xs
xsm
sm
md
lg

“โอบามา”เผชิญ“แรงต้าน”เรื่องอัฟกานิสถาน

เผยแพร่:   โดย: จิม โล้บ

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Obama faces backlash over Afghanistan
By Jim Lobe
16/09/2009

ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ กำลังเผชิญปัญหาทางการเมืองที่แก้ไขได้ยากที่สุดปัญหาหนึ่งในรอบระยะเวลา 1 ปีแรกที่เขาขึ้นดำรงตำแหน่ง เมื่อผู้คนฝ่ายต่างๆ ในประเทศ เริ่มตั้งข้อสงสัยไม่แน่ใจเกี่ยวกับบทบาทของสหรัฐฯในอัฟกานิสถาน ถึงตอนนี้โอบามายังกำลังจะถูกสถานการณ์บีบบังคับให้ต้องตัดสินใจว่า จะอนุมัติให้เพิ่มกำลังทหารจำนวนมากเข้าไปในสมรภูมิแห่งนั้นหรือไม่ โดยที่มีความเสี่ยงอย่างสูงว่าจะทำให้ผู้คนจำนวนมากภายในพรรคของเขาเองเกิดความไม่พอใจ

วอชิงตัน – ในหมู่สมาชิกรัฐสภาคนสำคัญๆ ของพรรคเดโมแครต กำลังบังเกิดความสงสัยไม่แน่ใจกันเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในเรื่องพันธะผูกพันที่จะต้องทำสงครามในอัฟกานิสถาน แน่นอนทีเดียวว่าสถานการณ์เช่นนี้กำลังกลายเป็นปัญหาท้าทายทางการเมืองที่แก้ไขได้ยากที่สุดปัญหาหนึ่ง ซึ่งประธานาธิบดีบารัค โอบามา ต้องเผชิญ ในช่วงเวลาปีแรกแห่งการเข้าดำรงตำแหน่งของเขา

ในอีกด้านหนึ่ง เวลานี้ฝ่ายทหารก็ทำท่าว่ากำลังตระเตรียมเพื่อกดดันให้เพิ่มทหารสหรัฐฯจำนวนมากเข้าไปสู้รบกับพวกตอลิบาน ซึ่งดูจะสามารถก่อความไม่สงบได้อย่างทรงประสิทธิภาพยิ่งขึ้นทุกที โดยที่เมื่อเร็วๆ นี้ ตัวโอบามาเองก็ได้ออกมาเรียกการสู้รบในสมรภูมิแห่งนี้ว่า เป็น “สงครามที่มีความจำเป็นต้องทำ” ดังนั้นจึงคาดหมายได้ว่าอีกไม่นาน เขาจะถูกบีบบังคับให้ต้องตัดสินใจว่า จะอนุมัติตามคำขอนี้หรือไม่ โดยที่มีความเสี่ยงอย่างสูงว่าจะทำให้ผู้คนจำนวนมากภายในพรรคของเขาเองเกิดความไม่พอใจ

พวกสมาชิกรัฐสภาพรรครีพับลิกันนั้น มีจำนวนมากทีเดียวที่กระตือรือร้นหนุนหลังข้อเสนอของกองทัพที่คาดการณ์กันว่าจะยื่นเข้ามาในไม่ช้านี้ และนี่ก็ไม่น่าจะช่วยทำให้โอบามาตัดสินใจได้ง่ายขึ้นเลย ทั้งพวกอนุรักษนิยมใหม่ (Neo-conservatives) และพวกสายเหยี่ยวอื่นๆ ต่างกำลังเรียกร้องแสดงเหตุผลกันมาหลายสัปดาห์แล้วว่า การศึกในอัฟกานิสถานจะต้องได้ชัยเท่านั้น โดยหากได้อะไรที่น้อยกว่า “ชัยชนะ” แล้ว ก็จะเกิดผลต่อเนื่องตามมาที่เป็นการสร้างความวิบัติหายนะให้แก่ความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ทั้งนี้ไม่เพียงแค่ในอัฟกานิสถาน หากแต่ในปากีสถานและพื้นที่อื่นๆ ต่อจากนั้นด้วย

