xs
xsm
sm
md
lg

คู่ต่อสู้ของ‘คาร์ไซ’ร้องลั่นว่าเล่นขี้โกง

เผยแพร่:   โดย: ไซเอด ซาลีม ชาห์ซาด

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Karzai’s rival cries foul play
By Syed Saleem Shahzad
24/08/2009

ในวันจันทร์(24) ซึ่งเป็นวันก่อนหน้าจะมีการประกาศผลขั้นต้นของการเลือกตั้งประธานาธิบดีอัฟกานิสถาน อับดุลเลาะห์ อับดุลเลาะห์ ผู้ท้าชิงคนสำคัญที่สุดของประธานาธิบดีฮามิด คาร์ไซ กำลังร้องลั่นว่าถูกโกง เขาแสดงท่าทีจะเฝ้ารอดูว่าคำร้องเรียนของเขาได้รับการดำเนินการอย่างไร ก่อนที่เขาจะตัดสินใจทำอะไรต่อไป กระนั้นก็ตาม สิ่งหนึ่งซึ่งเขาบ่งบอกอย่างชัดเจนแล้วก็คือ เขาจะไม่ยอมเข้าร่วมในการทำความตกลงแบ่งปันอำนาจใดๆ ทั้งสิ้น

คาบูล– การเลือกตั้งประธานาธิบดีและการเลือกตั้งระดับจังหวัคในอัฟกานิสถานเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เต็มไปด้วยข้อกล่าวหาเรื่องทุจริตคดโกงและการข่มขู่คุกคาม จนกระทั่งทำท่าจะบ่อนทำลายความพยายามของสหรัฐฯและบรรดาพันธมิตร ที่จะเร่งรีบให้มีการจัดตั้งคณะรัฐบาลฉันทามติซึ่งมีฐานสนับสนุนอันกว้างขวางน่าเชื่อถือ อีกทั้งจะดึงเอาพวกตอลิบานเข้ามาร่วมมือด้วย ทั้งนี้เห็นกันว่านี่เป็นหนทางที่เป็นไปได้เพียงประการเดียว ที่สามารถจะขุดถอนรากเหง้าของการก่อความไม่สงบในประเทศนี้

คณะกรรมการรับเรื่องร้องเรียนการเลือกตั้ง (Election Complaints Commission หรือ ECC) ซึ่งเป็นองค์การอิสระที่มีพวกเจ้าหน้าที่ระหว่างประเทศเป็นเสียงข้างมาก แถลงว่าได้รับคำร้องเรียนอย่างเป็นทางการรวมทั้งสิ้น 225 เรื่อง โดยมีทั้งข้อกล่าวหาที่ว่า มีการข่มขู่คุกคามผู้ออกเสียง, การแอบเอาบัตรเลือกตั้งเพิ่มเข้าไปในหีบลงคะแนน, และอคติเอนเอียงของพวกเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งอิสระ (Independent Election Commission หรือ IEC) ของอัฟกานิสถาน อีซีซีบอกว่าตนกำลังดำเนินการสอบสวนซึ่งอาจส่งผลต่อผลของการเลือกตั้งก็ได้ ขณะที่คาดหมายกันว่า ไออีซีจะเริ่มประกาศผลการนับคะแนนเบื้องต้นในวันอังคาร(25)นี้

พวกผู้สนับสนุนประธานาธิบดีฮามิด คาร์ไซ อ้างว่าเขาได้รับคะแนนเสียงเกินกว่า 51% ของผู้มาใช้สิทธิทั้งหมด ซึ่งจะทำให้เขาได้ชัยชนะเด็ดขาด ไม่ต้องลงแข่งขันในรอบตัดสินกับผู้ที่ได้คะแนนเป็นอันดับสองกันอีก

ทว่าพวกคู่แข่งขันของคาร์ไซ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ อับดุลเลาะห์ อับดุลเลาะห์ (Abdullah Abdullah) กลับกำลังส่งเสียงดังว่า การเลือกตั้งคราวนี้เต็มไปด้วยการทุจริตคดโกง “มีความคลาดเคลื่อนผิดพลาดอย่างกว้างขวางมากมายเหลือเกินในกระบวนการเลือกตั้งคราวนี้” อับดุลเลาะห์บอกกับเอเชียไทมส์ออนไลน์

