“อภิรักษ์” เดินหน้าเรียนฟรี เรียนดี อย่างมีคุณภาพ ต่อเนื่องปีการศึกษา 2551 พร้อมทุ่มงบ 37.5 ล้านพัฒนาศักยภาพครูให้ทุนต่อ ป.โท-เอก 200 ทุน ขณะที่การประเมินคุณภาพสถานศึกษาจาก สมศ.ผ่าน มากกว่า 90%
นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) เป็นประธานการประชุมเครือข่ายผู้ปกครองผ่านระบบออนไลน์ทางเว็บไซต์ http://live.bmasmartschool.com/livebma/ ไปยังโรงเรียนในสังกัด กทม.จำนวน 435 แห่งเพื่อให้ผู้ปกครองนักเรียนกว่า 350,000 คน ได้รับทราบนโยบายการศึกษาปี 2551 จากผู้ว่าฯ กทม.โดยตรง ถึงการจัดยุทธศาสตร์การศึกษา 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1.มุ่งเน้นให้นักเรียนมีความสมดุล และถึงพร้อมทั้งด้านความรู้และคุณธรรม 2.ให้มีสิทธิและโอกาสเสมอกันอย่างไม่มีเงื่อนไขในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี อย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย และ 3.ยกระดับการเรียนรู้ของนักเรียนให้มีคุณภาพมาตรฐาน เน้นกระบวนการที่สอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อีกทั้งเป็นการพบปะกับเครือข่ายผู้ปกครองนักเรียนในพื้นที่เขตปทุมวันที่มาร่วมรับฟังนโยบายการศึกษาที่โรงเรียนวัดปทุมวนารามอีกกว่า 500 คนด้วย
นายอภิรักษ์ กล่าวว่า สำหรับปีการศึกษา 2551 กทม.ยังคงดำเนินการตามนโยบายเรียนฟรี เรียนดี อย่างมีคุณภาพ ต่อเนื่องจากปีการศึกษา 2550 พร้อมทั้งจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการศึกษาให้นักเรียนทุกคน ทุกโรงเรียน และทุกระดับชั้นได้เรียนฟรีอย่างไม่มีเงื่อนไข ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดสวัสดิการ อุปกรณ์การเรียน และกิจกรรมส่งเสริมการเรียน ครอบคลุม 20 รายการ อาทิ อาหารเสริม (นม) อาหารกลางวัน เครื่องแบบนักเรียน เครื่องแบบลูกเสือ/เนตรนารี/ยุวกาชาด ชุดนอน/ชุดอนุบาล/ชุดพละ ประกันอุบัติเหตุ ทั้งนี้ปีการศึกษา 2551 กทม.ได้จัดสรรงบประมาณอาหารกลางวันเพิ่มเติมจากเดิม 10 บาทเป็น 15 บาทตัวคนต่อวัน รวมเป็นเงิน 342,000,000 บาท เพื่อให้จัดอาหารกลางวันที่มีคุณค่าและปริมาณเพียงพอต่อความต้องการของนักเรียน ตลอดจนจัดสรรงบประมาณ 37.5 ล้านบาท เพื่อพัฒนาบุคลากรครูทั้งหมด 15,000 คน และให้ทุนศึกษาต่อในระดับปริญญาโท-เอก ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประมาณ 200 ทุน อีกด้วย
นายอภิรักษ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ กทม.ได้ดำเนินโครงการโรงเรียนต้นแบบคุณภาพมาตรฐาน โดยคัดเลือกโรงเรียน 10 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนวัดดอนเมือง โรงเรียนวัดเสมียนนารี โรงเรียนเบญจมพิตร โรงเรียนสุโขทัย โรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์ โรงเรียนพิชัยพัฒนา โรงเรียนบ้านบางกะปิ โรงเรียนสวัสดีวิทยา โรงเรียนวัดธาตุทอง และโรงเรียนนาหลวง เป็นต้นแบบในการพัฒนาทั้งด้านกายภาพภายนอกและคุณภาพการจัดการเรียนรู้ให้ทัดเทียมโรงเรียนสาธิตและโรงเรียนเอกชนที่มีชื่อเสียง อาทิ ห้องสมุดและเทคโนโลยีสื่อการเรียนรู้ทันสมัย ห้องทดลองวิทยาศาสตร์สมบูรณ์แบบ การเสริมสร้างสมรรถนะร่างกาย และการสนับสนุนการศึกษาตามความถนัดของผู้เรียนโดยเน้นการปฏิบัติจริง พร้อมทั้งนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาสอนนักเรียนนักเรียนด้วย ทั้งนี้ จากการประเมินคุณภาพการศึกษาภายนอกรอบที่ 2 จากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ตั้งแต่ปี 2550 พบว่า ระดับปฐมวัยได้รับการรับรอง 407 โรงเรียนจากทั้งหมด 429 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 94.87 ส่วนระดับประถมศึกษา – มัธยมศึกษา ปรากฎว่า ได้รับการรับรอง 399 โรงเรียนจากทั้งหมด 434 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 91.94 สำหรับโรงเรียนที่ยังไม่ได้รับการรับรอง กทม.จะเร่งดำเนินการพัฒนาอย่างต่อเนื่องให้เพื่อให้ผ่านการรับรองคุณภาพการศึกษาภายนอกภายในปี 2551