xs
xsm
sm
md
lg

“สมชาย” เดินหน้าใช้ “อี-เลิร์นนิง” 2 ร.ร.กลุ่มเป้าหมาย เล็ก-ขาดครู

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมชาย วงศ์สวัสดิ์
“สมชาย” เดินหน้าวางแนวทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในรูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบ E-leaning ใน 2 กลุ่มเป้าหมาย กลุ่มที่ขาดแคลนครู และโรงเรียนขนาดเล็ก นำร่องปีการศึกษา 2551หากสำเร็จสานต่อในปีการศึกษา 2552

นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพการศึกษาระบบสารสนเทศ (e-leaning) เมื่อวันที่ 1 พ.ค.ว่า ที่ประชุมได้มีการระดมความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแนวทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในรูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบ E-leaning อาทิ สำนักงานงบประมาณ กระทรวงการคลัง กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นต้น โดยตนได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นหนึ่งชุด ซึ่งมี ดร. ณหทัย ทิวไผ่งาม ดร.ประวิช รัตนเพียร ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ ดร.จรวยพร ธรณินทร์ เป็นกรรมการ

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ ในส่วนที่ ศธ.จะพัฒนาระบบ E-leaning จะดำเนินการกับ 2 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ 1.กลุ่มที่ขาดแคลนครูคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ระดับมัธยมศึกษา 2.กลุ่มโรงเรียนขนาดเล็กในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่มีอยู่ประมาณ 12,000 โรง ซึ่งวิธีจัดการเรียนการสอนแบบ E-leaning นั้น มีหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการใช้ดาวเทียม อินเทอร์เน็ต คอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ ยังได้มีการพิจารณาโรงเรียนที่จะใช้นำร่องเป็นโรงเรียนต้นแบบสำหรับการใช้ระบบ E-learning ด้วย โดยจะเริ่มมีการนำร่องโรงเรียนต้นแบบในปีการศึกษา 2551 ดังนั้นหากการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวประสบความสำเร็จก็จะเดินหน้าต่อไปในปีการศึกษา 2552 อย่างเต็มที สำหรับงบประมาณที่จะใช้พัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยระบบสารสนเทศ อาจจะต้องเจียดจ่ายไปใช้งบประมาณเก่าในส่วนที่ยังพอเหลือจ่ายได้อยู่สำหรับการทดลองนำร่องไปก่อน ส่วนในปีต่อไปก็ค่อยเสนอตั้งงบประมาณเพิ่มเติมได้ เพราะเมื่อเริ่มต้นระบบที่ทำไปแล้วได้ผลมากน้อยอย่างไร และต้องปรับปรุงแก้ไขในส่วนใดบ้าง เพื่อในปีต่อไปจะทำให้สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น

“เรื่องดังกล่าวเป็นการพัฒนาการศึกษาอีกขั้นตอนหนึ่งของประเทศ เราอยู่นิ่งเฉยไม่ได้ เพราะหลายประเทศที่พัฒนาแล้วก็มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยระบบ E-learning มีอยู่ทุกประเทศ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าประเทศไหนจะใช้ระบบอย่างไร เพื่อให้เหมาะสมกับสถานะภาพของประเทศนั้นๆ ซึ่งของประเทศไทยก็ได้นำตัวอย่างของประเทศที่พัฒนาแล้วมาประยุกต์ใช้เช่นกัน” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น