xs
xsm
sm
md
lg

‘สหรัฐฯ’มีแผนสำหรับ‘อัฟกานิสถาน’แล้วไม่ว่าใครจะชนะเลือกตั้ง

เผยแพร่:   โดย: ไซเอด ซาลีม ชาห์ซาด

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

The US has a plan for Afghanistan
By Syed Saleem Shahzad
18/08/2009

จากแรงหนุนส่งซึ่งได้มาอย่างไม่คาดหมายจากขุนศึกระดับเฮฟวีเวตชาวอุซเบก ทำให้ประธานาธิบดีฮามิด คาร์ไซ มีโอกาสเพิ่มขึ้นมากที่จะชนะการเลือกตั้งอีกสมัยในวันพฤหัสบดีนี้ อย่างไรก็ดี ปากีสถานและสหรัฐฯกลับกำลังมองเลยการลงคะแนนคราวนี้ไปแล้ว โดยกำลังวางแผนจัดเตรียมกันว่า ภายหลังการเลือกตั้งไม่ว่าใครจะเป็นผู้ชนะ ก็จะมีการก่อตั้งคณะรัฐบาลที่มีรากฐานสนับสนุนอันกว้างขวาง และรวบรวมเอาผู้เล่นรายสำคัญๆ เข้ามาหมด รวมถึงพวกตอลิบานจำนวนหนึ่งด้วย

คาบูล– – ประธานาธิบดีฮามิด คาร์ไซ แห่งอัฟกานิสถาน กำลังมีโอกาสเพิ่มขึ้นมากทีเดียว ที่จะได้รับเลือกตั้งในวันพฤหัสบดี(20) เพื่อดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่สองต่อไปอีก 4 ปี จากการที่ขุนศึกเชื้อชาติอุซเบก (Uzbek) พล.อ.อับดุล ราชิด ดอสตุม (Abdul Rashid Dostum) ยุติการลี้ภัยในต่างแดนและเดินทางกลับบ้านในวันจันทร์(17) โดยประกาศทุ่มเทอิทธิพลบารมีที่ยังมีอยู่มหาศาลของตัวเองให้แก่การรณรงค์หาเสียงของคาร์ไซ

กระนั้นก็ตาม เมื่อพิจารณาจากภาพใหญ่โดยองค์รวมแล้ว ไม่ว่าคาร์ไซจะได้รับเลือกตั้งหรือไม่ ปากีสถานผู้เป็นเพื่อนบ้านของอัฟกานิสถาน ร่วมกับสหรัฐฯผู้เป็นพันธมิตร ก็กำลังตระเตรียมปูพื้นฐานสำหรับการจัดตั้งคณะรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้ง ซึ่งจะประกอบไปด้วยฝ่ายต่างๆ อย่างกว้างขวางและได้รับการยอมรับสนับสนุนจากคนส่วนใหญ่ โดยที่จะเป็นรัฐบาลซึ่งสามารถแสดงบทบาทเป็นแกนกลางในการสร้างความพ่ายแพ้ให้แก่การก่อความไม่สงบในบ้านเมืองที่มีพวกตอลิบานเป็นหัวโจก

แผนการดังกล่าวนี้กำหนดกันขึ้นมา โดยอิงอาศัยแผนการคล้ายๆ กันที่ได้นำไปใช้ในปากีสถานตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งทำให้ได้เห็นรัฐบาลพลเรือนที่นิยมฝักใฝ่สหรัฐฯได้รับเลือกตั้งขึ้นครองอำนาจในประเทศนั้น จากนั้นรัฐบาลปากีสถานชุดนี้ก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงทีเดียวในการปราบปรามกวาดล้างพวก(อิสลามิสต์)หัวรุนแรงในแถบพื้นที่ชาวชนเผ่า

