ต้นๆ เติบโตขึ้นมาในค่ายของพวกหัวรุนแรงชาวอาหรับ โดยได้รับการปลูกฝังให้มีความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะต่อสู้กับพวกอเมริกัน –ไม่เพียงในอัฟกานิสถานเท่านั้น แต่ตลอดทั่วทั้งโลกทีเดียว เขาไม่ได้ก้าวขึ้นเป็นหัวหน้านักรบสืบเนื่องจากสิทธิทางชาติกำเนิดใดๆ แต่ต้องพิสูจน์ตนเองในสมรภูมิ

พื้นที่ที่เป็นเขตเขาของนูริสถาน (รวมทั้งจังหวัดคูนาร์ที่อยู่ติดกัน ตลอดจนพื้นที่ชนเผ่าเขตโมห์มันด์ และเขตบาจาอูร์ในปากีสถาน) คือดินแดนเขาวงกตตามธรรมชาติโดยแท้ จึงเป็นพื้นที่อุดมคติสำหรับพวกผู้ก่อความไม่สงบที่จะจัดตั้งเป็นที่พักพิงหลบภัย ประชาชนส่วนข้างมากในนูริสถานยังยึดมั่นอยู่กับสำนักคิดซาลาฟีอันเข้มงวดของศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่ ผลก็คือ พวกนักรบอาหรับซึ่งแทบทั้งหมดต่างก็นับถือแนวคิดซาลาฟีเช่นกัน จึงมักถูกดึงดูดให้เข้าสู่ดินแดนแถบนี้

การที่ตอลิบานสามารถเข้าควบคุมนูริสถานได้เช่นนี้ บังเกิดขึ้นในขณะที่กองทัพปากีสถานเปิดยุทธการใหญ่ในพื้นที่ชนเผ่าเขตเซาท์ วาซิริสถาน เพื่อปราบปรามกลุ่มตอลิบานส่วนที่เป็นชาวปากีสถาน (เตห์ริก-อี-ตอลิบาน ปากีสถาน) ที่หนุนหลังโดยอัลกออิดะห์ มาได้ 2 สัปดาห์แล้ว และสมาชิกพวกหัวรุนแรงที่พูดคุยกับเอเชียไทมส์ออนไลน์ทางโทรศัพท์ระบุว่า เวลานี้นับเป็นโอกาสเหมาะที่จะเปิดแนวรบใหม่อีกแนวหนึ่ง โดยที่กองกำลังของเซียอูร์ เราะห์มานจะสู้รบอยู่ทางฝั่งอัฟกัน ส่วนกำลังของ โมลวี ฟากีร์ โมฮัมหมัด ก็ต่อสู้ทางฝั่งบาจาอูร์ และโมห์มันด์

พื้นที่แถบนี้ยังเป็นที่พักพิงของพวกหัวรุนแรงพลัดถิ่นจากหุบเขาสวัตของปากีสถาน ซึ่งต้องถอนตัวจากหุบเขาดังกล่าวเมื่อไม่กี่เดือนก่อน ภายหลังกองทัพเปิดการรุกใหญ่ เชื่อกันว่าพวกหัวรุนแรงพลัดถิ่นเหล่านี้กำลังรวมตัวจัดกำลังกันใหม่ และเตรียมตัวกลับไปเปิดปฏิบัติการในสวัตอีก ทันทีที่หิมะฤดูหนาวตกลงมาปิดกั้นเส้นทาง จนทำให้การลำเลียงยุทธสัมภาระของฝ่ายทหารเป็นไปด้วยความยากลำบาก

การถอนตัวออกจากนูริสถานของสหรัฐฯ ถ้าหากกลายเป็นเรื่องถาวรแล้ว ก็จะเป็นการหนุนส่งพวกตอลิบานในทั่วทั้งภูมิภาคแถบนี้อย่างชนิดไม่เคยปรากฏมาก่อน ในระยะเฉพาะหน้าเลย พวกเขาจะมีที่มั่นซึ่งดีขึ้นมากในการดำเนินการก่อกวนการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบสองในเดือนหน้า ที่จะเป็นการแข่งขันกันระหว่าง ฮามิด คาร์ไซ ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน กับผู้ท้าชิง อับดุลเลาะห์ อับดุลเลาะห์

เหตุการณ์ต่อไปข้างหน้าจะเป็นอย่างไร น่าจะเห็นเป็นตัวอย่างได้จากการโจมตีในวันพุธ(28)ของพวกตอลิบาน ที่มุ่งเล่นงานอาคารที่พักแห่งหนึ่งในกรุงคาบูล เหตุรุนแรงครั้งนี้ได้สังหารผู้คนไปอย่างน้อย 12 คน ในจำนวนนี้เป็นลูกจ้างพนักงานขององค์การสหประชาชาติ 6 คน, เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย 2 คน, และพลเรือนอีกคนหนึ่ง ทั้งนี้ตามรายงานของตำรวจและพวกเจ้าหน้าที่ยูเอ็น ตำรวจคาบูลบอกว่า ผู้ก่อเหตุ 3 คนซึ่งสวมสายคาดแบบมือระเบิดฆ่าตัวตายกันทุกคนนั้น ก็เสียชีวิตทั้งหมดเช่นกัน

(เก็บความและตอนตอนจากเรื่อง Taliban take over Afghan province โดย Syed Saleem Shahzad หัวหน้าสำนักงานปากีสถานของเอเชียไทมส์ออนไลน์)
กำลังโหลดความคิดเห็น