xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.โบ้ยกฟผ.น้ำท่วมกาญจน์หึ่งพม่าปิดก๊าซ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- ปตท.-กฟผ.ควงแขนแจงกรณีปล่อยน้ำท่วมที่จ.กาญจนบุรีโบ้ยกันไปมา ยอมรับผิดเหตุต้องเลือกผลิตไฟสกัดไฟดับวงกว้างซึ่งกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ยันก๊าซฯหยุดส่งฉุกเฉินไม่สามารถแจ้งเตือนได้ล่วงหน้า แถมไม่เกี่ยวปัญหาการเมืองขณะที่วงในชี้ปัญหาการเมืองระหว่างประเทศหลังคดีซูจีน่าสงสัยพม่าเคืองไทย

วานนี้(17ส.ค.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.),ร่วมกับบมจ.ปตท.จำกัด(มหาชน) และผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรีได้เปิดแถลงข่าวชี้แจงกรณีการปล่อยน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์จนส่งผลกระทบปริมาณน้ำท่วมสูงในหลายพื้นที่จ.กาญจนบุรี

นายเติมชัย บุญนาค ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่วางแผน บมจ.ปตท. กล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุสุดวิสัยที่เกิดขึ้นพร้อมกัน 3 เหตุการณ์คือแหล่งก๊าซ A-18 พื้นที่พัฒนาร่วมไทยมาเลเซียหรือเจดีเอ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันซึ่งหยุดซ่อมบำรุงตามปกติ ตั้งแต่วันที่ 9 – 19 สิงหาคม 2552 จึงทำให้ปริมาณก๊าซฯ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ลดลงจากปกติและจะสามารถกลับเข้าสู่การผลิตปกติได้ในวันที่ 19 สิงหาคมนี้

ต่อมาวันที่ 13 ส.ค.ปรากฏว่ามีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดคือท่อก๊าซจากแหล่งบงกชในอ่าวไทยเกิดรั่วทำให้ต้องหยุดซ่อมชั่วคราวก๊าซธรรมชาติหายไป 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันแต่เช้าวันที่ 17 ส.ค.ได้ผลิตตามแปกติแล้ว และหลังจากนั้นเช้าวันที่ 15 ส.ค.ก๊าซจากแหล่งยาดานา พม่า เกิดการหยุดส่งก๊าซฯฉุกเฉินเพราะระบบส่งตัดการจ่ายก๊าซฯแบบกระทันหันหรือ Emergency Shutdownส่วนนี้เป็นระบบเทคนิคคล้ายเซฟทีคัท

“ ยาดานานั้นมีการหยุดส่งก๊าซไประยะหนึ่งพอช่วงเย็นเครื่องก็กลับมารีสตาร์ทใหม่ หลังจากนั้นทุกอย่างก็ปกติซึ่งก๊าซฯส่วนนี้หายไป 600 ล้านลบ.ฟุตต่อวันแต่ปริมาณก๊าซยังคงค้างท่ออยู่ระดับหนึ่งและเหตุการนี้ไม่เกี่ยวกับการเมืองอะไร”นายเติมชัยกล่าว

**ปตท.โบ้ย กฟผ.

นายเพิ่มศักดิ์ ชีวาวัฒนานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติบมจ.ปตท. กล่าวว่า ปริมาณก๊าซฯที่หายไปในช่วงที่แหล่งผลิตก๊าซฯมีปัญหาคิดเป็น 500 ล้านลบ.ฟุต/วัน ซึ่งปตท.ก็แบคอัพในส่วนก๊าซฯที่หายไปด้วยน้ำมันเตา ซึ่งเป็นไปตามปกติ โดยยืนยันว่าไม่มีผลทำให้โรงไฟฟ้าหยุดชะงักส่วนการสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าชนิดใดนั้นเป็นหน้าที่ของกฟผ.ที่จะต้องบริหาร โดยเลือกเดินโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำสุด โดยส่งผลกระทบต่อประชาชนให้น้อยที่สุด

