xs
xsm
sm
md
lg

สปสช.วางยุทธศาสตร์การเงินล่วงหน้า 4 ปี อุดช่องโหว่ถูกตัดงบไร้เหตุผล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บอร์ด สปสช.เห็นชอบวางยุทธศาสตร์การเงินล่วงหน้า 4 ปี ชี้ข้อดีช่วยประกันว่าประชาชนจะได้รับบริการสาธารณสุขทั่วถึงยั่งยืน ใช้กลเม็ดแจงงบสิทธิประโยชน์แบบแยกส่วน รายการที่เพิ่มสิทธิประโยชน์ อุดช่องโหว่ถูกตัดงบไม่มีเหตุผล และมีงบเพียงพอบริการประชาชน

วันนี้ (21 เม.ย.) ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยมีวาระการพิจารณาเรื่องยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบการเงินการคลังภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าโดยมี นายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุม

ดร.อัมมาร สยามวาลา ประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลัง กล่าวว่า ได้เสนอให้มีการวางยุทธศาสตร์สำหรับการดำเนินการล่วงหน้า 4 ปี เพื่อให้เกิดความพอเพียงและยั่งยืนของระบบการเงินการคลัง ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สำหรับแนวทางระบบการเงินการคลังจะเป็นการประกันว่าประชาชนจะได้รับบริการสาธารณสุขที่จำเป็นอย่างทั่วถึงและยั่งยืน เพื่อนำไปสู่บริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพ มีงบประมาณเพียงพอสำหรับการจัดสรรให้หน่วยบริการ เกิดความเป็นธรรมสำหรับประชาชนในการได้รับบริการที่จำเป็น และป้องกันมิให้ครัวเรือนล้มละลายจากบริการสุขภาพ ซึ่งมียุทธศาสตร์ที่สำคัญ คือ มีแหล่งงบประมาณยั่งยืน มีการประมาณค่าใช้จ่ายที่ใกล้เคียง และพัฒนาระบบจัดสรรงบที่มีประสิทธิภาพ

“ตั้งหลักการไว้ว่าจะให้งบประมาณเป็นไปตามความจริงมากที่สุด โดยแยกแต่ละสิทธิประโยชน์เป็นข้อมูลไว้ให้กับสำนักงบประมาณ ว่า ทำโครงการอะไร มีชุดสิทธิประโยชน์ใดบ้าง แต่ไม่แยกทุกโรค โดยจะทำเฉพาะสิทธิประโยชน์ที่มีการเพิ่มเติมใหม่บางโรคหรืองบส่งเสริมป้องกันโรค ที่ไม่มีเงินกองทุน ซึ่งจะทำให้สำนักงบฯ ไม่สามารถตัดงบประมาณในสิทธิประโยชน์นั้นออกได้ โดยไม่มีเหตุผลที่ชัดเจน ที่ผ่านมาสำนักงบฯ ตัดงบโดยใช้ฝ่ายการเมืองซึ่งก็ทำได้ แต่ประชาชนจะได้ทราบว่า เหตุผลที่ไม่มีงบประมาณมาดูแลรักษานั้นๆ ไม่ใช่เป็นเพราะ สปสช.แต่เป็นเพราะสำนักงบฯ เป็นคนตัดงบออกไป”ดร.อัมมาร กล่าว

ดร.อัมมาร กล่าวอีกว่า สำหรับรายละเอียดนั้น คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีมติ เห็นชอบตามยุทธศาสตร์ที่เสนอในครั้งนี้ซึ่งการดำเนินการนั้นประกอบด้วย พัฒนาระบบการร่วมจ่าย โดยการให้ร่วมจ่ายขั้นต้นจากประชาชนหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยการจ่ายส่วนต่างในบริการที่เป็นทางเลือกมากกว่าที่มาตรฐานกำหนด การพัฒนาวิธีการจ่ายเงินที่เหมาะสมกับการจัดบริการที่ดี และให้ความสำคัญกับการให้บริการขั้นต้นจากระบบบริการปฐมภูมิ เช่น ศูนย์การแพทย์ชุมชน สถานีอนามัย ระบบส่งต่อผู้ป่วยระหว่างหน่วยบริการระดับต่างๆ การเพิ่มทรัพยากรโดยเฉพาะบุคลากรในพื้นที่ที่ขาดแคลนสูง และการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคตามความจำเพาะของประชากรกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะทำให้การบริหารเรื่องการเงินการคลังมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

“ช่วงประมาณปี 2545 สปสช.ได้รับงบประมาณแบบอัตขัตมาก เพราะเสนอของบประมาณไปก็ถูกสำนักงบตัดออกตลอด มีงบน้อยเกินไป แล้วก็มั่วกันมาก เพราะไม่สามารถแยกส่วนได้ว่าถูกตัดงบส่วนใดบ้าง ซึ่งการที่วางยุทธศาสตร์ลักษณะนี้จะช่วยให้ได้รับงบประมาณมาเพียงพอกับการบริการประชาชน” ดร.อัมมาร กล่าว

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในขณะนี้ครอบคลุมประชาชนไทยกว่า 47 ล้านคน แนวทางการพัฒนา คือ การทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงต่างๆ รวมทั้งมีความก้าวหน้าในการพัฒนาคุณภาพการบริการ ทั้งด้านรักษาและส่งเสริมสุขภาพเชิงรุกในชุมชนอย่างมีส่วนร่วมโดยต่อเนื่อง เพื่อการเดินหน้าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างยั่งยืน
กำลังโหลดความคิดเห็น