xs
xsm
sm
md
lg

ท่านนายพลและเขาวงกตอัฟกานิสถานของสหรัฐฯ

เผยแพร่:   โดย: แกเรธ พอร์เตอร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

The general and his Afghan labyrinth
By Gareth Porter
23/09/2009

รายงานการประเมินสงครามในอัฟกานิสถาน ที่จัดทำโดย พล.อ.สแตนลีย์ แมคคริสตัล ผู้บังคับบัญชาทหารระดับสูงที่สุดของสหรัฐฯในสมรภูมิแห่งนั้น เกิด “รั่วไหล” ออกมา โดยเห็นได้ชัดเจนว่านี่เป็นความพยายามเพื่อที่จะบีบบังคับให้ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ต้องยินยอมเห็นพ้องที่จะเพิ่มกำลังทหารสหรัฐฯให้อีกเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ดี รายงานดังกล่าวนี้ก็ทำให้เราได้ทราบด้วยเช่นกัน ถึงภาพของสถานการณ์ที่ชวนให้หดหู่อย่างยิ่ง มิหนำซ้ำในรายงานอีกฉบับหนึ่ง ที่ใช้ชื่อว่า แผนการต่อสู้แบบบูรณาการฝ่ายพลเรือน-ทหาร ที่แมคคริสตัลเพิ่งลงนามเห็นชอบด้วยเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้านั้น ก็มีเสนอภาพซึ่งมองสภาพการณ์อย่างเลวร้ายยิ่งเสียกว่ารายงานชิ้นหลังนี้อีก

วอชิงตัน – รายงาน “การประเมินเบื้องต้น” (initial assessment) ว่าด้วยสงครามในอัฟกานิสถาน ที่จัดทำโดย พล.อ.สแตนลีย์ เอ แมคคริสตัล (Stanley A McChrystal) ผู้บังคับบัญชาทหารระดับสูงสุดของสงครามครั้งนี้ ได้กล่าวเตือนอย่างตรงไปตรงมาว่า “ความล้มเหลวจากการไม่จัดหาทรัพยากรมาให้อย่างเพียงพอ” น่าที่จะส่งผลไปถึงขั้นกลายเป็น “ความล้มเหลวของภารกิจคราวนี้” ขณะเดียวกัน การที่รายงานฉบับนี้เกิด “รั่วไหล” ออกมานั้น ก็เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะบีบคั้นกดดันประธานาธิบดีบารัค โอบามา ผู้ยังมีท่าทีลังเล ให้ยอมตกลงเห็นพ้องที่จะเพิ่มกำลังทหารสหรัฐฯให้อีกในจำนวนที่มากมายพอสมควร

รายงานการประเมินของแมคคริสตัลถือเป็นรายงานลับ แต่ก็ไปตีพิมพ์อยู่บนเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์เมื่อวันจันทร์(21) จากเวอร์ชั่นที่ปรากฏบนเว็บไซต์ดังกล่าวนี้ มีร่องรอยของการปรับปรุงเรียบเรียงใหม่จำนวนมาก ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นว่าได้ถูกเตรียมการไว้เป็นพิเศษเพื่อวัตถุประสงค์ในกรณีที่มันรั่วไหลไปถึงสื่อมวลชน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าจะมีความสำคัญยิ่งกว่าเรื่องรั่วไหลเสียอีก ก็คือการประเมินของแมคคริสตัลนั้นได้เสนอภาพของสถานการณ์ในอัฟกานิสถานที่ทำให้รู้สึกหดหู่เป็นอย่างมาก ยิ่งกว่านั้น หากลองนำเอาเอกสาร “แผนการต่อสู้ในอัฟกานิสถานแบบบูรณาการฝ่ายพลเรือน-ทหาร” (Integrated Civilian-Military Campaign Plan) ซึ่งแมคคริสตัลเองก็ให้ความเห็นชอบด้วยเมื่อ 3 สัปดาห์ก่อนหน้านั้น มาพิจารณาประกอบกัน ก็จะยิ่งพบว่าเอกสารที่กล่าวถึงชิ้นหลังนี้ มองสภาพการณ์ในแง่เลวร้ายยิ่งกว่า “การประเมินเบื้องต้น” ของเขาเสียอีก

