xs
xsm
sm
md
lg

กองทหารสหรัฐฯในอัฟกานิสถานบุก‘เฮลมันด์’

เผยแพร่:   โดย: ไบรอัน เอ็ม ดาวนิง

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Crossing the Helmand
By Brian M Downing
07/07/2009

เป้าหมายอันทะเยอทะยานของสหรัฐฯจากการเพิ่มกำลังทหารเข้าไปในอัฟกานิสถานนั้น มีทั้ง เพื่อขับไล่พวกตอลิบาน, ลิดรอนการค้าฝิ่น, และเอาชนะทั้งจิตใจและความคิดของชาวอัฟกานิสถาน เวลานี้ความมุ่งมั่นที่จะทำให้ได้ตามเป้าหมายเหล่านี้กำลังเผชิญกับการทดสอบอันเข้มงวดจริงจังในจังหวัดเฮลมันด์ จากการที่กองทัพสหรัฐฯเริ่มต้นการโจมตีด้วยการบุกเข้าไปในที่มั่นอันเข้มแข็งของพวกตอลิบานเช่นนี้ พวกเขาก็ดูเหมือนจะกำลังละเลยหลักการพื้นฐานข้อหนึ่งของสงครามต่อต้านการก่อความไม่สงบ อันได้แก่ –พึงเริ่มต้นในเขตที่การสนับสนุนพวกผู้ก่อความไม่สงบอยู่ในสภาพอ่อนแอ

การที่กองกำลังทหารสหรัฐฯเปิดฉากการบุกโจมตีเมื่อต้นเดือนนี้ในจังหวัดเฮลมันด์ (Helmand) ที่อยู่ทางภาคใต้ของอัฟกานิสถาน เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการเริ่มต้นบทใหม่ของสงครามนี้ จากการใช้กำลังทหารสหรัฐฯกว่า 4,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนาวิกโยธิน ก็ทำให้มันกลายเป็นยุทธการครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในสงครามอัฟกานิสถาน ที่เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อปลายปี 2001 ด้วยการขับไล่พวกตอลิบานพ้นจากอำนาจ

เป้าหมายต่างๆ ของยุทธการคราวนี้นับว่าสูงลิ่วทีเดียว ประการแรก การยุทธ์ครั้งนี้มุ่งหาทางขับไล่พวกตอลิบานออกไปจากพื้นที่แถบนี้ จากนั้นก็จะเริ่มดำเนินพวกโครงการต่อต้านการก่อความไม่สงบ ด้วยการให้บริการด้านต่างๆ แก่ประชาชนท้องถิ่น เพื่อเอาชนะใจทำให้พวกเขาหันมาอยู่ทางฝ่ายรัฐบาล การบุกคราวนี้ยังดูมีจุดมุ่งหมายที่จะหาทางรบกวนการค้าฝิ่นในเฮลมันด์ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สร้างรายได้จำนวนมากให้แก่พวกตอลิบาน ตลอดจนเพื่อทำให้พวกตอลิบานเสียศูนย์ จะได้ลดรากระแสการโจมตีเพื่อก่อกวนการเลือกตั้งระดับชาติในอัฟกานิสถาน ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 20 สิงหาคม

มีปัญหาที่อาจจะบังเกิดขึ้นรวม 2 ประการผุดขึ้นมาในใจ ประการแรก ถึงแม้ยุทธการคราวนี้มีขนาดที่เล็กกว่าพวกยุทธการครั้งใหญ่ๆ ในสงครามเวียดนาม แต่ก็ยังน่าจะใหญ่พอที่จะทำให้ประชาชนในท้องถิ่นเกิดความตระหนกตกใจ ผู้คนเหล่านี้จำนวนมากทีเดียวกำลังมีความลังเลโดยที่รู้สึกทั้งในทางบวกและในทางลบเกี่ยวกับพวกตอลิบาน ทว่าพร้อมที่จะประณามกองทหารสหรัฐฯว่านำเอาสงครามมาสู่เขตพื้นที่ของพวกเขา สภาพเช่นนี้จะทำให้พวกตอลิบานได้รับการสนับสนุนเพิ่มมากขึ้น ในลักษณะพลวัตแห่ง “จรยุทธ์โดยไม่ได้ตั้งใจ” (accidental guerrilla) ที่กล่าวถึงโดย เดวิด คิลคุลเลน (David Kilcullen) อดีตนายทหารบกชาวออสเตรเลียที่ปัจจุบันหันมาเป็นนักเขียน

