xs
xsm
sm
md
lg

กลโกงเลือกตั้งของ‘คาร์ไซ’อาจกลับมาเล่นงานตัวเขาเอง

เผยแพร่:   โดย: แกเรธ พอร์เตอร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Karzai's fraud scheme could backfire
By Gareth Porter
20/08/2009

จากหลักฐานต่างๆ ทั้งเรื่องการทำบัตรลงทะเบียนปลอม, ผู้ออกเสียงที่ไม่มีตัวตน, และการข่มขู่คุกคุมผู้มีสิทธิออกเสียง เหล่านี้บ่งชี้ให้เห็นว่า ประธานาธิบดี ฮามิด คาร์ไซ แห่งอัฟกานิสถาน และพวกขุนศึกทรงอำนาจผู้เป็นพันธมิตรของเขา วางแผนใช้กลโกงการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันพฤหัสบดี(21)กันอย่างมโหฬาร พวกนักวิจารณ์บอกว่าการที่มีรายงานระบุถึงการใช้กโลบายเหล่านี้ ย่อมหมายความว่าการเลือกตั้งคราวนี้ซึ่งเป็นที่คาดหวังของผู้คนจำนวนไม่น้อย น่าที่จะสร้างความเสียหายมากกว่าที่จะเพิ่มความน่าเชื่อถือ ให้แก่คณะรัฐบาลชุดนี้

– การเลือกตั้งประธานาธิบดีอัฟกานิสถานในวันพฤหัสบดี(21) ได้รับการคาดหวังจากพวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯกันมานานว่า จะเป็นกุญแจสำคัญในการเพิ่มพูนความถูกต้องชอบธรรมให้แก่คณะรัฐบาลอัฟกันในปัจจุบัน ทว่าจากหลักฐานที่ปรากฏออกมาว่า ประธานาธิบดี ฮามิด คาร์ไซ แห่งอัฟกานิสถาน และเหล่าขุนศึกทรงอำนาจที่เป็นพันธมิตรของเขา มีการวางแผนใช้กลโกงการเลือกตั้งกันอย่างมโหฬาร สภาพเช่นนี้อาจจะทำให้บังเกิดผลลัพธ์ในทางตรงกันข้าม

ผลการหยั่งเสียงที่ได้เงินทุนสนับสนุนจากสหรัฐฯ 2 สำนัก ที่นำออกเผยแพร่ก่อนการเลือกตั้ง 1 สัปดาห์ แสดงให้เห็นว่า คะแนนสนับสนุนคาร์ไซยังคงไม่ถึง 51% ของคะแนนเสียงทั้งหมด อันเป็นระดับที่จะต้องได้หากจะไม่ต้องลงแข่งขันตัดสินกันในรอบสอง โดยในโพลที่จัดทำโดย เกลวุม แอสโซซิเอตส์ (Glevum Associates) ระบุว่าคาร์ไซได้ 36% ส่วนการหยั่งเสียงที่ทำโดยสถาบันรีพับลิกันระหว่างประเทศ (International Republican Institute) ให้เขาได้ 44%

การหยั่งเสี่ยงเหล่านี้บ่งชี้ว่าคาร์ไซยังจะพยายามหาทางต้องเพิ่มเติมคะแนนรวมของเขาอีกมากทีเดียว จึงจะมั่นใจได้ว่าได้รับเลือกตั้งตั้งแต่การแข่งขันรอบแรก

มีหลักฐานบ่งชี้ว่า คาร์ไซนั้นมีการเตรียมตัวปูพื้นฐานสำหรับเหตุฉุกเฉินทำนองนี้มาหลายเดือนแล้ว เขาเร่งทำพันธมิตรกับพวกขุนศึกอัฟกันชั้นแนวหน้า ซึ่งเป็นผู้ควบคุมกองกำลังท้องถิ่นไม่เป็นทางการกลุ่มต่างๆ ตลอดจนเครือข่ายชนเผ่าในจังหวัดต่างๆ เพื่อดำเนินกโลบายโกงการเลือกตั้งที่จะทำให้ได้คะแนนเสียงเพิ่มขึ้นมาอีกจำนวนมากมาย