แผนการต่อสู้ในอัฟกานิสถานแบบบูรณาการฯ ซึ่งลงนามโดย แมคคริสตัล และ คาร์ล ไอเคนเบอร์รี (Karl Eikenberry) เอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำอัฟกานิสถาน เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ระบุว่า ในพื้นที่ซึ่งเป็นเขตชาวปาชตุน (Pashtun) อันเป็นชนชาติส่วนใหญ่ที่สุดของอัฟกานิสถานนั้น สภาพที่ประชาชนปฏิเสธไม่ยอมรับรัฐบาลอัฟกันเป็นสิ่งที่เห็นชัดเจนมาก จนกระทั่ง “กลุ่มหลักๆ” ทั้งหลายต่างกำลังให้การสนับสนุนพวกตอลิบาน เนื่องจากเห็นว่าเป็นทางเลือกอื่นอีกเพียงทางเดียวที่มีอยู่ นอกเหนือจากรัฐบาลในกรุงคาบูลซึ่งพวกเขาเห็นว่าควรแก่การดูหมิ่นเหยียดหยาม

เอกสารแผนการต่อสู้แบบบูรณาการฯ ประทับตราจัดชั้นความลับไว้ว่า “อ่อนไหวแต่ไม่ถือเป็นความลับ” และไม่ได้มีการเผยแพร่ต่อสาธารณชน ทว่าสำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิสก็ได้มาฉบับหนึ่ง

ทั้งรายงานการประเมินเบื้องต้น และแผนการต่อสู้แบบบูรณาการฯ ต่างยอมรับความเป็นจริงขั้นพื้นฐานต่างๆ ทางสังคม-การเมือง ซึ่งทำให้ต้องตั้งคำถามฉกรรจ์ๆ ขึ้นมาว่า แผนการต่อต้านการก่อความไม่สงบที่แมคคริสตัลสรุปคร่าวๆ เอาไว้ในรายงานการประเมินเบื้องต้นของเขานั้น หากมีการนำไปปฏิบัติแล้วจะสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้หรือไม่ เพียงแต่ว่าในรายงานการประเมินเบื้องต้นนั้น เขาได้เปลี่ยนแปลงหรือไม่ก็ลดทอนน้ำหนักของข้อสรุปที่เป็นหัวใจบางประเด็นที่ปรากฏอยู่ในแผนการต่อสู้แบบบูรณาการฯ

ข้อแตกต่างกันที่สำคัญที่สุดระหว่างเอกสารทั้งสอง ได้แก่ข้อสรุปในเรื่องที่ว่าพวกผู้ก่อความไม่สงบได้รับความสนับสนุนจากประชาชนมากน้อยขนาดไหนแล้ว รายงานการประเมินของแมคคริสตัลเสนอว่า พวกผู้ก่อความไม่สงบยังไม่อาจหาความสนับสนุนจากประชาชนอย่างชนิดเต็มอกเต็มใจไม่ถูกบังคับได้

“พวกกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบกลุ่มใหญ่ๆ ต่างใช้ความรุนแรง, การบังคับกะเกณฑ์, และการข่มขู่คุกคามต่อพลเรือน มาควบคุมประชากร” รายงานการประเมินระบุเอาไว้เช่นนี้ อีกทั้งยังสรุปเอาไว้ว่า “ความกระตือรือร้นของประชาชน” ที่มีต่อพวกตอลิบานและกลุ่มก่อความไม่สงบอื่นๆ “ดูจะอยู่ในสภาพที่จำกัด เช่นเดียวกับความสามารถของกลุ่มเหล่านี้ที่จะแพร่ขยายไปนอกพื้นที่ของชาวปาชตุน”

