xs
xsm
sm
md
lg

อัลกออิดะห์ตีโต้กลับที่ละฮอร์

เผยแพร่:   โดย: ไซเอด ซาลีม ชาห์ซาด

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Al-Qaeda strikes back in Lahore
By Syed Saleem Shahzad
28/05/2009

การโจมตีแบบฆ่าตัวตายที่เมืองละฮอร์เมื่อวันพุธ(27) ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตไป 23 คนนั้น ไม่ได้เป็นอย่างที่เชื่อกันกว้างขวางว่าเป็นการกระทำเพื่อตอบโต้แก้แค้นกองทัพปากีสถานที่เข้าโจมตีพวกหัวรุนแรงในเขตสวัต แท้ที่จริงแล้วพวกอัลกออิดะห์ต่างหาก ที่วางแผนและให้ความสนับสนุนทางการเงินแก่ภารกิจคราวนี้ เนื่องจากแหล่งหลบภัยสำคัญของพวกเขาในบริเวณชายแดนติดกับอัฟกานิสถาน ได้ถูก “ล่วงละเมิด”

การาจี – เขต “ซิวิล ไลน์” (Civil Line) ของเมืองละฮอร์ นครใหญ่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของปากีสถาน และก็เป็นเมืองหลวงของแคว้นปัญจาบ มีชื่อเสียงในเรื่องโชว์รูมรถยนต์อันหรูหราอลังการ และเป็นที่ตั้งของกองบัญชาการตำรวจประจำนคร

อย่างไรก็ดี ตอนเช้าวันพุธ(27) พวกหัวรุนแรงที่เกี่ยวโยงกับกลุ่มอัลกออิดะห์มุ่งจับจ้องไปที่อาคารซึ่งไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกันนัก แต่แท้จริงแล้วเป็นที่ตั้งสำนักงานปฏิบัติการของหน่วยงานลับสำคัญที่สุดของปากีสถาน นั่นคือ กรมประมวลข่าวกรองกลาง (Inter-Services Intelligence หรือ ISI) ซึ่งกำลังทำงานอย่างแข็งขันเพื่อกำจัดขับไล่พวกเครือข่ายนักรบญิฮัดให้ออกไปจากปัญจาบ

ทว่าพวกยามของตึกที่ทำการไอเอสไอ บังเกิดความสงสัยรถตู้สีแดงที่พวกหัวรุนแรงซ่อนตัวกันอยู่ และเลยเปิดฉากยิงใส่ ขณะที่พวกหัวรุนแรงยิงตอบโต้กลับ พวกเขาก็ได้เบนเป้าหมายไปยังสำนักงานรับเหตุฉุกเฉินของตำรวจ และจุดระเบิดที่มีอานุภาพรุนแรงมาก ซึ่งได้สังหารผู้คนไปอย่างน้อย 23 คน อีกทั้งทำให้มีผู้บาดเจ็บหลายร้อย

ได้มีการวางแผนเปิดการโจมตีทำนองเดียวกันต่อกองบัญชาการของไอเอสไอในเมืองหลวงอิสลามาบัดด้วย ทว่าพวกคนร้ายได้ถูกรวบตัวในวันพุธก่อนที่พวกเขาจะลงมือก่อเหตุ

ประธานาธิบดีอาซิฟ อาลี ซาร์ดารี และนายกรัฐมนตรียูซุฟ ราซา กิลานี ต่างรีบออกมาประณามการโจมตีคราวนี้ อันเป็นครั้งที่สามแล้วที่เกิดขึ้นในเมืองละฮอร์ ในครั้งอื่นๆ ได้แก่เหตุการณ์เมื่อวันที่ 3 มีนาคม ซึ่งพวกมือปืนได้สังหารตำรวจอารักขาไป 6 คนในการซุ่มโจมตีคณะนักกีฬาคริกเกตทีมชาติศรีลังกา และการโจมตีโรงเรียนตำรวจเมื่อวันที่ 30 มีนาคม ซึ่งมีผู้เสียชีวิตไป 8 คน