คาร์ไซเลือก มูฮัมหมัด กอซิม ฟาฮิม (Muhammad Qasim Fahim) ขุนศึกชาวทาจิก (Tajik) มาเป็นคู่ชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีของเขา ฟาซิมผู้นี้เคยเป็นรองประธานาธิบดีและรัฐมนตรีกลาโหมในคณะรัฐบาลอัฟกันในระยะเปลี่ยนผ่าน (Afghan Transitional Administration) ของคาร์ไซ จนกระทั่งมาถึงการเลือกตั้งในปี 2004 ขณะเดียวกันเขาก็ประสบความสำเร็จในการขอความสนับสนุนจากขุนศึกชาวฮาซารา (Hazara) 2 คน คือ ฮาจี มูฮัมหมัด โมเฮกิก (Muhammad Moheqiq) และ กอริม กอลิลี (Karim Khalili) โดยตามรายงานข่าวของ ริชาร์ด ออปเพิล แห่งนิวยอร์กไทมส์ สิ่งที่คาร์ไซเสนอเป็นการแลกเปลี่ยนก็คือ เขาจะจัดตั้งจังหวัดใหม่ๆ ขึ้นมา โดยตัดแบ่งพื้นที่จากพวกอำเภอที่มีชาวฮาซาราพำนักอาศัยอยู่จำนวนมากในจังหวัดกอซนี (Ghazni)และ วอร์เดค (Wardak)

โครงสร้างทางสังคมการเมืองของอัฟกานิสถาน ยังคงอยู่ในลักษณะที่มีการควบคุมดูแลกันเป็นชั้นๆ ทำให้พวกขุนศึกสามารถที่จะจัดหาคะแนนเสียงเป็นกลุ่มก้อนใหญ่มหึมาให้แก่คาร์ไซ โดยเพียงไปบอกกับบรรดาบริวารของเขาให้ลงคะแนนเสียงให้เขา นอกจากนั้นในบางจังหวัด โดยเฉพาะพวกทางภาคใต้ซึ่งชนส่วนใหญ่เป็นชนชาติปาชตุน (Pashtun) ก็มีการบังคับให้พวกผู้อาวุโสของเผ่าต่างๆ ในท้องถิ่น ต้องร่วมมือกับกโลบายโกงการเลือกตั้งในรูปแบบต่างๆ

ระบบที่พวกขุนศึกบีบคั้นเหล่าผู้อาวุโสของเผ่าต่างๆ ให้จัดหาคะแนนเสียงให้คาร์ไซ ได้รับการบอกเล่าออกมาอย่างชัดเจนจากผู้อาวุโสคนหนึ่งในหมู่บ้านทางจังหวัดเฮรัต (Herat) ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันตกของประเทศ เขากล่าวว่าเขาถูกข่มขู่จากหัวหน้านักรบท้องถิ่นคนหนึ่ง ว่าถ้าหากชาวบ้านในหมู่บ้านของเขาไม่โหวตให้คาร์ไซแล้ว “จะเกิดผลลัพธ์ที่ไม่น่าสบายอกสบายใจติดตามมา” ทั้งนี้ตามรายงานของสถาบันเพื่อการรายงานสภาพสงครามและสันติภาพ (Institute for War and Peace Reporting)

ในอีกด้านหนึ่งตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว องค์การอิสระติตตามเฝ้าสังเกตการณ์การเลือกตั้งในอัฟกานิสถาน ที่ใช้ชื่อว่า มูลนิธิการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรมแห่งอัฟกานิสถาน (Free and Fair Election Foundation of Afghanistan หรือ FEFA) ก็ได้เก็บรวบรวมหลักฐานเกี่ยวกับวิธีการต่างๆ ในการลงทะเบียนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ที่กลายเป็นการตระเตรียมปูพื้นฐานให้แก่การโกงการเลือกตั้งอย่างมโหฬารในภายหลัง

พวกผู้สังเกตการณ์ของ FEFA ได้ไปติดตามการลงทะเบียนผู้มีสิทธิออกเสียงในศูนย์ลงทะเบียนผู้มีสิทธิ 194 แห่งจากทั้งหมด 400 แห่งใน 4 จังหวัด พวกเขาพบว่าโดยเฉลี่ยแล้ว เกือบๆ 20% ของผู้ออกเสียงที่ลงทะเบียนเอาไว้ เป็นพวกที่มีอายุต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดให้สามารถใช้สิทธิได้ ในหลายๆ กรณีทีเดียว เป็นเด็กอายุแค่ 12 ปีเท่านั้นเอง

