(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)
Indonesia strikes a blow against terror
By Sara Schonhardt
18/09/2009
บรรดาเจ้าหน้าที่รับผิดชอบในกรุงจาการ์ตาต่างยืนยันเมื่อวันพฤหัสบดี(17) ว่าสามารถสังหาร นูร์ดิน โมฮัมเหม็ด ท็อป ผู้ก่อการร้ายระดับหัวโจกใหญ่ จากการบุกจู่โจมและเกิดการยิงต่อสู้กันที่บ้านหลังหนึ่งในจังหวัดชวากลาง การสิ้นชีพของหนึ่งในพวกหัวรุนแรงซึ่งอันตรายที่สุดและเป็นที่ต้องการตัวมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือเช่นนี้ ย่อมเป็นการขจัดภัยคุกคามสำคัญไปได้ประการหนึ่ง ก่อนที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามาจะเดินทางมาเยือนประเทศนี้ ซึ่งคาดหมายกันว่าจะเป็นในเดือนพฤศจิกายน
จาการ์ตา - ตำรวจประสบความสำเร็จในการสร้างความเสียหายหนักให้แก่เครือข่ายผู้ก่อการร้ายสำคัญในอินโดนีเซียเมื่อวันพฤหัสบดี(17) หลังจากที่มีการยืนยันแน่นอนแล้วว่า นูร์ดิน โมฮัมเหม็ด ท็อป (Noordin Mohammed Top) บุคคลสำคัญระดับสูงสุดคนหนึ่งของพวกอิสลามิสต์หัวรุนแรง ได้สิ้นชีวิตแล้ว ภายหลังถูกกำลังตำรวจบุกจู่โจมและเกิดการยิงต่อสู้กัน ที่บ้านหลังหนึ่งในจังหวัดชวากลาง
การบุกโจมตีคราวนี้เป็นผลงานของ “กองกำลังปฏิบัติการพิเศษ 88” (Detachment 88) อันเป็นหน่วยงานต่อต้านการก่อการร้ายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งได้รับการฝึกอบรมและความช่วยเหลือจากทั้งรัฐบาลสหรัฐฯและออสเตรเลีย ปฏิบัติการครั้งนี้ยังถือเป็นความพยายามล่าสุดของหน่วยงานนี้ที่จะขุดรากถอนโคนกลุ่ม “ญะมาอะห์ อิสลามิยะห์ (Jemaah Islamiyah หรือ JI) ซึ่งเป็นเครือข่ายที่มีสัมพันธ์เชื่อมโยงกับอัลกออิดะห์
เชื่อกันว่าเจไอเป็นผู้วางแผนและดำเนินการโจมตีด้วยระเบิดเล่นงานโรงแรมระดับหรูในกรุงจาการ์ตา 2 แห่ง คือ เจดับเบิลยู แมร์ริออตต์ และโรงแรมริตซ์ คาร์ลตัน พร้อมๆ กันเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม เหตุระเบิดคราวนี้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 4 ปี หลังจากได้มีการโจมตีเป็นระลอกอยู่หลายครั้ง เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2002 ที่ไนต์คลับยอดนิยมแห่งหนึ่งบนเกาะบาหลี ซึ่งได้สังหารชีวิตผู้คนไปกว่า 200 ชีวิต ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ในการปฏิบัติการเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ยังสามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยเป็นผู้ก่อการร้ายได้อีก 3 คน ทั้งนี้ตามการแถลงของโฆษกคนหนึ่งของตำรวจ นับตั้งแต่เหตุบึ้ม 2 โรงแรมหรูซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตไป 7 คน และบาดเจ็บอีกมากกว่า 50 คนแล้ว ก็ได้มีการบุกเข้าจู่โจมตรวจค้นและทำการจับกุมเกิดขึ้นเป็นระลอกในทั่วประเทศอินโดนีเซีย
การตรวจค้นจับกุมเหล่านี้ทำให้สังหารและจับกุมผู้ต้องสงสัยได้เพิ่มขึ้นอีกหลายราย บุคคลเหล่านี้มีทั้งพวกที่เป็นคนงานอพยพซึ่งต้องสงสัยว่าเดินทางไปยังตะวันออกกลางเพื่อนำเงินทุนสนับสนุนการปฏิบัติการก่อการร้ายกลับเข้ามา, ช่างเทคนิคผู้หนึ่งของสายการบินการูดา, และลูกน้องชื่อดังระดับบิ๊กคนหนึ่งของนูร์ดิน ท็อป
