ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - วิฤตขาดแคลนแรงงานต่างด้าวไทยลามทั่วประเทศ รองประธาน ส.อ.ท.เซ็ง MOU ไทย-ลาวป้อนแรงงานลงใต้ไม่สำเร็จ หวั่นภาคอุตสาหกรรมเดือดร้อนหนักเหตุพึ่งแรงงานเถื่อนเหมือนธุรกิจอื่นไม่ได้ เผยรอบปีนี้เจ้าของธุรกิจภาคใต้ขอแรงงานต่างด้าวเพิ่มอีกร่วม 30,000 คน ชี้ทางออกระยะยาวดิ้นล้างค่านิยมแห่เรียน ป.ตรีไม่ตรงความต้องการของตลาด หนุนเยาวชนรุ่นใหม่เข้าสายอาชีวะการันตี 99% มีงานทำ ด้าน ปธ.สภาอุตสาหกรรมยะลาเผย 3 จชต.ธุรกิจง่อนแง่น จี้รัฐผ่อนปรนลดค่าใช้จ่าย 50% ผลักแรงงานเถื่อนเข้าระบบและตั้งกองทุนทดแทนค่าประกันสังคมลูกจ้าง-ผู้ประกอบการจูงใจแรงงานนอกพื้นที่เสริมกำลัง
จังหวัดสงขลา มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 27 ของประเทศและใหญ่เป็นอันดับ 3 ของภาคใต้ รองจาก จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.นครศรีธรรมราช ที่มีความต้องการแรงงานต่างด้าวสูง ด้วยมีความสำคัญฐานะเป็นเมืองหลักของภาคใต้ตอนล่างและเป็นเมืองชายแดนในพื้นที่เศรษฐกิจ 3 ฝ่าย IMT-GT แต่ภาคธุรกิจกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานระดับล่าง โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม ซึ่งต้องการแรงงานฝ่ายผลิต ขณะที่แรงงานในพื้นที่ในวัยหนุ่มสาวซึ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีส่วนใหญ่ไม่ต้องการทำงานด้านนี้
นายทวี ปิยะวัฒนา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ซึ่งดูแลเศรษฐกิจของภาคใต้ เปิดเผยถึงเรื่องนี้ว่า โดยในรอบปี 2551 นี้ผู้ประกอบการได้ยื่นขอแรงงานต่างด้าวอย่างถูกต้องตามกฎหมายราว 30,000 คนแล้ว และเชื่อว่ายังคงมีการลอบใช้แรงงานต่างด้าวเถื่อนกันอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะในกิจการบางประเภทที่ยากต่อการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงไม่สามารถแสดงตัวเลขการขาดแคลนแรงงานที่แท้จริงได้
“ปัญหาขาดแคลนแรงงานทำให้เกิดการเสียโอกาสในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งมีเป็นจำนวนมากใน จ.สงขลา ส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อการส่งออกที่สร้างรายได้เข้าประเทศ โดยที่ไม่สามารถทดแทนด้วยแรงงานต่างด้าวเถื่อนได้เหมือนกิจการอื่นๆ เพราะผิดกฎของต่างประเทศที่ผู้ส่งออกต้องรักษามาตรฐานในทุกด้าน ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้ลงนามภายใต้บันทึกความเข้าใจ MOU ระหว่างไทย-สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อปี 2548 ซึ่งทำขึ้นเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตแรงงานใน 14 จังหวัดภาคใต้ โดยนำร่องใน จ.สงขลา และมีการส่งมอบแรงงานชุดแรกแก่บริษัทแปซิฟิกแปรรูปสัตว์น้ำ จำกัด และบริษัทโชติวัฒน์ แต่ก็เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในระยะสั้นเท่านั้น อีกทั้งไม่ได้รับผลตอบรับจากแรงงานชาวลาวเท่าที่ควร ขณะที่ในท้องถิ่นเองมีนักศึกษาจบใหม่ว่างงานโดยเฉพาะระดับปริญญาตรีแต่ไม่ประสงค์จะทำงานในโรงงานอีกเป็นจำนวนมาก” นายทวี กล่าว และว่า
ดังนั้น การแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมในระยะยาว นอกจากพึ่งพิงแรงงานต่างด้าวแล้ว ยังต้องให้ความสำคัญกับแรงงานในท้องถิ่นด้วย โดยต้องสร้างทัศนคติต่องานด้านผลิต และรณรงค์ให้เยาวชนในวัยศึกษาเลือกเรียนให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยเฉพาะสายอาชีวศึกษาระดับ ปวช.-ปวส. เพราะโรงงานอุตสาหกรรมมีความต้องการมาก จบมาแล้ว 99% มีงานทำ ค่าตอบแทนเริ่มต้นตั้งแต่ 7,000-8,000 บาท มีสวัสดิการด้านที่พัก การเดินทาง ประกันสังคม เป็นหลักประกันความมั่นคง และสามารถเติบโตในอาชีพเมื่อมีประสบการณ์สูง