นายสมบัติ ศานติจารี ผู้ว่ากฟผ.กล่าวยอมรับผิดและขอโทษกับชาวจังหวัดกาญจนบุรี ว่า เหตุการณ์ทั้งหมดเป็นเหตุสุดวิสัยเนื่องจากมีปัญหาจากระบบส่งก๊าซฯจากปตท.โดยกรณีแรกที่เจดีเอเป็นเหตุการณ์ที่ทำแผนรองรับแล้วด้วยการหันไปเดินโรงไฟฟ้ากระบี่แทนที่จะนะซึ่งต้องหยุดจากการหยุดชัดดาวน์ซ่อมบำรุง แต่เหตุการณ์ฉุกเฉินเริ่มมีเข้ามาส่วนของบงกชกฟผ.จึงหันไปเดินเครื่อง แม่เมาะ โรงไฟฟ้าถ่านหินของเอกชน โรงไฟฟ้าน้ำพองและรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว เพิ่มเต็มที่ 24 ชั่วโมง อีกทั้งให้โรงไฟฟ้าพลังความร้อนราชบุรีและบางปะกงเดินเครื่องด้วยน้ำมันเตาแทน พร้อมทั้งเดินเครื่องจากเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนรัชชประภาร่วมด้วยเพื่อเพิ่มความมั่นคงและรักษาระบบไฟฟ้าของประเทศไม่ให้เกิดไฟฟ้าดับ

อย่างไรก็ตามมีเหตุการณ์ที่ฉุกเฉินกว่านั้นเมื่อแหล่งยาดานาเกิดการชัดดาวน์ฉุกเฉินทำให้กฟผ.ต้องตัดสินใจเดินกำลังผลิตที่เขื่อนศรีนครินทร์จากปกติเดินอยู่ 3 ตัวเป็น 5 ตัวในช่วง 9 โมงเช้าของวันที่ 15 ส.ค.จนถึง 4 ทุ่มวันดังกล่าวแล้วจึงค่อยหยุดเดินเครื่องเพื่อลดระดับน้ำในช่วงตี 1 โดยยืนยันว่าเขื่อนไม่ได้เป็นปัญหาแต่อย่างใด

“ รวมๆ แล้วไฟฟ้าที่เราได้พยายามรักษาระดับเพื่อให้เกิดความมั่นคง 10,000 เมกะวัตต์และเหตุการณ์สุดท้ายนั้นเป็นแบบฉุกเฉินเราได้ตัดสินใจรักษาความมั่นคงระบบไฟฟ้าก่อนจึงไม่สามารถแจ้งเตือนได้ล่วงหน้าตามเหตุการณ์ปกติแต่หลังจากปล่อยน้ำก็ได้แจ้งเตือนไปยังจังหวัดทันที ซึ่งกฟผ.พร้อมที่จะรับผิดชอบค่าเสียหายทั้งหมด”นายสมบัติกล่าว

**ยอมรับส่งผลกระทบค่าไฟ

นายวิรัช กาญจนพิบูลย์ รองผู้ว่าการกิจการสังคมและสิ่งแวดล้อม ในฐานะโฆษกกฟผ.กล่าวยอมรับว่า ปริมาณก๊าซฯที่หายไปค่อนข้างกระทบต่อปริมาณไฟฟ้าที่จะต้องดับในวงกว้างซึ่งปกติแล้วจะเลือกตัดสินใจผลิตไฟจากสิ่งที่มีก่อนมาตรการสุดท้ายหากไม่ไหวจริงจึงจะแจ้งไปยับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการไฟฟ้านครหลวงในการเลือกพื้นที่ที่จะดับไฟโดยเหตุการณ์ครั้งนี้ยอมรับว่าจะมีผลต่ออัตราค่าไฟฟ้าให้สูงขึ้นได้

“ การเลือกเดินเครื่องพลังงานน้ำเพราะทำได้ทันทีแต่โรงไฟฟ้าอื่นๆ จะต้องรอเวลา 1-2 วันจึงจะพร้อม ซึ่งกฟผ.ได้ทำเต็มที่แล้วเพราะการเลือกดับไฟจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจมาก”นายวิรัชกล่าว