พวกนักวิเคราะห์บอกว่า ผลงานที่กลายเป็นข่าวดังเกรียวกราวเมื่อวันพฤหัสบดี ถือเป็นข่าวดีสำหรับกองกำลังปฏิบัติการพิเศษ 88 ซึ่งที่ผ่านมาประสบความยากลำบากในการเอาชนะใจของประชาชน ที่มีความระแวงสงสัยกันเป็นปกติอยู่แล้วเกี่ยวกับการปฏิบัติการของตำรวจ
“นี่เป็นผลสำเร็จครั้งสำคัญในความพยายามต่อต้านการก่อการร้ายของอินโดนีเซีย” ไรซัล สุขมา (Rizal Sukma) ผู้อำนวยการบริหารของศูนย์เพื่อยุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศศึกษา (Center for Strategic and International Studies) ของอินโดนีเซีย กล่าวให้ความเห็น เขาชี้ว่าการสังหารท็อปยังเป็นการขจัดภัยคุกคามสำคัญไปประการหนึ่ง ก่อนที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ จะมาเยือนอินโดนีเซีย โดยคาดหมายกันว่าน่าจะมาในเดือนพฤศจิกายนนี้
ไรซัลกล่าวต่อไปว่า มองโดยภาพรวมแล้ว ความสำเร็จที่ได้มาทำให้เพิ่มความคาดหวังเกี่ยวกับสิ่งที่ตำรวจอินโดนีเซียจะสามารถทำได้ ขณะเดียวกัน ปฏิบัติการที่ได้รับคำชมเชยจากนานาชาติครั้งนี้ ยังน่าที่จะยกระดับขวัญกำลังใจและความน่าเชื่อถือของตำรวจแดนอิเหนา อันเป็นสถาบันที่ถูกดูหมิ่นดูแคลนมานานว่ามั่วอยู่แต่กับการทุจริตคอร์รัปชั่นและความไร้ประสิทธิภาพ
ภายหลังเกิดการยิงต่อสู้กันในตอนเช้ามืดวันพฤหัสบดี การจู่โจมของกองกำลังปฏิบัติการพิเศษ 88 คราวนี้ก็กลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก และก่อให้เกิดข่าวลือขึ้นในทันทีว่า หนึ่งในพวกหัวรุนแรงที่มีอันตรายที่สุดและเป็นที่ต้องการตัวมากที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ถูกสังหารแล้ว
อันที่จริง ก่อนหน้านี้ตำรวจได้เคยออกปฏิบัติจู่โจมทำนองเดียวกันนี้เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม โดยที่มีการแถลงข่าวใหญ่โตว่า สามารถทำลายแผนอุบายที่จะสังหารประธานาธิบดีซูซิโล บัมบัง ยุโธโยโน การปฏิบัติการคราวนั้นก็ได้ปลิดชีวิตคนร้ายไปได้หลายคน โดยที่เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบบางคนได้ช่วยสื่อมวลชนกระพือข่าวว่า นูร์ดิน ท็อปเป็นหนึ่งในผู้ถูกสังหาร อย่างไรก็ตาม เมื่อตำรวจตรวจค้นที่เกิดเหตุในเวลาต่อมา อีกทั้งตรวจสอบศพผู้ที่ถูกฆ่าทั้ง 3 คนอย่างละเอียด ก็ต้องออกมาแถลงยอมรับกันว่าไม่ได้มีผู้ก่อการร้ายระดับหัวโจกผู้นี้รวมอยู่ด้วย
การปฏิบัติการที่ดูเหมือนกับว่าล้มเหลวคราวนั้น เป็นเหตุให้เกิดการอภิปรายถกเถียงกันว่า ตำรวจจำเป็นจะต้องขอความร่วมมือจากกองทัพด้วยหรือไม่ เพื่อที่จะทำงานนี้ให้สำเร็จ ในช่วงกลางเดือนสิงหาคม กระทั่งประธานาธิบดียุโธโยโนซึ่งเป็นนายทหารเกษียณอายุระดับพล.อ. ก็ได้ออกมาพูดว่า ฝ่ายทหารของอินโดนีเซียสมควรที่จะ “มีที่ทาง” ในการต่อสู้ปราบปรามการก่อการร้าย กระนั้นก็ตาม ความพยายามในเรื่องนี้ยังคงอยู่ในมือของเจ้าหน้าที่รักษากฎหมายฝ่ายพลเรือนกันต่อมา
การบุกจู่โจมเมื่อวันพฤหัสบดี เป็นผลงานหาข่าวกรองอยู่หลายๆ สัปดาห์ของตำรวจและเจ้าหน้าที่รับผิดชอบฝ่ายพลเรือน ทั้งนี้ตามคำยืนยันของ นูร์ ฮูดา อิสมาอิล (Noor Huda Ismail) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการก่อการร้าย และเป็นรองประธานของสำนักงานให้คำปรึกษาด้านความมั่นคง “เซกูรินโด โกลบอล คอนซัลติ้ง” (Sekurindo Global Consulting)
