xs
xsm
sm
md
lg

อินโดนีเซียสังหารผู้ก่อการร้ายคนสำคัญ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กองกำลังปฏิบัติการพิเศษ 88 (Detachment 88) อันเป็นหน่วยงานต่อต้านการก่อการร้ายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติอินโดนีเซีย ประสบความสำเร็จในการปลิดชีพ นูร์ดิน โมฮัมเหม็ด ท็อป ผู้นำอิสลามิสต์หัวรุนแรงที่มีอันตรายมากที่สุดและเป็นที่ต้องการตัวมากที่สุดคนหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากการบุกจู่โจมตรวจค้นแล้วเกิดการยิงต่อสู้กัน ที่บ้านหลังหนึ่งในจังหวัดชวากลางเมื่อเช้ามืดวันพฤหัสบดีที่แล้ว(17)
นักวิเคราะห์หลายราย เป็นต้นว่า ไรซัล สุขมา ผู้อำนวยการบริหารของศูนย์เพื่อยุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศศึกษา ของอินโดนีเซียชี้ว่า ปฏิบัติการที่ได้รับคำชมเชยจากนานาชาติครั้งนี้ น่าที่จะยกระดับขวัญกำลังใจและความน่าเชื่อถือของตำรวจแดนอิเหนา อันเป็นสถาบันที่ถูกดูหมิ่นดูแคลนมานานว่ามั่วอยู่แต่กับการทุจริตคอร์รัปชั่นและความไร้ประสิทธิภาพ

อันที่จริง ก่อนหน้านี้ตำรวจได้เคยออกปฏิบัติจู่โจมทำนองเดียวกันนี้เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม โดยที่มีการแถลงข่าวใหญ่โตว่า สามารถทำลายแผนร้ายที่จะสังหารประธานาธิบดีซูซิโล บัมบัง ยุโธโยโน การปฏิบัติการคราวนั้นก็ได้ปลิดชีวิตคนร้ายไปได้หลายคน โดยที่เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบบางคนได้ช่วยสื่อมวลชนกระพือข่าวว่า นูร์ดิน ท็อปเป็นหนึ่งในผู้ถูกสังหาร อย่างไรก็ตาม เมื่อตำรวจตรวจค้นที่เกิดเหตุในเวลาต่อมา อีกทั้งตรวจสอบศพผู้ที่ถูกฆ่าทั้ง 3 คนอย่างละเอียด ก็ต้องออกมาแถลงยอมรับกันว่าไม่ได้มีผู้ก่อการร้ายระดับหัวโจกผู้นี้รวมอยู่ด้วย

การปฏิบัติการที่ดูเหมือนกับว่าล้มเหลวคราวนั้น เป็นเหตุให้เกิดการอภิปรายถกเถียงกันว่า ตำรวจจำเป็นจะต้องขอความร่วมมือจากกองทัพด้วยหรือไม่ เพื่อที่จะทำงานนี้ให้สำเร็จ ในช่วงกลางเดือนสิงหาคม กระทั่งประธานาธิบดียุโธโยโนซึ่งเป็นนายทหารเกษียณอายุระดับพล.อ. ก็ได้ออกมาพูดว่า ฝ่ายทหารของอินโดนีเซียสมควรที่จะ "มีที่ทาง" ในการต่อสู้ปราบปรามการก่อการร้าย กระนั้นก็ตาม ความพยายามในเรื่องนี้ยังคงอยู่ในมือของเจ้าหน้าที่รักษากฎหมายฝ่ายพลเรือนกันต่อมา

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาในภาพรวมแล้ว ต้องถือว่าอินโดนีเซียประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจทีเดียว นับตั้งแต่ที่ประธานาธิบดียุโธโยโนขึ้นครองอำนาจในปี 2004 ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับ เมกาวาตี ซูการ์โนบุตรี ประธานาธิบดีคนก่อนหน้า ก็ต้องยอมรับว่ายุโธโยโนเลือกวิธีที่เข้มข้นแข็งขันเพื่อมุ่งถอนรากถอนโคนพวกหัวรุนแรง

นอกจากนั้นเวลานี้ยังมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นที่จะมุ่งหาทางแก้ไขไปถึงสาเหตุรากเหง้าของการเกิดเหตุโจมตีของผู้ก่อการร้าย "สิ่งที่ผมเป็นห่วงยังไม่ใช่เรื่องการที่จะต้องจับตัวนูร์ดิน ท็อปให้ได้" รัฐมนตรีกลาโหม จูโวโน สุดาร์โซโน กล่าวเมื่อเร็วๆ นี้ "ผมรู้สึกเป็นห่วงมากกว่า เกี่ยวกับการที่เขากำลังกลายเป็นแบบอย่างของการปฏิบัติตัวเป็นโรบินฮู้ด"