“เรามีความมั่นใจว่า ไม่เพียงแต่ [สงครามคราวนี้] เป็นสงครามที่ชนะได้เท่านั้น หากแต่เรายังไม่มีทางเลือกอื่นๆ เลยด้วย” จอห์น แมคเคน และ ลินด์ซีย์ แกรฮ์ม 2 วุฒิสมาชิกของรีพับลิกัน และ โจเซฟ ลิเบอร์แมน วุฒิสมาชิกอิสระที่เอนเอียงมาทางเดโมแครตสายเหยี่ยว ระบุเอาไว้เช่นนี้ในบทความที่พวกเขาเขียนร่วมกันและตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัลฉบับวันจันทร์(14)

“เราต้องมีชัยในอัฟกานิสถาน” บทความของพวกเขาระบุ พร้อมกับยืนยันว่าการป้องกันไม่ให้พวกตอลิบานสามารถเข้ายึดครองอัฟกานิสถานได้ “ยังคงเป็นผลประโยชน์แห่งชาติอันชัดเจนและสำคัญยิ่งยวดของสหรัฐฯ” ทั้งนี้น่าสังเกตว่า บทความของพวกเขาใช้ชื่อเรื่องว่า “ต้องมีกำลังทหารในระดับชี้ขาดเท่านั้นจึงจะสามารถได้ชัยในอัฟกานิสถาน”

รัฐสภาอเมริกันกำลังถกเถียงเรื่องนี้กันอย่างดุเดือด โดยที่มีความคิดเห็นแตกแยกแบ่งขั้วกันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และสภาพดังกล่าวนี้ได้แสดงออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนเมื่อวันอังคาร(15) ระหว่างที่วุฒิสภากำลังเปิดการซักถาม พล.ร.อ.ไมก์ มัลเลน เพื่อลงมติว่าจะรับรองให้เขาดำรงตำแหน่งประธานคณะเสนาธิการทหารผสม ต่อไปอีกวาระหนึ่งหรือไม่ โดยที่มัลเลนบอกกับคณะกรรมาธิการการทหารของวุฒิสภาว่า วอชิงตันน่าจะต้องส่งทหารเพิ่มเติมเข้าไปในอัฟกานิสถาน ถ้าหากต้องการให้ยุทธศาสตร์ใหม่ในการต่อต้านการก่อการร้าย ที่มี พล.อ.สแตนลีย์ แมคคริสตัล เป็นผู้นำในการดำเนินการ มีลู่ทางที่จะประสบความสำเร็จ

“การต่อต้านการก่อความไม่สงบชนิดที่ได้รับทรัพยากรอย่างถูกต้องเหมาะสมนั้น อาจจะหมายความถึงการต้องได้กำลังทหารเพิ่มมากขึ้น และ ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ยังต้องหมายถึงการได้เวลาเพิ่มขึ้น และการปฏิบัติตามพันธะอย่างแน่วแน่ยิ่งขึ้นในการพิทักษ์คุ้มครองประชาชนชาวอัฟกัน และในการสร้างธรรมาภิบาลขึ้นมา” มัลเลนกล่าว ถึงแม้เขายังไม่ระบุตัวเลขจำนวนทหารที่เขาตั้งใจขอเพิ่มออกมา

วุฒิสมาชิกแมคเคนของรีพับลิกัน แสดงความเห็นพ้องกับมัลเลนอย่างรวดเร็ว “เราจำเป็นจะต้องมีกำลังทหารหน่วยสู้รบเพิ่มมากขึ้นในอัฟกานิสถาน ไม่ใช่มีกำลังที่ลดน้อยลงหรือมีจำนวนที่เท่าๆ กับที่เรามีอยู่ในเวลานี้” เขายืนกราน โดยยกเหตุผลว่า การทำเช่นนี้จะมีส่วนคล้ายคลึงอย่างมากกับการดำเนินยุทธศาสตร์ในอิรักที่เรียกขานกันว่า “การเพิ่มกำลังทหารขึ้นอย่างฉับพลัน” (surge) ทั้งนี้จำเป็นที่จะต้องใช้กำลังทหารสหรัฐฯจำนวนมากขึ้นเพื่อคอยตรึงพวกผู้ก่อความไม่สงบเอาไว้ จนกว่าจะถึงเวลาที่กองกำลังอาวุธพื้นเมืองได้รับการฝึกอบรมจนสามารถที่จะแบกรับภาระได้เองแล้ว

