เผยไฟใต้ 4 ปี เกิดเหตุ 9 พันกว่าครั้ง สังเวย 2,757 ชีวิต เด็กอายุไม่ถึง 15 เป็นเหยื่อเฉียด 60 ศพ กำพร้าเกือบ 2 พันคน สสส.-ม.ฮัมบูร์ก-มอ. ปัตตานี เปิดนิทรรศการ “ภาพสะท้อนในใจฉัน” รูปวาดจากใจเด็กพบสื่อความตาย รุนแรง ประสบการณ์จริง แม่ถูกฆ่า คนหิ้วหัว นักวิจัยชี้-จิตแพทย์ระบุเด็กวาดภาพเหมือนเด็กที่อิรัก บ่งบอกเด็กสับสน หวาดกลัว หวั่นผ้าขาว ตกเป็นเครื่องมือโจร ขณะที่เด็กใต้ดีใจได้เป็นตัวแทนบอก “รักในหลวง รักประเทศไทย” ผ่านรูปภาพ
วานนี้ (4 เม.ย.) ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวในงานแถลง “ภาพสะท้อนในใจฉัน” พร้อมเปิดนิทรรศการภาพวาดของเด็กใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวม 100 ภาพ จัดแสดงที่ลานกิจกรรม ของสสส. ชั้นที่ 35 อาคาร เอส เอ็ม ทาวเวอร์ ตั้งแต่วันที่ 4 -11 เมษายนนี้ ว่า ศูนย์ประสานงานวิชาการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ (ศวชต.) ร่วมกับ สสส. สำรวจข้อมูลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และสงขลา ซึ่งเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงพบเสียงปืนและระเบิดดังขึ้นไม่เว้นวันตลอด 4 ปี ตั้งแต่ 4 มกราคม 2547 – 31 ธันวาคม 2550 มีเหตุความรุนแรงเกิดขึ้น 9,379 ครั้ง เป็นเหตุการณ์ที่มีผู้ได้รับผลกระทบ 5,253 ครั้ง จำนวน 9,868 คน ไม่นับรวม อุบัติเหตุ เรื่องส่วนตัว การตรวจค้น จับกุมผู้ต้องสงสัย
น.พ.สุภกร กล่าวต่อว่า จังหวัดที่มีผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ นราธิวาส 4,251 คน รองลงมาคือยะลา 2,668 คน ปัตตานี 2,381 คน และ สงขลา 568 คน มีผู้บาดเจ็บ 5,404 คน เสียชีวิต 2,757 คน ทรัพย์สินเสียหาย 1,707 คน กลุ่มผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ 8,161 คน เป็นชาย 6,919 คน หญิง 1,242 คน ในจำนวนนี้มีเด็กอายุ 15 ปี หรือต่ำกว่า จำนวน 318 คน เสียชีวิต 57 คน บาดเจ็บ 261 คน ซ้ำร้ายมีเด็ก 51 คน อยู่ในเหตุการณ์ตอนที่พ่อหรือแม่ถูกทำร้ายด้วย เหตุความรุนแรงยังทำให้เด็กอีก 1,748 คน ต้องกลายเป็นเด็กกำพร้า และมีหญิงหม้ายเพิ่มขึ้นอีก 1,037 คน
“เด็กเหล่านี้อยู่ในภาวะที่สังคมจะเพิกเฉยไม่ได้ หรือปล่อยให้เติบโตไปกับความรุนแรง ที่ยิ่งลุกลามบานปลาย ข้อมูลที่ปัตตานีพบ ร้อยละ 84.5 ของผู้ประสบเหตุคือเพศชาย ซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัว สมาชิกที่เหลือไม่ว่าจะเป็นภรรยาหรือลูก ย่อมเผชิญวิกฤติอย่างอ้างว้าง หวาดกลัว เด็กบางคนมีสภาพจิตผิดปกติ นิ่งเงียบ พูดน้อย หวาดระแวง เก็บตัว ไม่อยากพบเจอผู้คน กลายเป็นเด็กสมาธิสั้น ในรายที่เพิ่งเจอเหตุการณ์ จะร้องไห้ฟูมฟาย พร่ำพูดแต่สิ่งที่พบ ครอบครัวต้องมีภาระเพิ่มในการดูแล แม้แต่แม่ที่ตั้งครรภ์ขณะสามีเสียชีวิตจากเหตุการณ์ ลูกที่คลอดมา ก็มีภาวะจิตผิดปกติ มีพัฒนาการช้ากว่าเด็กทั่วไป”น.พ.สุภกร กล่าว
