xs
xsm
sm
md
lg

“โอบามา”ไม่พ้นต้องเพิ่มทหารเข้าไปในอัฟกานิสถาน

เผยแพร่:   โดย: แกเรธ พอร์เตอร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Obama looks escalation in the eye
By Gareth Porter
29/09/2009

ประธานาธิบดีบารัค โอบามา กำลังจะต้องตัดสินใจครั้งชี้เป็นชี้ตาย ในเรื่องที่เพนตากอนร้องขอกำลังทหารอเมริกันเพิ่มเข้าไปสู้รบในสงครามอัฟกานิสถานอีก 40,000 คน หรือเท่ากับเพิ่มขึ้นร่วมๆ 60% สถานการณ์คราวนี้มีอะไรคล้ายคลึงอยู่มากกับช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในสงครามเวียดนามเมื่อปี 1965 โดยที่การเลือกทางเดินของประธานาธิบดี จะได้รับอิทธิพลเป็นอย่างมากจากความหวั่นกลัวของฝ่ายทหารและทำเนียบขาว ที่ไม่ต้องการถูกประณามเป็นตัวการทำให้พ่ายแพ้สงคราม

วอชิงตัน – มีอะไรคล้ายคลึงกันอยู่มากทีเดียวกับช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของสงครามเวียดนามเมื่อ 44 ปีก่อน ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ ก็กำลังต้องเป็นประธานของการประชุมหารือต่อเนื่องกันเป็นชุดใหญ่ในระยะไม่กี่สัปดาห์ต่อจากนี้ไป เพื่อวินิจฉัยว่าสหรัฐฯควรที่จะเดินหน้ายกระดับสงครามในอัฟกานิสถาน หรือจะปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ของตนและลดพันธะความผูกพันทางทหารในสมรภูมิแห่งนั้นลงมา

การประชุมหารือต่างๆ เหล่านี้จัดขึ้นมา สืบเนื่องจาก พล.อ.สแตนลีย์ เอ แมคคริสตัล (Stanley A McChrystal) ผู้บังคับบัญชาทหารระดับสูงที่สุดในอัฟกานิสถาน ได้ร้องขอเพิ่มกำลังทหารอีก 40,000 คน โดยที่คำขอดังกล่าวนี้มาถึงวอชิงตันในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา หากเพิ่มให้ตามที่ขอไป ก็จะทำให้มีทหารสหรัฐฯในสมรภูมิแห่งนั้นรวมทั้งสิ้นป็น 108,000 คน นั่นก็คือ ตัวเลขที่ขอเพิ่มเท่ากับใกล้ๆ 60% ของจำนวนที่มีอยู่ในเวลานี้ทีเดียว

โอบามาแสดงท่าทีเป็นนัยว่ามีความข้องใจสงสัยอย่างแรงกล้า ในเรื่องที่จะเป็นการถูกดึงลากให้จมลึกสู่สงครามในอัฟกานิสถานมากยิ่งขึ้น และพวกเจ้าหน้าที่คณะรัฐบาลหลายคนก็ส่งสัญญาณว่า ประเด็นสำคัญที่สุดที่จะต้องขบคิดพิจารณากันนั้น อยู่ที่ว่าสงครามต่อต้านความไม่สงบในประเทศนั้น เป็นสงครามที่มีโอกาสชนะได้หรือไม่

ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ “ดิ เอจ” (The Age) ของออสเตรเลียฉบับวันศุกร์(25)ที่ผ่านมา ในการหารือของพวกเจ้าหน้าที่ระดับสูงในคณะรัฐบาลโอบามาเมื่อวันที่ 13 กันยายน ได้มีการถกเถียงอภิปรายกันเกี่ยวกับทางเลือกหลายๆ ทาง โดยหนึ่งในนั้นคือแผนการที่หนุนหลังโดยรองประธานาธิบดี โจ ไบเดน ที่ให้ลดกำลังทหารสหรัฐฯในอัฟกานิสถานลงมา และปรับเป้าหมายให้หดแคบลงมาอยู่แค่เฉพาะพวกอัลกออิดะห์เท่านั้น รายงานข่าวระบุว่าแผนการนี้มุ่งอาศัยกองกำลังทหารรบพิเศษของสหรัฐฯ ให้คอยติดตามเล่นงานพวกอัลกออิดะห์ และทำให้สงครามต่อต้านความไม่สงบคราวนี้ลดระดับลงมา

อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจทั้งหลายที่จะปรากฏออกมาจากการประชุมหารือชุดใหญ่ดังกล่าวข้างต้น น่าที่จะได้รับอิทธิพลอย่างสำคัญที่สุด จากความวิตกกังวลของฝ่ายทหารและของทำเนียบขาว ที่ไม่ปรารถนาจะถูกประณามว่าเป็นตัวการทำให้ต้องพ่ายแพ้ในอัฟกานิสถาน ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับเพียงระยะ 6 เดือนที่ผ่านมาแล้ว ถึงเวลานี้โอกาสความเป็นไปได้ที่จะตกเป็นฝ่ายปราชัยนั้นก็ดูจะมีเพิ่มสูงขึ้นเป็นอันมาก

เมื่อมองกันในแง่มุมนี้แล้ว การประชุมหารือต่างๆ ของทำเนียบขาวที่กำลังดำเนินการกันอยู่ ก็ชวนให้หวนระลึกถึงการปรึกษาหารือทำนองเดียวกันในเดือนมิถุนายน 1965 ตอนที่ประธานาธิบดีลินดอน บี จอห์นสัน และพวกที่ปรึกษาที่เป็นพลเรือนของเขา ได้รับคำขอของ พล.อ.วิลเลียม เวสต์มอร์แลนด์ (William Westmoreland) และคณะเสนาธิการทหารผสมสหรัฐฯ ที่จะให้เพิ่มทหารเป็นจำนวนมากเข้าไปในเวียดนามใต้ แล้วประธานาธิบดีก็พยายามตอบสนองด้วยการจัดการหารือถกเถียงกันถึงวิธีต่างๆ ที่จะทำให้สหรัฐฯยังสามารถจำกัดพันธะผูกพันทางทหารในเวียดนามใต้เอาไว้

ทั้งจอห์นสัน, รัฐมนตรีกลาโหม รอเบิร์ต เอส แมคนามารา (Robert S McNamara) และที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติ แมคจอร์จ บันดี (McGeorge Bundy) ต่างก็มีความสงสัยข้องใจว่าสามารถที่จะชนะในสงครามที่เวียดนามใต้ได้จริงหรือไม่ แม้เมื่อเพิ่มพันธะผูกพันด้วยการส่งกำลังทหารเข้าไปอีกเป็นจำนวนมาก

จอห์นสันในเวลานั้น ก็ทำนองเดียวกันกับโอบามาในเวลานี้ ยังมีทางเลือกอื่นๆ นอกเหนือจากการไต่ระดับเพิ่มความผูกพันในการทำสงคราม นั่นคือ ข้อเสนอจากปลัดกระทรวงการต่างประเทศ จอร์จ บอลล์ (George Ball) ที่ให้ทำความตกลงโดยผ่านการเจรจา ทว่ามันกลับกลายเป็นข้อเสนอที่ถูกคัดค้านอย่างรุนแรงจากคนอื่นๆ ในทีมงานความมั่นคงแห่งชาติของจอห์นสัน รวมถึงจากแมคนามาราด้วย

และแล้วอีกไม่กี่สัปดาห์ต่อมา จอห์นสันก็เดินหน้านโยบายสร้างพันธะความผูกพันทางทหารแบบไร้ขีดจำกัดในเวียดนาม เนื่องจากเขาไม่ปรารถนาเลยที่จะต้องถูกฝ่ายทหารกล่าวหาว่า เขาคือผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อการสูญเสียเวียดนามใต้ไป