ปัญจาบนั้นเป็นแคว้นใหญ่ที่สุดของปากีสถาน โดยมีประชากรประมาณ 82 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นราวๆ ครึ่งหนึ่งของประชาชนทั่วทั้งประเทศ นอกจากนั้น เนื่องจากคนปัญจาบเข้าไปเป็นทหารในกองทัพกันมากเป็นพิเศษ จึงเป็นที่รู้จักกันในฐานะเป็น “มือข้างที่ถืออาวุธ” ของประเทศชาติอีกด้วย

การโจมตีเมื่อวันพุธถูกมองกันอย่างกว้างขวางว่าเป็นการตอบโต้ต่อการเปิดยุทธการของฝ่ายทหารในแถบสวัต(Swat) ของแคว้นพรมแดนตะวันตกเฉียงเหนือ (North-West Frontier Province หรือ NWFP) ซึ่งในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เกิดการสู้รบอย่างดุเดือดเล่นงานพวกหัวรุนแรงตอลิบานและอัลกออิดะห์ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่เช่นนั้นเลย

จากการสืบสวนของเอเชียไทมส์ออนไลน์เผยให้เห็นว่า ในการตอบโต้ต่อปฏิบัติการของฝ่ายทหารในพื้นที่สวัตนั้น ไบตุลเลาะห์ เมห์ซูด (Baitullah Mehsud) ผู้นำพวกตอลิบานส่วนที่เป็นชาวปากีสถาน ได้ส่งคนจำนวนมากไปตามสถานที่ต่างๆ หลายแห่ง ทว่าคนเหล่านี้ทั้งหมดกลับประสบความล้มเหลวไม่สามารถเปิดการโจมตีใดๆ ได้เลย

กลุ่มใหญ่ที่สุดนั้นถูกส่งไปยังเมืองการาจี ซึ่งเป็นเมืองใหญ่สำคัญทางภาคใต้ของประเทศ สมาชิกในกลุ่มนี้ประกอบด้วย อัมจัด ซาเมียร์ คัตตัก (Amjad Zameer Khattak) ผู้ใช้นามแฝงว่า มูซารัต (Musarat) และ ตอลฮา (Talha) ซึ่งเป็นบุตรชายของ ซาดิก ซาเมียร์ (Sadiq Zameer) และเป็นคนที่อยู่ในแถบพื้นที่สวัต, โมฮัมหมัด อาซิม (Mohammad Asim) ที่มีนามแฝงว่า ทิปู สุลต่าน (Tipu Sultan) และ บาบู (Babu) เขาเป็นบุตรชายของ โมฮัมหมัด ฮาคีม ข่าน (Mohammad Hakeem Khan) แห่งนาวเชหรา (Nowshehra) ในแคว้นพรมแดนตะวันตกเฉียงเหนือ, โมฮัมหมัด ซาฟีร์ (Mohammad Safir) ผู้ใช้นามแฝงว่า ไซฟุลเลาะห์ (Saifullah), อัดนัน (Adnan) และ อับดุล ฮามีด (Abdul Hameed) พวกเขาทั้งหมดเป็นสมาชิกของกลุ่ม ลัชคาร์-อี-ฌังวี (Lashkar-e-Jhangvi) ซึ่งถูกทางการสั่งยุบไปแล้ว และกลุ่มฮาร์คาตุล มุญาฮีดีน (Harkatul Mujahideen) ทว่าเวลานี้พวกเขาเป็นพันธมิตรกับเครือข่ายที่นำโดย ไบตุลเลาะห์ เมห์ซูด
ดูเหมือนว่าพวกเขาเดินทางไปยังการาจีเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และวางแผนจะเข้าโจมตีแบบฆ่าตัวตายต่อสำนักงานใหญ่ของ ขบวนการมุตตาฮิดา กออูมิ (Muttahida Qaumi Movement) ซึ่งเป็นพวกต่อต้านตอลิบาน และเป็นพันธมิตรหนึ่งในคณะรัฐบาลผสมทั้งในระดับประเทศและระดับแคว้น พวกเขาต้องล้มเลิกแผนการนี้เมื่อพบว่าอาคารดังกล่าวมีการรักษาความปลอดภัยเข้มงวดเกินกว่าจะลงมือได้