น.พ.สุภกร กล่าวอีกว่า สสส. จึงได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จัดแสดงนิทรรศการ “ภาพวาดในใจฉัน” เพื่อสะท้อนว่าเหตุความรุนแรง ฝากร่องรอยอะไรไว้ในหัวใจของเด็กๆบ้าง ผ่าน 100 ภาพ ของนักเรียน นักศึกษาใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยข้อมูลทั้งหมด จะส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ปัญหาร่วมกันบนยุทธศาสตร์สร้างความไว้วางใจ ที่มุ่งสมานฉันท์ และ สสส. ได้สนับสนุนโครงการพัฒนาองค์กรเยาวชน ด้าน ดนตรี กีฬา ศิลปะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี ดร.รุ่ง แก้วแดง เป็นผู้ดูแลโครงการ ประสานกับ 14 อบต. และศูนย์การศึกษาพิเศษ จัดกิจกรรมให้เยาวชนพุทธและอิสลามทำร่วมกันด้วย
ด้านนายสเตฟเฟน รูฮอลล์ (Steffen Ruholl) นักศึกษาปริญญาเอกด้านมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมันนี ในฐานะอาจารย์พิเศษ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เจ้าของงานวิจัยภาพวาดของเด็กในพื้นที่ที่มีเหตุการณ์รุนแรง และ กล่าวว่า ตนสนใจการศึกษาความสัมพันธ์ของคนแตกต่างเชื้อชาติกันแต่อาศัยอยู่ในประเทศเดียวกัน ซึ่งจากประสบการณ์ลงพื้นที่ 6 ปี ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ได้เห็นความรุนแรงต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดกับเด็กๆ พวกเขาเต็มไปด้วยความหวาดกลัว ไม่ไว้วางใจสังคม ถูกห้ามพูด จึงต้องทดลองใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือสื่อสาร จึงได้ลงพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล สงขลา สุราษฎร์ธานี และกระบี่ เพื่อขอความร่วมมือจากสถาบันการศึกษาตั้งแต่ระดับประถมไปจนถึงมหาวิทยาลัย จำนวน 40 แห่ง ให้เด็กนักเรียนวาดภาพภายใต้โจทย์ “ชีวิตใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้” ได้ภาพวาดจำนวน 1,000 ภาพ โดยแต่ละภาพสะท้อนความชอกช้ำทางใจในภาวะสงคราม
นายสเตฟเฟน กล่าวว่า ภาพวาดเหล่านี้ สะท้อนความรู้สึก วิกฤติสภาพจิตใจของเยาวชนใน 3 จังหวัด ซึ่งไม่ต่างจากงานวิจัยลักษณะเดียวกันที่ทำกับเด็กๆในประเทศสงครามอย่าง ซูดาน ฉนวนกาซา อิรัก เลย ภาพวาดที่ได้ส่วนใหญ่เป็นภาพเกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับตัวเอง คนในครอบครัว หรือคนใกล้ชิด ที่สำคัญแสดงให้เห็นว่าแม้แต่คนไทยพุทธ หรือไทยมุสลิม ก็ประสบปัญหความรุนแรงเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายภาพที่สะท้อนให้เห็นถึงความหวัง ความต้องการให้เกิดความสันติสุข ความสงบในพื้นที่โดยวาดภาพวัด กับมัสยิด หรือคนไทยพุทธกับคนไทยมุสลิมอยู่ด้วยกันได้ภายใต้ธงชาติไทยผืนเดียวกัน
“งานศิลปะสะท้อนการปลดปล่อยความรู้สึกของเด็ก ผมอยากให้คนไทยทั่วประเทศได้เห็นภาพวาดเหล่านี้ เพื่อตระหนักว่า นี่คือปัญหาใหญ่ระดับโลก เด็กไทยกำลังเผชิญวิกฤติทางจิตใจที่ต้องได้รับการเยียวยาเร่งด่วนก่อนที่จะกลายเป็นระเบิดเวลาทำลายอนาคตพวกเขาอย่างยับเยิน”นายสเตฟเฟน กล่าว
พญ.พรรณพิมล หล่อตระกูล ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กล่าวว่า ภาพที่เด็กวาดแสดงให้เห็นว่า เด็กรับรู้สถานการณ์รุนแรงในพื้นที่ และบ่งบอกว่าพวกเขามีทั้งความหวาดกลัว ความรุนแรง ความสงบสุข หากไม่สื่อสารในสิ่งที่ถูกต้องกับพวกเขา เด็กที่จะเป็นอนาคตของชาติ จะจมอยู่กับความคิดของตนเอง บางส่วนอาจหมดกำลังใจ ท้อแท้ หรือลงเอยด้วยการใช้ความรุนแรง และอาจตกเป็นเครื่องมือของผู้ไม่หวังดีกับประเทศ
