xs
xsm
sm
md
lg

สปสช.เร่งค้นหาผู้ป่วย “ฮีโมฟีเลีย” วอนลงทะเบียนช่วยควบคุมพาหะของโรค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สปสช.เร่งค้นหาผู้ป่วยฮีโมฟีเลีย เผยคนไทยป่วย 4,000 คน แต่ลงทะเบียนในระบบแค่ 700 กว่าราย เสียค่าใช้จ่าย 1.24-4 ล้านบาทต่อคนตลอดชีวิต วอนผู้ป่วยลงทะเบียน เพื่อควบคุมพาหะของโรค แนะนำใช้แนวทางรักษาที่บ้าน จ่ายยาให้ผู้ป่วยเพื่อรักษาตนเองได้ทันเมื่อเกิดภาวะเลือดไหลไม่หยุด ระบุผลดำเนินงาน 3 ปี ผู้ป่วยนอน รพ.ลดลงกว่าครึ่ง

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า ฮีโมฟีเลีย เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากแม่สู่ลูก รักษาไม่หาย ผู้ป่วยจะมีภาวะเลือดออกง่ายและหยุดยากไปตลอดชีวิต ผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้ต้องระมัดระวังในการใช้ชีวิต มีข้อจำกัดในการทำงานซึ่งในประเทศไทยประมาณการณ์ว่ามีผู้ป่วยฮีโมฟีเลีย 4,000 คนโดยเป็นโรคหนึ่งที่ต้องใช้งบประมาณในการดูแลรักษาที่สูงมากผู้ป่วยแต่ละคนจะมีค่าใช้จ่าย 1.24  - 4 ล้านบาทต่อคนตลอดชีวิตเนื่องจากเป็นโรคที่รักษาไม่หายทำได้เพียงการดูแลอาการเพราะหากไม่มีระบบการดูแลรักษาผู้ป่วยแล้ว ผู้ป่วยเหล่านี้จะเกิดความพิการและสูญเสียชีวิต ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายด้านเศรษฐกิจของประเทศชาติโดยรวม ประการสำคัญที่ต้องดำเนินการคู่ขนานคือ การควบคุมโรค เนื่องจากหากไม่มีการให้การศึกษาคัดกรองเพื่อควบคุมพาหะของโรคจะทำให้สายพันธุกรรมเพิ่มจำนวนผู้ป่วยมากขึ้น

เลขาธิการ สปสช.กล่าวต่อว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้การดูแลผู้ป่วยฮีโมฟีเลีย โดยการค้นหาผู้ป่วย แล้วลงทะเบียน หลังจากนั้นหน่วยบริการที่ผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียลงทะเบียนไว้ ก็จะแนะนำวิธีการดูแลรักษาตัวเอง ใช้แนวทาง “รักษาที่บ้าน” หรือ Home-based Care วิธีการใช้ยาแฟกเตอร์ เพื่อรักษาภาวะเลือดออกในระยะเริ่มต้นโดยจ่ายแฟกเตอร์เข้มข้นให้ผู้ป่วยไปเก็บที่บ้าน เมื่อมีอาการเลือดไหลไม่หยุดก็สามารถฉีดยาได้เอง หรือนำแฟกเตอร์ไปให้สถานีอนามัยใกล้บ้านฉีดให้ และนัดมาตรวจกับแพทย์เป็นประจำ เพื่อการป้องกันและดูแลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะสามารถลดการนอนโรงพยาบาล ลดภาวะพิการ เสียชีวิต และเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย

นพ.วินัย กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2549 สปสช.ได้ร่วมกับมูลนิธิโรคเลือดออกง่านฮีโมฟีเลียแห่งประเทศไทย หน่วยงานวิชาการที่เกี่ยวข้อง และรพ.รัฐ 33 แห่งเข้าร่วมโครงการ ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียลงทะเบียน 718 ราย ผลการดำเนินงานจนเข้าสู่ปีที่ 3 นั้นพบว่าความถี่ของผู้ป่วยที่ต้องมานอนพักใน รพ.ลดลงมาก จากเดิมที่มีความถี่ในการต้องการนอนพักใน รพ.2.97 ครั้งต่อคนต่อปี ก็ลดลงครึ่งหนึ่ง โดยผู้ป่วยมีการตอบกลับทางจดหมายว่าสบายดี และต้องการมารับการติดตามการที่ รพ.ห่างลง

“จะต้องวางแผนควบคุมการกระจายโรค เพราะโรคนี้เป็นโรคทางพันธุกรรม หากยังค้นไม่เจอก็มีความเสี่ยงสูงที่โรคนี้จะแพร่กระจายต่อไปอีกจึงขอให้ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ลงทะเบียนกับหน่วยบริการที่เข้าร่วมโครงการ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนบัตรทอง โทร.1330” เลขาธิการ สปสช.กล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น