เช่นเดียวกับไรซัลที่บอกว่า “การตายของท็อปย่อมเป็นเครื่องบ่งชี้ให้เห็นว่า ไม่จำเป็นที่จะต้องให้กองทัพเข้ามาแสดงบทบาทด้านความมั่นคงภายในของอินโดนีเซีย”
กระนั้นก็มีบางฝ่าย ดังเช่น อิคราร์ นูซา บาคตี (Ikrar Nusa Bakti) นักวิเคราะห์การเมืองจาก สถาบันวิทยาศาสตร์อินโดนีเซีย (Indonesian Institute of Sciences) ตั้งข้อสงสัยขึ้นมาเกี่ยวกับจังหวะเวลาของการปฏิบัติการคราวนี้ โดยอิคราร์บอกกับหนังสือพิมพ์ จาการ์ตา โกลบ (Jakarta Globe) ว่า เขาหวังว่าการบุกจู่โจมตรั้งนี้ไม่ได้มีความมุ่งหมายเป็นพิเศษที่จะปรับปรุงภาพของตำรวจ ซึ่งในปัจจุบันกำลังเสียหายมากจากข้อพิพาทระหว่างนายตำรวจอาวุโสหลายคนกับ คณะกรรมการปราบปรามการทุจริต (Corruption Eradication Commission) ที่เป็นหน่วยงานอิสระ หลังจากที่คณะกรรมการฯกล่าวหาตำรวจเหล่านี้ว่า กำลังพยายามหาทางทำให้คณะกรรมการฯเกิดภาพลักษณ์อันมัวหมองจนกระทั่งตั้งอยู่ต่อไปไม่ได้
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาในภาพรวมแล้ว ต้องถือว่าอินโดนีเซียประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจทีเดียว ในการสกัดกั้นการโจมตีของผู้ก่อการร้ายในประเทศมุสลิมที่มีประชากรถึง 240 ล้านคนแห่งนี้ ทั้งนี้นับตั้งแต่ที่ประธานาธิบดียุโธโยโนขึ้นครองอำนาจเมื่อปี 2004 โดยที่หลักนโยบายที่ใช้ในการรณรงค์หาเสียงของเขาก็มีข้อหนึ่งระบุว่า จะดำเนินการต่อต้านการก่อการร้ายอย่างเข้มแข็งยิ่งขึ้น ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับ เมกาวาตี ซูการ์โนบุตรี ประธานาธิบดีคนก่อนหน้า ก็ต้องยอมรับว่ายุโธโยโนเลือกวิธีที่เข้มข้นแข็งขันเพื่อมุ่งถอนรากถอนโคนพวกหัวรุนแรง
ตัวอย่างเช่น การถกเถียงอภิปรายว่าด้วยเรื่องความมั่นคงแห่งชาติในเวลานี้ มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นที่จะมุ่งหาทางแก้ไขไปถึงสาเหตุรากเหง้าของการเกิดเหตุโจมตีของผู้ก่อการร้าย “สิ่งที่ผมเป็นห่วงยังไม่ใช่เรื่องการที่จะต้องจับตัวนูร์ดิน ท็อปให้ได้” รัฐมนตรีกลาโหม จูโวโน สุดาร์โซโน (Juwono Sudarsono) กล่าวในการประชุมสัมมนาด้านความมั่นคงกับพวกผู้เชี่ยวชาญระดับสูงในด้านการปราบปรามการก่อการร้ายในประเทศเมื่อเร็วๆ นี้ “ผมรู้สึกเป็นห่วงมากกว่า เกี่ยวกับการที่เขากำลังกลายเป็นแบบอย่างของการปฏิบัติตัวเป็นโรบินฮู้ด”
จูโวโนบอกว่า ความยากจนและสภาพที่ประเทศมีการพัฒนาอย่างไม่เท่าเทียมกัน ได้ทำให้บางภาคส่วนในสังคมไร้สิทธิ์ไร้เสียง จนกระทั่งพวกคนหนุ่มที่หงุดหงิดผิดหวังมองไม่เห็นทางที่จะมีลืมหน้าอ้าปากได้ในทางเศรษฐกิจ กำลังตกเป็นเป้าหมายที่จะถูกกลุ่มหัวรุนแรงดึงเอาไปเป็นพวก อย่างไรก็ตาม สำหรับนูร์ดิน ท็อปนั้น เขากลับขึ้นชื่อลือชานักเรื่องการดึงคนเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มของเขา โดยที่มาจากกลุ่มต่างๆ ที่ผิดแผกแตกต่างกัน และมาจากทั่วทั้งเกาะชวา ซึ่งเป็นเกาะสำคัญที่สุดของอินโดนีเซีย