ประการที่สอง หลักทฤษฎีในการต่อต้านการก่อความไม่สงบนั้น เรียกร้องให้เริ่มต้นในเขตที่ “ง่าย” ก่อน อันหมายถึงพื้นที่ซึ่งการสนับสนุนผู้ก่อความไม่สงบอยู่ในสภาพค่อนข้างอ่อนแอ และการควบคุมของทางรัฐบาลก็ค่อนข้างเข้มแข็ง จากพื้นที่ตรงนั้น เมื่อได้เรียนรู้สภาพต่างๆ เป็นอย่างดีแล้ว การปฏิบัติการต่อต้านการก่อความไม่สงบก็สามารถที่จะขยายไปสู่บริเวณใกล้เคียงกัน หรือเริ่มเข้าไปในพื้นที่ซึ่งลำบากยากเย็นมากกว่า ยุทธการในปัจจุบันกำลังละเลยหลักการข้อนี้ และเลือกที่จะเริ่มต้นในที่มั่นอันเข้มแข็งแห่งหนึ่งของตอลิบาน

การที่เลือกเฮลมันด์เป็นจุดเริ่มต้นของการต่อต้านการก่อความไม่สงบนั้น บางทีอาจจะเป็นเพราะมีการคำนึงถึงสภาพทางภูมิศาสตร์มากกว่าหลักทฤษฎีทางทหาร พื้นที่ในจังหวัดนี้ค่อนข้างราบเมื่อเปรียบเทียบกับพวกจังหวัดกันดาฮาร์ (Kandahar), ปักเตีย (Paktia), และ คูนาร์ (Kunar) ซึ่งบริเวณแถวไหล่เขาต่างๆ อาจถูกพวกผู้ก่อความไม่สงบใช้เป็นที่มั่นอันน่าเกรงขาม คอยสาดกระสุนโจมตีเส้นทางลำเลียง ตลอดจนเล่นงานกองกำลังตอบโต้ที่เคลื่อนพลมาทางเฮลิคอปเตอร์ ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ การส่งกำลังบำรุงเข้าไปเสริมและการตอบโต้ต่อการโจมตีของพวกตอลิบานอย่างเข้มแข็ง จึงจะสามารถกระทำได้อย่างเสี่ยงอันตรายน้อยกว่าเมื่ออยู่ในเฮลมันด์

ขณะนี้การปะทะสู้รบกันยังคงมีน้อยและเป็นไปชั่วระยะสั้นๆ ถึงแม้มีรายงานในช่วงหลังๆ บ่งชี้ว่ากำลังเกิดการต้านทานอย่างเหนียวแน่นมากขึ้นในบางจุด ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าพวกตอลิบานกำลังสลายตัวเข้าไปปะปนกับชาวบ้าน หรือกำลังเคลื่อนไปป้องกันที่มั่นซึ่งเห็นว่าจะสามารถรักษาเอาไว้ได้ แต่ไม่ควรมีใครเชื่อว่า เวลานี้สหรัฐฯสามารถที่จะขีดฆ่าเฮลมันด์ออกไป แล้วรวมศูนย์กำลังไปยังกันดาฮาร์ หรือจุดที่เข้มแข็งจุดอื่นๆ

ประสบการณ์ของการก่อความไม่สงบในที่อื่นๆ สามารถชี้แนะยุทธวิธีมากมายให้แก่พวกตอลิบาน ในจำนวนนี้ย่อมได้แก่การหาทางโจมตีตัดการลำเลียงสัมภาระต่างๆ ที่กำลังมุ่งไปสู่ฐานปฏิบัติการทั้งหลายในจังหวัดนี้ ยุทธวิธีเช่นนี้สามารถกระทำได้ด้วยการซุ่มตี และการใช้วัตถุระเบิดแสวงเครื่อง (improvised explosive devices หรือ IEDs) ซึ่งกำลังกลายเป็นยุทธวิธีที่พวกตอลิบานนิยมเลือกใช้ นับตั้งแต่ความพยายามราคาแพงในยุทธการขนาดใหญ่ๆ เมื่อปี 2007