ทว่าวุฒิสมาชิก คาร์ล เลวิน ผู้เป็นประธานคณะกรรมาธิการชุดนี้ กลับตอบโต้ว่า เรื่องอันดับแรกที่วอชิงตันและบรรดาชาติพันธมิตรสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) ควรต้องกระทำ คือเร่งรัดการฝึกอบรมและการติดอาวุธให้แก่กองกำลังชาวอัฟกัน จากนั้นจึงค่อยส่งกำลังทหารสหรัฐฯเพิ่มเข้าไปในสมรภูมิแห่งนี้ในเวลาต่อไป

เลวินซึ่งเพิ่งกลับจากการเยือนอัฟกานิสถานเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว บอกว่า ต้องกระทำดังที่เขาบอกมา “จึงจะสาธิตให้เห็นว่า เรามีความมุ่งมั่นผูกพันที่จะกระทำให้สำเร็จลุล่วงตามภารกิจนี้ ที่จะเป็นผลประโยชน์ด้านความมั่นคงแห่งชาติของเรา แต่ขณะเดียวกันก็สามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่างๆ ที่ผูกติดมาพร้อมกับการที่สหรัฐฯทุ่มตัวเข้าไปจนมากเกินไป”

“ขั้นตอนต่างๆ เหล่านี้ควรจะรีบดำเนินการโดยเร่งด่วน แล้วเราจึงมาพิจารณาเรื่องส่งทหารหน่วยสู้รบภาคพื้นดินของสหรัฐฯเพิ่มเข้าไป เพิ่มเติมขึ้นจากจำนวนที่ได้มีการวางแผนเอาไว้แล้วว่าจะส่งเข้าไปประจำการภายในสิ้นปีนี้” เขากล่าว

ทั้งนี้ระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี โอบามาได้โจมตีคณะรัฐบาลของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ว่ากระทำความผิดพลาดทางยุทธศาสตร์ ด้วยการหันเหทรัพยากรทั้งหลายจากอัฟกานิสถานไปยังอิรัก ภายหลังที่ได้ขับไล่พวกตอลิบานออกจากอำนาจในปลายปี 2001 แล้ว และเมื่อโอบามาเองขึ้นรับตำแหน่งไม่นาน เขาจึงได้อนุมัติให้ส่งทหารหน่วยสู้รบของสหรัฐฯอีก 17,500 คน และทหารที่ทำหน้าที่เป็นผู้ฝึกสอนอีก 4,000 คนเข้าไปในอัฟกานิสถาน

เป็นที่คาดหมายกันว่า การส่งทหารจำนวนดังกล่าวเพิ่มเข้าไปจะเสร็จเรียบร้อยภายในสิ้นเดือนนี้ ซึ่งจะทำให้จำนวนทหารสหรัฐฯทั้งหมดในอัฟกานิสถานเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 68,000 คน ขณะที่ก็มีกองกำลังทหารของนาโต้อีกราว 39,000 คนประจำการอยู่ในสมรภูมิแห่งนั้นเช่นกัน