ผลโพลหยั่งเสียงล่าสุดหลายๆ สำนักชี้ให้เห็นว่า คาร์ไซมีคะแนนนิยมนำหน้าคู่แข่งขันคนสำคัญของเขา นั่นคือ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ น.พ.อับดุลเลาะห์ อับดุลเลาะห์ (Dr Abdullah Abdullah) แต่ยังเป็นที่สงสัยกันอยู่ว่าคาร์ไซจะได้รับเสียงสนับสนุนมากพอจนชนะได้ถึง 51% ของผู้มาออกเสียงหรือไม่ ทั้งนี้เขาจะต้องได้เสียงถึงระดับดังกล่าวถ้าหากไม่ต้องการลงแข่งขันรอบสองกับผู้ที่ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 2 นอกจากคาร์ไซและอับดุลเลาะห์แล้ว ผู้สมัครคนอื่นๆ ที่น่าสนใจ ยังมีอาทิ อดีตรัฐมนตรีวางแผน รอมซอน บาชาร์โดสต์ (Ramzan Bashardost) และอดีตรัฐมนตรีคลัง อัชรอฟ กอนี (Ashraf Ghani)

สำหรับขุนศึกดอสตุม เขาเดินทางไปลี้ภัยในตุรกีเมื่อ 8 เดือนที่แล้วภายหลังถูกกล่าวหาว่าทุบตีปรปักษ์ทางการเมืองผู้หนึ่ง การเดินทางกลับมาอย่างไม่คาดหมายของเขาจะเรียกเสียงสนับสนุนจากชาวอุซเบกนับล้านๆ คนให้อยู่กับคาร์ไซอย่างหนักแน่นมั่นคง นอกจากนั้น ในสัปดาห์ที่แล้ว คาร์ไซซึ่งเป็นคนเชื้อชาติปาชตุน (Pashtun) ยังได้รับคำมั่นให้การสนับสนุนจากบุคคลทรงอำนาจอีกผู้หนึ่ง นั่นคือ อิสมาอิล ข่าน (Ismail Khan) ชาวทาจิก (Tajik) ที่เป็นวีรชนนักรบมุญาฮิดีนจากเมืองเฮรัต (Herat) เมืองสำคัญทางภาคตะวันตกของประเทศ

**ปรับจุดยืน**

เมื่อเร็วๆ นี้เอกอัครราชทูตปากีสถานประจำกรุงคาบูล ได้ไปเยือนหุบเขาปัญจะชีร์ (Panjshir Valley) ในพื้นที่ตอนกลางค่อนไปทางเหนือของอัฟกานิสถาน ณ ที่นั้นเขาได้แสดงความเคารพแท่นบูชาของ อาหมัด ชาห์ มัสซูด (Ahmad Shah Massoud) ชาวทาจิกที่เป็นผู้นำของพันธมิตรภาคเหนือ (Northern Alliance) และได้รับสมญานามว่า “สิงห์แห่งปัญจะชีร์ (Lion of Panjshir) ซึ่งถูกสังหารอย่างเหี้ยมโหด เอกอัครราชทูตผู้นี้ได้พบปะกับพวกผู้นำระดับสูงของ ญะมิอัต-อี-อิสลามี อัฟกานิสถาน (Jamiat-e-Islami Afghanistan) พรรคการเมืองแนวทางอิสลามิสต์ โดยคนหนึ่งในจำนวนนั้นก็คืออับดุลเลาะห์

การพบปะกันคราวนี้ถือว่ามีความสำคัญ เนื่องจากแต่ไหนแต่ไรมาในปากีสถานจะมองอับดุลเลาะห์ว่าเป็นผู้ที่ฝักใฝ่ใกล้ชิดกับอินเดียและอิหร่าน เห็นได้ชัดว่ากรุงอิสลามาบัดกำลังพยายามฟื้นชีพสายสัมพันธ์ที่สถาบันทหารของปากีสถานเคยมีอยู่กับพวกผู้นำภาคเหนืออัฟกานิสถาน ความเชื่อมโยงเหล่านี้ได้ขาดสะบั้นไปเมื่อปากีสถานหันมาทุ่มเทความสนับสนุนของตนให้แก่พวกตอลิบาน เมื่อตอนที่พวกนี้ขึ้นสู่อำนาจในช่วงกลางทศวรรษ 1990 เวลานี้กงล้อได้หมุนกลับมาจนครบเต็มวงแล้ว เนื่องจากปากีสถานยังกำลังเพิกถอนความสนับสนุนที่เคยให้กับกลุ่มตอลิบาน ซึ่งเป็นพวกเชื้อชาติปาชตุนอีกด้วย