โอบามาได้ปรากฏตัวในรายการทอล์กโชว์หลายรายการทีเดียวเมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 กันยายน โดยที่เขาอาศัยรายการเหล่านี้เพื่อส่งสัญญาณว่า เขานั้นต้องการหลีกเลี่ยงไม่อยากถลำลึกยิ่งขึ้นในอัฟกานิสถาน ถึงแม้เขายังคงเปิดประตูพร้อมพิจารณาอนุมัติทางเลือกในการการเพิ่มกำลังทหารเข้าไปในสมรภูมิแห่งนั้นก็ตามที “จวบจนกระทั่งผมพึงพอใจว่าเรามียุทธศาสตร์ที่ถูกต้องแล้วนั่นแหละ” เขากล่าวในรายการ “มีท เดอะ เพรส” (Meet the Press) ของเอ็นบีซี “ไม่เช่นนั้นแล้ว ผมก็จะไม่ส่งคนหนุ่มหรือคนสาวของเราบางคนไปที่นั่นหรอก –ส่งเพิ่มเติมเข้าไปมากกว่าที่เรามีอยู่แล้ว”

ระหว่างการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเมื่อวันศุกร์(25) โอบามาได้ชูประเด็นปัญหาที่ว่า ประชาชนชาวอัฟกันมีความรู้สึกหรือไม่ว่ารัฐบาลของพวกเขาเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องชอบธรรม ทั้งนี้เขาบอกว่า ถ้าหากชาวอัฟกันไม่มีความรู้สึกดังกล่าว ภารกิจของสหรัฐฯก็จะ “ยากลำบากยิ่งขึ้นเป็นอย่างมาก” เห็นได้ชัดเจนว่าเขากำลังหมายถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีอัฟกานิสถานที่เกิดการแข่งขันและความขัดแย้งกันอย่างดุเดือด โดยที่สถานการณ์ในขณะนี้ดูจะชี้ออกมาว่า ประธานิบดีฮามิด คาร์ไซ จะเป็นผู้ชนะ ทั้งนี้หากไม่นับรวมถึงเรื่องที่มีการสอบสวนข้อกล่าวหาซึ่งระบุว่าการเลือกตั้งคราวนี้มีการทุจริตคดโกงด้วยวิธีต่างๆ นานา

โดยสรุปแล้วโอบามากำลังตั้งคำถามว่า สงครามต่อต้านความไม่สงบคราวนี้มีทางที่จะชนะได้หรือไม่ภายใต้สถานการณ์ต่างๆ ที่ดำรงอยู่ในอัฟกานิสถาน ในระหว่างที่ให้สัมภาษณ์ โจช โรกิน (Josh Rogin) แห่ง เดอะ เคเบิล (The Cable) เมื่อวันที่ 21 กันยายน ซึ่งเห็นชัดเจนว่าได้มีการขอไฟเขียวจากทำเนียบขาวแล้ว ไมเคิล ฟลาวร์นอย (Michele Flournoy)ผู้ช่วยรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่ได้เอ่ยถึง “ผลลัพธ์ที่ยังไม่มีความความแน่นอน” ในอัฟกานิสถาน

ระหว่างสัปดาห์แรกๆ แห่งการขึ้นครองตำแหน่งของโอบามาในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก็ได้มีการอภิปรายถกเถียงกันว่าด้วยเรื่องอัฟกานิสถานเป็นรอบต้นๆ ไปแล้ว ในตอนนั้นไบเดนเสนอว่า แผนการทำสงครามที่มีอยู่ จะทำให้ต้องใช้จ่ายกันสูงเกินไปมากและน่าจะไม่ประสบความสำเร็จด้วย ทั้งนี้ตามที่ ไมเคิล โครว์ลีย์ (Michael Crowley) ได้รายงานเอาไว้ในนิตยสาร “นิว รีพับลิก” (New Republic) ฉบับลงวันที่ 24 กันยายน