อย่างไรก็ดี การเพิ่มความเข้มแข็งทางการทหารที่กระทำมาในปีนี้ ยังไม่ได้บังเกิดผลให้เห็นเป็นสภาพแวดล้อมที่มีความมั่นคงปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น เอาเข้าจริงแล้ว เหตุโจมตีกองทหารสหรัฐฯและนาโต้ ตลอดจนการเล่นงานเป้าหมายที่เป็นพลเรือนชาวอัฟกัน ยังคงสูงขึ้นอย่างสม่ำเสมอนับแต่ฤดูใบไม้ผลิเมื่อต้นปีนี้ เท่าที่ผ่านมาในปี 2009 มีทหารสหรัฐฯและนาโต้ถูกสังหารไปกว่า 300 คนแล้ว จนกลายเป็นปีที่มียอดทหารเสียชีวิตสูงที่สุดไปแล้วในสงครามซึ่งดำเนินมาได้ 8 ปี

นอกเหนือจากจำนวนทหารบาดเจ็บล้มตายตลอดจนความเหน็ดเหนื่อยกับสงครามที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว การที่คณะรัฐบาลของประธานาธิบดีฮามิด คาร์ไซ มีการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างฉาวโฉ่ อีกทั้งการเลือกตั้งที่เขาทำท่าจะได้กลับมาดำรงตำแหน่งอีกสมัยก็ดูจะมีการโกงกันอย่างกว้างขวาง เหล่านี้ก็ล้วนมีส่วนทำให้มติมหาชนอเมริกันเกิดการหันเหเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนในระยะสองสามเดือนที่ผ่านมา แถมแนวโน้มนี้ยังทำท่าว่าจะเร่งตัวขึ้นอีกในระยะไม่กี่สัปดาห์มานี้

ผลการหยั่งเสียงของซีเอ็นเอ็นที่กระทำตอนปลายเดือนที่แล้ว พบว่าเวลานี้สาธารณชนอเมริกันถึง 57% คัดค้านสงครามในอัฟกานิสถาน พุ่งขึ้นจากระดับ 46% ในเดือนเมษายน ขณะที่โพลของวอชิงตันโพสต์-เอบีซีนิวส์ ที่เปิดเผยออกมาในวันอังคาร(15) ระบุว่ามีผู้ตอบคำถามเพียง 1 ใน 4 (ยิ่งถ้าเป็นเฉพาะในกลุ่มที่ถือตนเองเป็นชาวพรรคเดโมแครตด้วยแล้ว จะเหลือไม่ถึง 1 ใน 5 ด้วยซ้ำ) ที่เห็นชอบกับคำขอของมุลเลนให้เพิ่มกำลังทหารเข้าไปในอัฟกานิสถาน

นอกจากนั้น ยังเป็นครั้งแรกที่ผู้ตอบคำถามซึ่งกล่าวว่า พวกเขาเชื่อว่าการชนะสงครามในอัฟกานิสถานมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับความสำเร็จใน “สงครามต่อสู้การก่อการร้าย” นั้น มีจำนวนลดต่ำลงกว่าระดับ 50%

พวกสมาชิกรัฐสภาชั้นนำของพรรคเดโมแครต เท่าที่ผ่านมายังพยายามหลีกเลี่ยงไม่วิพากษ์วิจารณ์การทำสงครามอัฟกานิสถาน ที่โอบามาประกาศให้เป็นเรื่องที่ทรงความสำคัญลำดับต้นๆ ของเขาเรื่องหนึ่ง แต่มาถึงตอนนี้พวกเขาก็ทำท่าจะเดินตามการก้าวนำของสาธารณชนแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสัปดาห์ที่ผ่านมา

“ดิฉันไม่คิดว่ามีเสียงสนับสนุนมากมายอะไรนักหรอก ในเรื่องการส่งทหารเพิ่มเข้าไปในอัฟกานิสถาน ไม่ว่าจะในประเทศนี้หรือในรัฐสภาแห่งนี้” เป็นข้อสังเกตของ แนนซี เปโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงอำนาจเมื่อวันพฤหัสบดี(10)ก่อน คำแถลงของเธอมีความเป็นจริงรองรับอย่างชัดเจน จากผลสำรวจความคิดเห็นของสมาชิกรัฐสภาพรรคเดโมแครต ที่ทำกันเป็นความลับของ “เนชั่นแนล เจอร์นัล” ซึ่งพบว่ามีเพียง 13% เท่านั้นที่สนับสนุนการเพิ่มจำนวนทหาร