ตามความเห็นของ ซิดนีย์ โจนส์ นักวิเคราะห์ด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งทำงานให้กับกลุ่มวิกฤตระหว่างประเทศ (International Crisis Group หรือ ICG) เธอบอกว่าในการที่พวกหัวรุนแรงดึงคนเข้ามาเป็นสมัครพรรคพวกนั้น สายสัมพันธ์ทางครอบครัวน่าจะมีน้ำหนักความสำคัญมากกว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจด้วยซ้ำ ทั้งนี้หากพิจารณาจากเครือข่ายของท็อป ซึ่งเป็นกลุ่มที่แยกตัวมาจากเจไอ โดยเราจะพบว่ามีทั้งพวกโรงเรียนสอนศาสนา, คลินิก, และกระทั่งสำนักพิมพ์ ซึ่งมีส่วนเชื่อมโยงกับเครือข่ายของเขาอย่างมั่นคง
ไอซีจีระบุเจาะจงออกมาเลยว่า หน่วยงานที่มีสายสัมพันธ์กับเครือข่ายของท็อป ได้แก่ นิตยสารอันนาจะห์ (an-Najah) และบริษัทมูกอวามา (Muqowama) ซึ่งมีชื่อจากการผลิตวิดีโอของอัลกออิดะห์ที่มีคำบรรยายเป็นภาษาอินโดนีเซีย เมื่อตอนสิ้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ตำรวจยังได้ไปจับกุม โมฮาหมัด จิบริล (Mohamad Jibril) เจ้าของบริษัทสำนักพิมพ์ อาร์-เราะห์มะห์ มีเดีย (Ar-Rahmah Media) เนื่องจากสงสัยว่าเขาช่วยเหลือจัดหาเงินทุนมาใช้ในการก่อเหตุระเบิดในวันที่ 17 กรกฎาคม ทั้งนี้ตามรายงานของไอซีจี
บ้านที่ถูกตำรวจบุกจู่โจมเข้าไปในวันพฤหัสบดี ปรากฏว่าเป็นของสามีภรรยาวัยหนุ่มสาวคู่หนึ่ง ซึ่งต่างก็เป็นครูในโรงเรียนกินนอนสอนศาสนาอิสลามแห่งหนึ่ง ทั้งนี้ตามคำบอกเล่าผู้ใหญ่บ้าน สุระติม (Suratim) กับทางสำนักข่าวเอพี ถึงแม้นักวิเคราะห์หลายๆ รายยังไม่แน่ใจว่าเครือข่ายของท็อปจริงๆ แล้วมีขนาดใหญ่โตแค่ไหน แต่ไอซีจีก็ทำนายเปรี้ยงออกมาแล้วว่า มีขนาดใหญ่โตและซับซ้อนกว่าที่นักวิเคราะห์จำนวนมากสงสัยกัน
ระหว่างการประชุมสัมมนาว่าด้วยเครือข่ายของท็อปเมื่อเร็วๆ นี้ โจนส์แห่งไอซีจีบอกว่า เขามีลูกน้องบริวารอย่างน้อยที่สุด 30-40 คน เธอบอกด้วยว่าเป็นที่รู้กันว่ากลุ่มหัวรุนแรงหลายกลุ่มไปหาสมัครพรรคพวกใหม่กันที่จังหวัดสุลาเวซีกลาง ด้วยความต้องการที่จะได้มือฉมังในเรื่องยิงปืนแม่นและเรื่องปฏิบัติการลอบสังหาร
แต่ก็มีนักวิเคราะห์คนอื่นๆ แย้งว่า กลุ่มของท็อปอยู่ในลักษณะการผสมปนเปกันระหว่างกลุ่มย่อยๆ หลายๆ กลุ่ม โดยที่ยังไม่ได้มีการรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่น
“ปัญหาที่ตำรวจกำลังเจออยู่ในเวลานี้ก็คือ การปรากฏขึ้นมาของกลุ่มต่างๆ ที่แยกตัวจากกลุ่มเดิม โดยที่ไม่ได้มีการประสานงานอย่างเป็นหนึ่งเดียว ทำให้ขุดรากถอนโคนพวกเขาได้ยากลำบากขึ้นอีก” ไรซัลบอก
นักวิเคราะห์จำนวนมากมองเห็นว่า ฐานสนับสนุนของท็อปที่อยู่ในลักษณะเฉพาะกิจเฉพาะเรื่อง ทำให้เป็นเรื่องยากเย็นที่จะติดตามสืบค้น และจำเป็นต้องได้รับความสนับสนุนเพิ่มเติมจากตำรวจท้องถิ่นและผู้นำชุมชน เพื่อคอยเฝ้าติตตามการปฏิบัติการต่างๆ ของพวกกลุ่มหัวรุนแรงในพื้นที่ของพวกเขา ไรซัลบอกว่า การตายของท็อปจะส่งผลกระทบอย่างไรต่ออนาคตของการก่อการร้ายในอินโดนีเซีย ยังเป็นเรื่องที่ต้องคาดเดากัน เพียงแต่ต้องตระหนักว่า ท็อปคือผู้สร้างแรงบันดาลใจทางอุดมการณ์ ซึ่งผลักดันสมัครพรรคพวกใหม่ๆ ให้เข้าสู่เครือข่ายของเขา
“แน่นอนเลย ยังคงมีสมัครพรรคพวก (ของท็อป) อีกจำนวนหนึ่งที่หลบหนีลอยนวลอยู่ และไม่มีใครทราบเลยว่าคนเหล่านี้ได้เรียนรู้อะไรบ้าง” เขาบอก
ซารา ชอนฮาร์ดต์ เป็นนักเขียนอิสระที่ใช้กรุงจาการ์ตาเป็นฐาน เธอพำนักและทำงานอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มา 6 ปีแล้ว เธอเรียนจบได้ปริญญาโทด้านกิจการระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย
Indonesia strikes a blow against terror
By Sara Schonhardt
18/09/2009
บรรดาเจ้าหน้าที่รับผิดชอบในกรุงจาการ์ตาต่างยืนยันเมื่อวันพฤหัสบดี(17) ว่าสามารถสังหาร นูร์ดิน โมฮัมเหม็ด ท็อป ผู้ก่อการร้ายระดับหัวโจกใหญ่ จากการบุกจู่โจมและเกิดการยิงต่อสู้กันที่บ้านหลังหนึ่งในจังหวัดชวากลาง การสิ้นชีพของหนึ่งในพวกหัวรุนแรงซึ่งอันตรายที่สุดและเป็นที่ต้องการตัวมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือเช่นนี้ ย่อมเป็นการขจัดภัยคุกคามสำคัญไปได้ประการหนึ่ง ก่อนที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามาจะเดินทางมาเยือนประเทศนี้ ซึ่งคาดหมายกันว่าจะเป็นในเดือนพฤศจิกายน
จาการ์ตา - ตำรวจประสบความสำเร็จในการสร้างความเสียหายหนักให้แก่เครือข่ายผู้ก่อการร้ายสำคัญในอินโดนีเซียเมื่อวันพฤหัสบดี(17) หลังจากที่มีการยืนยันแน่นอนแล้วว่า นูร์ดิน โมฮัมเหม็ด ท็อป (Noordin Mohammed Top) บุคคลสำคัญระดับสูงสุดคนหนึ่งของพวกอิสลามิสต์หัวรุนแรง ได้สิ้นชีวิตแล้ว ภายหลังถูกกำลังตำรวจบุกจู่โจมและเกิดการยิงต่อสู้กัน ที่บ้านหลังหนึ่งในจังหวัดชวากลาง
การบุกโจมตีคราวนี้เป็นผลงานของ “กองกำลังปฏิบัติการพิเศษ 88” (Detachment 88) อันเป็นหน่วยงานต่อต้านการก่อการร้ายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งได้รับการฝึกอบรมและความช่วยเหลือจากทั้งรัฐบาลสหรัฐฯและออสเตรเลีย ปฏิบัติการครั้งนี้ยังถือเป็นความพยายามล่าสุดของหน่วยงานนี้ที่จะขุดรากถอนโคนกลุ่ม “ญะมาอะห์ อิสลามิยะห์ (Jemaah Islamiyah หรือ JI) ซึ่งเป็นเครือข่ายที่มีสัมพันธ์เชื่อมโยงกับอัลกออิดะห์
เชื่อกันว่าเจไอเป็นผู้วางแผนและดำเนินการโจมตีด้วยระเบิดเล่นงานโรงแรมระดับหรูในกรุงจาการ์ตา 2 แห่ง คือ เจดับเบิลยู แมร์ริออตต์ และโรงแรมริตซ์ คาร์ลตัน พร้อมๆ กันเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม เหตุระเบิดคราวนี้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 4 ปี หลังจากได้มีการโจมตีเป็นระลอกอยู่หลายครั้ง เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2002 ที่ไนต์คลับยอดนิยมแห่งหนึ่งบนเกาะบาหลี ซึ่งได้สังหารชีวิตผู้คนไปกว่า 200 ชีวิต ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ในการปฏิบัติการเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ยังสามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยเป็นผู้ก่อการร้ายได้อีก 3 คน ทั้งนี้ตามการแถลงของโฆษกคนหนึ่งของตำรวจ นับตั้งแต่เหตุบึ้ม 2 โรงแรมหรูซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตไป 7 คน และบาดเจ็บอีกมากกว่า 50 คนแล้ว ก็ได้มีการบุกเข้าจู่โจมตรวจค้นและทำการจับกุมเกิดขึ้นเป็นระลอกในทั่วประเทศอินโดนีเซีย
การตรวจค้นจับกุมเหล่านี้ทำให้สังหารและจับกุมผู้ต้องสงสัยได้เพิ่มขึ้นอีกหลายราย บุคคลเหล่านี้มีทั้งพวกที่เป็นคนงานอพยพซึ่งต้องสงสัยว่าเดินทางไปยังตะวันออกกลางเพื่อนำเงินทุนสนับสนุนการปฏิบัติการก่อการร้ายกลับเข้ามา, ช่างเทคนิคผู้หนึ่งของสายการบินการูดา, และลูกน้องชื่อดังระดับบิ๊กคนหนึ่งของนูร์ดิน ท็อป
