คนท้ายเขื่อนศรีนครินทร์คงไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่า เรื่องพลังงานจะเป็นเรื่องใกล้ตัวถึงขั้นทำให้บ้านเรือนเสียหายและเรือกสวนล่มจม เมื่อจู่ๆ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ (กฟผ.) ดันเปิดประตูน้ำทุกบานโดยไม่แจ้งเตือนชาวบ้านอย่างทั่วถึง
เหตุที่ต้องเปิดประตูน้ำก็เพื่อผลิตไฟฟ้า อันนี้พอเข้าใจ แต่ถ้าสาวลงไปถึงต้นตอจะพบความผิดปกติด้านความมั่นคงทางพลังงานที่ชวนให้คิดต่อว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย
ต้นเหตุของน้ำท่วมเกิดจากการที่แหล่งก๊าซ A-18 ที่เป็นพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย หรือ JDA ต้องหยุดซ่อมบำรุงในวันที่ 9-19 สิงหาคม ทำให้ก๊าซหายไปจากระบบ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุต ซ้ำเติมสถานการณ์อีกทีด้วยวันที่ 13 สิงหาคม เมื่อท่อก๊าซจากแหล่งบงกชในอ่าวไทยต้องหยุดซ่อมชั่วคราว (แต่ผลิตได้ตามปกติแล้วเมื่อเช้าวันที่ 17 สิงหาคม) ก๊าซจึงหายไปจากระบบอีก 600 ล้านลูกบาศก์ฟุต ยังไม่พอ 15 สิงหาคม ก๊าซจากแหล่งยาดานาในประเทศพม่าก็เกิดขัดข้องทางเทคนิค ก๊าซ 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตไม่ถูกส่งมา เป็นเหตุให้ กฟผ.ต้องเร่งร้อนเปิดเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อรักษาระบบ
ดูอย่างผิวเผิน กฟผ.ก็ทำถูกมิใช่หรือที่ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อป้อนไฟฟ้าเข้าสู่ระบบแทนส่วนที่หายไป แต่ถ้ามองให้ลึกกว่านั้นจะเกิดคำถามชวนประหวั่นว่า เรากำลังฝากอนาคตด้านความมั่นคงทางพลังงานไว้ในมือประเทศเพื่อนบ้านอยู่ใช่หรือไม่ นี่ยังไม่พูดถึงว่าการคาดการณ์ความต้องการพลังงานในอนาคตของไทยถูกคาดการณ์ไว้สูงเกินไปมาตลอด และยังไม่ต้องพูดถึงอีกว่าพลังงานที่ได้คือการดูดดึงเอาทรัพยากรจากชนบทมาป้อนให้แก่ภาคเมือง ภาคอุตสาหกรรม และห้างสรรพสินค้า
อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นเรื่องในระดับนโยบายที่ต้องอาศัยความมีวิสัยทัศน์ของผู้บริหารประเทศ และความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมของ กฟผ.
แต่เราจะไปพูดคุยกับชาวบ้านที่ไม่เคยรู้เลยว่าตัวเองเป็นเหยื่อของการจัดการพลังงานที่ผิดพลาดและผู้เกี่ยวข้อง เพื่อฟังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเป็นอย่างไร ตลอดจนสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งทางด้านทรัพย์สินและสภาพจิตใจของพวกเขา
น้ำตาชาวบ้าน
วจี สระบัว หนึ่งในชาวบ้านซึ่งเปิดร้านขายอาหารตามสั่งอยู่ใต้สะพานหนองบัว เป็นผู้หนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว โดยน้ำจากเขื่อนได้ไหลท่วมร้านอาหารของเธอสูงกว่า 2 เมตร