พวกเขากำลังอยู่ในระหว่างการหาเป้าหมายแห่งอื่นอยู่ ตอนที่ข่าวคราวการเข้ามาของพวกเขารั่วไหลไปถึงตำรวจ แล้วคัตตัก กับ อาซิม ก็ถูกจับ คนอื่นๆ ที่เหลือพากันหลบหนีไปได้

การโจมตีนครละฮอร์เมื่อวันพุธนั้นมีรากเหง้าต้นตออยู่ที่ข้อตกลงระหว่างปากีสถานกับสหรัฐฯในช่วงวันท้ายๆ ของคณะรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู บุช โดยวอชิงตันถ่ายทอดข่าวสารผ่านทูตปากีสถานในสหรัฐฯว่า รู้สึกไม่พอใจเป็นอย่างยิ่งต่อการที่ปากีสถานไม่มีความแข็งขันในการพยายามจับกุมบุคคลดังๆ ของอัลกออิดะห์

ในช่วง 3 ปีของระยะเวลา 4 ปีหลังจากกองกำลังที่นำโดยสหรัฐฯเข้ารุกรานอัฟกานิสถานในปี 2001 และปากีสถานก็ได้ลงนามเข้าร่วมใน “สงครามต่อสู้การก่อการร้าย” ปากีสถานได้ไล่ล่าจับตัวคนดังๆ ได้หลายคนทีเดียว เป็นต้นว่า อะบู โซเบเดาะห์ (Abu Zobedah)} รามซี บินุล ชิบ (Ramzi Binul Shib), และ คาลิด เชก โมฮัมหมัด (Kkalid Sheikh Mohammad) ซึ่งเป็นที่ต้องการตัวในฐานะที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์โจมตีสหรัฐฯวันที่ 11 กันยายน 2001 การจับกุมบุคคลเหล่านี้เป็นการสร้างความชอบธรรมให้แก่การให้ความช่วยเหลือเป็นเงินก้อนโตที่สหรัฐฯให้แก่ปากีสถาน

แต่หลังจากนั้นความพยายามของปากีสถานก็ดูลดน้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชนเผ่า ซึ่งพวกเขาสูญเสียอำนาจอิทธิพลไปมากทีเดียว เนื่องจากพวกหัวรุนแรงสามารถขับไสกองกำลังกึ่งทหารให้พ้นจากพื้นที่เหล่านั้น ทางการอิสลามาบัดยังหวาดกลัวด้วยว่าเหตุการณ์โจมตีแบบฆ่าตัวตายจะเกิดเพิ่มมากขึ้น

ภายหลังเข้ารับตำแหน่งในเดือนมกราคมปีนี้ ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ก็ได้สานต่อเรื่องการส่งคำเตือนผ่านทูตปากีสถานของคณะรัฐบาลบุช และหลังจากนั้นไม่นาน เชก เอสซา อัลมิสรี (Sheikh Essa al-Misri) นักการศาสนาชาวอียิปต์ผู้เป็นนักอุดมการณ์ระดับสูงสุดคนหนึ่งของอัลกออิดะห์ ก็ถูกจับกุม