อย่างไรก็ดี รัฐมนตรีต่างประเทศ ฮิลลารี คลินตัน, รัฐมนตรีกลาโหม รอเบิร์ต เกตส์, และผู้ประสานงานเรื่องอัฟกานิสถาน ริชาร์ด โฮลบรูก (Richard Holbrooke) ต่างสนับสนุนข้อเสนอของฝ่ายทหาร โดยเห็นว่าควรอนุมัติเพิ่มทหารให้ 17,000 คน จากจำนวน 30,000 คนที่ขอมา ถึงแม้ยังไม่ได้มีการกำหนดจัดวางยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนแจ่มแจ้งขึ้นมาก็ตามที

แต่ทำเนียบขาวก็แสดงให้เป็นที่ทราบกันว่า ไม่ได้มีพันธะความผูกพันที่จะต้องทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายในอัฟกานิสถานอย่างเต็มตัว ในการกล่าวปราศรัยเมื่อวันที่ 27 มีนาคม โอบามายืนยันว่าวัตถุประสงค์ของสหรัฐฯในอัฟกานิสถาน คือการทำให้พวกอัลกออิดะห์พ่ายแพ้ และเมื่อถึงเวลานี้ท่าทีดังกล่าวนี้ก็ดูจะเป็นสัญญาณแสดงให้เห็นว่า เขายังคงมุ่งมั่นที่จะทำให้ตนเองมีทางเลือกต่างๆ หลายๆ ทางสำหรับการตัดสินใจ

รายงาน “การประเมินเบื้องต้น” (initial assessment) ของแมคคริสตัล ที่ประกาศว่า “ความล้มเหลวจากการไม่จัดหาทรัพยากรมาให้อย่างเพียงพอ” น่าที่จะส่งผลไปถึงขั้นกลายเป็น “ความล้มเหลวของภารกิจคราวนี้” ได้ถูกส่งไปยังวอชิงตันตั้งแต่เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม แต่หลังจากเวลาผ่านไปหลายสัปดาห์แล้ว ก็ยังไม่มีสัญญาณใดๆ จากทำเนียบขาวว่าพร้อมที่จะเพิ่มทหารให้ตามคำขอ

นั่นจึงกระตุ้นให้มีเสียงร้องทุกข์จากทีมงานของแมคคริสตัล โดยแสดงความไม่พอใจต่อการล่าช้าที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ตามรายงานข่าวของ แนนซี ยูสเซฟ (Nancy Youssef) ผู้สื่อข่าวประจำกระทรวงกลาโหมของเครือหนังสือพิมพ์ แมคแคลตชี นิวสเปเปอร์ส (McClatchy Newspapers) เมื่อวันที่ 18 กันยายน

จากนั้นรายงานการประเมินของแมคคริสตัลก็ได้รั่วไหลไปถึง บ็อบ วูดเวิร์ด (Bob Woodward) แห่งหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ ทำให้วอชิงตันโพสต์ฉบับวันที่ 21 กันยายน พาดหัวตัวใหญ่เกี่ยวกับคำเตือนของแมคคริสตัลในเรื่อง “ความล้มเหลวของภารกิจ” การรั่วไหลดังกล่าวนี้เห็นชัดเจนว่ามุ่งหมายที่จะทำให้โอบามาประสบความลำบากมากขึ้นที่จะปฏิเสธคำขอเพิ่มกำลังทหาร

ทว่ารายงาน “การประเมินเบื้องต้น” ของแมคคริสตัล ก็กลับเสนอภาพของอุปสรรคอันลำบากยากยิ่งจำนวนหนึ่ง ซึ่งอาจจะขัดขวางทำให้สงครามต่อต้านการก่อความไม่สงบในอัฟกานิสถานลงเอยด้วยการไม่ประสบความสำเร็จ และในแง่นี้ก็อาจมองได้เช่นกันว่า นี่เป็นคำเชื้อเชิญให้ประธานาธิบดีโอบามาปฏิเสธแผนยุทธศาสตร์นี้เสียเลย