เธอเล่าบรรยากาศในวันนั้นให้ฟังว่า ตอนเช้าก็ได้ยินประกาศจากรายการเสียงตามสายของเทศบาลว่า เขื่อนศรีนครินทร์กำลังจะปล่อยน้ำออกเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ หรือเปิดประตูทั้งหมดเลย แต่หลังจากรออยู่นานหลายชั่วโมงก็ไม่ปรากฏอะไรขึ้น ทำให้เธอและครอบครัววางใจ และไม่คิดว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น
“ตอนนั้นหนูนึกไม่ออกหรอกว่า เปิดประตูน้ำหมดทั้ง 5 ประตูเป็นยังไง รู้แต่ว่าคงน้ำท่วมแน่นอน แต่ก็ไม่รู้ว่าจะท่วมแค่ไหน กะไม่ถูก เพื่อความปลอดภัยแม่หนูเขาก็เลยยกพวกเครื่องใช้ไฟฟ้าหนี
“พอตกดึก ก็ยังไม่เห็นว่าน้ำจะมาสักที เราก็คิดว่าคงไม่ท่วมแล้ว ก็เลยปิดร้าน แล้วกลับบ้าน แต่พอสัก 3 ทุ่มครึ่งกลับมา ปรากฏว่าน้ำมันท่วมถึงตาตุ่มแล้ว พ่อหนูเขาก็รีบเอารถออกมาขนของ แต่ว่าขนไปไม่เท่าไหร่ก็ต้องรีบเอารถขึ้น คือขนไม่ทันแล้ว น้ำมันมาเร็วมาก แค่ครึ่งชั่วโมงเองมั้ง จากตาตุ่ม น้ำก็ขึ้นมิดหัวเลย แถมตอนนั้นมันก็มืดมากแล้ว เพราะเทศบาลเขาตัดไฟหมดเลยเพราะกลัวไฟช็อต”
เตาแก๊สใช้การไม่ได้ โต๊ะ เก้าอี้ชุ่มน้ำ และเสื้อก็เละเทะ คือความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ถึงแม้จะดูไม่มากนัก แต่อย่างน้อย อุปกรณ์เหล่านี้ก็ถือเป็นเครื่องมือยังชีพอย่างหนึ่งของครอบครัวเธอ
สำหรับวจีนั้นยังถือว่ายังโชคดีที่ไม่ได้รับผลกระทบอะไรมาก แต่กับ ปรีชา ไทยอุบล เกษตรกรเจ้าของไร่มันสำปะหลังและสวนมะละกอจากตำบลท่ามะกอก ที่เหตุน้ำท่วมเพียงไม่กี่ชั่วโมงทำให้เขาต้องสูญเสียรายได้นับแสนบาท
จริงๆ แล้วเขาทราบมาตั้งแต่วันศุกร์ แต่ไม่ได้คิดอะไรมาก เพราะไม่มีประกาศจากทางผู้ใหญ่บ้าน และก็เชื่อว่าหากน้ำจะท่วมจริงก็คงจะไม่มากเท่าใดนัก อย่างมากก็คงจะเหมือนๆ กับทุกครั้งที่เวลาที่เขื่อนปล่อยน้ำ ส่วนใหญ่จะแค่ปริ่มๆ ริมตลิ่งเท่านั้น
จนกระทั่งคืนวันเสาร์ เวลาประมาณ 4 ทุ่ม หลังกลับจากงานศพ เขาก็ได้ข่าวจากชาวบ้านว่าน้ำที่ริมแม่น้ำตอนนี้เริ่มท่วมแล้ว ด้วยความตกใจเขาจึงวิ่งไปดูที่ไร่มันสำปะหลัง
หลังจากนั้นก็ต้องไปช่วยเพื่อนบ้านขนของหนีน้ำ เมื่อขนเสร็จจึงรีบกลับมาดูที่ไร่มะละกอซึ่งท่วมไปครึ่งต้นแล้ว
“เราทำอะไรไม่ได้เลย เพราะน้ำมันท่วมเต็มตลิ่งแล้ว แถมตอนนั้นก็มืดด้วย แล้วต้นไม้มันไม่ใช่สิ่งของที่ยกไปไหนมาไหนด้วย พอมันท่วมก็ต้องปล่อยให้ท่วมตามยถากรรม แต่ผมก็ยอมรับนะว่าตอนนั้น พอเห็นมันหมดเลยนะ ท้อ ความฝันที่เราหวังเอาไว้จบทันทีเลย แล้วหนี้สินที่เรามีจะทำยังไง จะให้เลิกทำก็คงไม่ได้ เพราะผมมีอาชีพเป็นเกษตรกร ที่ทำได้ก็คือต่อไปก็คงต้องหาพื้นที่ใหม่ที่มันไม่เสี่ยงอย่างนี้”
สำหรับความเสียหายที่เห็นชัดๆ ก็คือมะละกอ ซึ่งต้องจมน้ำอยู่หนึ่งวันเต็มๆ นั้นตายหมดอย่างแน่นอน เนื่องจากรากของมะละกอจะแช่น้ำอยู่นานๆ ไม่ได้ ไม่เช่นนั้นรากจะเน่า แล้วกว่าที่เขาจะสามารถสูบน้ำมาได้หมดก็วันกว่าๆ แล้ว เพราะฉะนั้นไม่มีทางที่เขาจะสามารถรักษาชีวิตของต้นมะละกอเอาไว้ได้แน่นอน