อะบู อัมโร อับดุล ฮาคีม (Abu Amro Abdul Hakeem) ซึ่งใช้นามแฝงว่า เชก เอสซา ปัจจุบันมีอายุ 70 ปีเศษ เขาไม่เคยเป็นที่นิยมชมชื่นอะไรนักในหมู่คณะผู้นำของอัลกออิดะห์ แต่เมื่อคำนึงถึงภูมิหลังของเขาแล้ว เขาก็ได้รับความเคารพยกย่องอย่างสูงในแวดวงนักรบญิฮัด เขาเคยเป็นสมาชิกของกลุ่มมุสลิม บราเธอร์ฮูด (Muslim Brotherhood) เมื่อช่วงทศวรรษ 1960 และมีความใกล้ชิดกับ อับดุล กอดีร์ เอาเดาะห์ (Abdul Qadir Audah) ผู้บัญชาการคนสำคัญของกลุ่มมุสลิม บราเธอร์ฮูด ที่ถูกสั่งประหารชีวิตโดยระบอบปกครองกามัล อับดุล นัสเซอร์ แห่งอียิปต์เมื่อปี 1960

เชก เอสซา ผู้ซึ่งฟื้นคืนดีจากอาการอัมพาต ได้ไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ชนเผ่าเขตวาซิริสถานเหนือ (North Waziristan) ในสภาพแวดล้อมที่มีความปลอดภัยมากๆ อย่างไรก็ตาม ขณะที่เขากำลังเดินทางไปยังการประชุมซึ่งจัดขึ้นที่เมืองไฟซาลาบัด (Faisalabad) ในแคว้นปัญจาบ เขาก็ถูกเจ้าหน้าที่ความมั่นคงตระครุบตัว การจับกุมคราวนี้เป็นเหตุให้เกิดความโกรธกริ้วอย่างใหญ่หลวงในแวดวงพวกหัวรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบรรดาพวกชาวอาหรับ

อย่างไรก็ดี ชนวนที่แท้จริงซึ่งทำให้เกิดเหตุการณ์โจมตีเมืองละฮอร์ โดยเป็นฝีมือของกลุ่มชาวปากีสถานมากกว่า 2 กลุ่มนั้น คือการดำเนินมาตรการเข้มงวดอย่างฉับพลันเมื่อไม่นานมานี้ ต่อพื้นที่พำนักหลบภัยอันสำคัญของพวกอัลกออิดะห์ในเขตโมห์มันด์ เอเยนซี (Mohmand Agency)

เมื่อ 10 วันก่อนหน้านั้น พวกเจ้าหน้าที่ความมั่นคงได้เข้าจับกุมบุคคลสัญชาติซาอุดี 4 คน พวกเขาได้รับการระบุชื่อเพียงว่า อาเหม็ด (Ahmed), อาลี (Ali), โมฮัมหมัด (Mohammad), และ โอไบดุลเลาะห์ (Obaidullah)และให้ข้อมูลแค่ว่าได้เดินทางมาจากซาอุดีอาระเบียไม่นานมานี้ นอกจากนั้นยังมีคนที่ชื่ออับดุลเลาะห์ (Abdullah) ซึ่งมาจากลิเบีย โดยที่ทั้งหมดถูกระบุว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านระเบิด และได้เคยไปพำนักอยู่ระยะหนึ่งในจังหวัดเฮลมันด์ (Helmand) ของอัฟกานิสถาน

อัลกออิดะห์ยังมีที่หลบภัยหลายแห่งในเขตบาจาอูร์ เอเยนซี (Bajaur Agency) ซึ่งก็เหมือนกับเขตโมห์มันด์ คืออยู่ติดชายแดนอัฟกานิสถาน โดยเขตบาจาอูร์ประชิดกับจังหวัดคูนาร์ (Kunar) และจังหวัดนูริสถาน (Nooristan) พวกผู้นำระดับสูงสุดของอัลกออิดะห์ รวมทั้ง อุซามะห์ บิน ลาดิน และผู้นำคนรองจากเขา นายแพทย์ อัยมาน อัลซอวาฮิรี ต่างได้เคยถูกพบเห็นอยู่เรื่อยๆ ในภูมิภาคแถบนี้ของอัฟกานิสถานและปากีสถาน การจับกุมตัวชาวซาอุดีเหล่านี้จึงเป็นการแสดงท่าทีเป็นปรปักษ์อย่างแท้จริงของปากีสถานต่อสถานที่หลบภัยของบุคคลระดับสูงที่สุดของอัลกออิดะห์

