xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องวุ่นๆ จากร่างกม.สหรัฐฯให้เงินช่วยเหลือปากีสถาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในวันพฤหัสบดี(15) ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ ก็ได้ลงนามในร่างกฎหมายให้ความช่วยเหลือก้อนใหญ่แก่ปากีสถาน สาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นการให้อำนาจแก่ทางการอเมริกัน ในการส่งความช่วยเหลือประเภทที่ไม่ใช่ด้านการทหาร เป็นมูลค่ารวมประมาณ 7,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในระยะเวลา 5 ปีต่อจากนี้

ความช่วยเหลือจำนวนดังกล่าว คิดเป็นกว่า 3 เท่าตัวของเงินช่วยเหลือประเภทนี้ซึ่งวอชิงตันให้แก่อิสลามาบัดอยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้ร่างกฎหมายฉบับนี้ถูกผลักดันออกมา ก็ด้วยมุ่งหมายให้เป็นการแสดงถึงความสนับสนุนที่สหรัฐฯมีให้แก่ปากีสถาน –ประเทศที่สหรัฐฯจำเป็นจะต้องได้รับความร่วมมืออย่างเต็มที่ ถ้าต้องการสร้างความปราชัยให้แก่พวกตอลิบานในประเทศเพื่อนบ้านอัฟกานิสถาน และทำลายล้างพวกอัลกออิดะห์ ทั้งนี้เชื่อกันด้วยว่า พวกผู้นำของอัลกออิดะห์นั้นกำลังหลบซ่อนกันอยู่ในพื้นที่ชายแดนอันทุรกันดารของปากีสถานติดต่อกับอัฟกานิสถานนั่นเอง

อย่างไรก็ดี ตรงกันข้ามกับความตั้งใจของฝ่ายอเมริกัน หลังจากที่รัฐสภาสหรัฐฯผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้เมื่อวันที่ 5 ตุลาคมแล้ว กลับก่อให้เกิดวิกฤตทางการเมืองครั้งใหญ่ในปากีสถานเอง โดยที่ฝ่ายค้านและฝ่ายทหารที่มีอำนาจยิ่งของประเทศนั้น ได้ปฏิเสธไม่ยอมรับเงื่อนไขมากมายหลายข้อที่เขียนเอาไว้ในร่างกฎหมายนี้ พวกเขาบอกว่าเงื่อนไขต่างๆ ดังกล่าวเป็นการละเมิดอธิปไตยและศักดิ์ศรีของปากีสถาน

เพื่อที่จะบรรเทาความไม่พอใจ ผู้สนับสนุนหลัก 2 คนของร่างกฎหมายฉบับนี้ อันได้แก่ จอห์น เคร์รี ประธานคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์ของวุฒิสภา และ โฮเวิร์ด เบอร์แมน ประธานคณะกรรมาธิการชุดที่ทำหน้าที่อย่างเดียวกันของสภาผู้แทนราษฎร ต้องร่วมกันออก “คำแถลงร่วมเพื่ออธิบายขยายความ” บรรจุเอาไว้เป็นภาคผนวกของร่างกฎหมายก่อนที่โอบามาจะลงนาม ในคำแถลงร่วมนี้ เคร์รีและเบอร์แมนยืนยันว่า “บทบัญญัติแห่งกฎหมายฉบับนี้ ไม่ได้มุ่งแสวงหาหนทางใดๆ ที่จะทำให้เกิดความเสียหายต่ออธิปไตยของปากีสถาน, หรือเข้าละเมิดแทรกแซงผลประโยชน์ด้านความมั่นคงแห่งชาติของปากีสถาน, หรือเข้าควบคุมบงการการปฏิบัติการทางทหารหรือทางพลเรือนของปากีสถานในด้านใดๆ ทั้งสิ้น”

ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์วินาศกรรม 11 กันยายน 2001 สหรัฐฯได้ให้ความช่วยเหลือปากีสถานไปแล้วเป็นมูลค่าราว 11,000 ล้านดอลลาร์ ทว่ามีจำนวนเพียงส่วนเสี้ยวเท่านั้นที่เป็นความช่วยเหลือประเภทที่ไม่ใช่ด้านการทหาร

