xs
xsm
sm
md
lg

‘ตอลิบาน’ทิ้ง‘ความบาดหมาง’หันมารวมหัวกัน

เผยแพร่:   โดย: ไซเอด ซาลีม ชาห์ซาด

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Taliban put their heads together
By Syed Saleem Shahzad
18/09/2009

เป็นพัฒนาการที่สำคัญมากทีเดียว เมื่อบรรดาหัวหน้านักรบตอลิบานที่เป็นปรปักษ์กันอยู่ รวมทั้งบางรายซึ่งมีอำนาจมากที่สุดในอัฟกานิสถานและในปากีสถาน ได้ตกลงเห็นพ้องที่จะร่วมมือประสานงานกันในการต่อสู้ทำศึกกับกองทหารพันธมิตรของสหรัฐฯและนาโต้ พวกเขายังแสดงความมุ่งมั่นที่จะกลบฝังความแตกต่างกันของพวกเขาจากการที่มาจากคนละเผ่าคนละท้องที่ในดินแดนชาวชนเผ่าของปากีสถาน โดยที่ดินแดนเหล่านี้เองก็กำลังถูกกองกำลังความมั่นคงของรัฐบาลปากีสถานและเครื่องบินไร้นักบินของสหรัฐฯ โจมตีเล่นงานจนประสบความเสียหายหนัก

อิสลามาบัด – การกล่าวหาตอบโต้กันไปมา ระหว่างประธานาธิบดีฮามิด คาร์ไซ และพวกคู่แข่งขันของเขา เกี่ยวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีอัฟกานิสถานเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม ทำท่าจะลากยาวยืดเยื้อไปอีกเป็นเดือนๆ จนกระทั่งกลายเป็นความเสี่ยงที่จะทำลายแผนการซึ่งคิดเตรียมกันเอาไว้ว่า เมื่อประเทศเข้าสู่ระยะมีเสถียรภาพภายหลังการเลือกตั้ง ก็จะมีการเปิดการสนทนาหารือกับพวกตอลิบาน

ขณะเดียวกัน กลุ่มตอลิบานระดับภูมิภาคกลุ่มต่างๆ ก็แสดงท่าทีที่จะยอมกลบฝังความแตกต่างบาดหมางที่พวกเขามีอยู่ระหว่างกัน และหันมาร่วมมือกันเพื่อตอบโต้กับการดำเนินยุทธศาสตร์อัฟกานิสถาน-ปากีสถาน (เรียกขานกันว่ายุทธศาสตร์ Af/Pak) ของวอชิงตัน โดยส่วนที่สำคัญของยุทธศาสตร์ดังกล่าวนี้ ก็คือ การเพิ่มจำนวนทหารให้พุ่งลิ่วอย่างฉับพลัน (surge) ในอัฟกานิสถาน ขณะเดียวกับที่คอยเปิดการจู่โจมเล่นงานพวกหัวรุนแรงที่อยู่ในเขตปากีสถาน

ในปากีสถานนั้น เครื่องบินชนิดไร้นักบิน (drone) รุ่น เพรดาเตอร์ (Predator) ของสหรัฐฯ ได้ออกปฏิบัติการโจมตีด้วยขีปนาวุธ ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างหนักให้แก่โครงสร้างการบังคับบัญชาและการประสานงานระหว่างตอลิบานปากีสถาน-อัลกออิดะห์ ทั้งนี้ภายหลังจากการโจมตีเช่นนี้คราวหนึ่ง ได้สังหาร ไบตุลเลาะห์ เมห์ซูด (Baitullah Mehsud) ผู้นำของกลุ่มตอลิบานปากีสถาน (Tehrik-i-Taliban Pakistan) ไปเมื่อเดือนสิงหาคม ส่วน อิลยาส กัษมิรี (Ilyas Kashmiri) หัวหน้านักรบชาวแคชเมียร์ผู้ชาญศึก ซึ่งได้เข้าร่วมกับอัลกออิดะห์ ก็ได้ถูกปลิดชีพไปเช่นกันเมื่อไม่นานมานี้ แม้กัษมิรีจะเป็นคนเก็บตัวไม่ค่อยตกเป็นข่าวโด่งดัง แต่เขาคือผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงก่อให้เกิดความคึกคักขึ้นในสมรภูมิระดับภูมิภาค