พวกนักวิเคราะห์บอกว่า ผลงานที่กลายเป็นข่าวดังเกรียวกราวเมื่อวันพฤหัสบดี ถือเป็นข่าวดีสำหรับกองกำลังปฏิบัติการพิเศษ 88 ซึ่งที่ผ่านมาประสบความยากลำบากในการเอาชนะใจของประชาชน ที่มีความระแวงสงสัยกันเป็นปกติอยู่แล้วเกี่ยวกับการปฏิบัติการของตำรวจ
“นี่เป็นผลสำเร็จครั้งสำคัญในความพยายามต่อต้านการก่อการร้ายของอินโดนีเซีย” ไรซัล สุขมา (Rizal Sukma) ผู้อำนวยการบริหารของศูนย์เพื่อยุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศศึกษา (Center for Strategic and International Studies) ของอินโดนีเซีย กล่าวให้ความเห็น เขาชี้ว่าการสังหารท็อปยังเป็นการขจัดภัยคุกคามสำคัญไปประการหนึ่ง ก่อนที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ จะมาเยือนอินโดนีเซีย โดยคาดหมายกันว่าน่าจะมาในเดือนพฤศจิกายนนี้
ไรซัลกล่าวต่อไปว่า มองโดยภาพรวมแล้ว ความสำเร็จที่ได้มาทำให้เพิ่มความคาดหวังเกี่ยวกับสิ่งที่ตำรวจอินโดนีเซียจะสามารถทำได้ ขณะเดียวกัน ปฏิบัติการที่ได้รับคำชมเชยจากนานาชาติครั้งนี้ ยังน่าที่จะยกระดับขวัญกำลังใจและความน่าเชื่อถือของตำรวจแดนอิเหนา อันเป็นสถาบันที่ถูกดูหมิ่นดูแคลนมานานว่ามั่วอยู่แต่กับการทุจริตคอร์รัปชั่นและความไร้ประสิทธิภาพ
ภายหลังเกิดการยิงต่อสู้กันในตอนเช้ามืดวันพฤหัสบดี การจู่โจมของกองกำลังปฏิบัติการพิเศษ 88 คราวนี้ก็กลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก และก่อให้เกิดข่าวลือขึ้นในทันทีว่า หนึ่งในพวกหัวรุนแรงที่มีอันตรายที่สุดและเป็นที่ต้องการตัวมากที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ถูกสังหารแล้ว
อันที่จริง ก่อนหน้านี้ตำรวจได้เคยออกปฏิบัติจู่โจมทำนองเดียวกันนี้เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม โดยที่มีการแถลงข่าวใหญ่โตว่า สามารถทำลายแผนอุบายที่จะสังหารประธานาธิบดีซูซิโล บัมบัง ยุโธโยโน การปฏิบัติการคราวนั้นก็ได้ปลิดชีวิตคนร้ายไปได้หลายคน โดยที่เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบบางคนได้ช่วยสื่อมวลชนกระพือข่าวว่า นูร์ดิน ท็อปเป็นหนึ่งในผู้ถูกสังหาร อย่างไรก็ตาม เมื่อตำรวจตรวจค้นที่เกิดเหตุในเวลาต่อมา อีกทั้งตรวจสอบศพผู้ที่ถูกฆ่าทั้ง 3 คนอย่างละเอียด ก็ต้องออกมาแถลงยอมรับกันว่าไม่ได้มีผู้ก่อการร้ายระดับหัวโจกผู้นี้รวมอยู่ด้วย
การปฏิบัติการที่ดูเหมือนกับว่าล้มเหลวคราวนั้น เป็นเหตุให้เกิดการอภิปรายถกเถียงกันว่า ตำรวจจำเป็นจะต้องขอความร่วมมือจากกองทัพด้วยหรือไม่ เพื่อที่จะทำงานนี้ให้สำเร็จ ในช่วงกลางเดือนสิงหาคม กระทั่งประธานาธิบดียุโธโยโนซึ่งเป็นนายทหารเกษียณอายุระดับพล.อ. ก็ได้ออกมาพูดว่า ฝ่ายทหารของอินโดนีเซียสมควรที่จะ “มีที่ทาง” ในการต่อสู้ปราบปรามการก่อการร้าย กระนั้นก็ตาม ความพยายามในเรื่องนี้ยังคงอยู่ในมือของเจ้าหน้าที่รักษากฎหมายฝ่ายพลเรือนกันต่อมา
การบุกจู่โจมเมื่อวันพฤหัสบดี เป็นผลงานหาข่าวกรองอยู่หลายๆ สัปดาห์ของตำรวจและเจ้าหน้าที่รับผิดชอบฝ่ายพลเรือน ทั้งนี้ตามคำยืนยันของ นูร์ ฮูดา อิสมาอิล (Noor Huda Ismail) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการก่อการร้าย และเป็นรองประธานของสำนักงานให้คำปรึกษาด้านความมั่นคง “เซกูรินโด โกลบอล คอนซัลติ้ง” (Sekurindo Global Consulting)