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ปัญหาการขาดแคลนแรงงานทำให้เกิดขบวนการนำเข้าแรงงานต่างด้าวเถื่อนจากประเทศเพื่อนบ้านด้วยค่าหัวคิวสูงเป็นหลักหมื่นนั้น แม้จะเสี่ยงต่อการถูกจับกุมและชีวิตต้องอดทนต่อความเป็นอยู่ที่ต่ำกว่ามาตรฐานที่แรงงานในระบบได้รับ ทั้งสวัสดิการและค่าจ้าง แต่ค่าตอบแทนที่มากกว่าบ้านเกิดก็ยังเป็นแรงจูงใจสำคัญของการลักลอบเข้าเมือง
เกี่ยวกับเรื่องนี้ รองประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า ปรากฎการณ์ดังกล่าวสะท้อนถึงความต้องการแรงงานเป็นจำนวนมากของผู้ประกอบการเป็นอย่างดี ซึ่งมีผลเสียต่อตัวแรงงานหลบหนีเข้าเมืองเอง เพราะต้องจ่ายเงินให้นายหน้าแล้วยังต้องทำงานอย่างหลบซ่อนตัวอีก และเป็นภัยต่อประเทศที่ยากต่อการควบคุมและทราบถึงการเคลื่อนย้ายแรงงาน
ทั้งนี้ หากรัฐต้องการแก้ปัญหาทั้งระบบ ก็ต้องมีทั้งความเข้มงวดที่จะจับกุมแรงงานต่างด้าวเถื่อนอย่างจริงจัง และมีความยืดหยุ่นที่จะนำแรงงานเถื่อนเข้าสู่ระบบได้ง่ายขึ้น เช่น ลดค่าธรรมเนียม หรือหาวิธีอื่นที่เอื้อจะควบคุมแรงงาน ซึ่งในรัฐบาลชุดก่อนเคยตั้งศูนย์ดูแลแรงงานต่างด้าวในจังหวัดชายแดน เช่น ตราด เชียงราย ระนอง เพื่อทำทะเบียนประวัติประกอบรูปถ่าย พิมพ์ลายนิ้วมือเป็นหลักฐาน แล้วเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถนำแรงงานไปทำงานและส่งคืนศูนย์ในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งได้รับผลตอบรับจากผู้ประกอบการเข้าใช้บริการเป็นอย่างดี
ทั้งนี้ ในเศรษฐกิจไตรมาสแรกปี 2551 นั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ ได้รายงานถึงการชะลอตัวด้านการส่งออกของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นไปตามความต้องการและวัตถุดิบที่ขาดแคลน โดยเฉพาะในกลุ่มสัตว์น้ำแช่แข็งที่ลดลง 21.2% และอาหารบรรจุกระป๋องลดลงร้อยละ 15.4 ซึ่งปัญหาส่วนหนึ่งมาจากการขาดแคลนแรงงานต่างด้าวในภาคประมงรวมอยู่ด้วย อันจะเป็นอีกกลไกสำคัญหนึ่งที่ทำหน้าที่หาวัตถุดิบป้อนสู่โรงงานเหล่านั้น
ด้านนายฟุ้ง สุขเสรีทรัพย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดยะลา เปิดเผยว่า จากปัญหาความไม่สงบทำให้ธุรกิจในพื้นที่อยู่ในภาวะประคับประคองตัว การแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานของผู้ประกอบการขณะนี้ขึ้นอยู่กับยถากรรม เช่น ธุรกิจก่อสร้างที่ประมูลงานได้แต่ขาดแคลนแรงงานก็เสียโอกาสและเสียเครดิต ครั้นได้งานแล้วก็สร้างแทบไม่ทันกำหนด ต้องเร่งก่อนถึงวันส่งมอบงานป้องกันค่าปรับ โดยระดมลูกจ้างส่วนอื่นๆ แม้แต่เสมียนมาช่วย หรือหยิบยืมแรงงานจากนายจ้างอื่น
ส่วนในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมก็ดำเนินการผลิตเท่าที่จะหาแรงงานได้ ขณะที่ภาคเกษตรไม่ค่อยให้ความเชื่อมั่นต่อแรงงานต่างด้าวในความปลอดภัย ทำให้ทิ้งสวนไว้หรือดูแลเก็บเกี่ยวผลผลิตเท่าที่ทำได้เท่านั้น จึงไม่สามารถประเมินตัวเลขความต้องการที่แท้จริงได้ แต่ก็ประเมินได้ว่ามีความต้องการแรงงานอยู่ในระดับหลักหมื่น
“การแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ควรจะมีมาตรการสร้างแรงจูงใจต่อแรงงาน เพื่อขับเคลื่อนให้ธุรกิจในพื้นที่ได้ประคับประคองอยู่ต่อไป ด้วยการเปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าวเถื่อนเข้าสู่ระบบถูกต้องตามกฎหมายใน 2 มาตรการ คือ 1.ลดค่าใช้จ่ายในการนำแรงงานต่างด้าวขึ้นทะเบียน 50% ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการต้องจ่ายให้แรงงานไม่น้อยกว่า 3,500 บาทต่อคน และห้ามเคลื่อนย้ายไปพื้นที่อื่น 2.งดเก็บเงินสมทบกองทุนประกันสังคมของลูกจ้าง 5% และนายจ้างอีก 5% เพื่อต้องการดึงดูดคนจากภาคอื่นเข้ามาทำงาน ซึ่งรัฐอาจจะตั้งกองทุนเพื่อชดเชยในส่วนนี้เป็นกรณีพิเศษ” นายฟุ้ง กล่าว