อย่างไรก็ตาม ทั้งการปล่อยรายงานการประเมินสถานการณ์ที่ให้ภาพอันค่อนข้างมืดมนเช่นนี้ให้รั่วไหลออกมา และการร้องขอทหารเพิ่มขึ้นอีก 40,000 คน บางทีอาจจะมีจุดมุ่งหมายสำคัญอยู่ที่ เป็นการทำให้เกิดความแน่ใจว่า ทั้งแมคคริสตัลและเจ้านายของเขา คือ พล.อ.เดวิด เพเทรอัส (David Petraeus) ผู้บัญชาการกองบัญชาการทหารเขตกลาง (CENTCOM) ของสหรัฐฯ จะไม่ถูกประณามว่าเป็นตัวการสร้างความปราชัยในอัฟกานิสถาน ทั้งนี้ เพเทรอัสและ พล.ร.อ.ไมก์ มุลเลน (Mike Mullen) ประธานคณะเสนาธิการทหารผสมของสหรัฐฯ ต่างมีความคิดเห็นใกล้เคียงกับยุทธศาสตร์ของแมคคริสตัล และสามารถคาดหมายได้ว่าพวกเขาจะรับรองสนับสนุนคำขอทหารของผู้บัญชาการทหารสหรัฐฯและนาโต้ในอัฟกานิสถานผู้นี้

“พวกผู้บังคับบัญชาทหารมักจะร้องขอทหารเพิ่มอยู่เสมอ” แลร์รี คอร์บ (Larry Korb) นักวิจัยอาวุโสแห่งศูนย์เพื่อความก้าวหน้าของอเมริกัน (Center for American Progress) ผู้เคยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีกลาโหมมาแล้ว กล่าวให้ความเห็น “พวกเขาพิจารณาเห็นว่าถ้าพวกเขาไม่ร้องขอกำลังเพิ่มเติม แล้วมันเกิดไปได้ไม่สวยแล้ว พวกเขาก็อาจจะถูกประณามได้”

สำหรับทำเนียบขาวนั้น ความหวาดกลัวที่ว่าจะถูกประณามว่าล้มเหลวไม่จัดหากำลังทหารไปให้อย่างเพียงพอ ดูจะยิ่งเพิ่มสูงล้นขึ้นอีก ถ้าหากพวกเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงแห่งชาติคนสำคัญๆ ไปสนับสนุนจุดยืนของฝ่ายทหารมากกว่าจุดยืนของประธานาธิบดี ในเดือนมิถุนายน 1965 ตอนแรกๆ ประธานาธิบดีจอห์นสันก็เอนเอียงไปในทางยึดมั่นหลักการที่จะไม่เห็นด้วยกับการยกระดับทำสงครามอย่างชนิดไร้ขีดจำกัด เพราะเขาคิดว่าเขาได้รับความสนับสนุนจากแมคนามาราผู้เป็นรัฐมนตรีกลาโหมในเวลานั้น การสนับสนุนดังกล่าวนี้มีความสำคัญ เพราะทำให้เขารู้สึกว่าได้รับความคุ้มกันทางการเมืองที่จำเป็นแล้ว

แต่เมื่อแมคนามาราเปลี่ยนจุดยืนหันไปเป็นพวกสนับสนุนให้เพิ่มกำลังทหารเข้าไปในเวียดนามใต้ตามคำขอของคณะเสนาธิการทหารผสมสหรัฐฯ จอห์นสันก็เลยต้องยอมตามฝ่ายทหารไปด้วย