“ไร่มัน 6 ไร่ ความเสียหายก็ตกประมาณหมื่นกว่าๆ แต่ตอนนี้เราก็ยังไม่แน่ใจนะว่า มันจะเน่าหมดหรือเปล่า เพราะบางส่วนที่อยู่บนๆ น้ำท่วมไม่ถึงก็ไม่น่าจะเน่า ส่วนมะละกอนี่ตายแน่ แค่วันที่สองต้นก็เริ่มเหี่ยวแล้ว แต่ผมยังไม่ได้เก็บเลยสักลูก คือมันยังไม่สุก ที่สำคัญของผมเป็นพันธุ์ไม้ลาย ไม่ใช่มะละกอทำส้มตำ ราคากิโลฯหนึ่งก็ 18 บาทแล้ว ถ้าประเมิน ผมว่าไม่ต่ำกว่าแสนกว่าบาทแน่นอน”
คืนอุตลุด
ด้านผู้ใหญ่บ้าน บุญเนือง พุกนินฉาย จากหมู่ 2 ตำบลท่ามะขาม อำเภอเมือง ย้อนเหตุการณ์ให้ฟังว่า จริงๆ ก็มีข่าวมาจากเทศบาลเมือง แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่เชื่อใจ เพราะไม่ได้รับแจ้งข่าวจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ (กฟผ.) เลยว่าจะมีการปล่อยน้ำจากเขื่อน จนกระทั่งช่วง 4 ทุ่มครึ่งได้รับโทรศัพท์จากชาวบ้านว่า ตอนนั้นน้ำกำลังท่วมพื้นที่ของพวกเขาแล้ว เขาจึงรีบออกไปดูที่เกิดเหตุอย่างเร่งด่วน
“พื้นที่เตี้ยๆ ไปเรียบร้อยแล้ว เขาก็รีบขนข้าวของออก ส่วนผมก็รีบติดต่อชาวบ้านคนอื่นๆ ให้มาช่วยกันหน่อย คือคืนนั้นก็อุตลุดเลย ยิ่งช่วงเที่ยงคืนกว่า โทรศัพท์บ้านผมก็รับกันไม่หวาดไม่ไหว ผมเลยตัดสินใจออกเสียงตามสาย ใครด่าก็ด่า ให้มาช่วยกัน แล้วกว่าจะเรียบร้อยก็ใช้เวลาเป็นวัน จริงๆ ผมต้องถ่ายบรรยากาศเก็บไว้เป็นหลักฐานด้วย แต่ตอนนั้นมันลืมหมด ไม่มีให้ถ่าย เดี๋ยวคนโน้นเรียก เดี๋ยวคนนี้ก็เรียก”
ผู้ใหญ่บ้านเล่าต่ออีกว่า ในคืนนั้นความเสียหายเกิดขึ้นเยอะมากโดยเฉพาะคนที่อาศัยหรือมีพื้นที่เพาะปลูกอยู่ใกล้ริมน้ำ เพราะส่วนใหญ่ก็จะขนของกันไม่ทัน แต่ทั้งนี้ก็ยังดีที่ชาวบ้านทุกคนนปลอดภัย
“หากถามถึงยอดความเสียหาย ตอนนี้กำลังสรุปกันอยู่ ที่ทำได้ช่วงนี้คือรอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาพิสูจน์ ซึ่งก็อาจจะไม่ได้ภาพที่แท้จริงทั้งหมด เพราะอย่างพวกรีสอร์ต เขาก็ต้องเร่งปรับปรุง จะมานั่งรอก็คงไม่ได้ แต่ก็คงต้องมีการเจรจากันอีกที”
เมื่อถามผู้ใหญ่ฯ บุญเนืองว่า รู้หรือเปล่าว่าทำไม กฟผ.ต้องปล่อยน้ำ เขาบอกว่าไม่รู้ และเขาก็ไม่รู้ด้วยว่าท่อก๊าซจากแหล่งยาดานามันเกี่ยวอะไรกับน้ำท่วมครั้งนี้
เราจะตั้งข้อสังเกตได้หรือไม่ว่า การที่ชาวบ้านเชื่อมโยงข้อมูลข้อเท็จจริงไม่ได้ ซึ่งอาจเป็นเพราะเข้าไม่ถึงข้อมูลหรือถูกปิดบังก็ตาม ทำให้ผู้ที่ดูแลเรื่องนโยบายพลังงานสามารถซุกซ่อนความบิดเบี้ยวต่างๆ ได้มากมายมาโดยตลอด
กลับมาที่ต้นเหตุ