ร่างกฎหมาย “ความเป็นหุ้นส่วนที่ปรับปรุงยกระดับให้ดียิ่งขึ้นกับปากีสถาน” (The Enhanced Partnership with Pakistan) จัดทำขึ้นมาโดยจุดมุ่งหมายที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ เพื่อทำให้เกิดความสมดุลกันมากยิ่งขึ้น ในระหว่างความช่วยเหลือด้านการทหารและด้านที่ไม่ใช่การทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังที่อิสลามาบัดหวนกลับคืนสู่การปกครองแบบพลเรือนในต้นปี 2008 โดยแผนการนี้มุ่งที่จะให้ความสนับสนุนเพิ่มขึ้นอย่างสำคัญต่อสถาบันต่างๆ ทางประชาธิปไตยและต่อภาคประชาชนของปากีสถาน แต่ทั้งนี้วอชิงตันก็ยังคงจัดหาความช่วยเหลือประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีให้แก่กองทัพของประเทศนี้ต่อไป

ขณะที่ร่างกฎหมายฉบับนี้ที่เป็นร่างของวุฒิสภา มีการเขียนเงื่อนไขกว้างๆ จำนวนหนึ่งเพื่อให้ปากีสถานปฏิบัติ แต่ร่างของสภาผู้แทนราษฎรนั้นมีทั้งเงื่อนไขที่ระบุเป็นรายละเอียดอย่างเจาะจงยิ่งกว่า และก็มีลักษณะเป็นข้อเรียกร้องเชิงบังคับมากกว่าด้วย

ตามเงื่อนไขต่างๆ ในร่างของสภาผู้แทนราษฎร ปากีสถานจะได้รับความช่วยเหลือทางทหาร ก็ต่อเมื่อรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯรับรองว่า รัฐบาลพลเรือนของปากีสถานสามารถดำเนินการให้ “ฝ่ายพลเรือนเข้าควบคุมฝ่ายทหารได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว” อีกทั้ง “แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นผูกพันอย่างเป็นระยะยาว” ด้วย “การยุติการให้ความสนับสนุน” แก่กลุ่มก่อการร้ายต่างๆ และ “กำจัดที่มั่นต่างๆ ของพวกผู้ก่อการร้าย”

บทบัญญัติในเรื่องต่างๆ เหล่านี้ยังคงถูกบรรจุเอาไว้ในร่างกฎหมายสุดท้ายฉบับที่ผ่านสภาทั้งสองแล้ว ถึงแม้มีเงื่อนไขว่าประธานาธิบดีสามารถที่จะยกเลิกข้อกำหนดพวกนี้ได้หากเห็นว่าเป็นผลประโยชน์แห่งชาติ

อย่างไรก็ตาม บทบัญญัติเหล่านี้ได้ถูกพวกผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองทัพปากีสถานมองว่า เป็นการละเมิดอธิปไตยของปากีสถาน พวกเขาได้ออกแถลงการณ์คัดค้านอย่างเป็นทางการ โดยพุ่งเป้าไปที่ประธานาธิบดีอาซฺฟ อาลี ซาร์ดารี โดยตรง นอกจากนั้น ข้อกล่าวหาเช่นนี้ของฝ่ายทหารยังได้รับการขานรับในรัฐสภา ทั้งจาก นาวาซ ชาริฟ ผู้นำฝ่ายค้านซึ่งเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี และจากผู้นำของพรรคการเมืองอื่นๆ ตลอดจนสื่อมวลชน

ตอนแรกๆ ตัวประธานาธิบดีซาร์ดารี ได้ออกมากล่าวยกย่องชมเชยการที่รัฐสภาอเมริกันผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ พร้อมกับคุยว่านี่คือความสำเร็จอันสำคัญของคณะรัฐบาลของเขา แต่เมื่อเผชิญกับปฏิกิริยาต่อต้านอันรุนแรงอย่างไม่คาดคิดมาก่อน เขาก็รีบส่งรัฐมนตรีต่างประเทศไปกรุงวอชิงตัน ในความพยายามที่จะหาหนทางแก้ไขที่จะเป็นการรักษาหน้าของทุกๆ ฝ่ายเอาไว้ ซึ่งก็ออกมาในรูปของ “คำแถลงร่วมเพื่ออธิบายขยายความ” ความยาว 2 หน้าที่ออกโดย เคร์รี และเบอร์แมน

(เก็บความและตัดตอนจากเรื่อง Pakistan aid bill has explosive impact โดย
Jim Lobe แห่ง สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส (ไอพีเอส) เขามีบล็อกว่าด้วยนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ ซึ่งสามารถหาอ่านได้ที่ http://www.ips.org/blog/jimlobe/)
กำลังโหลดความคิดเห็น