การกระจายกองทหารสหรัฐฯออกไปอยู่ตามที่มั่นขนาดเล็กๆ และตามจุดตรวจต่างๆ มักตกเป็นเป้าหมายดึงดูดใจให้พวกนักรบตอลิบานที่มีกำลังไม่กี่สิบคนเข้าโจมตี ขณะที่หน่วยจรยุทธ์อื่นๆ ที่เป็นมิตรกัน ก็จะวางแนวซุ่มตีพวกกองกำลังที่จะเข้าไปช่วยเหลือ พวกตอลิบานยังอาจจะเลือกใช้วิธีเปิดการโจมตีในเขตต่างๆ จำนวนหนึ่งทั่วประเทศ เพื่อกดดันให้สหรัฐฯถอนทหารออกจากเฮลมันด์ และเพื่อก่อกวนการเลือกตั้งในเดือนสิงหาคม

สิ่งสำคัญที่สุดในการตอบโต้ของพวกตอลิบาน ก็คือการก่อกวนความพยายามต่างๆ ที่จะดำเนินมาตรการต่อต้านการก่อความไม่สงบ พวกผู้ก่อความไม่สงบจะหาทางลอบสังหารผู้อาวุโสและคนอื่นๆ ที่ทำท่าจะหันมาร่วมมือกับกองทหารสหรัฐฯ พวกเขายังอาจหันไปเน้นการโจมตีกองกำลังอาวุธท้องถิ่นที่จัดตั้งขึ้นหมาดๆ ก่อนที่กองกำลังเหล่านี้จะสามารถรวมตัวกันติดจนกลายเป็นกำลังสู้รบที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนเข้าทำลายพวกศูนย์ส่งกำลังบำรุงที่เก็บรวบรวมเครื่องมืออุปกรณ์สำหรับโครงการพัฒนาท้องถิ่น ในการปะทะกันทุกๆ ครั้ง พวกตอลิบานจะต้องหาทางทำให้มั่นใจว่ากองทหารสหรัฐฯจะทำให้พลเรือนต้องบาดเจ็บล้มตาย

หากพวกตอลิบานประสบความล้มเหลวในการขัดขวางการดำเนินโครงการต่อต้านการก่อความไม่สงบในเฮลมันด์ พวกเขาก็อาจจะต้องประสบกับการหนีทัพของนักรบพาร์ตไทม์จำนวนหนึ่ง ซึ่งเข้ามาทำให้กองกำลังสู้รบของพวกเขาดูใหญ่โตยิ่งขึ้น นอกจากนั้นพวกเขายังต้องเผชิญอันตรายที่ท้องถิ่นอาจเปลี่ยนการสนับสนุน เมื่อประสบกับหน่วยงานที่แม้ทรัพยากรจะเป็นต่างชาติทว่ามีปริมาณที่เรียกได้ว่าไม่มีขีดจำกัด

เฮลมันด์จะกลายเป็นการทดสอบว่าชาวปาชตุน (Pashtun) สามารถที่จะตอบสนองให้การยอมรับการต่อต้านการก่อความไม่สงบได้มากน้อยเพียงใด พวกเขาจะสนองตอบต่อบริการต่างๆ ของรัฐบาลและเข้าร่วมในกองกำลังรักษาความมั่นคงปลอดภัย หรือว่าจังหวัดแห่งนี้ได้แปรสภาพกลายเป็นมีความผูกพันใกล้ชิดกับพวกตอลิบานในตลอดหลายปีที่ผ่านมา? เวลานี้กองกำลังอาวุธต่างๆ เข้าประจำที่แล้ว และเดิมพันที่จะต้องช่วงชิงก็เป็นที่ประจักษ์แจ่มแจ้งแก่ทุกๆ ฝ่าย ขณะนี้จึงเปรียบได้กับว่า ลูกเต๋าได้ถูกทอดลงมาแล้วในเฮลมันด์

ไบรอัน เอ็ม ดาวนิง เป็นนักเขียนที่มีผลงานจำนวนมากในด้านประวัติศาสตร์การเมืองและการทหาร เป็นต้นว่า The Military Revolution and Political Change และ The Paths of Glory: War and Social Change in America from the Great War to Vietnam สามารถที่จะติดต่อกับเขาได้ที่ brianmdowning@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น