xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายผู้ป่วยเอดส์โวยไม่ได้รับยาต้านไวรัสจากการทำซีแอล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครือข่ายผู้ป่วยเอดส์โวยไม่ได้ยาเอดส์คาเรตต้าจากการทำซีแอล ด้านเอ็นจีโอเอดส์รับเป็นปัญหาการกระจายยา ไม่ใช่ยาไม่มี รวมทั้งการตรวจปริมาณไวรัสเอดส์ในกระแสเลือด มีเครื่องตรวจน้อย ใช้งบสูง เตรียมหารือ 6 พ.ค.หาเครื่องพร้อมฝึกผู้เชี่ยวชาญเพิ่ม

วันนี้ (23 เม.ย.) ในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติหรือยูเอ็นเอดส์ สมัยที่ 22 (22nd Meeting of UNAIDS Programme Coordinating Board : PCB) ที่จังหวัดเชียงใหม่ นายสำราญ ทะกัน ผู้ประสานงานบ้านสีม่วง กล่าวว่า จากการให้บริการของบ้านสีม่วงที่ให้คำปรึกษาแนะนำสำหรับผู้ติดเชื้อเอดส์ในกลุ่มชายรักชายในจังหวัดภาคเหนือตอนบน อาทิ เชียงราย พะเยา น่าน เชียงใหม่ พบว่า 50% ของสมาชิกกว่า 200 คน มีอาการดื้อยาต้านไวรัสเอดส์สูตรพื้นฐาน ซึ่งบางส่วนที่เป็นผู้ประกันตนของสำนักงานประกันสังคมก็จะได้รับยาต้านไวรัสสูตรสำรอง แต่ในส่วนของโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกลับยังไม่ได้รับยาแต่อย่างใด ทั้งที่รัฐบาลมีนโยบายในการนำเข้ายาต้านไวรัสเอดส์สูตรสำรองในราคาที่เหมาะสมจากการประกาศบังคับใช้สิทธิเพื่อผลิตยาที่ติดสิทธิบัตร(ซีแอล)ไปแล้ว

“ขณะนี้ผู้ป่วยที่มีสิทธิบัตรทองยังไม่ได้รับยาต้านไวรัสเอดส์สูตรผสมระหว่างโลพินาเวียร์และริโทนาเวียร์หรือคาเรตต้าเลย ทั้งที่รัฐบาลทำซีแอลและสั่งยาเข้ามาแล้ว ทางโรงพยาบาลก็ยืนยันว่าจะให้ยาเรา แต่ก็ไม่ทราบว่าเมื่อใดจะได้รับยา ยิ่งช้ายิ่งทำให้ผู้ป่วยได้รับผลกระทบต่อร่างกายเพิ่มมากขึ้น”นายสำราญ กล่าว

นายสำราญ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังทำสำรวจปัญหาจากสมาชิกเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอดส์ในกลุ่มชายรักชาย เพื่อหาแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหา เพราะเชื่อว่าไม่เพียงแต่กลุ่มผู้ป่วยของชายรักชายภาคเหนือตอนบนเท่านั้นที่กำลังประสบปัญหาการเข้าถึงยา ทั้งนี้ภาคเหนือถือว่าเป็นภาคที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดในประเทศไทย

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และในฐานะคณะอนุกรรมการดูแลการเข้าถึงยาต้านไวรัสเอดส์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า ยอมรับว่ามีปัญหาความล่าช้าในการกระจายยาต้านไวรัสเอดส์คาเรตต้าจนผู้ป่วยเอดส์ยังไม่ได้ยาเป็นเรื่องจริง แต่มีสาเหตุมาจาก 5 ปัจจัยได้แก่ 1จำนวนเครื่องตรวจปริมาณไวรัสเอดส์ในเลือดที่ทั่วประเทศมีไม่ถึง 10 เครื่อง เนื่องจากมีราคาสูงและภาครัฐไม่มีงบประมาณในการจัดซื้อ 2 ผู้เชี่ยวชาญในการแปลผลเครื่องมือตรวจนั้นไม่น้อย 3 การดื้อยาของผู้ป่วย 4ความยากในการตรวจปริมาณไวรัสในกระแสเลือด ที่ต้องอาศัยระยะเวลา 5 การได้รับยาของผู้ป่วยแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนอาจใช้คาเรตต้าได้ แต่บางคนก็ไม่เหมาะสมกับยาดังกล่าว

“ผมยืนยันว่ายาคาเรตต้าได้ลงพื้นที่และอยู่ที่สถานพยาบาลแล้ว อาทิ ภาคใต้บางจังหวัดผู้ป่วยเอดส์ก็ได้รับยาดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้เตรียมนำเรื่องดังกล่าวเสนอสู่ที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหานี้ในวันที่ 6 พ.ค.นี้ ในการหาแนวทางที่จัดสรรงบประมาณซื้อเครื่องตรวจปริมาณไวรัสในกระแสเลือดเพิ่มเติมอ ขณะเดียวกันจะวางแนวทางในการฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญที่ใช้เครื่องตรวจดังกล่าว"นายนิมิตร์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น