ผลลัพธ์ก็คือ อัลกออิดะห์วางแผนและให้เงินสนับสนุนการปฏิบัติการที่เมืองละฮอร์ กลุ่มจุนดุล ฟิดา (Jundul Fida) นำโดยหัวหน้ากองจรยุทธ์ชาญศึกชาวแคชเมียร์ อิลยาส กัศมีริ (Ilyas Kashmiri) เป็นผู้จัดหาความสนับสนุนด้านการส่งกำลังบำรุง และพวกหัวรุนแรงที่เชื่อมโยงกับ ไบตุลเลาะห์ เมห์ซูด ได้ถูกใช้ให้ปฏิบัติภารกิจโจมตีแบบฆ่าตัวตาย

**มุมมองใหม่**

มีความเป็นไปได้อย่างยิ่งที่จะเกิดเหตุการณ์โจมตีแบบก่อการร้ายดังเช่นครั้งล่าสุดที่เมืองละฮอร์นี้ขึ้นมาอีก พวกชนชั้นนำทางการเมืองและทางทหารของปากีสถานมีความมั่นอกมั่นใจว่า เหตุการณ์เช่นนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการยังความปราชัยให้แก่พวกหัวรุนแรงในสวัต และในเขตมาลาคันด์ เอเยนซี (Malakand Agency) โดยมีเงื่อนไขว่าฝ่ายการเมืองต้องสนับสนุนอย่างเป็นเอกฉันท์ต่อการปฏิบัติการทางทหาร

ในการบุกโจมตีระลอกล่าสุดในพื้นที่สวัต กองทัพบกยังคงยึดมั่นอยู่กับภารกิจของตน ถึงแม้เผชิญกับพฤติการณ์อันเหี้ยมโหดของพวกหัวรุนแรง ดังที่ได้พบศพไร้ศีรษะของนายทหารยศพันตรี 2 คนเมื่อเร็วๆ นี้ ความป่าเถื่อนเช่นนี้เห็นกันว่าเป็นฝีมือของกลุ่มกอรี ฮุสเซน (Qari Hussain) แห่งเขตวาซิริสถานใต้ (South Waziristan) และสมัครพรรคพวกชาวอุซเบกของเขา

ทางกองทัพตระหนักดีแก่ใจว่า ถ้าพวกเขาพ่ายแพ้ในยุทธการคราวนี้ ปากีสถานก็จะตกลงสู่วังวนแห่งความไร้เสถียรภาพ และกระทั่งอาจนำไปสู่การแปรปากีสถานให้ตกอยู่ใต้การปกครองของระบอบตอลิบาน (Talibanization) ก็ได้

คำพิพากษาเมื่อเร็วๆ นี้ของศาลสูงสุด ที่ให้ยกเลิกคำสั่งห้ามไม่ให้ผู้นำฝ่ายค้านและอดีตนายกรัฐมนตรี นาวาซ ชาริฟ เข้าแข่งขันรับเลือกตั้ง ต้องถือว่าเป็นการเอื้ออำนวยโอกาสอันดีสำหรับการสร้างเสริมระบบการเมืองให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

ชาริฟน่าที่จะลงแข่งขันในการเลือกตั้งซ่อมในอนาคตอันใกล้นี้ และคงจะชนะได้เข้าสู่รัฐสภา ต่อจากนั้นเขาก็อาจเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนที่กิลานี โดยที่เขาจะได้รับความสนับสนุนอย่างแน่นหนามั่นคง ซึ่งจะทำให้สามารถเปิดปฏิบัติการทางทหารปราบปรามพวกหัวรุนแรงได้ต่อไป

ไซเอด ซาลีม ชาห์ซาด เป็นหัวหน้าสำนักงานปากีสถานของเอเชียไทมส์ออนไลน์ สามารถติดต่อกับเขาได้ที่ saleem_shahzad2002@yahoo.com
กำลังโหลดความคิดเห็น