xs
xsm
sm
md
lg

งบฟันเทียมพระราชทานเคว้ง! “ไชยา” บี้ปลัด สธ.หาเงิน 150 ล้านบาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ไชยา” ลั่นเดินหน้าโครงการฟันเทียมพระราชทาน ชี้ไม่มีปัญหา แต่ไม่เคลียร์ 150 ล้านบาท จะหาจากไหน ด้าน สปสช.ยันลงขันช่วยได้แค่ 30 ล้านบาท ระบุ หากบอร์ดเห็นว่าต้องของบเป็นโครงการพิเศษก็หางบได้ พร้อมแนะกรมอนามัยต้องชี้แจงให้ท้องถิ่นเห็นความสำคัญตั้งงบฟันเทียม ให้ได้

นายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ได้หารือในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ของบประมาณในการสนับสนุนโครงการฟันเทียมพระราชทานให้กับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธ.ค.2550 ซึ่งได้ข้อสรุปว่า งบประมาณในการดำเนินการปีละ 180 ล้านบาท หาก สปสช.สามารถสนับสนุนงบประมาณได้ 30 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 150 ล้านบาท ก็เป็นหน้าที่ที่ สธ.จะต้องหางบประมาณ ซึ่งคาดว่าไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด เพราะเป็นนโยบายในเรื่องสวัสดิการผู้สูงอายุที่ สธ.ต้องดูแล จึงไม่ต้องเป็นห่วง

ส่วนข้อถามถึงจำนวนงบประมาณอีก 150 ล้านบาท ที่ สธ.จะต้องหามาสนับสนุนโครงการจะหาจากแหล่งใด นายไชยา กล่าวว่า ไม่มีปัญหา ไม่ต้องห่วง รองปลัด สธ.จะหางบประมาณมาสนับสนุนเอง

ด้าน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า โครงการดังกล่าวในเฟสแรก ระหว่างปี 2548-2550 เป็นโครงการของ สธ.ที่ สปสช.จัดสรรงบประมาณช่วยเหลือปีละประมาณ 180 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณในส่วนของการส่งเสริมและป้องกันโรค ซึ่งในเฟส 2 ของโครงการดังกล่าวมีแผนดำเนินงานปี 2551-2553 แม้ว่าปีงบประมาณ 2551 ไม่ได้ตั้งโครงการดังกล่าวเพื่อเสนอของบประมาณ สธ.คงต้องหาแหล่งเงินทุนสนับสนุนไปก่อน แต่หากในปีงบประมาณ 2552 คณะกรรมการบริหาร สปสช.เห็นว่า ควรจะตั้งเป็นโครงการเฉพาะกิจเพื่อสนับสนุนโครงการเช่นเดียวกับตอนเฟสแรกก็สามารถกระทำได้

ขณะที่ นพ.วีรวัฒน์ พันธ์ครุฑ รองเลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2551 สปสช.ได้เปลี่ยนรูปแบบการบริหารจัดการงบประมาณด้านการส่งเสริมและป้องกันโรคใหม่ โดยได้กระจายลงพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างให้ดำเนินการจัดสรรงบประมาณเอง ซึ่งหากกรมอนามัย สธ.ต้องการให้โครงการฟันเทียมพระราชทานได้รับการสนับสนุนจากท้องถิ่นก็คงต้องชี้แจงให้พื้นที่เห็นความสำคัญและสิทธิประโยชน์ที่มีให้กับผู้สูงอายุเอง ซึ่งตอบไม่ได้ว่าทางพื้นที่จะดำเนินการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนหรือไม่

“เท่าที่ทราบขณะนี้ คือ กรมอนามัยจะเสนอโครงการดังกล่าวที่มีการปรับลดขนาดโครงการลงมาให้ สปสช.เพื่อจัดหางบประมาณอีกครั้งเร็วๆ นี้ ทั้งนี้ งบประมาณที่สปสช.ช่วยเหลือได้คงไม่เกินหลัก 10 ล้านบาท ไม่ถึงหลักร้อยล้านบาทเช่นเคย ทั้งนึ้คาดว่าไม่กระทบกับระดับผู้ปฏิบัติงานที่ดำเนินการโครงการไปแล้วกว่า 6 เดือน เพราะแต่ละสถานพยาบาลมีเงินบำรุง ประกอบกับหากเกิดปัญหาใด สสจ.และ สปสช.ก็คอยช่วยเหลืออยู่อีกทางหนึ่ง” นพ.วีรวัฒน์ กล่าว

นพ.ยุทธ โพธารามิก ประธานคณะอนุกรรมการด้านงบประมาณส่งเสริมและป้องกันโรค กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ดี แต่ในเมื่อไม่มีงบประมาณจะทำอย่างไร ก่อนหน้านี้ในการดำเนินโครงการเฟสแรกก็ประกาศว่าจะสิ้นสุดโครงการ 31 ธ.ค.2550 แต่มาถึงปลายปีก็จะเปลี่ยนแปลงเพิ่มโครงการ ซึ่งได้ท้วงติงไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่าจะมีปัญหาเรื่องแหล่งเงินทุนสนับสนุน แต่สมัยที่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีต รมว.สธ.เริ่มโครงการ แต่ก็หาข้อสรุปกันไม่ได้ ระบุว่าจะไปของบประมาณจากกองสลากกินแบ่งรัฐบาล แต่ก็ไม่ได้ความชัดเจน จนวันนี้เกิดปัญหา

“ในช่วงแรกสรุปเรื่องแหล่งที่มาของเงินสนับสนุนไม่ได้ สปสช.ก็ช่วยๆ กันไป แต่ตอนนี้ช่วยไม่ได้จริงๆเพราะไม่มีงบ เพราะขณะนี้งบประมาณด้านการส่งเสริมและป้องกันโรคในทุกๆ ด้านของ สปสช.จำนวนกว่า 2 พันล้านบาทได้กระจายลงพื้นที่หมดแล้ว ทั้งนี้ในการสานต่อโครงการในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา สธ.ก็ชะล่าใจเกินไปที่ทำไปล่วงหน้ากว่า 6 เดือนแล้ว แต่ยังไม่มีบทสรุปเรื่องงบประมาณเลย โครงการจึงจนมุมเช่นนี้”นพ.ยุทธ กล่าว

นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัด สธ.กล่าวว่า หาก สปสช.ไม่จัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนโครงการฟันเทียมพระราชทาน คงต้องมีการหารืออีกครั้ง ว่าจะแหล่งเงินทุนสนับสนุนจากแหล่งใด แต่เชื่อว่าโครงการดังกล่าวจะต้องมีเงินทุนสนับสนุนอย่างแน่นอน เพราะเป็นโครงการที่ดีมีประโยชน์ต่อส่วนรวม ซึ่งสปสช.ถือเป็นแหล่งเงินทุนของรัฐบาล หากไม่ให้งบประมาณก็คงจะต้องหาแหล่งเงินจากรัฐบาลแหล่งทุนอื่นเพราะโครงการนี้เป็นโครงการที่รัฐบาลทำเพื่อประชาชน

“ถ้ามีเงินไม่พอก็จะต้องผันเงินมาจากโครงการอื่นมาช่วย เชื่อว่า งบประมาณของภาครัฐที่ลงไปยังองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นน่าจะสนับสนุนโครงการนี้ได้ เพราะพี่น้องที่อยู่ใน อบต.อบจ.ก็เป็นคนในท้องถิ่นอยู่แล้วจึงต้องเห็นความสำคัญของพี่น้องในท้องที่” นพ.ปราชญ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น