ยันยาต้านไวรัสเอดส์ที่ทำซีแอล ส่งถึงโรงพยาบาลคู่สัญญา สปสช.เรียบร้อยแล้ว คาด ผู้ป่วยที่ยังไม่ได้รับยาเป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม เผย สปสช.สั่งนำเข้า “ยาเอฟฟาไวเรนซ์” กว่า 1.5 แสนขวด “ยาคาเรตต้า” กว่า 8 พันขวด ไม่มีปัญหา
วานนี้ (6 พ.ค.) ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นายวิรัตน์ ภู่ระหงษ์ ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย กล่าวภายหลังการประชุมอนุกรรมการพัฒนาระบบการให้บริการผู้ติดเชื้อเอชไอวี หรือผู้ป่วยเอดส์ ซึ่งมีนายจอน อึ๊งภากรณ์ เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมไม่ได้หารือในประเด็นที่มีผู้ออกมาร้องเรียนว่าผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือผู้ป่วยบัตรทองไม่ได้รับต้านไวรัสเอดส์สูตรผสมระหว่างโลพินาเวียร์ และริโทนาเวียร์ หรือ คาเรตต้า ทั้งที่เป็นยาชนิดที่รัฐบาลประกาศบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร หรือ ซีแอล แต่จะเลื่อนไปหารือในการประชุมประเมินการทำงานของเครือข่ายผู้ทำงานด้านเอดส์ ในวันที่ 26 -27 พ.ค.นี้แทน โดยจะเชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามาหารือแนวทางแก้ปัญหาการเข้ารับบริการและการรับยาต้านไวรัสเอดส์ของผู้ป่วย
นายวิรัตน์ กล่าวอีกว่า จากการหารือร่วมกันนอกรอบ เข้าใจว่า ผู้ที่ไม่ได้รับยาต้านไวรัสเอดส์ในสูตรดังกล่าวน่าจะเป็นผู้ป่วยในระบบประกันสังคม ซึ่งส่วนตัวยืนยันว่าสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้จ่ายยาต้านไวรัสเอดส์ที่ทำซีแอลทั้ง 2 ตัว คือ ยาต้านไวรัสเอดส์เอฟฟาไวเรนซ์ และยาต้านไวรัสเอดส์สูตรผสมระหว่างโลพินาเวียร์ และ ริโทนาเวียร์ ไปยังโรงพยาบาลที่เป็นคู่สัญญากับ สปสช.ทั่วประเทศเรียบร้อยแล้ว โดยตั้งแต่เดือน ต.ค.2550 สปสช.ได้สั่งนำเข้ายาเอฟฟาไวเรนซ์ ขนาด 600 มิลลิกรัม จำนวน 153,776 ขวด มูลค่าประมาณ 96 ล้านบาท และตั้งแต่เดือน ก.พ.2551 ได้สั่งนำเข้ายาต้านไวรัสเอดส์สูตรผสมระหว่างโลพินาเวียร์ และ ริโทนาเวียร์ จำนวน 8,610 ขวด มูลค่าประมาณ 21 ล้านบาท
“การที่ผู้ป่วยเอดส์ยังไม่ได้รับยาต้านไวรัสเอดส์ ไม่ได้เกิดจากปัญหาการไม่จ่ายยาไปยังโรงพยาบาล แต่เป็นเพราะจำนวนเครื่องตรวจปริมาณไวรัสเอดส์ในเลือด และเครื่องดักไวรัสดื้อยาในประเทศไทยมีจำนวนน้อย เพียงไม่กี่เครื่องเท่านั้น รวมถึงผู้เชี่ยวชาญในการแปลผลเครื่องมือตรวจมีจำนวนน้อย ที่สำคัญแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่จะให้คำปรึกษาในการเปลี่ยนสูตรยามีจำนวนน้อย แต่ต้องให้คำปรึกษาผู้ป่วยจำนวนมาก จึงอาจให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยแต่ละรายล่าช้าไปบ้าง ซึ่งหากจะแก้ปัญหาเหล่านี้ สปสช.ไม่ควรจัดสรรเพียงแค่งบประมาณสำหรับจัดซื้อเครื่องมือเท่านั้น แต่ต้องส่งเสริมสนับสนุนในการพัฒนาบุคลากรด้วย” นายวิรัตน์ กล่าว
อนึ่ง ข้อมูลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบุว่า ในปีงบประมาณ 2550 มีผู้ติดเชื้อที่รับยาต้านไวรัสเอดส์ทั้งสิ้น 79,185 ราย ในจำนวนนี้ 95% รับยาสูตรพื้นฐาน และ 5% รับยาสูตรดื้อยา