ประมาณการกันว่า มีการออกบัตรลงทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นจำนวน 17 ล้านใบ หากนำเอาเกณฑ์ของพวกผู้สังเกตการณ์ของ FEFA มาคำนวณ ก็หมายความว่ามีการออกบัตรร่วมๆ 3.5 ล้านใบให้แก่เด็กๆ ที่ไม่สมควรจะได้รับ

พวกผู้สังเกตการณ์ของ FEEA ยังพบกรณีการจ่ายบัตรผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกินกว่าคนละ 1 ใบกันอย่างกว้างขวางมาก จากศูนย์ลงทะเบียนดังกล่าวราว 85% พวกเขาพบกรณีอันไม่ชอบมาพากลเช่นนี้อย่างน้อยที่สุด 4 กรณี พวกเขาพบเห็นเหล่าเจ้าหน้าที่ลงทะเบียนผู้มีสิทธิออกเสียง แจกบัตรผู้มีสิทธิกันตั้งแต่ก่อนที่ผู้ยื่นขอบัตรจะลงทะเบียนเสร็จสิ้นด้วยซ้ำ

มีอยู่กรณีหนึ่ง พวกเจ้าหน้าที่สังเกตการณ์ของ FEFA พบว่ามีการแจกบัตรผู้สิทธิเลือกตั้งถึงราว 500 ใบให้แก่บุคคลคนเดียว

วิธีการอีกอย่างหนึ่งของกโลบายฉ้อโกงในทำนองนี้ เป็นเรื่องการลงทะเบียนให้แก่พวกผู้หญิงซึ่งจริงๆ แล้วไม่ได้มาปรากฏตัวให้เห็นที่ศูนย์ลงทะเบียน แต่บ่อยครั้งเจ้าหน้าที่จะออกบัตรผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามรายชื่อที่มีผู้ยื่นมาให้ ระบบการลงทะเบียนให้ผู้หญิงโดยยื่นแต่รายชื่อมาให้เช่นนี้ พบว่ากระทำกันในศูนย์ลงทะเบียนถึง 99% ของจังหวัดปักติกา (Paktika) และ 90% ของศูนย์ในจังหวัดซาบูล (Zabul) และจังหวัดโกสต์ (Khost)

ในระยะสุดท้ายของการลงทะเบียน พบว่าศูนย์ลงทะเบียนจำนวนมากอนุญาตให้พวกผู้ชายนำเอาสมุดลงทะเบียนกลับไปบ้านของพวกเขา ด้วยข้ออ้างว่าเพื่อให้พวกผู้หญิงที่ลงทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิได้พิมพ์ลายนิ้วมือ

ในจังหวัดบางแห่งที่มีความไม่ปลอดภัยมากที่สุดและเป็นพื้นที่เคร่งครัดธรรมเนียมประเพณีที่สุด เป็นต้นว่า โลการ์ (Logar)และ นูริสถาน (Nuristan) มีการออกบัตรให้แก่ผู้มีสิทธิลงคะแนนที่เป็นผู้หญิง เป็นจำนวนกว่าสองเท่าตัวของผู้ชาย ส่วนที่จังหวัด ปักติกา, ปักเตีย (Paktia), และโกสต์ ก็มีผู้หญิงลงทะเบียนมากกว่าผู้ชายราว 30%

ที่จังหวัดกันดาฮาร์ (Kandahar) มีการออกบัตรผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้แก่ผู้หญิงเป็นจำนวนประมาณ 44% ของบัตรทั้งหมด ฟาวเซีย คูฟี (Fawzia Koofi) สมาชิกรัฐสภาผู้เป็นสตรีอายุน้อย บอกกับหนังสือพิมพ์ ดิ ออสเตรเลียน ของออสเตรเลียว่า สัดส่วนจำนวนการลงทะเบียนผู้หญิงที่มีความแตกต่างกันมากเช่นนี้ ชี้ให้เห็นว่ามันไม่สามารถที่จะเป็นการลงทะเบียนที่ถูกต้องเป็นจริงไปได้

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็คือ มีการออกบัตรผู้มีสิทธิออกเสียงจำนวนมากมาย แต่น้อยใบนักที่จะถูกนำไปใช้แสดงตนหย่อนบัตรลงคะแนนโดยผู้หญิงตัวจริง

