xs
xsm
sm
md
lg

"กฟผ.-ปตท." แจงต้นเหตุปล่อยน้ำท่วมเมืองกาญจน์ ยันไม่ใช่เขื่อนแตก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"กฟผ.-ปตท." แจงเหตุน้ำท่วมท้ายเขื่อนศรีนครินทร์ ไม่ใช่เขื่อนแตก ยันเหตุการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว พร้อมระบุต้นเหตุที่แท้จริง เพราะเป็นแผนฉุกเฉิน ต้องปล่อยน้ำเพื่อเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเต็มกำลัง หลังระบบส่งก๊าซจากพม่าขัดข้อง และขออภัยประชาชนที่ทำให้เดือดร้อน-ตื่นตระหนก

นายสมบัติ ศานติจารี ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวถึงกระแสข่าวการปล่อยน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ของ กฟผ. เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2552 ที่ผ่านมา โดยชี้แจงว่า เกิดจากปัญหาการขัดข้องในระบบการส่งก๊าซธรรมชาติจากแหล่งยาดานาในสหภาพพม่า โดยก่อนหน้านี้ในวันที่ 13 สิงหาคม 2552 เกิดปัญหาการขัดข้องในระบบส่งก๊าซธรรมชาติ จากแหล่งบงกชในอ่าวไทย ขณะที่ก๊าซจากแหล่งเจดีเอ มีการปิดซ่อมบำรุงตามปกติ จึงทำให้ก๊าซฯ หายไปจากระบบเป็นจำนวนมาก เฉพาะก๊าซในอ่าวไทย รวม 1,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในขณะที่เมื่อเกิดปัญหาฉุกเฉินจากแหล่งยาดานา ทาง กฟผ.จึงมีความจำเป็นต้องผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี เต็มกำลังผลิต 720 เมกะวัตต์ จากปกติเดินเครื่องเพียงครึ่งเดียว เพื่อรักษาระบบผลิตไฟฟ้าของประเทศไม่ให้เกิดไฟฟ้าดับในวงกว้าง

นอกจากนี้ กฟผ.ยังได้ปรับแผนการเดินเครื่องในช่วง 2 วันที่ผ่านมา โดยเพิ่มการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าอื่น ๆ ขึ้นเต็มที่ ได้แก่ โรงไฟฟ้าแม่เมาะ โรงไฟฟ้าถ่านหินของเอกชน โรงไฟฟ้าน้ำพองแ ละรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว เพิ่มเต็มที่ 24 ชั่วโมง อีกทั้งให้โรงไฟฟ้าพลังความร้อนราชบุรีและบางปะกงเดินเครื่องด้วยน้ำมันเตาแทน พร้อมทั้งเดินเครื่องจากเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนรัชชประภาร่วมด้วย เพื่อเพิ่มความมั่นคงและรักษาระบบไฟฟ้าของประเทศไม่ให้เกิดไฟฟ้าดับ

สำหรับเหตุการณ์ขัดข้องดังกล่าว ทาง ปตท. ได้แก้ไขโดยสามารถทยอยจ่ายก๊าซฯ จากแหล่งยาดานา กลับเข้าสู่ระบบตั้งแต่คืนวันที่ 15 สิงหาคม 2552 ที่ผ่านมา และเพิ่มการผลิตก๊าซฯ จากแหล่งในอ่าวไทย กฟผ.จึงได้หยุดเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเขื่อนศรีนครินทร์ ซึ่งทำให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้วในขณะนี้

อย่างไรก็ตาม กฟผ.ได้มีการประสานงานกับหน่วยราชการจังหวัดกาญจนบุรีอย่างใกล้ชิด เพื่อเข้าช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้นโดยเร่งด่วน ตลอดจนให้มีการสำรวจและประเมินความเสียหายต่างๆ ตลอดลำน้ำ ซึ่งประชาชนสามารถแจ้งความเสียหายเพื่อขอรับความช่วยเหลือที่จังหวัดกาญจนบุรีและเขื่อนศรีนครินทร์

“กฟผ. ขอแสดงความเสียใจและขออภัยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และพร้อมจะเข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ พร้อมทั้งยืนยันว่าเขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนอื่น ๆ ของ กฟผ.มีความมั่นคงแข็งแรงและปลอดภัย ไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวตามที่เป็นข่าวลือแต่ประการใด”

นายเริงศักดิ์ มหาวินิจฉัยมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า การตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของเขื่อนได้มีการตรวจสอบตามหลักวิชาการ โดยเจ้าหน้าที่ กฟผ.ตรวจสอบความมั่นคงทุก 2 ปี และมีการว่าจ้างองค์กรภายตรวจสอบทุก 5 ปี ซึ่งนักวิชาการที่เข้าไปทดสอบได้ยืนยันความแข็งแรงทางธรณีวิทยา และแม้จะมีรอยเลื่อนแผ่นดินไหวอยู่ใกล้เขื่อน แต่ก็พบว่าเป็นรอยเลื่อนนับหมื่นปี ไม่มีพลังที่จะเข้ามาสร้างปัญหา จึงต้องย้ำว่าเขื่อนในจังหวัดปลอดภัยที่สุดในโลก โอกาสที่เขื่อนจะแตก จะเหมือนกับผู้ถูกรางวัลที 1 ติอต่อกัน 3 ครั้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากมาก จึงขอให้ประชาชนในพื้นที่วางใจ อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดความมั่นใจในพื้นที่ได้อยู่ในระหว่างการก่อสร้างหอกระจายเสียงเตือนภัย โดยจะมีการสร้าง 7 แห่ง และจะมีการซ้อมอพยพเพื่อความไม่ประมาท

“ขอยืนยันว่า เขื่อนในเมืองกาญจน์ปลอดภัย มั่นคง ไม่มีผลกระทบต่อชาวบ้าน และขอให้นักท่องเที่ยวมั่นใจ โดยเหตุการณ์น้ำท่วมจากการปล่อยน้ำในเขื่อนเป็นเหตุฉุกเฉินเพื่อการผลิตไฟฟ้าเท่านั้น และความเสียหายก็อยู่ในวงจำกัด”

นายเติมชัย บุนนาค ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่วางแผน บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ก๊าซที่ขัดข้องเป็นเรื่องฉุกเฉิน แต่ทางผู้ผลิตได้เร่งแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะต้องมีการใช้น้ำมันเตามาผลิตไฟฟ้าทำให้ต้นทุนแพงขึ้น ทางหน่วยใดต้องรับผิดชอบด้วยนั้น ก็คงจะต้องเข้าไปดูตามสัญญาการซื้อ-ขายต่อไป

นายทวารัฐ สูตะบุตร โฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดเหตุฉุกเฉินด้านความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศไทยถึง 3 เหตุการณ์ซ้อน โดยกระทรวงพลังงานได้ดำเนินการแก้ไขอย่างเต็มที่ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง

"ยอมรับว่า กรณีการปล่อยน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ ถือเป็นเรื่องฉุกเฉินกะทันหัน ซึ่ง นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้สั่งการให้มีการชดเชยค่าเสียหายที่เกิดขึ้น โดยจะร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ในการสำรวจและประเมินผลกระทบและหาข้อสรุปโดยเร็ว"

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานต้องขอโทษชาวจังหวัดกาญจนบุรี ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ อันเป็นการเสียสละของชาวจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อรักษาความมั่นคงด้านระบบไฟฟ้าของประเทศเอาไว้
กำลังโหลดความคิดเห็น