หากถามว่าเรื่องนี้ใครต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ก็เห็นจะไม่พ้น กฟผ. ในฐานะผู้ดูแลเขื่อนศรีนครินทร์ พรศิลป์ จำปา หัวหน้าส่วนประชาสัมพันธ์ เขื่อนท่าทุ่งนา อธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า จริงๆ ทาง กฟผ. ก็พยายามแจ้งไปยังกลุ่มผู้นำชุมชนแล้ว แต่เนื่องจากมีแหล่งที่อาจได้รับผลกระทบจำนวนมาก ประกอบกับช่วงวันที่เกิดปัญหาตรงกับวันหยุดราชการ จึงทำให้ไม่สามารถกระจายข่าวได้อย่างทั่วถึง
“เรื่องนี้มันกะทันหันมากครับ เนื่องจากก๊าซซึ่งใช้ผลิตไฟฟ้าไม่มาตามปกติ แต่ที่ผ่านมาเราใช้ก๊าซเพื่อผลิตไฟฟ้าสูงถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ทาง กฟผ.ต้องเร่งหาทางแก้ปัญหาโดยด่วน ซึ่งเราก็ใช้พลังงานน้ำขึ้นมาช่วย เพื่อให้ไฟฟ้ายังคงไหลเวียนต่อไปได้ จึงจำเป็นต้องปล่อยน้ำ”
ส่วน ตระกูลเทพ วงษ์ศุข นายช่างระดับ 7 ของเขื่อนท่าทุ่งนา กล่าวว่า เหตุการณ์นี้ถือเป็นครั้งแรกเลยก็ว่าได้ และโดยส่วนตัวก็ไม่คิดว่าจะรุนแรงถึงขนาดนี้
“ที่ผ่านมาเราก็มีแผนรองรับไว้ ไม่ให้มันกระทบต่อชาวบ้าน แต่เผอิญว่าเรื่องนี้มันฉุกเฉินมาก แล้วเท่าที่ผมทำงานมา ครั้งนี้เป็นครั้งแรก คือจริงๆ ก่อนหน้านี้ก็เคยมีท่วมนะ แต่ไม่ใช่เพราะเขื่อน แต่เป็นเพราะพายุหมุน”
ขณะเดียวกัน ตระกูลเทพยังกล่าวต่อว่า อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ชาวบ้านไม่เตรียมตัวเท่าที่ควร เมื่อได้ยินข่าวก็เพราะที่นี่มีข่าวลือเยอะมาก เช่น เขื่อนแตกบ้าง น้ำท่วมบ้าง จนชาวบ้านหลายคนเริ่มชินชาเวลาได้ยินข่าวเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้
อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นแล้ว ทาง กฟผ.เองก็จะรับผิดชอบกับเรื่องนี้ด้วยการออกมาสำรวจความเสียหายตามจุดต่างๆ เพื่อดูว่าแต่ละที่นั้นเป็นอย่างไรบ้าง รวมทั้งหาทางรับผิดชอบอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ตลอดจนออกแถลงการณ์ขอโทษอย่างเป็นทางการ
“ผลกระทบที่เกิดขึ้น เราก็คาดไม่ถึงเหมือนกัน คือไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นหรอกครับ เพราะฉะนั้นเราว่าจะรับผิดชอบกับเหตุการณ์อย่างเต็มที่” พรศิลป์กล่าวทิ้งท้าย
..........
แม้ เติมชัย บุญนาค ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ ปตท.จะยืนยันว่าความขัดข้องทางเทคนิคจากแหล่งก๊าซยาดานาไม่เกี่ยวกับเรื่องการเมือง แต่ก็มีกระแสข่าวว่างานนี้อาจเป็นเพราะพม่าไม่พอใจท่าทีรัฐบาลไทยเรื่องนางอองซาน ซูจี จะจริงหรือไม่ ไม่มีใครรู้
แต่ก็ดังที่กล่าวไว้ในตอนต้น หากประเทศไทยยังเที่ยวเอาอนาคตด้านพลังงานไปวางไว้ในมือเพื่อนบ้านรอบๆ บวกกับการวางแผนพลังงานที่ขาดการมีส่วนร่วม งุบงิบทำกันเอง และเต็มไปด้วยผลประโยชน์มหาศาลทั้งที่ทับซ้อนและไม่ทับซ้อน แล้วเราจะหวังอะไรได้กับความมั่นคงด้านพลังงานในอนาคต
หรือเราต้องยอมให้มีผู้เสียสละแบบชาวบ้านท้ายเขื่อนศรีนครินทร์ต่อไป...ไม่มีวันสิ้นสุด
*********
เรื่อง-ทีมข่าว CLICK
ภาพ-ธัชกร กิจไชยภณ