เกตส์ ผู้ซึ่งโอบามาเลือกมาเป็นรัฐมนตรีกลาโหม เพื่อคอยเป็น “ความคุ้มกันทางการเมือง” ในด้านนโยบายความมั่นคงแห่งชาติให้แก่เขา ก็อาจจะแสดงบทบาทแบบเดียวกับที่แมคนามาราทำในปี 1965 โดยทำให้โอบามาต้องโอนเอนหันเหออกจากความปรารถนาที่จะหลีกเลี่ยงไม่ยกระดับการทำสงคราม

ต่อหน้าสาธารณชนแล้ว เกตส์ยังรักษาท่าทีว่ายังไม่ได้ตัดสินใจในประเด็นเรื่องการเพิ่มกำลังทหาร ทว่าระหว่างร่วมรายการ “ดิส วีก” (This Week) ของเครือข่ายโทรทัศน์เอบีซีเมื่อวันอาทิตย์(27) เขาประกาศว่าหากจะต้องปราชัยด้วยฝีมือของพวกตอลิบานในอัฟกานิสถานแล้ว ก็จะบังเกิด “ผลลัพธ์ในระดับที่เป็นความหายนะ” โดยที่จะเป็นการ “เติมพลัง” ให้แก่กลุ่มอัลกออิดะห์ ทั้งทางด้านการระดมหาสมาชิกใหม่, การออกปฏิบัติการ, และการหาเงินทุนสนับสนุน

เกตส์, คลินตัน, และโฮลบรูก น่าที่จะกดดันโอบามาให้ต้องอนุมัติคำขอเพิ่มทหารของแมคคริสตัล ถ้าหากไม่ใช่การยินยอมไปเสียทั้งหมด อย่างน้อยที่สุดก็ส่วนหนึ่งของคำขอดังกล่าว โดยพวกเขาจะเสนอข้อโต้แย้งว่าสงครามคราวนี้ไม่สามารถที่จะเลิกล้มถอนตัวออกมากลางคันได้ พวกเขาจะแสดงความเห็นว่า ฐานะความเป็นประธานาธิบดีของโอบามา ไม่สามารถอยู่รอดได้หากเกิดการแตกร้าวอย่างเปิดเผยกับฝ่ายทหาร รวมทั้งพวกวุฒิสมาชิกของพรรครีพับลิกันก็ตั้งท่าพรักพร้อมอยู่แล้วที่โจมตีโอบามาว่าอ่อนแอ ถ้าหากเขาไม่ได้ดำเนินการตามคำขอของแมคคริสตัล

โอบามายังคงสามารถโต้แย้งกลับไปว่า เงื่อนไขต่างๆ ในอัฟกานิสถานได้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว และวัตถุประสงค์ของสหรัฐฯในเวลานี้จะต้องมีการปรับเปลี่ยนกันใหม่ ทว่าเขาจะต้องเปิดศึกกับคณะผู้นำทางทหารของเขาเอง, พวกรีพับลิกัน, และพวกที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของเขาเองด้วย

กลุ่มพลังต่างๆ ที่เรียงรายอยู่เบื้องหลังการทำสงครามในอัฟกานิสถาน กำลังเตรียมการที่จะคิดบัญชีเอากับโอบามา ถ้าหากเขาพยายามรั้งบังเหียนแห่งสงครามเอาไว้ในขณะนี้ และราคาทางการเมืองอันสูงลิ่วเช่นนี้ อาจจะบังคับให้เขาต้องยอมประนีประนอมอ่อนข้อให้กลุ่มพลังเหล่านี้อีกคำรบหนึ่ง

แกเรธ พอร์เตอร์ เป็นนักประวัติศาสตร์และนักหนังสือพิมพ์เชิงสืบสวน ที่เชี่ยวชาญเป็นพิเศษในเรื่องนโยบายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ หนังสือเล่มล่าสุดของเขาที่ชื่อ Perils of Dominance: Imbalance of Power and the Road to War in Vietnam ฉบับปกอ่อนได้รับการตีพิมพ์ในปี 2006

(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น