ในทางเป็นจริงแล้ว ชาวปาชตุนมีจำนวนเท่ากับประมาณ 40-45% ของประชากรชาวอัฟกันทั้งหมด และตามพื้นที่ส่วนใหญ่ของอัฟกานิสถาน ตั้งแต่ฟากตะวันตกไกลโพ้น ข้ามไปทั่วทั้งภาคใต้ ไปจนจรดภาคตะวันออก ชาวปาชตุนก็เป็นชนชาติที่มีจำนวนมากกว่าชนชาติอื่นๆ ทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ปฏิเสธว่าประชาชนไม่ได้ให้การสนับสนุนพวกผู้ก่อความไม่สงบ แต่แมคคริสตัลก็ยอมรับเอาไว้ในรายงานการประเมินว่า มีปัจจัยบางประการ เป็นต้นว่า “ความไม่พึงพอใจตามธรรมชาติเมื่อต้องถูกต่างชาติเข้ามาแทรกแซง” ตลอดจนอัตลักษณ์แห่งความเป็นเผ่าและความเป็นชนชาติ ซึ่งได้รับการหนุนส่งให้แข็งแกร่งขึ้นอีกจาก “ความเจ็บปวดทางประวัติศาสตร์” จึงได้ส่งผลทำให้ “มีหลายๆ ส่วนในหมู่ประชาชน ที่สามารถอดทนยอมรับการก่อความไม่สงบ และเรียกร้องให้ขับไล่คนต่างชาติออกไป”

ขณะที่แผนการต่อสู้แบบบูรณาการฯไปไกลกว่านั้น โดยเสนอว่า พวกตอลิบานกำลังได้รับความสนับสนุนจากประชาชนชาวอัฟกัน เพราะประชาชนมองว่า ถ้าหากไม่ยอมรับรัฐบาลในกรุงคาบูลที่ควรแก่การดูหมิ่นเหยียดหยามแล้ว หนทางเลือกที่เหลืออยู่อีกเพียงหนทางเดียวก็คือพวกตอลิบาน เอกสารนี้ชี้ว่า ชาวอัฟกันส่วนใหญ่นั้นปฏิเสธไม่ยอมรับ “อุดมการณ์ตอลิบาน” แต่ก็สรุปว่า “กลุ่มชาวอัฟกันกลุ่มสำคัญๆ ต่างกำลังหวนระลึกถึงความมั่นคงปลอดภัยและความยุติธรรม ซึ่งในสมัยที่ตอลิบานปกครองอยู่ สามารถจัดหาเอื้ออำนวยให้บังเกิดขึ้นได้”

เอกสารทั้งสองฉบับยังใช้วลีที่แตกต่างกันในการบรรยายถึงความล้มเหลวทางการเมืองของรัฐบาลอัฟกันตลอดจนผลพวงที่เกิดตามมา โดยรายงานการประเมินของแมคคริสตัลพูดถึง “วิกฤตแห่งความเชื่อมั่น”ที่ประชาชนมีต่อรัฐบาล แต่แผนการต่อสู้แบบบูรณาการฯเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ว่า เป็น “วิกฤตแห่งความถูกต้องชอบธรรม” และกล่าวอีกว่า พวกผู้ก่อความไม่สงบประสบความสำเร็จในการ “สร้างความถูกต้องชอบธรรมให้แก่ตนเองในบางระดับ โดยอาศัยมนตร์เสน่ห์ของความใกล้ชิดกันเชิงอุดมการณ์ และความกลัวเรื่อง “การยึดครองของต่างชาติ” ตลอดจนการเอื้ออำนวยให้เกิดความยุติธรรมในระดับท้องถิ่นได้อย่างรวดเร็ว”

เอกสารทั้งสองฉบับยังแตกต่างกันในเรื่องที่ว่า หากนำเอาแนวทางต่างๆ ที่มุ่งสร้างความเปลี่ยนแปลง ตามที่ได้กล่าวสรุปเอาไว้ในแผนการต่อสู้แบบบูรณาการฯ มาปฏิบัติกันอย่างจริงจังแล้ว จะสามารถคาดหวังความคืบหน้าได้แค่ไหน

รายงานการประเมินของแมคคริสตัล กระทำเพียงแค่เสนอยุทธศาสตร์กว้างๆ รวมทั้งวัตถุประสงค์ต่างๆ ที่จะต้องบรรลุ หากต้องการทำให้เกิดความมั่นคงปลอดภัย, การเพิ่มกองกำลังรักษาความมั่นคงของรัฐบาลอัฟกัน, และการปฏิรูปในเรื่องธรรมาภิบาล แต่รายงานนี้ไม่ได้มีการพิจารณาในแง่ที่ว่า วัตถุประสงค์ต่างๆ เหล่านี้นั้น มีความเสี่ยงหรือความเป็นไปได้ที่จะล้มเหลวไม่บังเกิดผล