จูโวโนบอกว่า ความยากจนและสภาพที่ประเทศมีการพัฒนาอย่างไม่เท่าเทียมกัน ได้ทำให้บางภาคส่วนในสังคมไร้สิทธิ์ไร้เสียง จนกระทั่งพวกคนหนุ่มที่หงุดหงิดผิดหวังมองไม่เห็นทางที่จะมีลืมหน้าอ้าปากได้ในทางเศรษฐกิจ กำลังตกเป็นเป้าหมายที่จะถูกกลุ่มหัวรุนแรงดึงเอาไปเป็นพวก อย่างไรก็ตาม สำหรับนูร์ดิน ท็อปนั้น เขากลับขึ้นชื่อลือชานักเรื่องการดึงคนเข้ามาทำงานกับเขา โดยที่มาจากกลุ่มต่างๆ ที่ผิดแผกแตกต่างกัน และมาจากทั่วทั้งเกาะชวา ซึ่งเป็นเกาะสำคัญที่สุดของอินโดนีเซีย

ตามความเห็นของ ซิดนีย์ โจนส์ นักวิเคราะห์ด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งทำงานให้กับกลุ่มอินเตอร์เนชั่นแนล ไครซิส กรุ๊ป (ไอซีจี) เธอบอกว่าในการที่พวกหัวรุนแรงดึงคนเข้ามาเป็นสมัครพรรคพวกนั้น สายสัมพันธ์ทางครอบครัวน่าจะมีน้ำหนักความสำคัญมากกว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจด้วยซ้ำ ทั้งนี้หากพิจารณาจากเครือข่ายของท็อป ซึ่งเป็นกลุ่มที่แยกตัวมาจากเจไอ โดยเราจะพบว่ามีทั้งพวกโรงเรียนสอนศาสนา, คลินิก, และกระทั่งสำนักพิมพ์ ซึ่งมีส่วนเชื่อมโยงกับเครือข่ายของเขาอย่างมั่นคง

ถึงแม้นักวิเคราะห์หลายๆ รายยังไม่แน่ใจว่าเครือข่ายของท็อปจริงๆ แล้วมีขนาดใหญ่โตแค่ไหน แต่ไอซีจีก็ทำนายเปรี้ยงออกมาแล้วว่า มีขนาดใหญ่โตและซับซ้อนกว่าที่นักวิเคราะห์จำนวนมากสงสัยกัน

ระหว่างการประชุมสัมมนาว่าด้วยเครือข่ายของท็อปเมื่อเร็วๆ นี้ โจนส์แห่งไอซีจีบอกว่า เขามีลูกน้องบริวารอย่างน้อยที่สุด 30-40 คน เธอบอกด้วยว่าเป็นที่รู้กันว่ากลุ่มหัวรุนแรงหลายกลุ่มไปหาสมัครพรรคพวกใหม่กันที่จังหวัดสุลาเวซีกลาง ด้วยความต้องการที่จะได้มือฉมังในเรื่องยิงปืนแม่นและเรื่องปฏิบัติการลอบสังหาร

แต่ก็มีนักวิเคราะห์คนอื่นๆ แย้งว่า กลุ่มของท็อปอยู่ในลักษณะการผสมปนเปกันระหว่างกลุ่มย่อยๆ หลายๆ กลุ่ม โดยที่ยังไม่ได้มีการรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่น

นักวิเคราะห์จำนวนมากมองเห็นว่า ฐานสนับสนุนของท็อปที่อยู่ในลักษณะเฉพาะกิจเฉพาะเรื่อง ทำให้เป็นเรื่องยากเย็นที่จะติดตามสืบค้น และจำเป็นต้องได้รับความสนับสนุนเพิ่มเติมจากตำรวจท้องถิ่นและผู้นำชุมชน เพื่อคอยเฝ้าติตตามการปฏิบัติการต่างๆ ของพวกกลุ่มหัวรุนแรงในพื้นที่ของพวกเขา

(เก็บความและตัดตอนจากเรื่อง Indonesia strikes a blow against terror ของ Sara Schonhardt นักเขียนอิสระที่ใช้กรุงจาการ์ตาเป็นฐาน เธอจบปริญญาโทด้านกิจการระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และพำนักและทำงานอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มา 6 ปีแล้ว)
กำลังโหลดความคิดเห็น