รายงานข่าวหลายๆ ชิ้นของพวกนักหนังสือพิมพ์ ในเรื่องที่พวกผู้ทรงอิทธิพลตามท้องถิ่นครอบครองบัตรผู้มีสิทธิลงคะแนนเอาไว้เป็นจำนวนมาก เป็นสิ่งที่บ่งชี้ให้เห็นว่าการแจกจ่ายบัตรให้แก่ผู้ที่จะไม่ได้ไปโหวต น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของแผนการยัดไส้เพิ่มคะแนนเสียงในหีบบัตรเลือกตั้งให้แก่คาร์ไซ

หนังสือพิมพ์ไทมส์แห่งลอนดอนรายงานข่าวในสัปดาห์ที่แล้ว โดยอ้างผู้อาวุโสของเผ่าคนหนึ่งในเขตมาร์จา (Marja) ของจังหวัดเฮลมันด์ (Helmand) กล่าวว่า เชอร์ โมฮัมหมัด อาคูดซาดา (Sher Mohammad Akhudzada) ขุนศึกที่เคยเป็นผู้ว่าการของจังหวัดเฮลมันด์ กำลังดำเนินการตระเตรียมคะแนนเสียงให้แก่คาร์ไซในจังหวัดนี้ โดยที่ผู้อาวุโสผู้นี้ตลอดจนผู้อาวุโสของเผ่าคนอื่นๆ เป็นผู้รับผิดชอบซื้อหาบัตรผู้มีสิทธิลงคะแนนจากพวกที่ไปลงทะเบียนไว้แล้ว

อเล็กซ์ สตริก แวน ลินโชเตน นักวิเคราะห์อิสระผู้ตั้งฐานอยู่ในกันดาฮาร์ ก็รายงานข่าวกโลบายใช้ตำรวจเป็นผู้ซื้อบัตรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในหลายๆ เขตของจังหวัดดังกล่าว

เอลิซาเบธ รูบิน เขียนเอาไว้ในนิตยสารนิวยอร์กไทมส์แมกกาซีนฉบับวันที่ 9 สิงหาคมว่า บุคคลทางการเมืองที่ไม่ขอเปิดเผยชื่อผู้หนึ่งในกันดาฮาร์บอกกับเธอตั้งแต่เดือนมิถุนายนว่า เขาได้จัดทำบัตรลงทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง “ปลอม” จำนวน 8,000 ใบ และขายไปในราคาใบละ 20 ดอลลาร์สหรัฐฯ

ผู้สังเกตการณ์บางคนยังคงเชื่อว่า มีปัจจัยต่างๆ หลากหลายที่จะทำให้คาร์ไซมีข้อจำกัดติดขัดในความพยายามอาศัยพวกขุนศึกมาเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้ง อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำอัฟกานิสถาน โรนัลด์ อี นือมานน์ บอกกับสำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส (ไอพีเอส) ว่า เขายังคงไว้วางใจการใช้หมึกที่ลบไม่ออกป้ายลงบนนิ้วมือของผู้ที่มาใช้สิทธิ ว่าจะทำให้เป็นไปไม่ได้ที่คนๆ หนึ่งจะออกเสียงมากกว่า 1 ครั้ง

อย่างไรก็ดี ตัวเขาเองก็เล่าความหลังให้ฟังว่า ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2005 หมึก “ลบไม่ออก” ที่นำมาใช้กัน กลับกลายเป็นหมึกที่สามารถล้างออกได้อย่างไม่ยากเย็น

นือมานน์ยังตั้งความหวังกับการที่มีคณะกรรมการรับเรื่องร้องเรียนการเลือกตั้ง (Election Complaints Commission หรือ ECC) คณะกรรมการชุดนี้เป็นหน่วยงานอิสระที่สมาชิกจำนวน 3 ใน 5 คนเป็นบุคคลระหว่างประเทศ โดยได้รับการเสนอชื่อโดยสหประชาชาติ นือมานน์คิดว่าอีซีซีจะสามารถตรวจสอบทัดทานไม่ให้เกิดการโกงการเลือกตั้งอย่างใหญ่โตมโหฬารได้