นอกจากนั้น ปฏิบัติการทางทหารของทางการปากีสถาน ที่ดำนินอยู่อย่างต่อเนื่องในพื้นที่ชาวชนเผ่าตามแนวชายแดนติดต่อกับอัฟกานิสถาน ก็ปรากฏว่ากำลังมีส่วนอย่างสำคัญทีเดียว ในการทำลายเครือข่ายของพวกหัวรุนแรงที่ได้สร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี 2002 และทำหน้าที่ส่งนักรบใหม่ๆ ไปเข้าร่วมการก่อความสงบในอัฟกานิสถานเรื่อยมา

พวกผู้วางนโยบายในวอชิงตันและในลอนดอน กำลังใช้วิธีการแบบเดินไปสองด้านพร้อมๆ กัน กล่าวคือ ในด้านหนึ่งพวกเขาเพิ่มระดับการปฏิบัติการทางทหารเพื่อปราบปรามพวกตอลิบาน แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เสนอทำข้อตกลงทางการเมืองกับเหล่าหัวหน้านักรบตอลิบานที่พวกเขาเชื่อว่าสามารถที่จะชักนำให้แยกตัวออกจากฝ่ายที่เป็นพวกสุดโต่งได้

ด้วยวิธีการเช่นนี้ ในเวลาต่อไปก็จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางขึ้นในกรุงคาบูล โดยที่จะมีพวกตอลิบานบางส่วนเข้าร่วมด้วย และสุดท้ายกองทหารของฝ่ายตะวันตกก็จะสามารถถอนออกไปจากอัฟกานิสถาน ซึ่งพวกเขารุกรานเข้ามาตั้งแต่ปี 2001 เพื่อโค่นล้มระบอบปกครองตอลิบาน

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งอัฟกันที่เต็มไปด้วยปัญหายืดเยื้อไม่ยอมจบลงเสียที กำลังทำให้แนวความคิดนี้สะดุดติดขัด ถ้าหากคะแนนเสียงของคาร์ไซ ซึ่งจากการนับคะแนนจนถึงเวลานี้อยู่ที่ 54% ของเสียงโหวตทั้งหมด เกิดลดต่ำลงจนสุดท้ายแล้วเหลือไม่ถึง 50% ก็จะต้องจัดการเลือกตั้งรอบสองเป็นรอบตัดสิน ขณะนี้ยังเหลือบัตรลงคะแนนที่ยังไม่ได้ประกาศผลอย่างเป็นทางการอีกราว 10% ซึ่งกำลังถูกตรวจสอบอย่างละเอียดถี่ถ้วน หลังจากที่คู่แข่งคนสำคัญของคาร์ไซ นั่นคือ อับดุลเลาะห์ อับดุลเลาะห์ (Abdullah Abdullah) ร้องเรียนว่ามีความไม่ชอบมาพากล ดังนั้น สถานการณ์ซึ่งในที่สุดแล้วคาร์ไซจะได้ไม่ถึง 50 % จึงยังเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ และกระบวนการหาตัวประธานาธิบดีคนต่อไปของอัฟกานิสถานก็ยังอาจจะต้องยืดเยื้อกันต่อไปอีกหลายๆ เดือน

ขณะที่อัฟกานิสถานกำลังเต็มไปด้วยความบาดหมางและไร้ความสามัคคีเป็นเอกภาพกันอยู่เช่นนี้เอง กลับเกิดพัฒนาการอันไม่คาดหมายขึ้นมา นั่นคือ หัวหน้าของ 4 กลุ่มติดอาวุธระดับภูมิภาคในอัฟกานิสถาน-ปากีสถาน ซึ่งปกติแล้วจะไม่ลงรอยกันและมีความแตกต่างกันมาก กลับไปร่วมประชุมกันในจังหวัดโคสต์ (Khost) ของอัฟกานิสถานเมื่อราว 10 วันก่อน และทำการเจรจากันอย่างยืดยาว ในเรื่องวิธีการที่กองกำลังระดับภูมิภาคต่างๆ จะสามารถต่อสู้กับกองกำลังทหารทั้งขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) และของทางการปากีสถาน