“ผมคิดว่าไม่ใช่เป็นเรื่องถูกต้องเลยที่จะส่งทหารเพิ่มเข้าไปอีกในช่วงนี้” วุฒิสมาชิกดิ๊ก เดอร์บิน ผู้สนับสนุนประธานาธิบดีโอบามาอย่างเหนียวแน่นและยาวนาน กล่าวเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา “ปล่อยให้ชาวอัฟกันสร้างเสถียรภาพขึ้นในประเทศของพวกเขาเองเถอะ ให้พวกเราแค่ช่วยทำงานกับพวกเขาเพื่อทำให้มันเกิดขึ้นมาจะดีกว่า”

พวกวิพากษ์การทำสงคราม โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นฝ่ายเดโมแครต กำลังเสนอแนวความคิดกันว่า โอบามาอาจจะประสบชะตากรรมในอัฟกานิสถาน ทำนองเดียวกับที่อดีตประธานาธิบดีลินดอน จอห์นสัน เคยเจอในเวียดนาม โดยที่โอบามาก็คล้ายๆ กับจอห์นสันเมื่อ 40 ปีก่อน มีวาระการปฏิรูปภายในประเทศอันใหญ่โตน่าตื่นใจ แต่แล้วก็ต้องมาเสี่ยงว่าอาจจะลงมือดำเนินการอะไรไม่ได้เลย สืบเนื่องจากสงครามราคาแพงซึ่งไม่เป็นที่ชื่นชอบของประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ

ระหว่างที่ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ และโทรทัศน์ซีเอ็นบีซีเมื่อวันจันทร์(14) โอบามาปฏิเสธความละม้ายระหว่างเขากับจอห์นสันเช่นนี้ แต่เขาก็สารภาพว่ารู้สึกกังวลในเรื่อง “อันตรายของการทำอะไรมากเกินตัว และการไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน และไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งแรงจากประชาชนชาวอเมริกัน”

มีรายงานว่าเวลานี้แมคคริสตัลกำลังตกแต่งกลึงเกลาบรรดาข้อเสนอแนะของเขาที่จะมายื่นเสนอต่อโอบามากันในขั้นสุดท้าย โดยเป็นที่คาดหมายว่าในข้อเสนอแนะเหล่านี้คงจะต้องมีการสะท้อนเสียงเรียกร้องของพวกเดโมแครต ที่ให้เร่งรัดการสร้างกองทัพของชาวอัฟกันขึ้นมา ทั้งที่จะมีส่วนหนึ่งซึ่งเขาจะเสนอว่า ในการเร่งสร้างกองทัพชาวอัฟกันนั้น จำเป็นต้องส่งทหารนักฝึกอบรมของสหรัฐฯเพิ่มเข้าไป ตลอดจนต้องเพิ่มทหารหน่วยสู้รบด้วย

ขณะที่พวกผู้บังคับบัญชาทหารสหรัฐฯในภาคสนามแสดงท่าทีว่า ปรารถนาที่ได้ทหารเพิ่มขึ้นอีก 45,000 คนจึงจะสามารถปิดล้อมจำกัดความเคลื่อนไหวของพวกตอลิบาน และเริ่มการรุกไล่ยึดพื้นที่คืนมาจากพวกนั้น แต่ผู้สังเกตการณ์ส่วนใหญ่เชื่อว่า แมคคริสตัลและนายทหารอาวุโสคนอื่นๆ ของกองทัพ คงต้องยอมรับความจริงที่ว่าประชาชนกำลังเกิดความสงสัยข้องใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และอย่างเก่งที่สุดก็น่าจะขอทหารเพิ่มประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้

บล็อกว่าด้วยนโยบายการต่างประเทศสหรัฐฯของ จิม โล้บ สามารถตามอ่านได้ที่ http://www.ips.org/blog/jimlobe/

(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น