“อย่างไรก็ตาม ผมจะยังไม่ให้คำตัดสินสุดท้ายว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ จนกว่าจะได้เห็นการดำเนินการของคณะกรรมการรับเรื่องร้องเรียนการเลือกตั้ง (อีซีซี) เสียก่อน มันขึ้นอยู่กับว่าอีซีซีจะจัดการกับคำร้องเรียนอย่างไร เป็นต้นว่า คำร้องเรียนทั่วๆ ไปที่ว่า ประชาชนในภาคใต้ของอัฟกานิสถานไม่สามารถใช้สิทธิลงคะแนนได้ (สืบเนื่องจากถูกพวกตอลิบานข่มขู่คุกคาม) แต่กลับยังมีบัตรลงคะแนนปรากฏอยู่ในหีบเลือกตั้ง” อับดุลเลาะห์กล่าวเช่นนี้ระหว่างพูดคุยกับเอเชียไทมส์ออนไลน์ที่บ้านพักของเขาในกรุงคาบูล

บ้านของอับดุลเลาะห์ถือว่าอยู่ในสภาพสมถะทีเดียว เมื่อเทียบกับของพวกผู้นำคนอื่นๆ ในเมืองหลวงคาบูล ตามผนังของห้องรับแขกประดับประดาด้วยภาพเขียนและภาพลายเส้นดินสอของ อาหมัด ชาห์ มัสซูด (Ahmad Shah Massoud) ผู้นำ “พันธมิตรภาคเหนือ” (Northern Alliance) ผู้ถูกลอบสังหารสิ้นชีวิต อับดุลเลาะห์นั้นไม่ได้รู้สึกชื่นชมอะไรเลยกับแนวความคิดที่เสนอว่า ควรจะจัดตั้งรัฐบาลฉันทามติที่มีฐานสนับสนุนอันกว้างขวางขึ้นมาภายหลังการเลือกตั้งคราวนี้ ทั้งนี้ตามแนวความคิดนี้ ตัวเขาก็จะได้รับการจัดสรรแบ่งปันอำนาจด้วย เช่นเดียวกับพวกสมาชิกของกลุ่มฝ่ายค้านที่ติดอาวุธ เป็นต้นว่า ตอลิบาน และพวกที่จงรักภักดีต่อ กุลบุดดิน เฮกมัตยาร์ (Gulbuddin Hekmatyar) ผู้นำของ เฮซบ์-ไอ-อิสลามี อัฟกานิสถาน (Hezb-i-Islami Afghanistan) ซึ่งปฏิบัติการก่อความไม่สงบอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ

แหล่งข่าวหลายรายในทำเนียบประธานาธิบดีกรุงคาบูล ยืนยันข่าวที่เอเชียไทมส์ออนไลน์ทราบมาว่า ไม่นานภายหลังการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเมื่อวันพฤหัสบดี(20)ที่แล้วเสร็จสิ้นลง คาร์ไซได้โทรศัพท์ถึงอับดุลเลาะห์ และเสนอให้เขาเข้าร่วมแบ่งสรรอำนาจกันในคณะรัฐบาลชุดใหม่

“ผมไม่คิดว่าการแบ่งสรรอำนาจเช่นนี้จะได้ผล การทำข้อตกลงทางการเมืองอย่างนี้เป็นความหลงใหลของฮามิด คาร์ไซ และก็เป็นการแก้ไขปัญหาทางการเมืองของเขาด้วย มันไม่ใช่ปัญหาของผม ด้วยการทำข้อตกลงจำนวนมากมายเช่นนี้เอง ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ทางการเมืองที่ผู้รับต้องยอมเป็นบริวารขึ้นต่อคาร์ไซก็จะกระจายไปทั่ว ลองสมมุติดูสิว่าพรุ่งนี้ถ้าผมพ่ายแพ้การเลือกตั้ง มันจะเกิดอะไรขึ้น? ไม่มีอะไรเลย ผมจะยังคงอยู่ในสายตาของประชาชน และจะทำงานและวางแผนสำหรับการเลือกตั้งรอบต่อไป

