xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มหัวรุนแรงปากีสถานยัง‘อยู่’ไม่ว่าไบตุลเลาะห์‘เป็น’หรือ‘ตาย’

เผยแพร่:   โดย: ไซเอด ซาลีม ชาห์ซาด

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

More of the same for Baitullah’s fighters
By Syed Saleem Shahzad
11/08/2009

องค์การ “เตห์ริก-ไอ-ตอลิบาน ปากีสถาน” ของไบตุลเลาะห์ เมห์ซูด เป็นการรวมตัวกันอย่างหลวมๆ ของพวกอิสลามิสต์หัวรุนแรงหลายๆ กลุ่ม สิ่งที่ผูกพันพวกเขาเข้าด้วยกันก็คืออุดมการณ์ซึ่งทำให้พวกเขาต่อต้านรัฐและกองทัพปากีสถานที่ทำตัวเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ กลุ่มเหล่านี้มีความเป็นอิสระสูงมาก และยังจะคงเป็นเช่นนั้นต่อไป ถึงหากว่ารายงานเรื่องไบตุลเลาะห์เสียชีวิตจากการโจมตีด้วยขีปนาวุธของสหรัฐฯจะกลายเป็นความจริงขึ้นมา

อิสลามาบัด– ยังคงสับสนเหลือเกิน เกี่ยวกับชะตากรรมของผู้นำกลุ่ม เตห์ริก-ไอ-ตอลิบาน ปากีสถาน(Tehrik-i-Taliban Pakistan หรือ TTP) ไบตุลเลาะห์ เมห์ซูด (Baitullah Mehsud) เขาเสียชีวิตไปแล้วจริงหรือไม่ จากการโจมตีของเครื่องบินไร้นักบินแบบ เพรเดเตอร์ ของสหรัฐฯในพื้นที่ชาวชนเผ่าเขตเซาท์วาซิริสถาน (South Waziristan) เมื่อวันพุธที่ 5 สิงหาคม? สภาพเช่นนี้จึงทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า กลุ่มของเขาจะอยู่รอดและเติบโตต่อไปได้หรือไม่

นักวิเคราะห์บางคนบอกว่า ทีทีพี เป็นการรวมตัวกันอย่างหลวมๆ ของพวกหัวรุนแรงตอลิบานหลายๆ กลุ่มในปากีสถาน สืบเนื่องจากการขัดแย้งกับรัฐบาลกลางเป็นสำคัญ ดังนั้นหากหัวหน้ากลุ่มสิ้นชีวิต ก็จะเกิดการแตกแยกกระจัดกระจาย กลุ่มต่างๆ ที่เคยร่วมงานกันจะหันไปเน้นการปฏิบัติการตามลำพัง

กองงานประชาสัมพันธ์ของ กรมประมวลข่าวกรองกลาง (Inter-Services Intelligence) ซึ่งเป็นหน่วยงานใต้อิทธิพลของกองทัพบกปากีสถาน ก็พยายามเข้ามามีเอี่ยวด้วยการเสนอรายงานหลายๆ ชิ้นเกี่ยวกับทีทีพี รายงานเหล่านี้จำเป็นจะต้องพิจารณากันอย่างระมัดระวังทีเดียว เมื่อคำนึงถึงข่าวคราวอันน่าสงสัยของหน่วยงานนี้ ในช่วงไม่กี่วันภายหลังการเข้าโจมตีของเครื่องบินไร้คนขับที่เซาท์วาซิริสถาน

กล่าวคือ กรมประมวลข่าวกรองกลางปากีสถานระบุว่า ทั้ง วาลิอูร์ เราะห์มาน (Waliur Rahman) ผู้ช่วยและโฆษกของไบตุลเลาะห์ และ ฮาคิมุลลาห์ เมห์ซูด (Hakimullah Mehsud) ที่มีศักยภาพจะเป็นทายาทสืบทอดอำนาจต่อจากไบตุลเลาะห์ ต่างเสียชีวิตไปแล้วเช่นกัน ว่ากันว่าบุคคลทั้งสองสิ้นชีพไปในการยิงต่อสู้กัน ระหว่างการประชุมถกเถียงเรื่องผู้ที่จะขึ้นดำรงตำแหน่งสืบต่อจากไบตุลเลาะห์

อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นทั้งคู่ก็มีการออกมาติดต่อทางโทรศัพท์กับสื่อมวลชนด้วยตนเอง เพื่อปฏิเสธรายงานข่าวเหล่านี้ โดยที่ตอลิบานแถลงด้วยว่า ในเร็วๆ นี้พวกเขาจะเสนอหลักฐานข้อพิสูจน์ให้เห็นชัดๆ ว่าไบตุลเลาะห์ยังมีชีวิตอยู่

**องค์การที่ค่อยๆ กลายเป็นจุดรวมของพวกหัวรุนแรง**

เตห์ริก-ไอ-ตอลิบาน ปากีสถาน ซึ่งแปลว่า ขบวนการตอลิบานแห่งปากีสถาน ต้อนรับพวกหัวรุนแรงจากทั้งอัฟกานิสถานและปากีสถานที่ปฏิญาณว่าจะจงรักภักดีต่อ มุลลาห์ โอมาร์ (Mullah Omar) ผู้นำตอลิบาน ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงเรียกตัวเองเป็นตอลิบานไปด้วย ถึงแม้พวกเขายังได้ดูดซับอุดมการณ์ ตัคฟิริ (Takfiri) ของพวกอัลกออิดะห์ ซึ่งให้คำอธิบายว่ารัฐปากีสถานนั้นเป็น ดารุล ฮาร์บ (Darul Harb ดินแดนแห่งสงคราม) และกองทัพปากีสถาน ที่กำลังทำตัวเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ ก็คือพวกนอกศาสนา

กลุ่มนี้ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2007 ในบริเวณเขตเซาท์วาซิริสถาน และนอร์ทวาซิริสถาน ซึ่งเป็นพื้นที่ชาวชนเผ่าที่อยู่ประชิดพรมแดนอัฟกานิสถาน แล้วก็สามารถขยายตัวอย่างรวดเร็วไปสู่พื้นที่อื่นๆ กลุ่มทีทีพีไม่ได้มีโครงสร้างพื้นฐานชนิดที่เป็นทางการ เป็นต้นว่าไม่มีทั้งกองคลังส่วนกลาง, คลังแสง, หรือกองเสนาธิการส่วนกลาง แต่ทั้งนี้ต้องระลึกไว้ด้วยว่าข้อมูลเหล่านี้เผยแพร่โดยกองงานประชาสัมพันธ์ของกรมประมวลข่าวกรองกลางปากีสถาน

แทนที่จะมีโครงสร้างพื้นฐานตรงส่วนกลาง ขุนศึกทั้งหลายที่เข้ามาร่วมอยู่ในทีทีพี ต่างก็จะมีทรัพยากรและยุทธศาสตร์ที่เป็นอิสระของตนเอง เพียงแต่มุ่งทำงานเพื่อจุดประสงค์อย่างเดียวกันและมีอุดมการณ์ร่วมกัน พวกเขาจะประสานงานกับขุนศึกคนอื่นๆ เป็นครั้งคราว ตัวอย่างเช่น กอรี ซอฟาร์ (Qari Zafar) ผู้นำของกลุ่มหัวรุนแรงปากีสถานที่มีชื่อว่า ลัชคาร์-อี-จังวี (Lashkar-e-Jhangvi) ก็ได้เคยประสานการปฏิบัติการกับไบตุลเลาะห์มาหลายครั้ง

ผู้เล่นคนสำคัญอีกคนหนึ่งในวงโคจรของ ทีทีพี คือ มุลลาห์ ฟาซลุลเลาะห์ (Mullah Fazlullah) ผู้มีสมญานามว่า “มุลลาห์ วิทยุ” (Radio Mullah) และเป็นผู้นำของกลุ่ม เตห์ริก-นิฟาซ-ไอ-ชาริอัต-ไอ-โมฮัมมาดี (Tehrik-Nifaz-i-Shariat-i-Mohammadi) ในเขตมาลาคันด์ (Malakand Agency)

