xs
xsm
sm
md
lg

‘นายกฯใหม่’ญี่ปุ่นมุ่งปรับนโยบาย ผูกพันUSน้อยลง-เพิ่มคบกับ‘เอเชีย’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 ยูกิโอะ ฮาโตยามะ
เอเอฟพี – ยูกิโอะ ฮาโตยามะ ซึ่งน่าจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนต่อไป ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวานนี้(30) เชื่อว่าประเทศของเขาควรที่จะปรับเปลี่ยนนโยบายการต่างประเทศ โดยผูกพันกับสหรัฐฯให้น้อยลง และมุ่งขยายความสัมพันธ์กับเอเชียให้มากขึ้น



ฮาโตยามะ ผู้นำหัวกลาง-ซ้าย นอกจากให้สัญญาจะสั่นคลอนการเมืองภายในประเทศที่ตกอยู่ในการปกครองครอบงำของฝ่ายอนุรักษนิยมมากว่าครึ่งศตวรรษแล้ว เขายังกำลังเรียกร้องให้คบหาสมาคมกับวอชิงตัน ผู้เป็นพันธมิตรใกล้ชิดมาหลายสิบปีของโตเกียว ในลักษณะเป็นหุ้นส่วน “อย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น” อีกด้วย

ในบทความของเขาซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ฮาโตยามะเปิดฉากการวิพากษ์วิจารณ์ลัทธิทุนนิยมสไตล์สหรัฐฯ และ “ลัทธิเคร่งหลักการเรื่องพลังของตลาด” (market fundamentalism) ซึ่งเขาระบุว่าเป็นแนวคิดที่ “ขาดไร้ซึ่งศีลธรรมหรือการรู้จักประมาณ” และสร้างความเสียหายต่อชีวิตของประชาชน

เขายังพูดทำนายอย่างไม่มีการอ้อมค้อมสงวนท่าทีเลยว่า “ความล้มเหลวในสงครามอิรักและวิกฤตทางการเงิน(ของสหรัฐฯ) กำลังบังเกิดผลลัพธ์ทำให้ยุคแห่งการเมืองโลกแบบที่มีสหรัฐฯเป็นผู้นำ มาถึงจุดจบ และทำให้เรากำลังเคลื่อนตัวเข้าสู่ยุคที่มีขั้วอำนาจหลายๆ ขั้ว”

ฮาโตยาะ หัวหน้าพรรคเดโมเครติก ปาร์ตี้ ออฟ แจแปน (ดีพีเจ) กล่าวเน้นว่า “สนธิสัญญาความมั่นคงญี่ปุ่น-สหรัฐฯ จะยังคงเป็นเสาหลักแห่งนโยบายการทูตของญี่ปุ่นต่อไป” เหมือนกับที่เป็นมาตลอดกว่าหกสิบปีตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง

“แต่ในเวลาเดียวกัน เราก็ต้องไม่ลืมว่า อัตลักษณ์ของเราในฐานะที่เป็นชาติๆ หนึ่งนั้นตั้งอยู่ในเอเชีย” เขาเขียนเอาไว้ในบทความของเขา “ผมเชื่อว่าภูมิภาคเอเชียตะวนออก ซึ่งกำลังแสดงตัวออกมาให้เห็นว่ามีความสำคัญยิ่งยวดมากขึ้นทุกที จักต้องได้รับการยอมรับว่าเป็นพื้นที่แห่งการดำรงอยู่ในระดับพื้นฐานของญี่ปุ่น”

ฮาโตยามะชี้ให้เห็นถึงการก้าวผงาดขึ้นมาอย่างรวดเร็วของจีน ซึ่งกำลังจะแซงหน้าญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศเจ้าของเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก และเรียกร้องให้ก่อตั้งประชาคมเอเชียที่มีสกุลเงินตราร่วมกันขึ้นมา ในโมเดลของสหภาพยุโรป(อียู)