เช่นเดียวกับไรซัลที่บอกว่า “การตายของท็อปย่อมเป็นเครื่องบ่งชี้ให้เห็นว่า ไม่จำเป็นที่จะต้องให้กองทัพเข้ามาแสดงบทบาทด้านความมั่นคงภายในของอินโดนีเซีย”
กระนั้นก็มีบางฝ่าย ดังเช่น อิคราร์ นูซา บาคตี (Ikrar Nusa Bakti) นักวิเคราะห์การเมืองจาก สถาบันวิทยาศาสตร์อินโดนีเซีย (Indonesian Institute of Sciences) ตั้งข้อสงสัยขึ้นมาเกี่ยวกับจังหวะเวลาของการปฏิบัติการคราวนี้ โดยอิคราร์บอกกับหนังสือพิมพ์ จาการ์ตา โกลบ (Jakarta Globe) ว่า เขาหวังว่าการบุกจู่โจมตรั้งนี้ไม่ได้มีความมุ่งหมายเป็นพิเศษที่จะปรับปรุงภาพของตำรวจ ซึ่งในปัจจุบันกำลังเสียหายมากจากข้อพิพาทระหว่างนายตำรวจอาวุโสหลายคนกับ คณะกรรมการปราบปรามการทุจริต (Corruption Eradication Commission) ที่เป็นหน่วยงานอิสระ หลังจากที่คณะกรรมการฯกล่าวหาตำรวจเหล่านี้ว่า กำลังพยายามหาทางทำให้คณะกรรมการฯเกิดภาพลักษณ์อันมัวหมองจนกระทั่งตั้งอยู่ต่อไปไม่ได้
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาในภาพรวมแล้ว ต้องถือว่าอินโดนีเซียประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจทีเดียว ในการสกัดกั้นการโจมตีของผู้ก่อการร้ายในประเทศมุสลิมที่มีประชากรถึง 240 ล้านคนแห่งนี้ ทั้งนี้นับตั้งแต่ที่ประธานาธิบดียุโธโยโนขึ้นครองอำนาจเมื่อปี 2004 โดยที่หลักนโยบายที่ใช้ในการรณรงค์หาเสียงของเขาก็มีข้อหนึ่งระบุว่า จะดำเนินการต่อต้านการก่อการร้ายอย่างเข้มแข็งยิ่งขึ้น ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับ เมกาวาตี ซูการ์โนบุตรี ประธานาธิบดีคนก่อนหน้า ก็ต้องยอมรับว่ายุโธโยโนเลือกวิธีที่เข้มข้นแข็งขันเพื่อมุ่งถอนรากถอนโคนพวกหัวรุนแรง
ตัวอย่างเช่น การถกเถียงอภิปรายว่าด้วยเรื่องความมั่นคงแห่งชาติในเวลานี้ มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นที่จะมุ่งหาทางแก้ไขไปถึงสาเหตุรากเหง้าของการเกิดเหตุโจมตีของผู้ก่อการร้าย “สิ่งที่ผมเป็นห่วงยังไม่ใช่เรื่องการที่จะต้องจับตัวนูร์ดิน ท็อปให้ได้” รัฐมนตรีกลาโหม จูโวโน สุดาร์โซโน (Juwono Sudarsono) กล่าวในการประชุมสัมมนาด้านความมั่นคงกับพวกผู้เชี่ยวชาญระดับสูงในด้านการปราบปรามการก่อการร้ายในประเทศเมื่อเร็วๆ นี้ “ผมรู้สึกเป็นห่วงมากกว่า เกี่ยวกับการที่เขากำลังกลายเป็นแบบอย่างของการปฏิบัติตัวเป็นโรบินฮู้ด”
จูโวโนบอกว่า ความยากจนและสภาพที่ประเทศมีการพัฒนาอย่างไม่เท่าเทียมกัน ได้ทำให้บางภาคส่วนในสังคมไร้สิทธิ์ไร้เสียง จนกระทั่งพวกคนหนุ่มที่หงุดหงิดผิดหวังมองไม่เห็นทางที่จะมีลืมหน้าอ้าปากได้ในทางเศรษฐกิจ กำลังตกเป็นเป้าหมายที่จะถูกกลุ่มหัวรุนแรงดึงเอาไปเป็นพวก อย่างไรก็ตาม สำหรับนูร์ดิน ท็อปนั้น เขากลับขึ้นชื่อลือชานักเรื่องการดึงคนเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มของเขา โดยที่มาจากกลุ่มต่างๆ ที่ผิดแผกแตกต่างกัน และมาจากทั่วทั้งเกาะชวา ซึ่งเป็นเกาะสำคัญที่สุดของอินโดนีเซีย
ตามความเห็นของ ซิดนีย์ โจนส์ นักวิเคราะห์ด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งทำงานให้กับกลุ่มวิกฤตระหว่างประเทศ (International Crisis Group หรือ ICG) เธอบอกว่าในการที่พวกหัวรุนแรงดึงคนเข้ามาเป็นสมัครพรรคพวกนั้น สายสัมพันธ์ทางครอบครัวน่าจะมีน้ำหนักความสำคัญมากกว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจด้วยซ้ำ ทั้งนี้หากพิจารณาจากเครือข่ายของท็อป ซึ่งเป็นกลุ่มที่แยกตัวมาจากเจไอ โดยเราจะพบว่ามีทั้งพวกโรงเรียนสอนศาสนา, คลินิก, และกระทั่งสำนักพิมพ์ ซึ่งมีส่วนเชื่อมโยงกับเครือข่ายของเขาอย่างมั่นคง
