xs
xsm
sm
md
lg

ฝ่ายค้านญี่ปุ่นชนะเลือกตั้ง มุ่งฟื้นศก.-สู่การเมืองใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยูกิโอะ ฮาโตยามะ ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่น
เอเจนซี/เอเอฟพี – ฝ่ายค้านญี่ปุ่นได้ชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์ในการเลือกตั้งสภาล่างวานนี้(30) เมื่อบรรดาผู้ออกเสียงพากันหมางเมินหันหลังให้กับ “ลิเบอรัล เดโมเครติก ปาร์ตี้” (แอลดีพี) พรรคแนวทางอนุรักษนิยมซึ่งปกครองประเทศแทบจะต่อเนื่องตลอดเวลากว่าครึ่งศตวรรษ แล้วเทคะแนนแบบถล่มทลายให้ “เดโมเครติก ปาร์ตี้ ออฟ แจแปน” (ดีพีเจ) พรรคหัวกลาง-ซ้ายซึ่งไม่เคยเป็นรัฐบาลมาก่อนเลย เพื่อทำหน้าที่ฟื้นฟูเศรษฐกิจที่กำลังย่ำแย่ ตลอดจนปรับเปลี่ยนนโยบายทางด้านการเมือง, การต่างประเทศ, และสังคม

ดีพีเจคว้าชัยชนะอันงดงามมาได้ ด้วยการให้คำมั่นสัญญาที่จะเน้นหนักการใช้จ่ายงบประมาณซึ่งเอื้อประโยชน์ถึงตัวผู้บริโภค, ตัดลดการตั้งงบประมาณที่สิ้นเปลืองไร้ประสิทธิภาพ, และลดทอนอำนาจของพวกข้าราชการ ทว่าดีพีเจก็จะต้องเคลื่อนไหวดำเนินการให้เห็นผลรวดเร็วด้วย เพื่อรักษาแรงสนับสนุนของผู้ออกเสียง ซึ่งเต็มไปด้วยความกังวลเรื่องอัตราการว่างงานพุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และเรื่องสังคมกำลังกลายเป็นสังคมคนชราอย่างรวดเร็วที่จะต้องมีต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคมอย่างมหาศาล

ยูกิโอะ ฮาโตยามะ ผู้นำพรรคดีพีเจก็ดูจะตระหนักเรื่องนี้เป็นอย่างดี โดยเขาพูดระหว่างการแถลงข่าวถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ว่า “ประชาชนกำลังโกรธกริ้วการเมืองในปัจจุบันและคณะรัฐบาลผสมในเวลานี้ เราตระหนักเป็นอย่างดีถึงความรู้สึกอันใหญ่หลวงของประชาชนที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขา และเราก็ต่อสู้ในการเลือกตั้งคราวนี้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคณะรัฐบาล”

ตามการคาดการณ์ของสื่อหลายสำนักภายหลังการลงคะแนนเสร็จสิ้นลง แสดงให้เห็นว่าดีพีเจกำลังจะได้ชัยชนะแบบถล่มทลาย โดยที่เป็นไปได้ว่าจะได้เสียงถึงสองในสาม นั่นคือ 320 ที่นั่ง จากสภาล่างทั้งสภาที่มี 480 ที่นั่ง การพยากรณ์เช่นนี้ก็สอดคล้องกับคำทำนายก่อนหน้านี้ที่ว่า พรรคแอลดีพีของนายกรัฐมนตรีทาโร อาโซะ จะปราชัยแบบย่อยยับ

โยชิฮิเดะ ซูกะ รองหัวหน้านักยุทธศาสตร์วางแผนรณรงค์หาเสียงของแอลดีพี ได้ออกมาแถลงข่าวยอมรับว่า พรรคซึ่งปกครองประเทศอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นมาในปี 1955 โดยมียกเว้นถูกฝ่ายค้านเข้าแทรกก็เพียงแค่ประมาณ 10 เดือนเท่านั้น กำลังจะประสบ “ความปราชัยครั้งประวัติศาสตร์”

การพ่ายแพ้ของแอลดีพียังหมายถึงการแตกกระจัดกระจายของหุ้นส่วน 3 ฝ่าย อันได้แก่ แอลดีพี, ธุรกิจใหญ่, และข้าราชการ โดยหุ้นส่วนนี่เองที่เปลี่ยนแปลงญี่ปุ่นให้เข้าสู่ฐานะการเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ภายหลังพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่สอง ทว่ายุทธศาสตร์เช่นนี้ก็ถึงคราวเผชิญปัญหาหนักทำท่าไปไม่รอดเรื่อยมา นับแต่ที่ “ฟองสบู่” เศรษฐกิจของญี่ปุ่นแตกระเบิดออกเมื่อปลายทศวรรษ 1980 และจากนั้นการเจริญเติบโตของแดนอาทิตย์อุทัยก็อยู่ในภาวะชะงักงันโดยตลอด

เจอร์รี เคอร์ติส ผู้เชี่ยวชาญด้านญี่ปุ่น ณ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ของสหรัฐฯ ชี้ว่า สิ่งที่กำลังบังเกิดขึ้นในเวลานี้ คือ “การสิ้นสุดของระบบการเมืองหลังสงครามโลกในญี่ปุ่น” และ “มันเป็นเครื่องหมายแสดงถึงจุดจบของยุคสมัยอันยาวนานยุคหนึ่ง และก็เป็นการเริ่มต้นของอีกยุคสมัยหนึ่งซึ่งยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน”