ผิดกับแผนการต่อสู้แบบบูรณาการฯ ซึ่งมีการพิจารณาแง่มุมของความเสี่ยงและความเป็นไปได้ที่อาจจะล้มเหลวไม่ประสบผล ตัวอย่างเช่น แผนการนี้มีการระบุเรื่องเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นทุจริตฉ้อฉล และถือว่าการลงโทษคนเหล่านี้หรือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนเหล่านี้เป็นวัตถุประสงค์ลำดับสำคัญยิ่งประการหนึ่ง

แต่แผนการนี้ก็เตือนเอาไว้ด้วยว่า รัฐบาลอัฟกันตลอดจนพวกพันธมิตรที่เป็นขุนศึกตามจังหวัดต่างๆ ของรัฐบาลนี้ ต่างก็เป็นพวกที่จะไม่ได้รับผลประโยชน์อย่างแท้จริงอะไรหากเกิดมีการเปลี่ยนแปลงสถานะเดิม แถมยังอาจจะได้รับความผิดหวังจากความพยายามที่จะดำเนินการปฏิรูปดังกล่าวเสียด้วยซ้ำ ดังนั้น แผนการต่อสู้เพื่อบูรณาการฯ จึงมีการเสนอความคิดเห็นถึงขนาดบอกกระทั่งว่า ประธานาธิบดีฮามิด คาร์ไซ อาจจะ “เปลี่ยนตัวเอาพวกเจ้าหน้าที่รัฐบาลที่ทรงประสิทธิภาพออกไปเป็นจำนวนมาก แล้วนำเอาคนที่ไร้ประสิทธิภาพหรือที่ทุจริตฉ้อฉลมาแทนที่”

นอกจากนั้น แผนการนี้ยังพูดถึงความเป็นไปได้ที่ว่า ถ้าหากความหวังในการลดการทุจริตคอร์รัปชั่นของรัฐบาลอัฟกันมีอันสิ้นสลายไปอย่างรวดเร็วแล้ว ก็จะก่อให้เกิด “ปฏิกิริยาสะท้อนกลับอย่างฉับพลันรุนแรง” ต่อ กองกำลังระหว่างประเทศช่วยเหลือการรักษาความมั่นคง (International Security Assistance Force หรือ ISAF อันเป็นชื่อที่เป็นทางการของกองกำลังนานาชาติที่นำโดยนาโต้ในอัฟกานิสถาน)

ความเสี่ยงอีกประการหนึ่งที่แผนการต่อสู้แบบบูรณาการฯคาดการณ์เอาไว้ ก็คือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีอัฟกานิสถานในวันที่ 20 สิงหาคม จะ “ถูกมองกันอย่างกว้างขวางว่าไม่ยุติธรรม” และจะนำไปสู่ “วิกฤตทางการเมือง และ/หรือเพิ่มความรับรู้ความเข้าใจที่ว่า GIRoA [Government of the Islamic Republic of Afghanistan รัฐบาลสาธารณรัฐอิสลามแห่งอัฟกานิสถาน ซึ่งปัจจุบันก็คือรัฐบาลของประธานาธิบดีฮามิด คาร์ไซ] นั้นไร้ความถูกต้องชอบธรรม” ทั้งนี้รายงานข่าวต่างๆ ที่ปรากฏขึ้นมาในช่วง 1 เดือนนับตั้งแต่การเลือกตั้งคราวนั้นผ่านพ้นไป บ่งชี้ให้เห็นว่าการคาดหมายดังกล่าวนี้สอดคล้องกับความเป็นจริงมากทีเดียว

แต่ถึงแม้การประเมินของแมคคริสตัลจะมีการยั้งหมัดเอาไว้อย่างชัดเจนในประเด็นปัญหาหลักๆ บางประเด็น มันก็ยังคงบรรจุเอาไว้ด้วยการใช้ภาษาที่ตรงไปตรงมาอย่างเตะตายิ่ง เมื่อคำนึงว่านี่เป็นเอกสารของทางการ ทั้งนี้ยังไม่ต้องเอ่ยว่ามันยังเป็นเอกสารที่ผู้เขียนมีเจตนารมณ์มุ่งสร้างความชอบธรรมให้แก่การเพิ่มระดับของการทำสงคราม