ไบตุลเลาะห์เคยส่งนักรบจำนวนหนึ่งไปช่วยเหลือฟาซลุลเลาะห์ ในช่วงต้นๆ ที่กองทัพปากีสถานเปิดยุทธการในพื้นที่ของเขาเมื่อปี 2007 ตลอดจนที่เขตสวัต (Swat) ในปีนี้ ทว่าเมื่อพิจารณากันในสาระสำคัญแล้ว ฟาซลุเลาะห์ต่อสู้กับกองทัพปากีสถานอย่างเป็นอิสระโดยใช้ทรัพยากรของตัวเขาเอง

กอรี ซิอูร์ เราะห์มาน (Qari Ziaur Rahman) ผู้บัญชาการสูงสุดของตอลิบานในจังหวัดคูนาร์ (Kunar) และจังหวัดนูริสถาน (Nuristan) ของอัฟกานิสถาน และเขตบาจาอูร์ (Bajaur Agency) กับเขตโมฮามันด์ (Mohamand Agency) ในปากีสถาน ก็เปิดการเชื่อมโยงกับไบตุลเลาะห์ ภายหลังกองกำลังขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) เปิดยุทธการหัวใจสิงห์ (Operation Lion Heart) ในปี 2008 ที่พุ่งเป้าหมายเล่นงานพวกผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดคูนาร์ อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองฝ่ายยังคงอยู่ในระดับจำกัด

ไบตุลเลาะห์ยังอาศัยฮาคิลมุลลาห์ เมห์ซูด ผู้เป็นลูกพี่ลูกน้องของตนเอง ทำให้สามารถร่วมมือประสานงานค่อนข้างโดยตรงกับพวกตอลิบานใน เดระ อะดัม เคล (Dera Adam Khel) เมืองเล็กๆ ในแคว้นพรมแดนตะวันตกเฉียงเหนือ (North-West Frontier Province) ของปากีสถาน ตลอดจนในเขตโอราคไซ (Orakzai Agency) และเขตคูร์ราม (Kurram Agency) ในดินแดนชนเผ่าที่ปกครองโดยรัฐบาลกลาง (Federally Administered Tribal Areas) ของปากีสถานเช่นกัน

พลังที่ผนึกรวมเอากลุ่มอันหลากหลายเหล่านี้เข้าไว้ด้วยกันก็คืออุดมการณ์ มีความเป็นไปได้ว่าถ้าหากไบตุลเลาะห์สิ้นชีวิตไปจริงๆ พวกเขาอาจจะไม่คัดเลือกหาตัวหัวหน้ากลุ่มคนใหม่ แล้วแต่ละกลุ่มจะปฏิบัติการกันอย่างเป็นอิสระยิ่งขึ้นอีก ทว่ายังคงปฏิญาณรับรองว่ามุลลาห์ โอมาร์ เป็นหัวหน้าของพวกตน และอัลกออิดะห์คืออุดมการณ์ของพวกตน ทั้งนี้ไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่คนอย่างฟาซลุลเลาะห์จะยอมวางอาวุธ

ข้อเท็จจริงก็คือ เวลานี้ เตห์ริก-อี-ตอลิบาน ปากีสถาน ก็มีลักษณะเป็นการรวมกลุ่มกันอย่างหลวมๆ ไม่มีความแน่นอนชัดเจนของกลุ่มต่างๆ ที่ยังคงความเป็นอิสระของตนเอาไว้ค่อนข้างมาก โดยที่ไม่ได้มีโครงสร้างหรือการบังคับบัญชาเป็นชั้นๆ อย่างเป็นทางการมากมายเกินไป ด้วยเหตุนี้จึงเป็นกลุ่มที่ยากจะจำกัดความอย่างชัดเจนลงไป อย่าว่าแต่จะเข้ากวาดล้างทำลายเลย และสภาพเช่นนี้ยังจะดำรงคงอยู่ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีไบตุลเลาะห์

ไซเอด ซาลีม ชาห์ซาด เป็นหัวหน้าสำนักงานปากีสถานของเอเชียไทมส์ออนไลน์ สามารถที่จะติดต่อกับเขาได้ทางอีเมล์ saleem_sharzad2002@yahoo.com
กำลังโหลดความคิดเห็น