xs
xsm
sm
md
lg

“พรีมา” ดันเลิก CL เร่แจกยาฟรีแทน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“พรีมา” เสนอทางออกเข้าถึงยาทดแทนทำซีแอล รับหน้าเสื่อประสานบริษัทยาต่างชาติสมาชิก 38 แห่ง แก้ปัญหาเข้าถึงยาแพง จัดโครงการแจกยาฟรี ดึงงานวิจัย เทคโนโลยีการแพทย์ใหม่ๆ เข้าประเทศ พร้อมให้ประชาชนมีส่วนร่วม รับผิดชอบสุขภาพตัวเอง จ่ายร่วม 70:30 ซื้อประกันสุขภาพ ผลักความเสี่ยงให้บ.ประกัน

พญ.กิติมา ยุทธวงศ์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์(พรีมา) กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อพัฒนาการเข้าถึงยาระบบยาที่มีคุณภาพอย่างยั่งยืน ที่มีนายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เป็นประธาน ในวันที่ 24 มิถุนายน เวลา 14.00 น.ถือเป็นการประชุมร่วมกันเป็นครั้งแรก โดยพรีมาได้คัดเลือกตัวแทนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการฯ ตามสัดส่วน2 คน คือ ตนและภก.ธีระ ฉกาจนโรดม นายกสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์(พรีมา) โดยเตรียมเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาการเข้าถึงยาเพื่อทดแทนนโยบายการดำเนินการใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรโดยรับ(ซีแอล)

“พรีมาไม่เห็นด้วยกับนโยบายการทำซีแอลของรัฐบาลชุดก่อนมาโดยตลอด เพราะเป็นการฉีกกฎหมายสิทธิบัตรที่ทั่วโลกต้องยึดถือ ซึ่งการทำซีแอลส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศของไทยอย่างมาก เท่าที่ทราบ ไม่มีประเทศไหนในเอเชียที่ทำซีแอลตามไทย และไม่ได้ถือว่าไทยเป็นฮีโร่ ดังนั้น แนวทางในการแก้ปัญหาที่พรีมาจะเสนอต่อที่ประชุม คือ ผลักดันให้เกิดความร่วมมือ 3 ฝ่าย คือ ภาครัฐ เอกชน และประชาชน ให้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา เชื่อว่า หากมติของคณะกรรมการร่วมฯ ออกมาอย่างไรก็ตาม ทุกฝ่ายน่าจะเห็นด้วย โดยเฉพาะบริษัทยาต่างชาติที่เป็นสมาชิกของพรีม่า จำนวน 38 แห่ง ก็จะเห็นด้วย เพราะได้มีส่วนร่วมตัดสินใจ ไม่ถือเป็นการมัดมือชก”พญ.กิติมากล่าว

พญ.กิติมา กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ภาครัฐจะต้องพัฒนาระบบการให้บริการสาธารณสุขในภาพรวม ผลิตบุคลากรทางการแพทย์ให้เพียงพอโดยเฉพาะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ส่วนภาคเอกชนนั้น พรีมาจะรับหน้าที่เป็นตัวกลางในการเจรจากับบริษัทยาต่างชาติ ทั้ง 38 แห่ง ให้เร่งพัฒนาวิจัยยาและเทคโนโลยีทางการแพทย์ใหม่ๆ ให้เข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น ส่วนภาคประชาชนควรมีส่วนร่วมรับผิดชอบการใช้บริการทางการแพทย์มากขึ้น โดนจะหวังให้ภาครัฐมาดูแลเพียงอย่างเดียวไม่ได้ นอกจากนี้ ไทยควรนำแนวทางการแก้ปัญหาของประเทศอื่นมาศึกษา และเลือกวิธีที่เหมาะสมที่สุด

“ประชาชนจะต้องรู้จักช่วยเหลือตัวเอง เช่น การซื้อประกันสุขภาพเพิ่มเติมจากระบบหลักประกันสุขภาพที่มีอยู่แล้ว ซึ่งปัจจุบันมีประกันสุขภาพให้เลือกหลายรูปแบบ สามารถซื้อประกันสุขภาพจ่ายเพียงปีละ 3,000 บาท แต่ครอบคลุมการรักษาทุกโรค เป็นการผลักภาระความสี่ยงให้บริษัทประกันรับผิดชอบแทนเรา หากทำได้จริงจะคุ้มมาก ส่วนคนที่มีรายได้ต่ำไม่มีกำลังซื้อประกันก็อาจใช้วิธีการร่วมจ่ายกับภาครัฐ สัดส่วนรัฐ 70 ต่อประชาชน 30 ก็ได้ ซึ่งเป็นแนวทางที่จะเสนอต่อไป” พญ.กิติมา กล่าว

พญ.กิติมา กล่าวด้วยว่า สำหรับปัญหายาราคาแพง ทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงยาได้นั้น ตนมีนโยบายผลักดันให้บริษัทสมาชิกจัดทำโครงการเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงยาได้ โดยการให้ยาฟรี โดยกำหนดคุณสมบัติของกลุ่มผู้ป่วย เช่น ฐานะรายได้ กลุ่มอาการ ซึ่งแต่ละบริษัทจะมีโครงการแจกยาฟรีอยู่แล้ว โครงการละ 300-400 ราย แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ การเปิดเผยข้อมูลโครงการจะถือเป็นการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งๆ ที่ในต่างประเทศมีการเปิดเผยข้อมูลผ่านเว็บไซต์

“จะรวบรวมโครงการความช่วยเหลือต่างๆ ทั้งหมดที่มีอยู่ของบริษัทสมาชิก เพื่อประเมินสถานการณ์ ส่วนบริษัทไหนที่ยังไม่มีโครงการเหล่านี้ อาจมีการกระตุ้นเพื่อให้เกิดแนวทางนี้ขึ้น เพื่อเสนอต่อที่ประชุม คณะกรรมการร่วมฯ เชื่อว่า จะเป็นทางออกอีกทางในการช่วยเหลือให้ผู้ป่วยเข้าถึงยา โดยไม่ต้องใช้ซีแอล อย่างไรก็ตาม การเสนอโครงการบริจาคยาฟรีนี้ ไม่ได้เป็นการแลกกับให้เลิกทำซีแอล เพราะซีแอล เป็นนโยบายของรัฐบาลชุดก่อนที่มาทำงานชั่วคราว ไม่ควรพูดถึง หากถามนักวิจัยด้านนวัตกรรม ก็ไม่มีเห็นด้วย เพราะถือเป็นการทำลายการวิจัย และในขณะนี้ ประเทศในแถบเอเชีย ต่างรวมกลุ่มกันดึงงานวิจัยเข้าประเทศเช่น กลุ่มจีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ และ กลุ่มมาเลเซีย สิงคโปร์” พญ.กิติมา กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น