ผู้นำ 4 กลุ่มดังกล่าวนี้ ประกอบไปด้วย ซิราจุดดิน ฮักกอนี (Sirajuddin Haqqani) ผู้บังคับบัญชากลุ่มตอลิบานกลุ่มใหญ่ที่สุด, ฮากิมุลลาห์ เมห์ซูด (Hakimullah Mehsud) ผู้เพิ่งได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าคนใหม่ของกลุ่มตอลิบานปากีสถาน (Tehrik-i-Taliban Pakistan), มุลลาห์ นาซีร์ (Mullah Nazir) ปรปักษ์ของเมห์ซูด ที่เป็นหัวหน้านักรบตอลิบานในพื้นที่ชนเผ่าเขตเซาท์ วาซิริสถาน (South Waziristan) ของปากีสถาน แล้วก็เป็นผู้บัญชาการเครือข่ายสู้รบของตอลิบานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในจังหวัดปักเตีย (Paktia) ของอัฟกานิสถานซึ่งอยู่ติดกัน, และ กุล บาฮาดูร์ (Gul Bahadur) หัวหน้านักรบตอลิบานในเขตนอร์ท วาซิริสถาน (North Waziristan)

แหล่งข่าวที่ทราบเรื่องการพบปะหารือคราวนี้บอกกับเอเชียไทมส์ออนไลน์ว่า มันเป็นการประชุมที่ ซิราจุดดิน ฮักกอนี ริเริ่มขึ้นด้วยตนเอง โดยที่เขาต้องการตอกย้ำให้เกิดการปรองดองกันทันทีในระหว่างตอลิบานฝ่ายต่างๆ ทั้งหมด (ที่ผ่านมาพวกตอลิบานที่อยู่ในพื้นที่ชาวชนเผ่าของปากีสถาน จะแตกแยกแบ่งฝักฝ่ายกันไปตามแต่ว่าเป็นคนเผ่าไหนตระกูลใด)

ถึงแม้พวกเขาทั้งหมดต่างสัญญาที่จะจงรักภักดีต่อ มุลลาห์ โอมาร์ (Mullah Omar) ผู้นำตอลิบาน และขบวนการต่อต้านกองทหารต่างชาติในอัฟกานิสถานของมุลลาห์ โอมาร์ แต่ในท้องที่ของพวกเขาเองแล้วกลับยังคงมีการแบ่งแยกกัน ตัวอย่างเช่น มุลลาห์ นาซีร์ กับ กุล บาฮาดูร์ ต่างมาจากเผ่าวาซีร์ (Wazir) และมักมีเรื่องไม่ลงรอยกับผู้คนของเผ่าเมห์ซูด เท่าที่ผ่านมาในอดีตมีหลายครั้งทีเดียว ที่พวกเขาให้การสนับสนุนการปฏิบัติทางทหารของรัฐบาลปากีสถานในการปราบปรามอีกฝ่ายหนึ่งด้วยซ้ำ

ประเด็นหลักประเด็นหนึ่งที่หารือกันในการประชุมคราวนี้ ก็คือ เรื่องที่ฝ่ายทหารปากีสถานเปิดยุทธการครั้งแล้วครั้งเล่า เนื่องจากการปฏิบัติการทางทหารเหล่านี้สร้างความเสียหายหนักให้แก่เส้นทางลำเลียงเข้าสู่อัฟกานิสถานของตอลิบาน ในปีที่ผ่านๆ มา ตอลิบานต้องเปิดการระดมผู้ชายเป็นพันๆ คนอยู่ทุกปีเพื่อการข้ามชายแดน แต่เวลานี้จำนวนดังกล่าวได้ลดลงมาฮวบฮาบ

พวกผู้นำที่มาหารือกันคราวนี้เห็นพ้องต้องกันว่า กลุ่มตอลิบานทุกๆ กลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นศัตรูกันหรือเปล่า จะต้องพยายามร่วมมือประสานงานกันให้ใกล้ชิด ตลอดจนออกปฏิบัติการร่วมกันด้วยเมื่อมีความจำเป็น การร่วมมือกันระหว่างกลุ่มติดอาวุธต่างกลุ่มกันดังกล่าวนี้ ดำเนินไปได้ด้วยดีอยู่แล้วเมื่ออยู่ในอัฟกานิสถาน ทว่าครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่จะบังเกิดขึ้นในระดับภูมิภาคของปากีสถาน

ความร่วมมือประสานงานกันระหว่างกลุ่มต่อต้านกองทหารพันธมิตรที่มาจากคนละกลุ่มกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกที่อยู่ในภาคเหนือของอัฟกานิสถานนั้น สามารถนำมาซึ่งความสำเร็จอันเหนือความคาดหมาย การโจมตีทหารพลร่มอิตาเลียนในกองลำเลียงขนส่งของนาโต้ในกรุงคาบูลเมื่อวันพฤหัสบดี(17) ก็เป็นตัวอย่างของกรณีแบบนี้