นักการทูตอาวุโสชาวตะวันตกผู้หนึ่งอธิบายให้เอเชียไทมส์ออนไลน์ฟังในกรุงคาบูลว่า แผนการที่จะนำมาใช้ในอัฟกานิสถานนั้น ก็คล้ายคลึงกับแผนการที่พวกอเมริกันจัดทำขึ้นในปากีสถานเมื่อปี 2007 ตอนที่พวกเขาได้ข้อสรุปว่า จะต้องทำให้กลุ่มพันธมิตรเสรีนิยมที่นิยมตะวันตกและไม่ฝักใฝ่ทางศาสนา รวมทั้งมีพื้นฐานความสนับสนุนอันกว้างขวางด้วย กลายเป็นผู้ชนะในการเลือกตั้งปี 2008 จากนั้นก็จะได้จัดตั้งรัฐบาลที่ได้รับการยอมรับจากคนส่วนใหญ่ แล้วรัฐบาลเช่นนี้ก็จะหาทางทำให้กองทัพปากีสถานได้รับความสนับสนุน เมื่อพวกเขาเข้าร่วมมือประสานงานทำ “สงครามต่อสู้การก่อการร้าย” ที่มีสหรัฐฯเป็นผู้นำ ทั้งนี้มีการวางแผนกำหนดเอาไว้ชัดเจนว่าการจัดวางต่างๆ ทั้งหมดเหล่านี้จะต้องมีประธานาธิบดีปากีสถานที่เป็นพลเรือน มาเป็นผู้กำกับตรวจสอบในองค์รวม

“ได้มีการจัดทำแผนการทำนองเดียวกันสำหรับอัฟกานิสถานขึ้นมาแล้ว และมหาอำนาจระดับภูมิภาคและระดับระหว่างประเทศทุกๆ ฝ่ายต่างตกลงเห็นด้วยกับวัตถุประสงค์ดังกล่าวนี้ แผนการนี้จะมีการให้บทบาทแก่ผู้เล่นสำคัญๆ (ชาวอัฟกัน) ทุกๆ ฝ่าย” นักการทูตผู้นี้เล่าต่อ “มีโอกาสอย่างมากว่า ภายหลังการเลือกตั้งในอัฟกานิสถานแล้ว รัฐสภาก็จะได้รับอำนาจเพิ่มมากขึ้นๆ และจะมีการจัดตั้งตำแหน่งประธานฝ่ายบริหาร (chief executive) ขึ้นมา บุคคลผู้นี้จะทำงานโดยร่วมมือประสานงานกับรัฐสภาและประธานาธิบดี”

นักการทูตผู้นี้เปิดเผยต่อไปอีกว่า ยังมีการวางแผนที่จะยกระดับโครงการฝึกทหารอย่างขนานใหญ่ เพื่อให้ได้ทหารชาวอัฟกันอย่างน้อย 100,000 คนซึ่งสามารถที่จะปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเป็นอิสระภายในระยะเวลา 2 ปีข้างหน้า ขณะเดียวกันก็กำลังมีความพยายามอย่างเข้มข้นทั้งในปากีสถานและอัฟกานิสถาน ที่จะทำความตกลงกับพวกผู้ปฏิบัติงานระดับล่างและระดับกลางของกลุ่มตอลิบานให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ จุดมุ่งหมายในการนี้ก็คือทำให้พวกเขายอมวางอาวุธและเข้าร่วมในการเลือกตั้งรัฐสภาครั้งต่อไป “มีความหวังกันอย่างสูงทีเดียวว่า เมื่อดำเนินการตามแผนการนี้แล้ว ก็จะเกิดความเป็นไปได้ที่จะเห็นอัฟกานิสถานเปลี่ยนแปลงถึงขั้นกลับตาลปัตรไปจากเดิม ในระยะไม่กี่ปีต่อจากนี้ไป” นักการทูตผู้นี้กล่าว