หน่วยงานนี้ทำหน้าที่สอบสวนคำร้องเรื่องโกงการเลือกตั้ง และกฎหมายเลือกตั้งของอัฟกานิสถานให้สิทธิอีซีซีตั้งแต่ สั่งให้ผลการนับคะแนนเป็นโมฆะ หรือให้นับคะแนนกันใหม่ หรือกระทั่งให้จัดการเลือกตั้งกันใหม่ หากพบหลักฐานว่ามีการทุจริตคดโกงกันจริง อย่างไรก็ดี เนื่องจากหน่วยงานนี้มีเฉพาะในระดับชาติเท่านั้น ไม่ได้มีในระดับย่อยๆ ลงมา ดังนั้นจึงต้องพึ่งพาอาศัย คณะกรรมการการเลือกตั้งอิสระ (Independent Electoral Commission หรือ IEC) ในการรวบรวมหลักฐานเอกสารทุกอย่างที่สอดรับการคำร้องเรียนที่มีผู้ยื่นมา

จุดที่เป็นปัญหาก็คือ ข้อเท็จจริงที่ว่า ไออีซี นั้นไม่ได้เป็น “อิสระ” จากระบอบปกครองคาร์ไซแต่อย่างไร ในเมื่อสมาชิก 7 คนของคณะกรรมการชุดนี้แต่งตั้งโดยคาร์ไซ และตัวประธานคณะกรรมการก็ไม่ได้ปิดบังอำพรางเลยว่าเขาสนับสนุนเข้าข้างประธานาธิบดีผู้นี้

มีความเป็นไปได้สูงที่ไออีซีจะกลับทำตัวเป็นผู้ปกปิดการร้องเรียนเกี่ยวกับการโกงรายใหญ่ๆ เสียด้วยซ้ำ ส่วนหน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนก็น่าจะไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก

นือมานน์ยอมรับว่า โอกาสที่การเลือกตั้งคราวนี้จะออกมา “ดีเพียงพอ” ในสายตาของชาวอัฟกัน คงจะอยู่ราวๆ “50-50”

ทว่าพวกผู้ชำนาญพิเศษด้านต่อต้านการก่อความไม่สงบกลับมองสถานการณ์ในแง่ที่เลวร้ายมากกว่า แลร์รี กูดสัน แห่งวิทยาลัยการทัพบกสหรัฐฯ ซึ่งเคยอยู่ในทีมงานของกองบัญชาการทหารเขตกลางของสหรัฐฯ (US Central Command) รับภารกิจจัดทำแผนการรายละเอียดเกี่ยวกับอัฟกานิสถานและปากีสถานเมื่อช่วงต้นปีนี้ บอกกับไอพีเอสว่า “ความเป็นจริงก็คือกำลังจะเกิดการหลอกลวงและการโกงกันอย่างมโหฬาร”

กูดสันกล่าวว่า อันตรายที่สหรัฐฯอาจต้องเผชิญจากการดำเนินแผนการเลือกตั้งของคาร์ไซก็คือ มัน “อาจถูกชาวอัฟกันเข้าใจไปว่า นี่คือความพยายามที่จะสนับสนุนส่งเสริมความถูกต้องชอบธรรมของคนๆ หนึ่ง ทั้งๆ ที่เขาถูกมองกันอย่างกว้างขวางว่าไร้ความถูกต้องชอบธรรม”

เดวิด คิลคัลเลน ผู้ชำนาญพิเศษด้านต่อต้านการก่อความไม่สงบชาวออสเตรเลีย ซึ่งในเร็วๆ นี้จะไปเป็นที่ปรึกษาอาวุโสให้แก่ พล.อ.สแตนลีย์ แมคคริสทัล ผู้บัญชาการทหารสหรัฐฯและองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) ในอัฟกานิสถาน ได้ป่าวประกาศที่สถาบันสันติภาพของสหรัฐฯ (US Institute of Peace) เมื่อวันที่ 6 สิงหาคมว่า “สิ่งที่น่ากลัวมากที่สุดก็คือ ลงท้ายคาร์ไซจะกลายเป็นบุคคลผู้ไร้ความถูกต้องชอบธรรมไร้ความน่าเชื่อถือ และลงท้ายเราก็จะกลายเป็นเจ้าของอัฟกานิสถาน และกำลังสนับสนุนส่งเสริมรัฐบาลที่ไร้ความถูกต้องชอบธรรม”

แกเรธ พอร์เตอร์ เป็นนักประวัติศาสตร์และนักหนังสือพิมพ์เชิงสืบสวน ซึ่งชำนาญในเรื่องนโยบายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯเป็นพิเศษ หนังสือเล่มล่าสุดของเขา ที่มีชื่อว่า Perils of Dominance: Imbalance of Power and the Road to War in Vietnam ได้รับการตีพิมพ์เป็นฉบับปกอ่อนในปี 2006

(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น