xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เตือนโจ๋เสพสี่คูณร้อยเสี่ยงมะเร็งเม็ดเลือดขาว-สมองพิการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จากผลสำรวจปลายปี 50 สธ.ชี้ยาบ้าระบาดหนัก แนวโน้มสูงขึ้น ส่วน 3 จังหวัดชายแดนใต้พบรุกหนักถึง 2 ใน 3 ของหมู่บ้าน นราธิวาสสูงสุด พร้อมเผยพบวัยรุ่นชายหญิงสูบสี่คูณร้อยผสมสารฟลูออเรสเซนต์ในหลอดไฟนีออนเสี่ยงเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว สมองพิการ เร่งมาตรการบำบัดฟื้นฟูในกลุ่มผู้สมัครใจตั้งเป้าให้ได้ 19,000 คน ในปี 2551

นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของยาเสพติดและมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขในการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดสารเสพติด ว่า จากการประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของยาเสพติดในปีนี้ มีแนวโน้มการแพร่ระบาดรุนแรงขึ้นใกล้เคียงกับปี 2546 หากไม่เร่งแก้ไขป้องกันอย่างทันท่วงที โดยระบุว่าปี 2550 ที่ผ่านมามีการจับกุมคดียาเสพติดทั่วประเทศ 119,778 คดี ซึ่งถือว่ามากที่สุดในรอบ 4 ปี และตัวยาที่แพร่ระบาดมากที่สุดได้แก่ ยาบ้า ร้อยละ 71 รองลงมาคือ กัญชา ร้อยละ 13 สารระเหย ร้อยละ 9 กระท่อมร้อยละ 3 และยาเสพติดที่ใช้ในสถานบันเทิง เช่น ยาไอซ์ เอ็กซ์ตาซี โคเคน เคตามีน ร้อยละ 2

รมว.สาธารณสุข กล่าวอีกว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือการระบาดหนักในหมู่บ้านพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งขณะนี้มีการแพร่ระบาดของยาเสพติดสูงมาก และเสพแบบมั่วสุมเป็นกลุ่มแต่เข้าสู่ระบบบำบัดน้อย จากการสำรวจหมู่บ้านล่าสุดในปลายปี 2550 ใน 3 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 290 หมู่บ้าน พบมีปัญหา 215 หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 75 หรือพบ 2 ใน 3 ของหมู่บ้าน ประกอบด้วยนราธิวาส 169 หมู่บ้าน ยะลา 54 หมู่บ้าน ปัตตานี 52 หมู่บ้าน มีผู้เสพ 1,900 คน มากที่สุดที่นราธิวาส 730 คน

ในปีนี้รัฐบาลได้เร่งรัดปราบปรามยาเสพติด กำหนดเป็นวาระแห่งชาติ เน้นบูรณาการทำงานของทุกหน่วยงาน เพื่อลดผู้เสพยาหน้าใหม่ไม่ให้เป็นเหยื่อของยาเสพติด ให้ชุมชนมีส่วนร่วมควบคู่ไปกับมาตรการปราบปรามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข เน้นการควบคุมตัวยาและสารตั้งต้นที่ใช้เป็นสารเสพติด การบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด และป้องกันกลุ่มเสี่ยงไม่ให้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด โดยในปี 2551 ตั้งเป้าบำบัดรักษาผู้เสพ และผู้ติดยาเสพติดแบบสมัครใจจำนวน 19,000 คน เฉพาะที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้คือที่ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ตั้งเป้าบำบัดให้ได้ 1,200 คน

“ขณะนี้ได้พัฒนาศักยภาพโรงพยาบาล สถานีอนามัย วัด และค่ายทหาร ให้บริการบำบัดฟื้นฟูผู้เสพสารเสพติดรวมกว่า 800 แห่งทั่วประเทศ ผู้เสพสามารถเข้ารับการบำบัดใกล้บ้านฟรี นอกจากนี้จะเน้นให้พื้นที่ต่างๆ ส่งเสริมให้เยาวชนเล่นกีฬา เพื่อเป็นการสร้างภูมิต้านทานยาเสพติด ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ รวมทั้งจัดทีมออกค้นหาผู้เสพและผู้ติดเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา โดยมี อสม.ออกไปดูแลถึงบ้านอีกด้วย” นายไชยากล่าว

นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขได้บำบัดฟื้นฟูผู้เสพสารเสพติดทั้งหมด 44,461 คน กว่าร้อยละ 70 เป็นผู้ใช้ยาบ้า มากที่สุดที่ภาคกลาง 14,892 คน รองลงมาคือกทม.8,583 คน ภาคเหนือ 8,206 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7,075 คน และภาคใต้ 5,705 คน เฉพาะที่ 3 จังหวัดใต้ มีผู้เข้ารับการบำบัด 1,325 คน ประกอบด้วยปัตตานี 432 คน นราธิวาส 462 คน และยะลา 431 คน สารเสพติดที่นิยมใช้ใน 3 จังหวัดใต้อันดับ 1 คือกระท่อมร้อยละ 50 รองลงมากัญชาและยาบ้า ผู้เสพติดร้อยละ 90 เป็นวัยรุ่นและเยาวชนชาย อายุ 15-24 ปี ที่เหลือเป็นวัยรุ่นหญิง ซึ่งครึ่งต่อครึ่งไม่ได้เรียนหนังสือ มีอาชีพรับจ้าง ร้อยละ 80 เป็นผู้เสพ อีกร้อยละ 20 เป็นผู้ติดยาเสพติด

ด้านนายแพทย์เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สารเสพติดที่มาแรงในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคใต้ ขณะนี้เป็นการใช้สารเสพติดแบบหลายชนิดร่วมกันที่เรียกว่า สี่คูณร้อย ใช้สารอันตรายหลายตัวผสมเช่น ยากันยุง ยาฆ่าหญ้ากรัมม็อกโซน สารพิษต่างๆและมีการทุบหลอดไฟนีออนแล้วขูดฟลูออเรสเซนต์ไปผสมเพราะเชื่อว่าทำให้รสชาติดีขึ้นและเพิ่มกำลังได้ดี ซึ่งเป็นเรื่องที่มีอันตรายมาก เสี่ยงเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia) สารเสพติดเหล่านี้ทำให้ผู้เสพมึนเมา ผลในระยะยาวมีความร้ายแรงมาก ทำให้เกิดปัญหาสมองพิการ ไม่สามารถทำงานตามปกติได้ เสียอนาคตอย่างถาวร และเกิดอาการทางจิตคือมีอาการประสาทหลอน หูแว่ว พูดคนเดียว ได้ร้อยละ 12-24 แม้ว่าจะหยุดเสพมาแล้ว 6 เดือนก็ตาม ซึ่งในที่สุดอาจถึงทำร้ายฆ่าตัวตายได้

ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาผู้ติดยาเสพติด ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สถาบันธัญรักษ์ กรม การแพทย์ ได้ดำเนินงานเชิงรุกสู่หมู่บ้านแบบเข้มข้น ทั้งการบำบัดและการป้องกันการหวนกลับไปติดสารเสพติดซ้ำ เน้นในกลุ่มเด็กและเยาวชน บำบัดในรูปแบบค่ายเยาวชน โดยได้จัดทำโครงการเยาวชนต้นกล้า บำบัดรักษายาเสพติด ใช้พลังกลุ่มเป็นแรงจูงใจปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้เสพและผู้ติดสารเสพติด ดำเนินการใน 3 จังหวัดชายแดนใต้และ 4 อำเภอของจ.สงขลา ติดต่อกันมาแล้ว 5 ปี ได้รับความร่วมมือจากครอบครัวเยาวชนเป็นอย่างดี มีเยาวชนเข้ารับการบำบัดแล้วกว่า 1,000 คน ขั้นตอนการบำบัดจะนำเยาวชนมาคัดกรอง แยกกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเสพ เพื่อให้การดูแลตามประเภทสารเสพติดที่ใช้ ส่วนกลุ่มติดยา จะส่งเข้าบำบัดรักษา ที่ศูนย์บำบัดยาเสพติดจังหวัดสงขลา และปัตตานี

สำหรับกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเสพยา จะส่งเข้ารับการบำบัดในรูปแบบค่ายเยาวชนต้นกล้า ที่ค่ายตำรวจตระเวนชายแดน ใน 4 จังหวัด ครั้งละประมาณ 50 คน เข้าค่ายเป็นเวลา 8 วัน 7 คืน พัฒนาศักยภาพอย่างครอบคลุม ทั้งในด้านเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ โดยให้เล่นกีฬาแทน พบได้ผลดี ในปี 2551 นี้บำบัดแล้ว 308 คน โดยเสพกระท่อมร้อยละ 60 กัญชาร้อยละ 35 และเฮโรอีนร้อยละ 5 ซึ่งร้อยละ 97 เป็นผู้เสพรายใหม่ อายุ 13-20 ปี ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนมัธยมต้น สามารถติดตามผลภายหลังผ่านการบำบัดได้ ร้อยละ 90 และพบว่าไม่กลับไปติดซ้ำอีก สูงถึงร้อยละ 85


กำลังโหลดความคิดเห็น