ในระยะเวลา 8 ปีนับแต่ที่กองกำลังนานาชาตินำโดยสหรัฐฯเข้ารุกรานอัฟกานิสถานและโค่นล้มพวกตอลิบานตกจากอำนาจ วอชิงตันได้พยายามใช้วิธีการต่างๆ มากมายหลายวิธี ทว่าการก่อความไม่สงบยังคงทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ในทำนองเดียวกัน ที่ปากีสถานก็มีการใช้นโยบายนานาหลายหลากเพื่อปราบปรามกวาดล้างพวก(อิสลามิสต์)หัวรุนแรงในแถบพื้นที่ชาวชนเผ่า ซึ่งเป็นแหล่งที่ป้อนกำลังนักรบให้แก่อัฟกานิสถานโดยตรง แต่ในที่สุดแล้วก็ดูเหมือนว่า คณะรัฐบาลพลเรือนที่นำโดยประธานาธิบดีอาซิฟ อาลี ซาร์ดารี ในปัจจุบัน กำลังสามารถกระทำเรื่องนี้ได้อย่างประสบผล

นี่คือหลักเหตุผลเบื้องหลังแนวความคิดที่จะให้จัดตั้งคณะรัฐบาลซึ่งมีพื้นฐานความสนับสนุนอันกว้างขวางขึ้นในกรุงคาบูล เป็นรัฐบาลที่จะรวมเอาผู้เล่นหลักๆ เข้ามา โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะมีการจัดตั้งตำแหน่ง “ประธานฝ่ายบริหาร” ขึ้นมาเป็นผู้ทำภารกิจเหล่านี้ ไม่ว่าคาร์ไซจะแพ้หรือชนะ เขาจะถูกดึงเข้ามาร่วมมือด้วย อับดุลเลาะห์ก็เช่นเดียวกัน และน่าจะรวมไปถึงพวกระดับเฮฟวีเวตอื่นๆ อย่างเช่น บาชาร์โดสต์ และ กอนี

อย่างไรก็ตาม อัฟกานิสถานย่อมไม่ใช่ปากีสถาน และการนำเอาพวกขุนศึกตลอดจนผู้นำชนเผ่าตามประเพณี ซึ่งแต่ละคนก็มีลักษณะผิดแผกแตกต่างกันมากมาย เข้ามาอยู่ในคณะรัฐบาล โดยที่เรียกร้องให้คณะรัฐบาลนี้ต้องมีความผูกพันกันให้เหนียวแน่นด้วย จึงย่อมไม่ใช่งานง่ายๆ เลย

พล.อ.เซอร์ริชาร์ด แดนนัตต์ (Sir Richard Dannatt) ประธานคณะเสนาธิการทหารใหญ่ของอังกฤษ พูดเอาไว้อย่างมีน้ำหนักเมื่อเขาชี้ว่า อัฟกานิสถานจะยังต้องการความช่วยเหลือจากนานาชาติในด้านการพัฒนาไปอีก “ 20 ปี, 30, 40 ปี –ใครล่ะจะทราบได้ว่าเขาจะต้องการไปอีกนานแค่ไหน?”

สรุปแล้วก็คือมันเป็นเรื่องที่จะต้องใช้เวลา และในระหว่างเวลาเหล่านั้นเองพวกตอลิบานย่อมไม่ได้นั่งนิ่งอยู่เฉยๆ การประกาศที่จะก่อกวนการเลือกตั้งในวันพฤหัสบดีนี้ของพวกเขา จึงยังไม่ใช่เป็นจุดสูงสุดแห่งการก่อความไม่สงบของพวกเขาหรอก

ไซเอด ซาลีม ชาห์ซาด เป็นหัวหน้าสำนักงานปากีสถานของเอเชียไทมส์ออนไลน์ สามารถที่จะติดต่อกับเขาได้ทางอีเมล์ saleem_sharzad2002@yahoo.com
กำลังโหลดความคิดเห็น