นายเริงชัย มหาวินิจฉัยมนตรี ผู้ว่าราชการจ.กาญจนบุรี กล่าวว่า ขณะนี้กำลังเร่งตรวจสอบความเสียหายยังไม่สามารถประเมินเป็นตัวเลขได้ โดยเบื้องต้นพบว่ามีรีสอร์ทที่ได้รับผลกระทบ 2-3 แห่ง รวมถึงชุมชนตำบลหนองบัวที่มีบ้านบางหลังโดนน้ำท่วม ซึ่งเหตุการณ์นี้พอจังหวัดได้รับทราบแบบฉุกเฉินก็แจ้งเตือนแต่อาจจะไม่ทันในบางจุดเพราะเป็นเหตุฉุกเฉินจริงๆ

**ไทยพึ่งก๊าซฯ ผลิตไฟมากไป

นายเทียนไชย จงพีร์เพียร นักวิชาการด้านพลังงาน กล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าระบบผลิตไฟฟ้าของไทยพึ่งพิงก๊าซฯมากเกินไปโดยปัจจุบันพึ่งพิงถึง 70 กว่า % ส่งผลให้หากเกิดปัญหาติดขัดทางเทคนิคของระบบท่อก๊าซฯจะมีปัญหาทันทีและเข้าใจว่ากฟผ.ต้องตัดสินใจอย่างกะทันหันในทางเลือกที่จะรักษาระดับไฟฟ้าให้ได้ซึ่งพลังงานน้ำจะเป็นทางเลือกที่เร็วสุด

“ ระยะยาวแล้วหากไทยยังคงไม่หยุดที่จะพึ่งพิงก๊าซฯหากเกิดปัญหากับระบบท่อจะมีปัญหาไฟดับในวงกว้างเราพูดกันหลายครั้งแล้ว ซึ่งทางเลือกไทยมีน้อยเพราะประชาชนต่อต้านทั้งที่ไฟจากก๊าซฯไม่ใช่เป็นระบบความมั่นคงพลังงานที่ดีแต่ควรมองคือ ถ่านหิน และนิวเคลียร์ประกอบด้วย”นายเทียนไชยกล่าว

**ชี้เหตุเกิดหลังคดีซูจีน่าสงสัย

แหล่งข่าวจากวงการพลังงาน กล่าวว่า เหตุการณ์ที่ปตท.ไม่สามารถจัดส่งก๊าซพร้อมกันในหลายจุดดังที่อ้างนั้นน่าสังเกตุในส่วนของแหล่งก๊าชที่อยู่ในประเทศพม่าว่า เกิดขึ้นหลังจากการพิจารณาคดีของอองซาน ซูจีเมื่อวันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา และไทยก็มีบทบาทพอสมควรในการประณามพฤติกรรมของรัฐบาลทหารพม่าอย่างรุนแรงในเวลาต่อมา จึงเป็นธรรมดาที่มีหลายฝ่ายพุ่งเป้าและคิดถึงความเป็นไปได้ไปที่ปัญหาการเมืองระหว่างประเทศที่เป็นที่มาของปัญหาแหล่งก๊าซในพม่า ซึ่งในอดีตที่เคยมีปัญหาเกิดขึ้นในลักษณะนี้มาแล้ว เพียงแต่ฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่สามารถกล่าวถึงเหตุผลตรงนี้ได้เนื่องจากเกรงกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

“พม่าอาจจะเคืองไทยที่จุ้นจ้านเรื่องของซูจีจึงปิดก๊าซทำให้เกิดปัญหาการผลิตไฟฟ้าในไทย ซึ่งที่ผ่านมาก็เคยมีลักษณะอย่างนี้เกิดขึ้น เป็นปัญหาการเมืองระหว่างประเทศที่ส่งผลต่อธุรกิจพลังงานของไทย”
กำลังโหลดความคิดเห็น