นายอาลิฟ อูมาร์ อายุ 18 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า การวาดภาพคือการสะท้อน อารมณ์ ความนึกคิด ของเด็กๆ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้อย่างดี เพราะไม่ค่อยได้แสดงออก หรือพูดคุยกับใครมากนัก เนื่องจากพวกเราได้รับการปฏิบัติ และถูกมองว่าเป็นพวกโจร เพียงเพราะหน้าตาเป็นคนมุสลิม และอยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ จึงดีใจที่มีโอกาสสื่อความรู้สึก ความเป็นอยู่ ของคนในพื้นที่ ให้คนต่างพื้นที่ได้รู้ผ่านภาพวาด
“ภาพที่ผมวาดเป็นรูปเรือประมงที่มีธงชาติไทยติดอยู่ เพราะผมอยากบอกว่า ชาวมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดน ทุกคนเป็นคนไทย รักประเทศ และรักในหลวง เหมือนกับทุกๆ คน ถ้าขอพรแล้วเป็นจริงได้ ผมอยากขอให้ย้อนเวลากลับไป ในวันที่ไม่มีเหตุความรุนแรง ไม่ต้องได้ยินเสียงปืน ไม่ต้องนั่งกินข้าวอยู่ แล้วระเบิดก็ดังใกล้ๆบ้าน และมีชีวิตที่ถูกจ้องมองตลอดเวลา ทั้งจากเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้ก่อการร้าย ออกจากบ้านไม่กี่ก้าว ขับรถไม่ถึงครึ่งกิโล ก็ถูกตรวจค้น แบบทุกวันนี้”นายอาลิฟ กล่าว
น.ส.กิ่งอ้อ เล่าฮง ผู้สื่อข่าวสถาบันข่าวอิศรา ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ กล่าวว่า จากประสบการณ์การลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดใต้ พบว่าขณะนี้คนในพื้นที่ทั้งเจ้าหน้าที่ภาครัฐ และชาวบ้านต่างอยู่ด้วยความหวาดระแวง ไม่ไว้ใจกันและกัน ซึ่งกลุ่มผู้ก่อความรุนแรงมักใช้กลุ่มวัยรุ่นเป็นผู้ลงมือก่อเหตุ เพราะสามารถชักจูงใจได้ง่าย โดยเฉพาะในกลุ่มที่ไม่ได้เรียนหนังสือ และว่างงาน เป็นเหยื่อของกลุ่มผลประโยชนืต่างๆ ทั้งน้ำการมันเถื่อน ยาเสพติด หรือการเมืองท้องถิ่น โดยเริ่มจากการถูกชักชวน ว่าจ้างด้วยเงินหรือยาเสพติด ส่วนงานก่อเหตุเริ่มจาก โรยตะปูเรือใบ เผาโรงเรียน วางระบิด งานเหล่านี้เป็นการทดลองเริ่มงานเท่านั้น ต่อมาจึงจะพัฒนาความรุนแรงขึ้น และมีบางส่วนเริ่มจะเข้าการอบรมลบล้างแนวคิด หรือการปลูกฝังกู้รัฐปัตตานี
“การแก้ปัญหาขณะนี้ยังไม่สาย แต่ต้องทำในเชิงรุก ต้องคลุกวงในจริงๆ ที่สำคัญเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าไปแก้ปัญหาจะต้องถอดเครื่องแบบออก ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงชุดทหาร ตำรวจที่ใส่อยู่ แต่เป็นถอดเครื่องแบบในจิตใจประชาชนทุกคนเท่าเทียมกัน แต่ต้องใช้เวลา ซึ่งรัฐบาลชุดนี้ ไม่อยากคาดหวัง เพราะแม้แต่นายกรับมนตรี หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ยังไม่ยอมลงพื้นที่เอง แล้วประชาชนคนอื่นจะรู้สึกอย่างไร 3 จังหวัดชายแดนใต้ก้ถือเป็นประเทศไทย นายกรัฐมนตรีก็ต้องให้ความสำคัญต้องดูแลเหมือนๆ กัน ถ้าให้เปรียบเทียบแล้วถือว่ารับบาลชุดก่อนยังดีเสียกว่า เพราะพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกฯ ยังลงพื้นที่ด้วยตนเอง และยังได่กล่าวแสดงความเสียใจ ขอโทษกับปัยหาที่เกิดขึ้น ทำให้คนในพื้นที่รู้สึกดี”น.ส.กิ่งอ้อกล่าว+
ทั้งนี้ ภาพวาดที่นำมาเสดง มีภาพความรุนแรง อาทิ ภาพคนหิ้วหัวคน ภาพระเบิดมีคนตาย ภาพพระถือปืน ภาพเปลวไฟเผาไหม้ทุกอย่าง ภาพวัด โรงเรียน ถูกเผา บางภาพมากจาประสบการณ์จริงของผู้วาด คือ ภาพงานศพของแม่ ขณะที่ภาพความสงบสุข จะมีรูปในหลวง และธงชาติอยู่ด้วยเกือบทุกภาพ