“แต่ถ้าฮามิด คาร์ไซพ่ายแพ้ สิ่งที่ทำความตกลงจัดวางกันไว้ทั้งหมดเหล่านี้ก็จะปั่นป่วนวุ่นวาย จากนั้นมิสเตอร์ฮามิด คาร์ไซ จะไปหาที่ยืนที่ไหน? ไม่มีหรอก สิ่งที่ตกลงจัดวางกันไว้ทั้งหมดเหล่านี้จะพังครืนกระจัดกระจาย และผู้สนับสนุนของเขาทั้งหมดก็จะพากันเปิดหนีไป พูดง่ายๆ ก็คือเขาเป็นคนที่ไม่มีฐานอำนาจ ด้วยเหตุนี้ ผมจึงไม่เคยเลยที่จะสนับสนุนข้อตกลงแบ่งปันอำนาจดังกล่าวนี้ ตรงกันข้าม ผมชมชอบที่จะก้าวออกไปให้ถึงตัวประชาชนเสมอมา” อับดุลเลาะห์บอก

อับดุลเลาะห์นั้นเป็นส่วนหนึ่งของพันธมิตรภาคเหนือ ซึ่งต่อสู้คัดค้านพวกตอลิบานระหว่างที่พวกนี้อยู่ในอำนาจตั้งแต่ปี 1996 จนถึงปี 2001 พันธมิตรนี้เองได้ช่วยเหลือขับไล่ตอลิบานเมื่อตอนที่สหรัฐฯรุกรานอัฟกานิสถานในปลายปี 2001 เวลานี้สถานการณ์กำลังเรียกร้องคาดหวังอับดุลเลาะห์ ในฐานะผู้นำทางการเมืองคนสำคัญคนหนึ่ง ให้ทำหน้าที่สร้างสะพานเชื่อมต่อกับพวกตอลิบาน (อับดุลเลาะห์ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศในทันทีภายหลังการพ่ายแพ้ของพวกตอลิบาน)

ทว่าอับดุลเลาะห์ซึ่งเป็นคนที่พูดจาพาทีนุ่มนวล กลับไม่แยแสใยดีกับวิธีการเช่นนี้เลย

“เรื่องอย่างนี้ไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นได้เพียงแค่ชั่วเวลาข้ามคืน กระบวนการปรองดองแบบนี้จะต้องมีขั้นตอนจำนวนมาก เหตุผลสำคัญที่สุดประการหนึ่งที่ทำให้การก่อความไม่สงบมีระดับความรุนแรงถึงขนาดในทุกวันนี้ ก็คือ การไม่มีธรรมาภิบาล คณะรัฐบาลชุดปัจจุบันกำลังสูญเสียพื้นที่ และพวกผู้ก่อความไม่สงบก็แค่เข้าไปอุดช่องว่างที่เกิดขึ้น” อับดุลเลาะห์กล่าวต่อ

“บอกผมสิว่า คุณหมายความว่าอย่างไรเมื่อพูดถึงพวกตอลิบาน” เขาตั้งคำถาม “พวกตอลิบานเหล่านี้คือใครกัน พวกเขามาจากสังคมชาวอัฟกันนะครับ พวกเขาเป็นบุตรของผืนแผ่นดินนี้ อย่างไรก็ตาม ผมไม่ได้กำลังพูดถึงการเผยแพร่อุดมการณ์ตอลิบาน และผมก็ไม่ได้กำลังพูดถึง มุลลาห์ โอมาร์ (ผู้นำตอลิบาน) คุณคิดหรือว่าเขาพร้อมที่จะพูดจาหารือด้วย ผมไม่คิดอย่างนั้นหรอก ดังนั้น ผมจึงเชื่อในยุทธศาสตร์ที่แตกต่างออกไป

“เวลานี้สิ่งต่างๆกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงและกระเตื้องดีขึ้นมาแล้ว เมื่อเปรียบเทียบกับในอดีต เมื่อก่อนมีช่วงเวลาที่ปากีสถานและคนปากีสถานให้การสนับสนุนพวกตอลิบาน แต่เวลานี้กำลังเกิดความตระหนักถึงความเป็นจริงเกี่ยวกับพวกตอลิบาน เวลานี้ปากีสถานกำลังต่อต้านคัดค้านพวกเขา ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นที่จะต้องจัดการกับประเด็นปัญหานี้โดยคำนึงถึงสิ่งใหม่ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ตอลิบานบางกลุ่มบางคนนั้นพรักพร้อมที่จะพูดจาหารือกับเรา เราจำเป็นจะต้องเข้าไปให้ถึงพวกเขา ด้วยการทำข้อตกลงซึ่งอาจจะมีลักษณะที่แตกต่างผิดแผกกันไป โดยคำนึงถึงจังหวัดแต่ละจังหวัดเป็นหลัก สภาพแวดล้อมในเวลานี้กำลังเป็นผลดีต่อภูมิภาคแถบนี้ และในส่วนของพวกหัวรุนแรงสุดโต่ง ก็สามารถที่จะทำให้พวกนี้อยู่ในสภาพโดดเดี่ยวได้อย่างง่ายดาย” เขาบอก

อับดุลเลาะห์เชื่อว่า เมื่อมองกันในแง่มุมกว้างๆ แล้ว การทำข้อตกลงดังกล่าวนี้เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ กระนั้นเขาก็ยังไม่ได้มีแผนที่รายละเอียด (โรดแมป) ว่าจะโดดเดี่ยวพวกหัวรุนแรงสุดโต่งกันอย่างไร และใครคือหัวหน้านักรบทรงอิทธิพลบารมีที่สามารถดึงให้แยกตัวออกมาจากมุลลาห์ โอมาร์ ทั้งนี้พวกนักการเมืองฝ่ายตะวันตกหลายต่อหลายคนที่เอเชียไทมส์ออนไลน์ได้พูดจาด้วย ก็กำลังติดปัญหานี้อยู่เหมือนกัน

บุคคลสำคัญคนหนึ่งซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันมากในกรอบแนวความคิดนี้ ได้แก่ จาลาลุดดิน ฮักกอนี (Jalaluddin Haqqani) หัวหน้าเครือข่ายก่อความไม่สงบที่ใหญ่ที่สุดในอัฟกานิสถาน อับดุลเลาะห์มีการติดต่อกับฮักกอนีในระหว่างการทำสงครามญิฮัดต่อต้านโซเวียตในอัฟกานิสถานสมัยทศวรรษ 1980

“กลุ่มนี้(กลุ่มของฮักกอนี) ได้แยกตัวออกจาก ชูรา (shura สภาปกครองของตอลิบาน) เมืองเกวตตา (Quetta) แล้ว พวกเขามีนโยบายและแผนการของพวกเขาที่แยกต่างหากจากมุลลาห์ โอมาร์” อับดุลเลาะห์บอก

อย่างไรก็ดี จากการที่เอเชียไทมส์ออนไลน์ติดต่อกับเครือข่ายฮักกอนี กลับปรากฏเรื่องราวซึ่งไม่ตรงกับสิ่งที่อับดุลเลาะห์พูด นั่นก็คือ แม้ภายหลังเหตุการณ์ 11 กันยายน 2001 องค์การประมวลข่าวกรองกลาง (Inter-Services Intelligence) ของปากีสถานจะได้ใช้ความพยายามทุกๆ อย่าง แต่ฮักกอนีก็ไม่เคยทอดทิ้งมุลลาห์ โอมาร์ เขากับบุตรชายที่ชื่อ ซิราจุดดิน (Sirajuddin) ยังคงเป็นส่วนหนึ่งในสภาหัวหน้านักรบของมุลลาห์ โอมาร์ และยังคงร่วมมือประสานกิจกรรมของพวกเขาให้สอดคล้องกับนโยบายต่างๆ ของตอลิบาน

สำหรับเรื่องการพูดจาหารือกับเฮกมัตยาร์นั้น อับดุลเลาะห์เห็นว่านั่นเป็นเพียงเรื่องที่กุขึ้นมาในจินตนาการของคนไม่กี่คนเท่านั้นเอง

“ผมไม่ได้มีความไว้วางใจเอาเลย กับคนอย่าง ดาอุด อาเบดี (Daoud Abedi) อดีตผู้ช่วยของ กุลบุดดิน เฮกมัตยาร์ ซึ่งเวลานี้อยู่ในสหรัฐฯ ว่าจะสามารถติดต่อเข้าถึงตัวเฮกมัตยาร์ได้ ยังมีอีกหลายคนที่กำลังพูดว่าพวกเขาก็สามารถถ่ายทอดแลกเปลี่ยนข่าวสารกับเฮกมัตยาร์ได้ แต่ผมไม่คิดว่าการเจรจาพวกนี้จะไปถึงไหนหรอก ตัวผมเองไม่เคยเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเจรจาดังกล่าว ถึงแม้ ฮิมายูน จารีร์ (Himayoun Jarir) บุตรเขยของเฮกมัตยาร์ ซึ่งเป็นปัญญาชนและเป็นชาวชนเผ่าปันเชรี (Pansher) ที่พูดจานุ่มนวล จะเป็นเพื่อนรักของผม” อับดุลเลาะห์กล่าว

“พูดกันอย่างตรงไปตรงมาเลยนะ อัฟกานิสถานไม่สามารถที่จะทนกับการเล่นเล่ห์ฉลาดแกมโกงทางการเมืองได้หรอก มันจำเป็นต้องใช้วิธีการที่ตรงไปตรงมาเพื่อแก้ไขสิ่งต่างๆ อันดับแรกและก่อนสิ่งอื่นใดเลยก็คือ ชาวอัฟกันต้องการระบบยุติธรรมที่มีความรวดเร็วฉับไว นี่คือรากเหง้าของปัญหาทุกๆ อย่างและของความปั่นป่วนวุ่นวายทั้งหลาย

“พวกคอมมิวนิสต์ (ในต้นทศวรรษ 1990) สัญญาที่จะให้ระบบยุติธรรม แต่แล้วพวกเขาก็ล้มเหลวไม่ทำให้ และประชาชนก็ลุกขึ้นมาต่อต้านพวกเขา จากนั้นประชาชนก็คาดหมายว่าพวกนักรบมุญาฮิดินจะสามารถให้ระบบดังกล่าวได้ แต่แล้วการสู้รบกันเองระหว่างพวกมุญาฮิดินก็ทำให้ภาพลักษณ์ของพวกเขาด่างพร้อย และประชาชนจึงหันไปหาพวกตอลิบานด้วยความหวังว่า พวกตอลิบานจะสามารถให้ระบบยุติธรรมที่รวดเร็วฉับไวแก่พวกเขาได้ ทว่าพวกตอลิบานกลับหลงลืมอุดมการณ์ของตนเอง และไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องอื่นๆ ดังนั้นจึงไม่ได้รับความนิยมจากประชาชน

“ประชาธิปไตยในปัจจุบันในอัฟกานิสถานต้องถือว่าเป็นระบบใหม่ ทว่าระยะหลายๆ ปีที่ผ่านมามันก็ล้มเหลวไม่สามารถให้ความยุติธรรมแก่ประชาชนได้ ดังนั้น เราจึงพบว่าการก่อความไม่สงบสามารถที่จะหยั่งรากลงลึกได้มากขึ้นเรื่อยๆ” อับดุลเลาะห์บอก

เมื่อถูกถามเรื่องที่มีคนพูดว่า คาร์ไซน่าจะกลายเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งกันตั้งแต่รอบแรก จากนั้นการสนทนากับพวกตอลิบานก็จะต้องเริ่มต้นขึ้นมาให้ได้และเกิดขึ้นอย่างเร็วที่สุด ไม่ว่าจะต้องลงทุนกันถึงขนาดไหน อับดุลเลาะห์ถอนหายใจยาวและตอบว่า “ถ้าเรื่องที่พูดมานี้เป็นความจริง ... ประเทศนี้ก็จะต้องเจ็บปวดกับชะตากรรมอย่างเดียวกับที่กำลังประสบอยู่ตอนนี้”

ไซเอด ซาลีม ชาห์ซาด เป็นหัวหน้าสำนักงานปากีสถานของเอเชียไทมส์ออนไลน์ สามารถที่จะติดต่อกับเขาได้ทางอีเมล์ saleem_sharzad2002@yahoo.com
กำลังโหลดความคิดเห็น