พวกตลาดการเงินได้ตั้งความหวังมาพักใหญ่แล้วว่า ชัยชนะอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้งสมาชิกสภาล่างของดีพีเจ จะเป็นการแก้ไขภาวะติดขัดอึดอัดทางการเมือง เพราะดีพีเจและพรรคพันธมิตรอื่นๆ รวมกันก็สามารถครองเสียงข้างมากในสภาสูงได้อยู่แล้ว โดยที่สภาสูงแม้มีอำนาจน้อยกว่าสภาล่างมาก แต่ก็สามารถยับยั้งการออกกฎหมายหรือการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ตำแหน่งสำคัญๆ ได้ อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลชุดใหม่มีการเพิ่มการใช้จ่ายมากมายตามที่ให้สัญญาไว้ตอนหาเสียง ก็อาจทำให้เกิดความไม่มั่นใจ และอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้รัฐบาลอาจจะเพิ่มขึ้น ซึ่งก็เท่ากับอัตราดอกเบี้ยระยะยาวขยับสูงขึ้นไปนั่นเอง

ผลเอ็กซิตโพลที่พวกสื่อมวลชนประกาศออกมาภายหลังปิดหีบลงคะแนน แสดงให้เห็นว่าแอลดีพีจะชนะได้ที่นั่งเพียงแค่เกิน 100 ที่นั่งเล็กน้อย จากที่เคยมีอยู่ถึง 300 ที่นั่ง ส่วนพรรคนิว โคเมอิโตะ ปาร์ตี้ ที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล คาดหมายว่าจะได้ราวๆ 20 ที่นั่ง

ขณะที่ดีพีเจนั้น ทีวีอาซาฮีทำนายว่าจะได้ 315 ที่นั่ง ทีบีเอสพยากรณ์ว่าจะชนะ 321 ที่นั่ง และ เอ็นเอสเคคาดหมายว่าจะได้ระหว่าง 298 ถึง 329 ที่นั่ง

ในการเลือกตั้งทั่วไปคราวก่อนเมื่อปี 2005 แอลดีพีได้รับชนะมโหฬาร เนื่องจากนายกรัฐมนตรีจุนอิชิโร โคอิซูมิ ผู้มากเสน่ห์ดึงดูดใจผู้ออกเสียง ให้สัญญาที่จะดำเนินการปฏิรูป ทว่าแรงสนับสนุนดังกล่าวได้พังครืนลงไป หลังจากแอลดีพีเกิดเรื่องอื้อฉาวไม่ได้หยุดหย่อน, มีการเปลี่ยนนโยบายกลับไปกลับมา, และถูกมองว่าไร้ความสามารถในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประเทศที่ประชากรกำลังมีอายุเพิ่มสูงขึ้นทุกที

อย่างไรก็ตาม แรงหนุนหลังพรรคดีพีเจก็ใช่ว่าจะแข็งขันหนักแน่นอะไรนัก ผู้ออกเสียงดูจะอยู่ในอาการสุดทนกับแอลดีพี จนต้องการทดลอง “ของใหม่” แม้จะรู้สึกไม่มั่นใจเท่าใดนักว่าดีพีเจจะแก้ปัญหาต่างๆ ของประเทศได้ดีแน่ๆ

“มันจะต้องเป็นปัญหาหนักหน่วงทีเดียวสำหรับดีพีเจที่จะจัดสรรเงินทองไปในเรื่องต่างๆ ให้ถูกต้องเหมาะสม แต่ผมคิดว่าถึงยังไงเราก็ควรต้องให้โอกาสพวกเขาสักครั้ง” ยาสุฮิโร คุมาซาวะ เจ้าของร้านอาหารวัย 38 ปีให้ความเห็น “ถ้ามันไม่ได้ผล เราก็ยังสามารถเลือกแอลดีพีกลับมาในอีก 4 ปีข้างหน้า”

เช่นเดียวกับ คาซุยะ สึดะ แพทย์เกษียณอายุไว้ 78 ปีในกรุงโตเกียวที่ไปโหวตให้ดีพีเจ ซึ่งกล่าวว่า “ผมไม่ชอบสิ่งต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้ในประเทศของเรา สิ่งต่างๆ จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงเสียที”

ดีพีเจให้สัญญาที่จะปรับเปลี่ยนงบประมาณการใช้จ่าย ให้หันมาเน้นช่วยเหลือการเลี้ยงดูบุตรของครอบครัวต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนมีลูก รวมทั้งให้ความเหลือแก่เกษตรกร ขณะเดียวกันก็จะดึงอำนาจควบคุมกำหนดนโยบายต่างๆ ออกมาจากมือของพวกข้าราชการ ซึ่งทางพรรคประณามว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้ญี่ปุ่นล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาต่างๆ เป็นต้นว่า ระบบบำนาญที่กำลังเกิดช่องโหว่มากมาย

อย่างไรก็ดี โนริฮิโกะ นาริตะ ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยสุรุกาดาอิ ซึ่งอยู่ใกล้กรุงโตเกียว ทักท้วงว่า ในขณะที่ดีพีเจพูดว่าพวกเขาจะหลีกหนีไม่ให้ข้าราชการเข้าครอบงำการเมือง แต่พวกเขาก็จะต้องมีทักษะความชำนาญในการใช้ข้าราชการเพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายของพวกเขาด้วย

ดีพีเจยังประกาศว่าต้องการปรับนโยบายการต่างประเทศ ซึ่งจะมีความเป็นอิสระมากขึ้น ขึ้นต่อพึ่งพิงสหรัฐฯน้อยลง ขณะที่จะสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับประเทศอื่นๆ ในเอเชีย
กำลังโหลดความคิดเห็น