เขาบอกว่า สำหรับตอนนี้ เงินดอลลาร์สหรัฐฯยังคงเป็นสกุลเงินตราของโลก ทว่าเขาก็พูดแบบเป็นนัยๆ ว่าอิทธิพลของสหรัฐฯจะต้องเสื่อมสลายอย่างแน่นอน โดยที่เขากล่าวเพียงว่า “สหรัฐฯจะยังคงเป็นมหาอำนาจทางการทหารและทางเศรษฐกิจชั้นแนวหน้าของโลกไปอีกสองถึงสามทศวรรษต่อจากนี้ไป”

สำหรับพวกผู้สังเกตการณ์ในสหรัฐฯแล้ว บทความนี้เป็นสัญญาณบ่งชี้อันชัดเจนที่สุดเกี่ยวกับทัศนะต่อโลกของฮาโตยามะ ซึ่งพรรคดีพีเจของเขาน่าจะชนะพรรคลิเบอรัล เดโมเครติก ปาร์ตี้ (แอลดีพี) ของนายกรัฐมนตรีทาโร อาโซะ ในการเลือกตั้งสภาล่างเมื่อวานนี้

กระนั้นก็ตาม ผู้สังเกตการณ์หลายคนเห็นว่า ถ้าดีพีเจขึ้นเป็นรัฐบาลญี่ปุ่นจริงๆ ก็ไม่น่าจะปรับเปลี่ยนนโยบายการต่างประเทศอย่างรวดเร็วหรืออย่างรุนแรงอะไร โดยแม้จะพูดจาขึงขังไว้มากในตอนหาเสียง แต่เอาเข้าจริงดีพีเจก็คงจะใช้วิธีแบบมุ่งผลในทางปฏิบัติมากกว่า

“พวกเขาน่าจะต้องการทำให้สหรัฐฯมั่นใจขึ้นครั้งในเรื่องการเป็นพันธมิตรกัน และขณะเดียวกันก็เดินหน้าปรับปรุงสายสัมพันธ์กับจีน” เป็นความเห็นของ รอเบิร์ต ดูจาร์ริก ผู้อำนวยการสถาบันญี่ปุ่นร่วมสมัยศึกษา แห่งมหาวิทยาลัยเทมเปิล วิทยาเขตญี่ปุ่น เขาอธิบายต่อไปว่า ดีพีเจมีอะไรต้องทำมากในเรื่องภายในประเทศ และไม่ต้องการทำให้ผู้ออกเสียงชาวญี่ปุ่นตระหนกตกใจ ดังนั้น จึงน่าจะเลือกหลีกเลี่ยงไม่ลงมือเปลี่ยนแปลงอะไรใหญ่โตทางด้านการต่างประเทศ

แต่ไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วหรืออย่างค่อยเป็นค่อยไป ฮาโตยามะก็ชี้เอาไว้ชัดเจนว่า เขาสนับสนุนทัศนะที่มองบทบาทของญี่ปุ่นในโลกแห่งศตวรรษที่ 21 ด้วยสายตาและมุมมองใหม่ๆ

เขาเขียนเอาไว้ในนิวยอร์กไทมส์ว่า ปัญหาสำคัญที่สุดสำหรับญี่ปุ่นในโลกทุกวันนี้ก็คือ “ญี่ปุ่นควรจะธำรงรักษาความเป็นอิสระทั้งทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจของตน ตลอดจนการพิทักษ์ปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติของตนเองเอาไว้อย่างไร เมื่อต้องอยู่ในระหว่างสหรัฐฯกับจีน โดยที่ฝ่ายแรกนั้นกำลังต่อสู้เพื่อรักษาฐานะความเป็นมหาอำนาจผู้ครอบงำโลกเอาไว้ ขณะที่ฝ่ายหลังกำลังหาทางทำให้ตนเองได้ขึ้นไปอยู่ในฐานะครอบงำ”
กำลังโหลดความคิดเห็น