การโจมตีแบบฆ่าตัวตายที่ตามรายงานของทางการได้สังหารทหารตายไป 6 คนและพลเรือนอีก 10 คนคราวนี้ เป็นผลจากความร่วมมือกันระหว่างกลุ่มต่อต้านกองทหารพันธมิตรกลุ่มต่างๆ จำนวนหนึ่ง นอกจากนั้นยังมีฝ่ายปกครองท้องถิ่นเข้าร่วมด้วย

หัวหน้านักรบอาวุโสรายหนึ่งซึ่งไม่ได้รับมอบอำนาจจากตอลิบานให้แถลงข่าวใดๆ แต่เขาก็พร้อมจะพูดกับเอเชียไทมส์ออนไลน์ บุคคลผู้นี้เรียกตัวเองว่า นักรบญิฮัดคนหนึ่งผู้ขอใช้นามว่า อะบู อับดุลเลาะห์ (Abu Abdullah)

“ปฏิบัติการ [คาบูล] วางแผนโดย ซิราจุดดิน ฮักกอนี และมีคนราวยี่สิบกว่าคนถูกทยอยส่งจากจังหวัดโคสต์มายังคาบูล พวกเขาพักอยู่ตามสถานที่ต่างๆ กันในเซฟเฮาส์หลายแห่งของตอลิบาน จากนั้นมีคนหนึ่งได้รับคัดเลือกให้กระทำภารกิจฆ่าตัวตาย ส่วนคนอื่นๆ ที่เหลือก็กำลังรอคอยเพื่อการปฏิบัติการต่อๆ ไปในอีกหลายๆ วันต่อจากนี้” อะบู อับดุลเลาะห์บอก

ตามคำบอกเล่าอะบู อับดุลเลาะห์ ปฏิบัติการในวันพฤหัสบดีมีการประสานงานร่วมมือกับคนท้องถิ่นในคาบูลที่เป็นพวกฝักใฝ่ตอลิบานซึ่งสามารถแทรกตัวลึกเข้าไปในฝ่ายปกครองท้องถิ่น และเป็นผู้ที่สามารถติดตามความเคลื่อนไหวต่างๆ ของขบวนลำเลียงขนส่งของนาโต้ได้ มีการตั้งจุดสังเกตการณ์ขึ้นมาด้วยความช่วยเหลือของพวกคนท้องถิ่นในฝ่ายปกครองที่สนับสนุนตอลิบาน คนท้องถิ่นเหล่านี้ยังเป็นผู้เตือนมือระเบิดฆ่าตัวตายให้ระวังเตรียมตัว เมื่อยานยนต์ 3 คันกำลังผ่านมาตามเส้นทางหลักสายหนึ่ง จากนั้นรถของมือระเบิดจึงพุ่งรี่เข้าไปหายานยนต์คันหนึ่งใน 3 คันดังกล่าว

อะบู อับดุลเลาะห์อ้างว่า ยานยนต์ทั้ง 3 คันต่างถูกทำลาย และทหารนาโต้ 25 คนถูกสังหาร

“นี่เป็นการโจมตีทหารนาโต้ที่ประสบความสำเร็จครั้งหนึ่งในหลายๆ ครั้ง ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างกระตือรือร้นจากมวลชน เหมือนกับตอนที่มวลชนสนับสนุนการทำศึกต่อต้านพวกโซเวียต [ในช่วงทศวรรษ 1980] ถ้าหากเป็นความปรารถนาของพระเจ้าแล้ว เราก็จะเปิดปฏิบัติการทำนองเดียวกันนี้อีกในอนาคต” อะบู อับดุลเลาะห์กล่าว

นอกจากการโจมตีในลักษณะดังกล่าวนี้แล้ว เป็นที่คาดหมายกันว่าพวกตอลิบานยังจะมุ่งเน้นหนักในเรื่องการรบกวนเส้นทางลำเลียงต่างๆ ของนาโต้ ทั้งที่ผ่านปากีสถาน และที่ผ่านประเทศต่างๆ ทางเอเชียกลางเข้าสู่ภาคเหนือของอัฟกานิสถาน ขณะเดียวกัน การปะทะกับกองกำลังความมั่นคงของทางการปากีสถานมากยิ่งขึ้นในอนาคต ก็คงจะเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ไซเอด ซาลีม ชาห์ซาด เป็นหัวหน้าสำนักงานปากีสถานของเอเชียไทมส์ออนไลน์ สามารถติดต่อกับเขาได้ที่saleem_shahzad2002@yahoo.com
กำลังโหลดความคิดเห็น