แมคคริสตัลยอมรับปัญหาเรื่องขุนศึก (โดยเรียกพวกเขาว่าเป็น “นายหน้าค้าอำนาจในระดับท้องถิ่นและระดับภาค”) ซึ่งมีความเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อรัฐบาล แถมยังมีขุนศึกบางรายที่มีตำแหน่งอยู่ในกองกำลังความมั่นคงแห่งชาติของอัฟกานิสถานอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติอัฟกานิสถาน

เขายังเอ่ยถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ไอเอสเอเอฟ ก็มี “ความสัมพันธ์” กับพวกขุนศึก โดยบอกว่าหน่วยทหารต่างชาติต่างๆ มีการติดต่อกับคนเหล่านี้ในหลายๆ ด้าน ทั้งเพื่อขอบริการด้านความมั่นคงปลอดภัย ตลอดจนต้องพึ่งพาอาศัยคนเหล่านี้อย่างมากๆ ในด้านข่าวกรอง

แมคคริสตัลตั้งข้อสังเกตว่า ความสัมพันธ์เหล่านี้ “สามารถที่จะกลายเป็นปัญหาขึ้นมา” เขายกตัวอย่างของปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ประการหนึ่งก็คือ สาธารณชนชาวอัฟกันจะรับรู้เข้าใจไอเอสเอเอฟว่าเป็น “ผู้สมรู้ร่วมคิด” กับการใช้อำนาจในทางมิชอบของทางการอัฟกานิสถาน

การที่รายงานการประเมินของแมคคริสตัลและแผนการต่อสู้แบบบูรณาการฯ ต่างพูดถึงเงื่อนไขพื้นฐานต่างๆ ทางด้านสังคม-การเมือง ที่จะส่งผลต่อความสำเร็จหรือความล้มเหลวของสงครามต่อต้านการก่อความไม่สงบเอาไว้ อย่างยอมรับความเป็นจริงกันมากมายถึงระดับนี้ ต้องถือว่านี่คือสิ่งที่ผิดปกติเป็นอย่างมากในการวางนโยบายการทหารของสหรัฐฯ หากไม่ถึงขั้นที่เป็นสิ่งที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ขณะเดียวกัน มันก็ดูเหมือนจะช่วยเร่งให้เกิดภาวะวิกฤตขึ้นในการกำหนดนโยบายอัฟกานิสถานของสหรัฐฯ

นอกเหนือจากการโกงการเลือกตั้งอย่างโจ๋งครึ่มของระบอบปกครองคาร์ไซ และการที่ความสนับสนุนทางการเมืองภายในสหรัฐฯต่อสงครามในอัฟกานิสถานได้ลดต่ำฮวบฮาบลงอย่างรวดเร็วแล้ว ปัญหาอุปสรรคระดับพื้นฐานที่จะขัดขวางความสำเร็จในอัฟกานิสถานซึ่งมีการอภิปรายอย่างตรงไปตรงในเอกสารทั้ง 2 ชิ้นดังกล่าวนี้ ก็น่าจะมีส่วนเช่นกันที่ทำให้โอบามาเกิดความสงสัยข้องใจขึ้นมาเกี่ยวกับคำขอทหารเพิ่มเติมของแมคคริสตัล

ดังนั้น เอกสารทั้ง 2 ก็ได้สร้างคุณูปการทำให้โอบามาตัดสินใจที่จะกระทำสิ่งซึ่งเจ้าหน้าที่อาวุโสของคณะรัฐบาลผู้หนึ่งเรียกว่า “การทบทวนทางเลือกทุกๆ อย่างด้วยความเคร่งเครียดจริงจังเป็นอย่างยิ่ง” ทั้งนี้ตามรายงานข่าวของ ราจิฟ จันทราเซการัน (Rajiv Chandrasekaran) และ แคเรน เดอยัง (Karen DeYoung) ในหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ฉบับวันจันทร์(21)

แกเรธ พอร์เตอร์ เป็นนักประวัติศาสตร์และนักหนังสือพิมพ์เชิงสืบสวน ที่เชี่ยวชาญเป็นพิเศษในเรื่องนโยบายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ หนังสือเล่มล่าสุดของเขาที่ชื่อ Perils of Dominance: Imbalance of Power and the Road to War in Vietnam ฉบับปกอ่อนได้รับการตีพิมพ์ในปี 2006

(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น