ไอซีจีระบุเจาะจงออกมาเลยว่า หน่วยงานที่มีสายสัมพันธ์กับเครือข่ายของท็อป ได้แก่ นิตยสารอันนาจะห์ (an-Najah) และบริษัทมูกอวามา (Muqowama) ซึ่งมีชื่อจากการผลิตวิดีโอของอัลกออิดะห์ที่มีคำบรรยายเป็นภาษาอินโดนีเซีย เมื่อตอนสิ้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ตำรวจยังได้ไปจับกุม โมฮาหมัด จิบริล (Mohamad Jibril) เจ้าของบริษัทสำนักพิมพ์ อาร์-เราะห์มะห์ มีเดีย (Ar-Rahmah Media) เนื่องจากสงสัยว่าเขาช่วยเหลือจัดหาเงินทุนมาใช้ในการก่อเหตุระเบิดในวันที่ 17 กรกฎาคม ทั้งนี้ตามรายงานของไอซีจี
บ้านที่ถูกตำรวจบุกจู่โจมเข้าไปในวันพฤหัสบดี ปรากฏว่าเป็นของสามีภรรยาวัยหนุ่มสาวคู่หนึ่ง ซึ่งต่างก็เป็นครูในโรงเรียนกินนอนสอนศาสนาอิสลามแห่งหนึ่ง ทั้งนี้ตามคำบอกเล่าผู้ใหญ่บ้าน สุระติม (Suratim) กับทางสำนักข่าวเอพี ถึงแม้นักวิเคราะห์หลายๆ รายยังไม่แน่ใจว่าเครือข่ายของท็อปจริงๆ แล้วมีขนาดใหญ่โตแค่ไหน แต่ไอซีจีก็ทำนายเปรี้ยงออกมาแล้วว่า มีขนาดใหญ่โตและซับซ้อนกว่าที่นักวิเคราะห์จำนวนมากสงสัยกัน
ระหว่างการประชุมสัมมนาว่าด้วยเครือข่ายของท็อปเมื่อเร็วๆ นี้ โจนส์แห่งไอซีจีบอกว่า เขามีลูกน้องบริวารอย่างน้อยที่สุด 30-40 คน เธอบอกด้วยว่าเป็นที่รู้กันว่ากลุ่มหัวรุนแรงหลายกลุ่มไปหาสมัครพรรคพวกใหม่กันที่จังหวัดสุลาเวซีกลาง ด้วยความต้องการที่จะได้มือฉมังในเรื่องยิงปืนแม่นและเรื่องปฏิบัติการลอบสังหาร
แต่ก็มีนักวิเคราะห์คนอื่นๆ แย้งว่า กลุ่มของท็อปอยู่ในลักษณะการผสมปนเปกันระหว่างกลุ่มย่อยๆ หลายๆ กลุ่ม โดยที่ยังไม่ได้มีการรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่น
“ปัญหาที่ตำรวจกำลังเจออยู่ในเวลานี้ก็คือ การปรากฏขึ้นมาของกลุ่มต่างๆ ที่แยกตัวจากกลุ่มเดิม โดยที่ไม่ได้มีการประสานงานอย่างเป็นหนึ่งเดียว ทำให้ขุดรากถอนโคนพวกเขาได้ยากลำบากขึ้นอีก” ไรซัลบอก
นักวิเคราะห์จำนวนมากมองเห็นว่า ฐานสนับสนุนของท็อปที่อยู่ในลักษณะเฉพาะกิจเฉพาะเรื่อง ทำให้เป็นเรื่องยากเย็นที่จะติดตามสืบค้น และจำเป็นต้องได้รับความสนับสนุนเพิ่มเติมจากตำรวจท้องถิ่นและผู้นำชุมชน เพื่อคอยเฝ้าติตตามการปฏิบัติการต่างๆ ของพวกกลุ่มหัวรุนแรงในพื้นที่ของพวกเขา ไรซัลบอกว่า การตายของท็อปจะส่งผลกระทบอย่างไรต่ออนาคตของการก่อการร้ายในอินโดนีเซีย ยังเป็นเรื่องที่ต้องคาดเดากัน เพียงแต่ต้องตระหนักว่า ท็อปคือผู้สร้างแรงบันดาลใจทางอุดมการณ์ ซึ่งผลักดันสมัครพรรคพวกใหม่ๆ ให้เข้าสู่เครือข่ายของเขา
“แน่นอนเลย ยังคงมีสมัครพรรคพวก (ของท็อป) อีกจำนวนหนึ่งที่หลบหนีลอยนวลอยู่ และไม่มีใครทราบเลยว่าคนเหล่านี้ได้เรียนรู้อะไรบ้าง” เขาบอก
ซารา ชอนฮาร์ดต์ เป็นนักเขียนอิสระที่ใช้กรุงจาการ์ตาเป็นฐาน เธอพำนักและทำงานอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มา 6 ปีแล้ว เธอเรียนจบได้ปริญญาโทด้านกิจการระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย