xs
xsm
sm
md
lg

“ตอลิบาน”มุ่งหมายทำให้ “คาร์ไซ”แพ้เลือกตั้งอัฟกานิสถาน

เผยแพร่:   โดย: ไซเอด ซาลีม ชาห์ซาด

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Taliban rooting for Karzai’s defeat
By Syed Saleem Shahzad
17/08/2009

พวกตอลิบานกำลังข่มขู่ผู้มีสิทธิออกเสียงในพื้นที่ซึ่งเป็นฐานเสียงของประธานาธิบดีฮามิด คาร์ไซ ไม่ให้ออกไปเลือกตั้งวันพฤหัสบดีนี้ เนื่องจากพวกเขามองว่าหากผู้ดำรงตำแหน่งปัจจุบันกลายเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ก็น่าที่จะเอื้อประโยชน์ให้แก่พวกเขามากที่สุด

คาบูล – ผู้มีสิทธิออกเสียง 17 ล้านคนของอัฟกานิสถานจะไปลงคะแนนกันในวันพฤหัสบดี(20)นี้ เพื่อเลือกตั้งประธานาธิบดีและสภาของจังหวัดต่างๆ โดยที่พวกตอลิบานกำลังหวังว่า ฮามิด คาร์ไซ ประธานาธิบดีคนปัจจุบันจะกลายเป็นผู้ปราชัย

พวกตอลิบานต้องการให้คาร์ไซพ่ายแพ้ โดยปรารถนาที่จะให้ผู้ท้าชิงคนสำคัญที่สุดของเขา คือ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ อับดุลเลาะห์ อับดุลเลาะห์ (Abdullah Abdullah) ซึ่งฐานเสียงสนับสนุนอยู่ทางภาคเหนือ กลายเป็นผู้ชนะ พวกตอลิบานเชื่อว่า สภาพเช่นนี้จะยิ่งเพิ่มพูนอารมณ์ความรู้สึกในภาคใต้ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่เป็นชาวเชื้อชาติปาชตุน (Pashtun) ว่าพวกเขากำลังถูกปกครองโดยพวกภาคเหนือ และเมื่อเป็นเช่นนี้ก็อาจจะเปลี่ยนใจชาวบ้านทั่วไปให้หันมายอมรับตอลิบานกันมากยิ่งขึ้น

การก่อเหตุโจมตีของพวกตอลิบานในปัจจุบันมุ่งเน้นหนักทางภาคใต้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งตามพื้นที่ซึ่งเห็นกันว่าเป็นฐานเสียงของประธานาธิบดีคาร์ไซ ทั้งนี้คาดการณ์กันว่ายิ่งมีผู้คนออกไปใช้สิทธิกันมากเท่าใด โอกาสที่เขาจะเป็นผู้ชนะก็มีสูงขึ้นเท่านั้น ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของอัฟกานิสถานนั้น ผู้สมัครที่ชนะต้องได้คะแนนเสียงถึง 51% ของผู้มาใช้สิทธิ จึงจะไม่ต้องลงแข่งขันในรอบสองกับผู้ที่ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 2

พวกตอลิบันกำลังเคลื่อนไหวอย่างคึกคักเพื่อข่มขู่ไม่ให้ผู้คนออกมาใช้สิทธิลงคะแนนกัน โดยบอกว่าคนที่ออกมาโหวตจะถูกถือว่าเป็นอย่างเดียวกันกับกองกำลังทหารต่างชาติ และก็จะต้องประสบชะตากรรมเดียวกันด้วย

ผลโพลหยั่งเสียงล่าสุดหลายสำนักบ่งชี้ว่า ในจำนวนผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีกว่า 40 คนนั้น อับดุลเลาะห์คือผู้ที่มีโอกาสสูงที่สุดที่จะสะกัดกั้นไม่ให้คาร์ไซได้คะแนนถึงระดับที่จะทำให้เขาได้ครองตำแหน่งที่มีวาระ 4 ปีเป็นครั้งที่สอง ขณะที่ อัชรอฟ กอนี (Ashraf Ghani) อดีตรัฐมนตรีคลัง อยู่ในอันดับ 3 ด้วยคะแนนที่ถูกทิ้งห่าง

อับดุลเลาะห์ ซึ่งได้รับการฝึกอบรมเป็นศัลยแพทย์ผ่าตัดตา พยายามเน้นย้ำว่าบรรพบุรุษฝ่ายบิดาของเขานั้นเป็นพวกเผ่ากันดาฮารี (Kandahari) ซึ่งก็เป็นชนชาติปาชตุนพวกหนึ่ง ทว่าใครๆ ก็รู้จักกันมากกว่าว่าเขาเป็นคนชนชาติทาจิก (Tajik) เผ่าปันเชอรี (Pansheri) และถูกมองว่ากำลังพยายามหันมาเล่นบทมีเชื้อสายปาชตุน เพื่อหวังคะแนนเสียงในเมืองใหญ่ๆ ของชาวปาชตุน อย่างเช่น กันดาฮาร์ (Kandahar) และกรุงคาบูล

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ณ การประชุมพบปะประชาชนครั้งหนึ่งที่เมืองกันดาฮาร์ เขาพยายามพูดปราศัยเป็นภาษาปาชตู (Pashtu ภาษาของชาวปาชตุน) แต่ปรากฏว่าทั้งสำเนียงและไวยากรณ์ของเขากลับทำให้กลายเป็นความอับอายขายหน้า ฐานเสียงจริงๆ ของเขานั้นคือภาคเหนือของอัฟกานิสถาน ซึ่งประชากรเป็นชาวทาจิก, ฮาซารา (Hazara), รวมทั้งมีชาวอุซเบก (Uzbek) ด้วยจำนวนหนึ่ง

ตั้งแต่ปี 2006 เป็นต้นมา การออกโจมตีของพวกตอลิบานมีลักษณะที่คำนึงถึงยุทธศาสตร์เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งในปีนี้พวกเขาก็ยิ่งแสดงให้เห็นถึงระดับของความเติบโตสุกงอมเพิ่มขึ้นอีก เหมาเจ๋อตงอดีตผู้นำจีนคือผู้ที่วางกฎเกณฑ์ของสงครามจรยุทธ์สมัยใหม่ ในระหว่างสงครามกลางเมืองในประเทศจีนเมื่อกลางๆ ศตวรรษที่ 20 นั่นก็คือ “ข้าศึกรุก เราถอย, ข้าศึกพัก เรากวน, ข้าศึกเพลีย เราตี, ข้าศึกหนี เราไล่”

พวกตอลิบานกำลังกระทำตามกฎเกณฑ์เช่นนี้อย่างเคร่งครัด ปีนี้สหรัฐฯได้ส่งกำลังทหารเพิ่มเติมอีก 4,000 คนเข้าไปในจังหวัดเฮลมันด์ (Helmand) ทว่าตอลิบานไม่ยอมไปปะทะสู้รบด้วยโดยตรง หากกลับสลายตัวเข้าไปปะปนกับชาวบ้าน ครั้นเมื่อทหารอังกฤษและสหรัฐฯแยกย้ายกันออกมาติดตามค้นหาพวกเขา ทหารต่างชาติเหล่านี้ก็กลายเป็นเป้านิ่งของตอลิบาน

การเสียชีวิตของทหารอังกฤษ 3 คนที่เมือง ซันกิน (Sangin) จังหวัดเฮลมันด์เมื่อวันอาทิตย์(16)ที่ผ่านมา ทำให้จำนวนทหารอังกฤษที่ถูกฆ่าตายในอัฟกานิสถานตั้งแต่ปี 2001 เพิ่มขึ้นเป็น 204 คน เดือนกรกฎาคมที่เพิ่งผ่านพ้นไป ถือเป็นเดือนที่ทหารอังกฤษเสียชีวิตกันมากที่สุด นั่นคือถูกฆ่าตาย 21 คน ขณะที่กองทหารพันธมิตรชาติอื่นๆ สูญเสียทหารไปรวมแล้ว 76 คนในเดือนดังกล่าว โดยที่เป็นอเมริกัน 45 คน

พวกตอลิบานฝ่ายที่อยู่ในปากีสถาน ก็นำมาวิธีการทำนองเดียวกันมาใช้ในการต่อสู้กับกองทหารรัฐบาลปากีสถานที่ถูกส่งเข้ามาในพื้นที่ชาวชนเผ่าของพวกตน มีหลายๆ กรณีทีเดียว เมื่อกองทัพปากีสถานบุกเข้ามา พวกเขาก็เพียงแค่เล็ดรอดข้ามพรมแดนออกไป แล้วไปช่วยเหลือพวกผู้ก่อความไม่สงบในเขตอัฟกานิสถาน

ในระยะ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา พวกตอลิบานได้เข้าโจมตีในเขตจังหวัดกอซนี (Ghazni) และโลการ์ (Logar) อันเป็น 2 จังหวัดที่อยู่ใกล้กับกรุงคาร์บูลที่สุด ในโลการ์นั้น พวกเขาเกือบจะยึดเมืองเอกของจังหวัดได้ทีเดียว การโจมตีที่สร้างความประหลาดใจเหล่านี้ เห็นได้ชัดทีเดียวว่ามีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้ประชาชนตื่นกลัวและยอมอยู่แต่ในบ้าน

เมื่อวันเสาร์(15) เกิดเหตุระเบิดรถยนต์ฆ่าตัวตายกลางวันแสกๆ ตรงใกล้ๆ ประตูใหญ่ของกองบัญชาการองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ(นาโต้)ในกรุงคาบูล สังหารชีวิตผู้คนไป 7 คนและมีผู้บาดเจ็บอีกร่วมๆ 100 คน ตามคำแถลงของพวกตอลิบานนั้น ตอนแรกพวกเขาวางแผนที่จะเข้าโจมตีสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯซึ่งตั้งอยู่บนถนนสายเดียวกันนี้ แต่แล้วก็เปลี่ยนแผนเมื่อพวกเขาไม่สามารถเข้าไปใกล้ที่นั่นได้

“การโจมตีคราวนี้เป็นหลักฐานพิสูจน์ที่พอเพียงทีเดียวว่า พวกตอลิบานได้จัดสร้างเครือข่ายอันทรงประสิทธิภาพขึ้นมาในย่านชุมชนต่างๆ ของกรุงคาบูลแล้ว และไม่สามารถปฏิเสธได้หรอกว่าในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ ก็อาจจะมีการโจมตีเพิ่มขึ้นอีก” เจ้าหน้าที่ชาวอัฟกันผู้หนึ่งซึ่งพำนักอยู่ในคาบูล กล่าวกับเอเชียไทมส์ออนไลน์ โดยขอไม่ให้เปิดเผยชื่อ

ปกติแล้วเดือนสิงหาคมคือช่วงเวลาที่พวกตอลิบานจะออกปฏิบัติการหนักหน่วงเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ ก่อนหน้าที่ความหนาวเย็นจะย่างกรายเข้ามาในเดือนกันยายน อย่างไรก็ตาม มีเหตุผลเพิ่มเติมอยู่ 3 ประการที่ทำให้เดือนสิงหาคมปีนี้น่าจะเป็นสิงหาคมที่พวกตอลิบานเคลื่อนไหวคึกคักที่สุดตั้งแต่ที่พวกเขาถูกขับไสให้ตกลงจากอำนาจในปี 2001

**การเปิดยุทธการของกองทัพปากีสถานในพื้นที่ชาวชนเผ่า ทำให้พวกหัวรุนแรงหลายพันคนข้ามชายแดนเข้าไปยังจังหวัดต่างๆ ของอัฟกานิสถานที่อยู่ใกล้เคียงกัน
**เดือนรอมฎอนของชาวมุสลิมจะเริ่มขึ้นในสัปดาห์หน้า และพวกหัวรุนแรงต้องการที่จะออกปฏิบัติการให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ก่อนที่พวกเขาจะเริ่มต้นการอดอาหารและพักผ่อนช่วงกลางวันตามวัตรปฏิบัติของเดือนสำคัญทางศาสนานี้
**พวกตอลิบานต้องการก่อกวนให้ปั่นป่วนวุ่นวายมากที่สุดที่จะเป็นไปได้ ก่อนจะมีการเลือกตั้งในวันพฤหัสบดีนี้

ปีนี้นับเป็นปีแรกที่พวกตอลิบานคุกคามที่จะเข้าโจมตีหน่วยเลือกตั้งต่างๆ โดยตรง และยังเป็นครั้งแรกที่พวกเขามีสมรรถนะที่จะสร้างความเสียหายอย่างใหญ่โตในเมืองใหญ่ๆ นอกเหนือจากเมืองกันดาฮาร์ (Kandahar) เป็นต้นว่า คาบูล, เฮรัต (Herat), จาลาลาบัด (Jalalabad), และ โคสต์ (Khost)

พวกตอลิบานนั้นสามารถเตร็ดเตร่ได้อย่างเสรีอยู่แล้ว ตามศูนย์กลางตลาดร้านค้าต่างๆ ของเมืองกันดาฮาร์ และที่ สปิน โบลดัค (Spin Boldak) ในกันดาฮาร์ โดยที่กองกำลังความมั่นคงของทางการอัฟกานิสถานไม่มีความปรารถนาหรือมีช่องทางที่จะท้าทายพวกเขาได้

พวกตอลิบานได้แจกจ่ายใบปลิวไปทั่วภาคใต้ของอัฟกานิสถาน มีข้อความว่า “นี่เป็นการแจ้งให้ท่านชาวบ้านที่เคารพได้ทราบว่า ท่านจะต้องไม่ไปร่วมการเลือกตั้ง เพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อการปฏิบัติการของพวกเรา เพราะว่าเราจะใช้ยุทธวิธีใหม่ๆ ด้วย” ใบปลิวยังบอกอีกว่า ผู้ไปออกเสียงทุกคนคือพันธมิตรของรัฐบาลอัฟกานิสถานและกองทหารต่างชาติ ดังนั้นจึงเป็นศัตรูของอิสลาม

กอรี ยูซุฟ อาร์มาดี (Qari Yousuf Ahmadi) โฆษกของตอลิบานยืนยันว่าใบปลิวนี้เป็นของจริง “เรากำลังใช้ยุทธวิธีใหม่ๆ ที่พุ่งเป้าเล่นงานพวกศูนย์เลือกตั้งทั้งหลาย ถ้าใครได้รับบาดเจ็บภายในหรือรอบๆ ศูนย์เลือกตั้งแล้ว พวกเขาจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะเราได้แจ้งพวกเขาเป็นการล่วงหน้าแล้ว”

ไซเอด ซาลีม ชาห์ซาด เป็นหัวหน้าสำนักงานปากีสถานของเอเชียไทมส์ออนไลน์ สามารถที่จะติดต่อกับเขาได้ทางอีเมล์ saleem_sharzad2002@yahoo.com
กำลังโหลดความคิดเห็น